You are here


การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเ...
สมัชชาครั้งที่: 
4
มติที่: 
4
ชื่อมติ: 
การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีทุกภาคส่วน
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
เห็นชอบในหลักการว่า ทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กเป็นสมบัติร่วมของสังคมที่มีค่า และส่งผลต่อคุณภาพชีวิต กลุ่มหรือองค์กร ชุมชน และเครือข่ายผู้ใช้น้ำ มีส่วนเป็นเจ้าของ มีสิทธิและหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ การกำหนดแผนแม่บทและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็ก และได้รับการสนองตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๕ มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีทุกภาคส่วน และให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบต่อไป
  • คณะรัฐมนตรี ได้มีการประชุม เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕ รับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ เรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีทุกภาคส่วนมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปตามมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำ ดำเนินการ
รายละเอียด: 

2.1 ให้มีกระบวนการร่วมมือกันในรูปแบบพหุภาคีที่ประกอบด้วยภาคประชาชน ผู้ใช้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคม ควบคู่กับการสร้างกลไกกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับระบบภูมินิเวศของแต่ละลุ่มน้ำ

2.2 สร้าง “ข้อตกลงร่วม” ในการบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็ก โดยการมีส่วนร่วมของพหุภาคี ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดเล็ก นำไปสู่การจัดทำธรรมนูญลุ่มน้ำ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กที่ยั่งยืน

2.3 ศึกษาทบทวนและพัฒนา นโยบาย กฎหมาย พระราชบัญญัติ กฎระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ เช่น ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.....  ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 รวมถึงทบทวนและพัฒนาโครงสร้างของหน่วยงานต่างๆ ทีเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็ก ให้สามารถดำเนินการร่วมกันในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

2.4 ส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งกองทุนลุ่มน้ำขนาดเล็กแบบมีส่วนร่วมทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเขตปกครองพิเศษ และภาคประชาชนเพื่อใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำ รวมถึงการฟื้นฟู อนุรักษ์ คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เครือข่ายสมัชชาลุ่มน้ำภาคเหนือ ร่วมกับพหุภาคี ได้นำเอามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ  ครั้งที่ 4/2554 ว่าด้วยประเด็น การจัดการลุ่มน้ำแบบมีส่วนร่วมที่ยั่งยืน ของภาคีทุกภาคส่วน ที่กำลังดำเนินการขับเคลื่อน ในปี 2555-/2556 มีการนำมติไปสู่การปฏิบัติ ดังนี้
  1. การจัดการลุ่มน้ำสาขา ขนาดเล็ก ในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย จำนวน 6 ลุ่มน้ำสาขา ได้แก่ 1.ลุ่มน้ำกก 2.ลุ่มน้ำอิง 3.ลุ่มน้ำลาว 4.ลุ่มน้ำคำ 5.ลุ่มน้ำจัน และ 6..ลุ่มน้ำกรณ์ โดยพหุภาคี 1.สมัชชาลุ่มน้ำเชียงราย 2.มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 3.ทสจ.เชียงราย 4.อปท.ในพื้นที่ 5.สมัชชาสุขภาพเชียงราย และ 6.สถาบันการเรียนรู้ภาคประชาสังคมเชียงราย
  2. การจัดการป่าชุมชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายจำนวน 6 ป่าชุมชน ได้แก่ 1.ป่าชุมชนพระธาตุสามดวง ต.ป่าหุ่ง อ.พาน 2.ป่าชุมชนสันทราย ต.เชียงเคี่ยน อ.เทิง 3.ป่าชุมชนเลาหลวง ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย 4.ป่าชุมชนขุนลาว ต.แม่เจดีย์ใหม่ อ.เวียงป่าเป้า 5.ป่าชุมชนปางมะกาด ต.แม่เจดีย์ อ.เวียงป่าเป้า 6.ป่าชุมชนโป่งไฮ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง โดยพหุภาคี 1.สมัชชาลุ่มน้ำเชียงราย 2.มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 3.ทสจ.เชียงราย 4.อปท.ในพื้นที่ 5.สถาบันการเรียนรู้ภาคประชาสังคมเชียงราย  6.สมัชชาปฏิรูป 7.เครือข่ายป่าชุมชน และ8.สมัชชาสุขภาพเชียงราย
  • เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม และ 9 ตุลาคม 2556 ได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีทุกภาคส่วน ที่ประชุมได้เสนอแนวทางในการขับเคลื่อนดังนี้

          - ให้ทำการศึกษาทบทวนและพัฒนานโยบาย กฎหมาย พระราชบัญญัติ กฎระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (ร่าง) พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ..... ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ (กรมทรัพยากรน้ำ) กับ (ร่าง) พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ (ฉบับประชาชน) ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)

          - ในระหว่างที่กระบวนการทางกฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ ควรนำรูปธรรมและองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กในแต่ละท้องถิ่นโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่ประสบผลสำเร็จมาดำเนินการจัดการความรู้ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการพัฒนากฎหมาย

 

ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เครือข่ายทางวิชาการ เครือข่ายการวิจัยในพื้นที่ (เช่น เครือข่ายที่ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) และสถาบันการศึกษาในจังหวัดร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเขตปกครองพิเศษ องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน และภาคีที่เกี่ยวข้อง
รายละเอียด: 

3.1 สนับสนุนการจัดการความรู้โดยเคารพต่อภูมิปัญญาชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น อาทิ การถอดบทเรียน การศึกษาวิจัย (เช่น การสำรวจระบบนิเวศลุ่มน้ำขนาดเล็ก การจัดทำแผนผังทางเดินน้ำ) การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารในการบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างเป็นระบบ และการพัฒนาองค์ความรู้โดยครอบคลุมถึงความรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่สอดคล้องกับระบบนิเวศของแต่ละลุ่มน้ำ 

3.2 เผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุชุมชนท้องถิ่นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนได้รับทราบอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

 

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เครือข่ายสมัชชาลุ่มน้ำภาคเหนือ ร่วมกับพหุภาคี ได้นำเอามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ  ครั้งที่ 4/2554 ว่าด้วยประเด็น การจัดการลุ่มน้ำแบบมีส่วนร่วมที่ยั่งยืน ของภาคีทุกภาคส่วน ที่กำลังดำเนินการขับเคลื่อน ในปี 2555-/2556 มีการนำมติไปสู่การปฏิบัติ ดังนี้

          - การวิจัย การจัดการลุ่มน้ำ แบบมีส่วนร่วม โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง(ระยะเวลาดำเนินงาน ปี 2555-2556)ตามแผนยุทธศาสตร์ กยน.ของรัฐบาล ในพื้นที่ 8 ลุ่มน้ำหลัก ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ(ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน) ได้แก่ 1.ลุ่มน้ำปิง 2.ลุ่มน้ำวัง 3.ลุ่มน้ำยม 4.ลุ่มน้ำน่าน 5.ลุ่มน้ำกก 6.ลุ่มน้ำสาละวิน 7.ลุ่มน้ำป่าสัก และ 8.ลุ่มน้ำสะแกกรัง โดยพหุภาคี 1.เครือข่ายวิจัย(วช.)ภาคเหนือ 2.มหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเหนือ 3.สถาบันการเรียนรู้ภาคประชาสังคมเชียงราย 4.สมัชชาลุ่มน้ำ 17 จังหวัดภาคเหนือ  5.สมัชชาสุขภาพล้านนา 6.ประชาชนในพื้นที่ และ 7.ทส.ภาค

         - การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น ร่วมกับโรงเรียน เรื่อง การจัดการทรัพยากร(ดิน น้ำ ป่า) ในพื้นที่ต้นน้ำลาว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย โดยพหุภาคี 1.สถาบันการเรียนรู้ภาคประชาสังคมเชียงราย 2.สมัชชาลุ่มน้ำเชียงราย 3.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) 4.โรงเรียนในพื้นที่  5.กองทุน สสส. และ 6.ประชาชนในพื้นที่

         - การถอดบทเรียน ประเด็น ได้แก่ การจัดการลุ่มน้ำ และการจัดการป่าชุมชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในพื้นที่ 6 ลุ่มน้ำสาขา และ 6 ป่าชุมชน โดยพหุภาคี 1. ศวพ.เชียงราย 2.สถาบันการเรียนรู้ภาคประชาสังคมเชียงราย 3. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 4. สมัชชาลุ่มน้ำเชียงราย 5. เครือข่ายป่าชุมชน และ 6.ประชาชนในพื้นที่

  • เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในประเด็นการจัดการลุ่มน้ำที่ยั่งยืน โดยชุมชนเป็นศูนย์กลางเพื่อออกแบบการมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะ การจัดการลุ่มน้ำ ซึ่งมีนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และคณาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัยร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น ในประเด็นบทบทภาคประชาชน ภาคประชาชนกับการบริหารจัดการน้ำและเวทีประชาพิจารณ์ภาคเหนือตอนล่าง ปิง วัง ยม น่าน และลุ่มเจ้าพระยา ทั้งนี้ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศไทย มีวงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งศาลปกครองสั่งให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 57 วรรค 2 และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 67 วรรค 2 
  • การประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการ และเครือข่ายในพื้นที่ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม และ วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2556 มีข้อเสนอเพิ่มเติมสำหรับการขับเคลื่อนมติฯ ต่อไป ดังนี้
  1. การศึกษาทบทวนและพัฒนา นโยบาย กฎหมาย พระราชบัญญัติ  กฎระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (ร่าง) พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.... ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ (กรมทรัพยากรน้ำ) กับ (ร่าง) พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.... (ฉบับประชาชน) ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) แต่เนื่องจากอาจมีรายละเอียดบางอย่างในข้อกฎหมายแตกต่างกัน  การได้รับทราบและหารือร่วมกันแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้  และ โดย คปก. พร้อมประสานความร่วมมือ ในการจัดเวทีรับฟังความเห็นหารือเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดการน้ำทั้งสองฉบับ (คปก. ได้ดำเนินการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ.2556) 
  2. ในระหว่างที่กระบวนการทางกฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ ควรนำรูปธรรมและองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กในแต่ละท้องถิ่นโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่ประสบผลสำเร็จมาดำเนินการจัดการความรู้ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการพัฒนากฎหมายไปพร้อมกัน
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุภาพแห่งชาติครั้งที่ 5
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ได้รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุภาพแห่งชาติครั้งที่ 5  แล้ว
เอกสารหลัก: