You are here


นโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ
สมัชชาครั้งที่: 
3
มติที่: 
5
ชื่อมติ: 
นโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ เป็นนโยบายสำคัญ โดยมอบให้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เป็นแกนประสานให้เกิดคณะกรรมการที่เป็นกลไกการดำเนินการ ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการชุมชนท้องถิ่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน โดยให้มีผู้แทนชุมชนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ทั้งนี้คณะกรรมการมีหน้าที่พัฒนากลไกการจัดการตนเองและพัฒนาศักยภาพชุมชนท้องถิ่นให้จัดการตนเองในทุกระดับ โดยพิจารณาแนวทางดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้
รายละเอียด: 

1.1 พัฒนากลไกร่วมในชุมชนท้องถิ่นให้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ ทั้งแผนชุมชน แผนท้องถิ่น แผนอำเภอ และแผนจังหวัด โดยให้กลไกดังกล่าว มีสัดส่วนผู้แทนภาคประชาชนกับภาคประชาสังคมรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

1.2 สร้างมาตรการเพื่อกำหนดให้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับมีแผนงานและโครงการที่ชุมชนในพื้นที่นั้นเป็นผู้รับผิดชอบโครงการร่วมกับท้องถิ่นและ/หรือราชการส่วนภูมิภาค โดยมีงบประมาณสนับสนุนจากท้องถิ่นและ/หรือราชการส่วนภูมิภาคในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณที่ดำเนินการด้านสุขภาวะแต่ละพื้นที่

1.3 สร้างกลไกเพื่อการพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองให้กับชุมชนท้องถิ่น

1.4 พัฒนากลไกให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในกระบวนการติดตาม กำกับ และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ

1.5 สร้างข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานและองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย รวมถึงองค์กรสนับสนุนงบประมาณให้มีนโยบาย และจัดสรรงบประมาณหรือเงินทุนให้ชุมชนท้องถิ่น บริหารจัดการตามภารกิจที่ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดและตัดสินใจเอง

1.6 ร่วมกับสถาบันวิชาการศึกษาวิจัยรูปแบบการปกครอง โครงสร้างเชิงอำนาจ ลักษณะความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดและในพื้นที่ลักษณะพิเศษ โดยศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อรายงานผลต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 และคณะรัฐมนตรีเพื่อผลักดันให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในพื้นที่ต้นแบบ

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • กลไกองค์กรร่วม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  สพม. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมัชชาปฏิรูปประเทศไทย (สปร.) สภาองค์กรชุมชนมองเรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์พยายามให้ชุมชนทำเรื่องนี้  ยังมีเรื่องการตีความเรื่องการพึ่งตนเอง แต่ไม่ได้ดำเนินการในบางเรื่อง เช่น รูปแบบการปกครอง การจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การจัดการตนเองในส่วนของ สพม. ยังไม่ได้ดำเนินการ
  • คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ได้ทบทวนบทเรียนและขบวนการขับเคลื่อนของเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการเคลื่อนไหวและอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกับภาครัฐในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของประชาชน เกิดเป็นข้อมูลสำคัญในการนำเข้าสู่การสอบทานความคิดและรับข้อเสนอแนะใน “สมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป” จำนวน 6 ครั้ง กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และได้จัดทำร่างข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม มีข้อเสนอในเบื้องต้น ประกอบกันเป็น 4 ส่วนหลัก ดังนี้ 1) ข้อเสนอด้านกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ รวมถึงการตรากฎหมายใหม่ 2) ข้อเสนอด้านการถ่ายโอนภารกิจ 3) ข้อเสนอด้านการเงินการคลังท้องถิ่น และ 4) ข้อเสนอด้านการจัดความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับท้องถิ่น
  • สมัชชาเครือข่ายภาคใต้มีการจัดทำข้อสรุปพบว่า ปัจจุบันยังไม่เกิดคณะกรรมการที่เป็นกลไกกลางในการดำเนินการพัฒนาให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองได้  รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่มีการเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 
  • กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ออกหนังสือที่ มท. 0891.3/ว1266 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2555 เรื่อง การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 มติ 5 นโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ โดยแจ้งแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นว่าการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 มติ 5 นโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการสนับสนุนให้เกิดกลไกความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในระดับท้องถิ่น จึงแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และสถานะทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
  • เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2557 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้จัดเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย “ปฏิรูปการปกครองและการกระจายอำนาจ” ณ โรงแรม เดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ ในการประชุมดังกล่าว นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเองที่เกิดจากแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองของจังหวัดเชียงใหมาที่เสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เสนอความเห็นและจัดทำกฎหมายฉบับนี้ขึ้น จึงควรมีกฎหมายกลางขึ้นมาก่อน จากนั้นหากจังหวัดใดมีความพร้อมจะปกครองตนเองก็สามารถจะออกพระราชกฤษฎีกาได้ ที้งนี้แนวคิดการผลักดันกฎหมายนี้เกิดจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงการรวมศูนย์อำนาจของรัฐไทย ที่แม้จะมีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นแต่โครงสร้างเดิมๆ ยังคงอยู่ ซึ่งรัฐส่วนกลางยังมีอิทธิพลหลักใน 3 ด้านคือ 1) การวางแผนการพัฒนาทุกด้าน 2) สิทธิจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และ 3) การจัดการงบประมาณแผ่นดินและภาษี 
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติพิจารณากำหนดเรื่องพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะเป็นหนึ่งในระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อติดตามประเมินผลแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ทุกระดับภายในจังหวัด
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • สมัชชาสุขภาพภาคใต้ได้มีการติดตามการดำเนินการเรื่องพื้นที่จัดการตนเองยังเป็นการดำเนินการในภาพรวม เช่น การจัดการตนเองของจังหวัดในเรื่อง เชียงใหม่มหานคร หรือ การจัดการตนเองของปัตตานี เรื่อง ปัตตานีมหานคร และเป็นการจัดการตนเองในรายประเด็น เช่น ประเด็นภัยพิบัติ  แต่รูปธรรมที่ชัดเจนเกี่ยวกับการนำเรื่องการจัดการตนเองของชุชนท้องถิ่นมาขับเคลื่อนในลักษณะสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่นั้น ในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่มีจังหวัดใดดำเนินการตามมติข้างต้น
  • การขับเคลื่อนเรื่องพื้นที่จัดการตนเองมีการใช้กฎหมายและธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการออกนโยบายสาธารณะ โดยการผลักดันให้เกิดยุทธศาสตร์จังหวัด มีพื้นที่ต้นแบบ เช่น เชียงใหม่
  • วันที่ 13 พฤศจิกายน 2555 สำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และเทศบาลเมืองแก ได้จัดกระบวนการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ เข้าใจ ประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนที่เทศบาลเมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจากหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ โดยนำเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จาก 11 พื้นที่ อาทิ จ.สมุทรสงคราม จ.สุรินทร์ จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ชัยภูมิ จ.อำนาจเจริญ จ.หนองคาย เข้ามาเรียนรู้การทำงานของชุมชนที่มีความเข้มแข็งเพื่อนำความรู้จากการอบรมในครั้งนี้ไปปรับและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของต้นเองได้ รวมทั้งเพื่อขยายองค์ความรู้ต่อให้ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมสร้างระบบสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้จะได้ลงพื้นที่จากคนทำงานด้านสุขภาพที่ประสบความสำเร็จ โดยใช้คนทำงานเหล่านี้เป็นต้นแบบ อาทิ ผู้นำองค์กร กลุ่มชมรมต่างๆ อาสาสมัคร รวมทั้งได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของต.เมืองแก ที่มีการทำงานด้านสุขภาพชุมชนที่โดดเด่น และสำเร็จ อาทิ เรื่องการจัดการสวัสดิการชุมชน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันโรคติดต่อ ระบบเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้เราตั้งเป้าว่าเราจะขยายการทำงานเรื่องระบบสุขภาพชุมชนออกไปให้ได้ 600 ตำบลภายใน 3 ปี เพื่อให้ประชาชนและชุมชนจัดการสุขภาพตนเองได้ ดูแลตนเองได้ อย่างมีศักดิ์ศรี
  • วันที่ 27 มกราคม 2556 ในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จังหวัดจัดการตนเองเรื่อง “เบิ่งแงง...อำนาจเจริญ” จัดโดยเครือข่ายปฏิรูปอำนาจเจริญ สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) สำนักงานปฏิรูป (สปร.) สถาบันพัฒนาองค์กรเอกชน (พอช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนดังนี้ จังหวัดอำนาจเจริญมีธรรมนูญจังหวัดแล้ว มีประชาชนทั้งจังหวัดเป็นผู้กำหนดว่าจะทำอะไร และได้ดำเนินแผนงานไปหลายอย่าง เช่น แผนชุมชนต่างๆ อันเป็นตัวอย่างที่ดีให้จังหวัดอื่นๆ เริ่มมีการมองไปถึงอนาคตข้างหน้า ดังนั้นต้องมาทบทวนตัวเองว่าตอนนี้จังหวัดอำนาจเจริญเป็นอย่างไร โดยเริ่มต้นมาจากแกนนำจำนวน 10 คน มีการสร้างความเข้าใจ ใช้ปัญหาเป็นบทเรียนเพื่อให้เห็นรากเหง้าของปัญหา ใช้กระบวนการพัฒนามาแก้ปัญหาสร้างบทเรียน จัดเวทีพูดคุยกรณีแก้ปัญหาร่วมของคนในชุมชน ให้ประชาชนคิดเองทำเอง กำหนดเป้าหมายด้วยตนเอง จึงเกิดเป็นธรรมนูญอำนาจเจริญขึ้น โดยประชาชนเป็นองค์กรขับเคลื่อนสู่การสร้างประชาคมมีการสนับสนุนความร่วมมือของภาควิชาการ โดยมีจุดมุ่งหมายให้จังหวัดอำนาจเจริญเป็นเมืองแห่งเกษตรคือ การนำเอาธรรมะมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้เข้าไปอยู่ในจิตใจ ให้เป็นสังคมที่เป็นเกษตรปลอดภัย ด้วยการร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจนของคนอำนาจเจริญอย่างบูรณาการ มีการจัดระบบสังคม การเรียนการศึกษา “เพื่อชีวิต”  นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กับระบบการศึกษา สร้างหลักสูตรวิถีเกษตรวิถีธรรม ชุมชนมีส่วนร่วมจัดหลักสูตรและประเมินการเรียนการสอน เพื่อจัดการศึกษาที่ชุมชนต้องการและสนับสนุนให้เกิดการจัดการเรียนรู้นอกโรงเรียน มีการพัฒนากลุ่มเด็กและเยาวชนให้รักถิ่นฐาน รักบ้านเกิด มิจิตสำนึกเรื่องจิตอาสา สร้างพื้นที่และส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอำนาจเจริญ สร้างสถาบันครอบครัวที่อบอุ่นและเข้มแข็งและเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำและสม่ำเสมอ
  • เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2556 เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดอำนาจเจริญร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ และภาคีการพัฒนา ร่วมจัดงาน “ตุ้มโฮม ฮ่วมแฮง ผลักดันอำนาจเจริญสู่เมืองเกษตร” ณ บริเวณพุทธอุทยาน อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนและภาคีที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของงานพัฒนา ตลอดจนกำหนดการพัฒนาระบบที่เหมาะสม รวมถึงสร้างกระแสเชิงสาธารณะ เกี่ยวกับการปฏิรูประบบคิด ระบบการทำงานที่ชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นมากำหนดอนาคตตนเอง โดยร่วมประกาศเจตนารมณ์จากธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญสู่เมืองธรรมเกษตร และลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดอำนาจเจริญ กับหน่วยงาน ภาคี ท้องถิ่น ท้องที่ รวม 12 องค์กร โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน จากแกนนำสภาองค์กรชุมชนตำบลและภาคีชุมชนท้องถิ่น 63 ตำบล ภาคีราชการ และภาคประชาสังคม
  • เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 เครือข่ายองค์กรชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง (คชก.) ได้เรียกร้องและเสนอยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม สู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ให้เป็นนโยบายของรัฐได้แก่ 1) รัฐต้องกำหนดนโยบายสนับสนุนองค์กรชุมชนให้ทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองและให้ทุกหน่วยงานราชการสนับสนุนนโยบาย เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากชุมชนฐานรากอย่างแท้จริง 2) รัฐบาลต้องจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น จัดการตนเองระยะ 5 ปี (พ.ศ.2557-2561) และเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง 3) รัฐบาลต้องแปรญัตติงบประมาณปี 2557 ที่สนับสนุนองค์กรชุมชนผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นเงิน 5,183 ล้านบาท หลังจากที่ตัดงบดังกล่าวเหลือเพียง 516 ล้านบาท 4) รัฐบาลต้องแก้ไขกฎหมายเช่น พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนและนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นของขบวนการองค์กรชุมชน และแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของขบวนการชุมชน และ 5) รัฐบาลต้องทบทวนโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน รวมถึงการดำเนินโครงการใดต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น  การยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้ได้ยื่นผ่านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
  • กรกฎาคม 2556 เครือข่ายองค์กรชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง (คชก.) เข้าพบ นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเสนอยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองให้เป็นนโยบายของรัฐบาล มีข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ต่อการพัฒนาชุมชนฐานราก 3 ข้อต่อรัฐบาล ได้แก่ 1) ประสานให้รัฐบาลกำหนดนโยบายสนับสนุนองค์กรชุมชนให้ทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองและกำกับให้ทุกหน่วยงานราชการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว  2) ประสานให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2557-2561) พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่อง และ 3) ให้รัฐมนตรีลงพื้นที่งานพัฒนาที่ดำเนินการโดยชุมชน เช่น บ้านมั่นคง สวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชน รวมทั้งร่วมงานที่ชุมชนจัดสมัชชาขึ้นทุกครั้ง
  • เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2557 คณะกรรการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมกับสำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (สปพส.) ลงพื้นที่จัดเวทีเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. …. (ฉบับประชาชน) ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ในร่างกฎหมาย และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการผลักดันกฎหมายต่อรัฐสภา โดยในเวทีดังกล่าว เครือข่ายประชาชนขับเคลื่อนเพื่อจังหวัดปกครองตนเองภาคใต้ (คปป.ภาคใต้) ได้แถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ กรณี (ร่าง) พระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. ....(ฉบับประชาชน) ดังนี้ 

     (1) เครือข่าย ฯ จะร่วมกันผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. .... ที่ยกร่างโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและเครือข่าย ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัด ให้มีสภาพลเมือง การจัดเก็บภาษีและการจัดสรรภาษีให้ท้องถิ่นในสัดส่วนร้อยละ 70 และการบริหารจัดการทรัพยากรของจังหวัด ภายใต้หลักการการมีส่วนร่วมของประชาชน

     (2) เครือข่าย ฯ เรียกร้องให้นักการเมือง ข้าราชการ และภาคีทุกภาคส่วนร่วมมือกันผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. .... ให้เกิดการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

     (3) เครือข่าย ฯ ขอยืนยันว่าในวันที่ 24 มิถุนายน 2557 ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้จะร่วมขับเคลื่อนและรณรงค์ปักธง “หนึ่งล้านรายชื่อเปลี่ยนประเทศไทย” พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ

          ทั้งนี้เครือข่าย ฯ จะร่วมกันรณรงค์ เผยแพร่ สร้างความเข้าใจ ผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. .... ภายใต้หลักความเป็นรัฐเดี่ยว และจะขับเคลื่อนอย่างจริงจังให้ถึงที่สุด

  • เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำรายงานสรุปการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลรอบ 1 ปี ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2557 – 12 กันยายน 2558 มีผลการดำเนินงานดังนี้

          สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเอง ผลการดำเนินการมีการจัดทำข้อมูลสถานะพื้นที่ตำบล ในพื้นที่เป้าหมาย 120  ตำบล เพื่อวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ส่งผลให้เกิดการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ครอบคลุมการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรและ สิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มองค์กรในพื้นที่ จำนวน 146 ตำบล เกิดการจัดตั้งกลไก คณะทำงานเศรษฐกิจและทุนชุมชนในพื้นที่ และมีการจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มอาชีพ/ กลุ่มเศรษฐกิจ/กลุ่มออมทรัพย์/กลุ่มธรรมชาติ และรวบรวมองค์ความรู้ในพื้นที่ ซึ่งใช้ ผังตำบล/หมู่บ้าน เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์บริบทของพื้นที่และทุนเดิมของชุมชนสู่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพื่อให้เกิดแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเป็นรูปธรรม

            เกิดการนำเสนอนิทรรศการของขบวนองค์กรชุมชนในการจัดการตนเอง ในงาน "สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน 2558 ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 6,000 คน โดยผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจากการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ต่อนายกรัฐมนตรี รวมถึงแสดงเจตนารมณ์ร่วมในการสานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีการทบทวนสถานะสภาองค์กรชุมชนที่จัดตั้งแล้วจำนวน 4,401 ตำบล เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนพัฒนาสภาองค์กรชุมชน การสร้างความเข้าใจกับพื้นที่ตำบลเพื่อจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนใหม่ในเรื่องเจตนารมย์ บทบาทหน้าที่ และ กระบวนการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในพื้นที่ใหม่ โดยมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนใหม่ จำนวน 372 ตำบล ซึ่งสภาองค์กรชุมชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ตามความหลากหลายของวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ โดยเป็นกลไกเชื่อมโยงการทำงานร่วมระหว่างชุมชน ท้องที่ ท้องถิ่นและภาคีพัฒนา เพื่อร่วมสร้างประชาธิปไตยพื้นฐานและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับจังหวัดและระดับชาติ ซึ่งได้มีการจัดเวทีสมัชชาองค์กรชุมชน “ปฏิบัติการพลเมืองเต็มพื้นที่” เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ณ โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ กรุงเทพฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธี มีการสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการ ตนเองในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งจัดทำข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อไป

ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์กรหลักในการสนับสนุนงบประมาณและประสานการดำเนินงานร่วมกับสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด ใช้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66, 78 (3), 87 (4), 163 ดำเนินการออกแบบและผลักดันให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการตนเองตามรูปแบบที่เหมาะสม
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) นำมตินี้ไปเป็นแนวทางในการจัดทำข้อเสนอที่ชัดเจนและผลักดันไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • สมัชชาปฏิรูปประเทศไทย (สปร.) ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจัดสมัชชาปฏิรูประดับจังหวัด จำนวน 64 จังหวัด และสนับสนุนเฉพาะการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 2 จำนวน 7 จังหวัด การขับเคลื่อนส่วนใหญ่ในภาพรวมสะท้อนให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางชุมชนและสังคมโดยภาพรวมคาดหวังไว้อันจะนำไปสู่ความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำลงได้ในอนาคต
  • จังหวัดที่เน้นการขับเคลื่อนในทิศทางพื้นที่/จังหวัดจัดการตนเอง ผ่านการยกร่างกฎหมาย  ได้แก่  จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต  กรุงเทพฯมหานคร และปัตตานี : ได้ยกร่างกฎหมายเฉพาะ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการตนเอง เช่น พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. ... ,มหานครภูเก็ต,ร่างกฎหมาย กทม.(เปลี่ยน กทม.) ปัจจุบันมีการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง
  • จังหวัดเชียงใหม่มีการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะโดยใช้กฎหมายเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งนี้มีการเคลื่อนใน 3 ส่วนคือ องค์กรพัฒนาเอกชน สพม. อบจ.และเทศบาล และมีการขยายการทำงานที่เป็นพลังทางสังคม
ข้อที่: 
5
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ได้จัดทำรายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 แล้ว
เอกสารหลัก: