You are here


การจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (สุขใจ...ไม่คิดสั้น)
สมัชชาครั้งที่: 
4
มติที่: 
2
ชื่อมติ: 
การจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (สุขใจ...ไม่คิดสั้น)
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดนโยบาย มาตรการ และกลไกในด้านต่างๆ ดังนี้
รายละเอียด: 

1.1 การดำเนินการเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยทางจิตเวช เพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

1.2 การลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะอุปสรรคทางสังคมที่เกิดจากอคติต่อการเจ็บป่วยทางจิตเวช โดยการสนับสนุนการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องความเจ็บป่วยทางจิตเวช

1.3 การพัฒนาระบบบริการปรึกษาและระบบส่งต่อในชุมชน สำหรับผู้มีปัญหาชีวิตและสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ มีการติดตามและเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยการบูรณาการความร่วมมือของครอบครัว สถานศึกษา สถาบันและองค์กรทางศาสนา ชุมชน หน่วยงาน องค์กรภาครัฐและเอกชน

1.4 การผลักดันให้อัตราการฆ่าตัวตายเป็นตัวชี้วัดด้านการพัฒนาสังคมระดับชาติ

1.5 การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพจิตใจของสมาชิกในครอบครัว ชุมชนและสังคมที่มีสมาชิกฆ่าตัวตายเพื่อป้องกันปัญหาที่ตามมา

1.6 พัฒนาและสนับสนุนระบบและกลไกการจัดการความรู้ เพื่อสนับสนุนการจัดการปัญหาการฆ่าตัวตายอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2555 มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป
  • เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ปี 2554 เรื่องการจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยมีมติให้ สช.ไปรวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดนโยบายและกลไกด้านต่างๆ เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตาย โดยมอบหมายให้ 
  1. ให้คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติร่วมกับ สธ.,วธ., อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดนโยบายและกลไกด้านต่าง ๆ เช่น การคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยทางจิตเวช ลดปัญหาอุปสรรคการเข้าถึงบริการสุขภาพ ผลักดันให้อัตราการฆ่าตัวตายเป็นตัวชี้วัดระดับชาติ ฯลฯ
  2. ให้ สธ. ร่วมกับ ทก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย งดเว้นการนำเสนอภาพหรือเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ฯลฯ
  3. ให้ สธ., มท., วธ., กษ.,ศธ.,พม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบการพัฒนาระบบช่วยเหลือเกื้อกูลในครอบครัวและชุมชนเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย
  • สช. ร่วมหารือกับกรมสุขภาพจิตถึงแนวทางการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อ ซึ่งจากมติมี 3 งานที่สำคัญได้แก่ 

     (1) งานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมสุขภาพจิต ที่สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ต้องมีการ “รุก” มากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมามีการประชุมกันน้อยครั้ง (ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ) เนื่องจากสาระในมติสมัชชาสุขภาพเป็นเรื่องที่เปิดกว้าง นอกเหนือจากกฎระเบียบ/หลักเกณฑ์การรักษา ดังนั้นจึงควรจะมีประเด็นนำเพื่อการประชุมของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติได้

     (2) งานที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน เนื่องจากทางกรมสุขภาพจิตไม่คุ้นเคยกับการทำงานด้านนี้ ดังนั้นควรจะมีการตั้งวงพูดคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชน และทางกรมสุขภาพจิตจะดึงทีมสื่อสารประชาสัมพันธ์ของกรมฯ เข้ามาทำงานด้วย รวมทั้งจะเชื่อมโยงการทำงานกับทีมสื่อของ สช. เครือข่ายวิชาการ/วิชาชีพด้านนี้ และหวังว่าในระยะยาวอาจนำไปสู่ข้อบังคับของสมาคม หรือการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ฯลฯ

     (3) งานที่ต้องเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนนี้ทางกรมสุขภาพจิตเตรียมระบบการทำงานผ่านช่องทางของ สสจ. ไว้ อย่างไรก็ตามจากการหารือกันได้ข้อสรุปว่ายังมีหน่วยงานอย่าง พมจ. และ อปท.ที่อาจเชื่อมโดยตรงได้ รวมทั้งแกนสมัชชาสุขภาพในพื้นที่ด้วย ดังนั้นจะมีการคัดเลือกพื้นที่ (โดยเป็นกลุ่มเป้าหมาย/กลุ่มทำงานของ สช.) แล้วหารือการทำงานร่วมกันซึ่งสามารถทำได้ทั้งประเด็นการฆ่าตัวตาย และวิธีการสร้างความสุข ซึ่งเป็นเรื่องไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

     นอกจากนี้ในส่วนของคณะทำงานเฉพาะประเด็นซึ่งร่วมผลักดันมติมาด้วยกัน ต้องมีการประชุมหารือกันและแบ่งบทบาทหน้าที่การทำงานร่วมกัน

  • เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามมติ 4.2 การจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (สุขใจ...ไม่คิดสั้น) ที่ประชุมมีข้อเสนอ ดังนี้

         - ประเด็นการนำตัวชี้วัดการฆ่าตัวตายเป็นตัวชี้วัดทางด้านสังคมระดับประเทศ สำหรับสภาพัฒน์ นั้น ยังไม่มีการดำเนินการ ที่ผ่านมาใช้ข้อมูลอัตราการฆ่าตัวตายของกระทรวงสาธารณสุข   อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องแม่วัยใส ก็มีการเคลื่อนตัวทั้งในกลุ่มงานของ UN มีทั้ง UNFPA   UNICEF  ซึ่งก็ดูในเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน   ถือว่ามีการเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ไปด้วยกันได้  แต่ว่าประเด็นจะส่งผ่านให้เกิดผลทางปฏิบัติหรือไม่  ยกตัวอย่างของวงจรชีวิตตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งชรา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานราชการทบทวน เข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้น่าจะเข้ามาที่ช่องทางปกติ คือ กระทรวงสาธารณสุข ตามลำดับต่อไป

  • เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2556 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดการประชุมติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย เพื่อรายงานความคืบหน้าในการแก้ปัญหาของหน่วยงานต่างๆ เสนอต่อเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2556 ที่ประชุมได้นำเสนออุปสรรคต่อการหาแนวทางการแก้ปัญหา ดังนี้

          - ไม่สามารถเข้าถึงปัญหาและจิตใจกลุ่มเสี่ยงได้อย่างแท้จริง ทำให้การป้องกันทำได้ยาก ส่วนใหญ่เกิดความคิดหุนหันพลันแล่น ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องแก้ไขทุกวิถีทางและลงไปให้ถึงในระดับพื้นที่ รวมถึงการขยายสายด่วน “Hotline” ให้ครอบคลุมและเฝ้าระวังกลุ่มป่วย

          - การค้นหาบุคคลที่มีความเสี่ยงกับการฆ่าตัวตายและเร่งช่วยเหลือ โดยร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ ปราชญ์ชาวบ้าน พระ เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้มองโลกในแง่บวก

          - การแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย ต้องมีความร่วมมือกับสื่อในการสร้างหนังหรือละครเพื่อสะท้อนปัญหาและสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในช่วงที่คนคิดจะฆ่าตัวตาย สำหรับระดับพื้นที่ต้องทำ “ลานสร้างสุข” โดยจัดพื้นที่ในชุมชนให้เป็นที่พบปะหรือที่ทุกคนในชุมชนเข้ามาร่วมแล้วเกิดความสุข

  • เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2557 ที่ประชุมได้มีความเห็นเรื่องการปรับปรุง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 เพื่อให้การทำงานรอบด้านมากขึ้น เบื้องต้นเน้นเรื่องการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของสิทธิในการบำบัดรักษาผู้ป่วย เช่น กรณีสิทธิประกันสังคมเดิมที่ไม่คุ้มครองผู้พยายามฒ่าตัวตายแต่ล่าสุดให้มีการคุ้มครองแล้ว และเน้นย้ำทุกสิทธิจะต้องให้การบำบัดรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าอยู่สิทธิไหน รวมทั้งกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสิทธิ โดยไม่มีสถานะ หรือไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเกิดจากการจำไม่ได้ว่าตัวเองเป็นใคร รวมไปถึงคนชายขอบ คนไร้สถานะ คนต่างด้าว ทั้งหมดประมาณ 4 แสนคน จะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม หน่วยงานไหนจะมาดูแลระหว่างกรมสุขภาพจิต กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ก็ต้องมาหารืออีกครั้ง ซึ่งในการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีการนำเข้าการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตฯ อีกครั้งในเดือนมกราคม 2558 เพื่อพิจารณารายละเอียดต่างๆ ต่อไป สำหรับบทบาทของกรมสุขภาพจิต ในเรื่องการปรับปรุง พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ จะเน้นทำงานเชิงรุก ป้องกันปัญหา อาทิ การเปิดโอกาสให้พนักงานเจ้าหน้าที่สุขภาพจิตมีสิทธิตามกฎหมายเข้าไปรับตัวผู้ป่วยในบ้านพัก หรือในสถานที่ส่วนตัวได้ทันทีโดยไม่ผิดกฎหมาย หากกรณีที่พบว่าผู้ป่วยรายนั้นมีอาการทางจิตที่สุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรงแก่สังคม ซึ่งปัจจุบันพนักงานเจ้าหน้าที่สุขภาพจิตมีประมาณ 6,590 คนทั่วประเทศที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว
  • เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็น “ฆ่าตัวตาย สุขภาวะคนไทยบนปากเหว” ณ ห้องสมุด 100 ปี เสม พริ้งพวงแก้ว ชั้น 1 อาคารสุขภาพแห่งชาติ นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทยว่า จากผลการสำรวจความสุขของประเทศต่างๆ ใน “รายงานความสุขโลก” (World Happiness Report) พบว่าประเทศไทยมีลำดับที่ดีขึ้น ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2558 อยู่ลำดับที่ 34 และล่าสุดปี 2559 อยู่ลำดับที่ 33 ส่วนอัตราการฆ่าตัวตายของประเทศไทยก็ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม คือในปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 3,900 คน คิดเป็นอันดับที่ 57 ของโลก หลายฝ่ายได้ร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 เรื่อง “สุขใจ...ไม่คิดสั้น” มาตั้งแต่ต้น โดยกรมสุขภาพจิตเองก็เป็นแกนสำคัญมุ่งเน้นการบูรณาการทุกภาคส่วนในสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยเร่งพัฒนาระบบบริการและการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น มีมาตรการติดตามเฝ้าระวัง ป้องกันความเสี่ยงจากการฆ่าตัวตาย โดยร่วมมือทุกระดับ ทั้งครอบครัว สถานศึกษา วัด ชุมชน และหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ บริการจิตเวชและสุขภาพจิต เป็นบริการหลัก 1 ใน 10 รายการสำคัญของเครือข่ายสถานบริการ เพื่อช่วยขยายการเข้าถึงบริการรักษาโรคจิตเวชในผู้ใหญ่ เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และชุมชน รวมถึงสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคมไทย ต่อผู้ป่วยทางจิตเวชอีกด้วย ทั้งนี้พื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดลำพูน มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ และปัญหาการคิดสั้น ได้ขยายตัวไปถึงระดับครอบครัวและชุมชนในท้องถิ่น ดังนั้น โรงพยาบาลแม่ทา เห็นความสำคัญ พยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นให้ประชาชน ชุมชน และเครือข่ายอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของปัญหา ซึ่งเป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 2554 ด้วย
  • เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2559 นพ.ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เปิดเผยในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 15 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 13 ว่า มีการคาดการณ์จากทั่วโลกว่าในช่วง 20-30 ปีนี้  ปัญหาสุขภาพจิตและการทำร้ายตัวเองจะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อน สำหรับประเทศไทยคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะสังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพจิตเท่าที่ควร องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกร่วมกันลดอัตราการฆ่าตัวตายในแต่ละประเทศร้อยละ 10 ภายในปี 2563 และกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญคือ อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จไม่เกิน 6.5 ต่อแสนประชากร 
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประสานขอความร่วมมือให้องค์กรสื่อสารมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รายละเอียด: 

2.1 พัฒนามาตรการควบคุมลักษณะการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายระหว่างสื่อมวลชนกันเองโดยอาศัยมาตรการทางจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยสนับสนุนการนำเสนอข่าวสารด้านการสร้างความสุขใจ และสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ทางสุขภาพจิต การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ การสร้างความรักความผูกพันในครอบครัว รวมทั้งชี้ช่องทางการเช้าถึงแหล่งให้บริการปรึกษาภายหลังที่มีการนำเสนอข่าว

2.2 งดเว้นการนำเสนอภาพหรือเนื้อหาที่สื่อถึงความรุนแรงและวิธีในการฆ่าตัวตายในสื่อโทรทัศน์โดยเฉพาะละคร สื่อภาพยนตร์ สื่อออนไลน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ

2.3 ส่งเสริมกระบวนการชื่นชมและเชิดชูเกียรติการทำงานของสื่อมวลชนที่ดี ในการส่งเสริมการสร้างความสุขใจ แก้ไขปัญหาสุขภาพจิต และการป้องกันแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • วันที่ 11 กรกฎาคม 2555 กรมสุขภาพจิตได้เรียกร้องให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการเลียนแบบ ขณะที่ครอบครัวควรให้การดูแล และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่มีสภาพจิตใจเปราะบาง และเสี่ยงต่อการคิดฆ่าตัวตาย หลังพบว่า 3 ปีที่ผ่านมา วัยรุ่นไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ อัตราการฆ่าตัวตายไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น แต่ครอบครัว ก็ควรเอาใจใส่และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้มีปัญหาสุรา ยาเสพติด ผู้ป่วยทางจิต และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้สามารถขอรับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ และบริการสายด่วน 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ยังเรียกร้อง ให้สื่อมวลชน นำเสนอข่าวอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยง การนำเสนอภาพเหตุการณ์การฆ่าตัวตาย และเนื้อหาที่บ่งบอกถึงขั้นตอนวิธีการฆ่าตัวตาย เพื่อป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่มีสภาพจิตใจเปราะบาง
  • สช.หารือร่วมกับ กรมสุขภาพจิต ถึงแนวทางการขับเคลื่อน สรุปว่ามี ๓ งานที่สำคัญ ได้แก่ 
  1. งานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมสุขภาพจิต ซึ่งสามารถดำเนินการได้เพียงแต่ต้องมีการดำเนินงานเชิงรุกให้มากขึ้น
  2. งานที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน เห็นสมควรจัดให้มีการสร้างความเข้าใจ และร่วมแลกเปลี่ยน ปรึกษาหารือถึงแนวทางการดำเนินงาน
  3. งานที่ต้องเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และแกนสมัชชาสุขภาพในพื้นที่
  • เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2557 กรมสุขภาพจิตเตรียมผลักดันกฎหมายควบคุมสื่อต่างๆ ที่ชักจูงในทางที่ไม่ดี ทั้งความรุนแรงและฆ่าตัวตาย ซึ่งรวมถึงเวปไซด์ หรือสื่อต่างๆ ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ ทั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ 
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สถาบันการศึกษา ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันทางศาสนา และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด รับผิดชอบการพัฒนาระบบช่วยเหลือเกื้อกูลภายในครอบครัวและชุมชน เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย และส่งเสริมสุขภาพของประชาชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมประกอบด้วย
รายละเอียด: 

3.1 สร้างกลไกการสร้างความสุขใจและการเกื้อกูลกันภายในครอบครัวและชุมชน สร้างระบบบริการทางสังคมที่มีคุณภาพ เตรียมความพร้อมทางจิตใจต่อภัยพิบัติและวิกฤตชีวิต โดยครอบคลุมถึงการเผยแพร่หลักคำสอนทางศาสนา วัฒนธรรมประเพณี พัฒนาทักษะชีวิต สำหรับเด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไป เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลจิตใจและสร้างความสุข ตลอดจนกำหนดมาตรการทางสังคมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและเพิ่มปัจจัยปกป้องต่อการฆ่าตัวตาย

3.2 จัดให้มีระบบฐานข้อมูลประชากรกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งพัฒนาระบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยปกป้องและปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มผู้ป่วยสุขภาพทางจิต เพื่อการค้นหา วางแผน เฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก เยาวชน ครอบครัว ผู้พิการ และผู้สูงอายุทั้งในสถานการณ์ปกติ และสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่จำเป็นต้องเข้าถึงและให้ความช่วยเหลืออย่างทันการณ์

3.3. สนับสนุนให้เกิดองค์กรสาธารณะประโยชน์/เครือข่ายของผู้รอดชีวิตหรือผู้มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายและผู้ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มให้การปรึกษาแบบเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นต้น

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • การประชุมคณะทำงานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพล้านนา 8 จังหวัด เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการสานพลังการขับเคลื่อนของเครือข่ายสมัชชาสุขภาพล้านนา แสวงหาความร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายใหม่ในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนากระบวนการสมัชชาสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และพัฒนากระบวนการสื่อสารสาธารณะ รวมทั้งการนำประเด็นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่หรือประเด็นร่วมล้านนา “ขาขึ้น” และประเด็น “ขาเคลื่อน” นำสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม มีมติเห็นชอบให้ นำ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (สุขใจ...ไม่คิดสั้น)  เป็น 1 ในมติฯ ที่จะดำเนินการขับเคลื่อนในพื้นที่ ต่อไป
  • เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2557 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เรื่องการจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีร่วมกันให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ทั้งบุคลากร เครื่องมือและการเงินการคลัง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะจิตใจ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดันและสนับสนุนให้เขตบริการสุขภาพที่ 1 และ 2 ร่วมกันจัดบริการสุขภาพด้านสุขภาพจิตให้เกิดความเข้มแข็งและสร้างเครือข่ายโดยการบูรณาการการทำงานด้านสุขภาพจิตเข้ากับการดำเนินการฝ่ายภายนอกและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการส่งเสริมป้องกัน รวมทั้งผู้ที่เจ็บป่วยทางสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการและได้รับการรักษามากขึ้น ซึ่งแนวทางการจัดระบบดูแลผู้ป่วยจิตเวชของโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ที่ไม่มีจิตแพทย์ แต่สามารถดูแลและรักษาผู้ป่วยจิตเวชได้ เนื่องจากการบริหารจัดการทรัพยากรในโรงพยาบาลอย่างคุ้มค่า โดยแพทย์ในโรงพยาบาล เช่น กุมารแพทย์ อายุรกรรมแพทย์ เป็นแพทย์ที่ช่วยดูแลงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ร่วมกับพยาบาลที่ผ่านการศึกษาและอบรมด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ในดูแลรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ ทั้งนี้ ระบบการดูแลรักษา ส่งเสริมและป้องกันผู้ป่วยจิตเวชของโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ตามโครงการเข้าถึงบริการโรคจิตโรคซึมเศร้า เน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจของเครือข่ายในการทำงานร่วมกับหน่วยงานในชุมชน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล อสม. แกนนำชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนของตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดตราบาปกับผู้ป่วยหรือเป็นที่รังเกียจของสังคม โดยการอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้มีความรู้ด้านสุขภาพจิต และสามารถคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต หากพบผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยทางด้านสุขภาพจิตจะได้รับคำแนะนำให้มาโรงพยาบาลเพื่อตรวจประเมินและนำเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยโรงพยาบาลจะมีแพทย์และพยาบาลดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง หากเกินขีดความสามารถจะมีการปรึกษาจิตแพทย์ของโรงพยาบาลเครือข่าย เช่น โรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลสวนปรุง โรงพยาบาลเลย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเขตบริการสุขภาพเดียวกันและและใกล้เคียงกัน เพื่อหาแนวทางการรักษาร่วมกัน ตลอดจนส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาในโรงพยาบาลเฉพาะทาง รวมทั้งมีการเตรียมชุมชนเพื่อส่งผู้ป่วยกลับเข้าไปอยู่ในชุมชนเมื่ออาการทุเลา ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีร่วมกันในเขตให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
  • กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและการสั่งการของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2559 – 30 เมษายน 2560 โครงการพัฒนาระบบป้องกันและจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย 1) ประชุมพัฒนาระบบบริการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงของผู้พยายามฆ่าตัวตายระดับประเทศ 400 คน 2) อบรมหลักสูตรระบาดวิทยาการฆ่าตัวตายและการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากการฆ่าตัวตาย 36 คน 3) พัฒนาฐานข้อมูลการฆ่าตัวตายระดับประเทศ 1 ฐาน และ 4) จัดตลาดนัดความรู้เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันการฆ่าตัวตายระดับประเทศ 1 ครั้ง
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ได้รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6  แล้ว
เอกสารหลัก: