You are here


การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย
สมัชชาครั้งที่: 
6
มติที่: 
8
ชื่อมติ: 
การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย
ผลการปฏิบัติงาน: 
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดแถลงข่าว "สช.ชวนปฏิรูประบบสุขภาพ บนวิถีความปรองดอง" เพื่อเสนอแนวทางขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ที่จัดเมื่อวันที่ 17-18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีฉันทมติในประเด็นข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีสาระสำคัญบางตอนว่า "ต้องให้ความสำคัญกับการอภิบาลระบบสุขภาพโดยเครือข่าย เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส โดยเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการอภิบาลระบบโดยรัฐ และการอภิบาลระบบโดยตลาด บูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ในระบบสุขภาพแห่งชาติ เน้นการมีส่วนร่วม สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ ลดการรวมศูนย์การอภิบาลระบบสุขภาพโดยรัฐ กระจายอำนาจ ทุน และทรัพยากรให้ชุมชนท้องถิ่น...กำหนดแผนและขั้นตอนการถ่ายโอนสถานพยาบาลของรัฐให้ท้องถิ่น...ปรับเปลี่ยนสถานบริการของรัฐให้เป็นระบบบริหารจัดการที่คล่องตัว (Public Autonomous Management Unit) ให้จริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อบริการประชาชนให้ทั่วถึงครอบคลุมทั่วประเทศ และลดภารกิจการบริหารจัดการของรัฐบาลกลางลง  และขอให้อยากให้กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณานำข้อเสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 เรื่อง "การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย" ไปหาทางขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบบริการ ระบบการเงินการคลังและหลักประกันสุขภาพ และการอภิบาลระบบสุขภาพแบบเครือข่าย เป็นต้น เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 จำนวน 6 มติ โดยมอบหมายให้ :- เลขาธิการตณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแจ้งมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 ให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องในมติที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควรต่อไป คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) พิจารณาแสวงหาวิธีการผลักดันและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 เพื่อให้บรรลุผลตามควรแก่กรณี หากเห็นว่า มติใดสมควรเสนอให้ คสช.พิจารณาก็ให้เสนอ คสช.พิจารณาต่อไป เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2557 ได้มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 เรื่องข้อเสนอต่อการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย และให้เสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ แก่คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการตามมติฯ วันที่ 31 กรกฎาคม 2557 กระทรวงสาธารณสุขได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ระบบประกันสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน ประกอบด้วยฝ่ายสังคมจิตวิทยา กองทัพเรือ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ 3 กองทุนคือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สำกนังานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุขภายใต้ระบบประกันสุขภาพ เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทั้งค่าใช้จ่าย โดยปรึกษาหารือ 2 เรื่อง คือ 1. การตั้งคณะกรรมการประสาน 3 กองทุน และ 2 เรื่องการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบสุขภาพของประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ได้มีการร่างแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 กองทุนแล้ว ในเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพได้มีการพูดคุยเรื่องมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 5 ข้อ ได้แก่ การปฏิรูประบบสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งทุกฝ่ายในที่ประชุมมีความเห็นตรงกัน สำหรับร่างแต่งตั้งคณะกรรมการมาจากตัวแทน 3 กองทุนและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยจะเป็นการพูดคุยว่าแต่ละกองทุนเป็นอย่างไร ทั้งนี้อาจจะมีตัวแทนของผู้ให้บริการเข้าไปร่วมด้วยเพื่อจะได้เห็นรูปแบบการทำงาน อย่างไรก็ตาม เป็นการยกร่างเท่านั้น ส่วนการปฏิรูปต้องนำไปประชุมในเวทีของ คสช. โดยพิจารณามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตอ 5 เรื่องได้แก่ 1. การปฏิรูประบบสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการจัดการภ้ยคุกคามสุขภาพ 2.การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ 3. การปฏิรูประบบการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ 4. การปฏิรูประบบการเงินการคลังและระบบหลักประกันสุขภาพ และ 5. การปฏิรูปการอภิบาลระบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพมาประกอบการปฏิรูปและแปลงสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้แนวทางตะหารือในเวทีการปฏิรูปของ คสช.ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่ได้สรุปทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยจากเวทีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 โดยมีมติว่า ระบบสุขภาพปัจจุบันเป็นเรื่องใหญ่ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จำต้องใช้ความร่วมมือ จากทุกภาคส่วน การรวมศูนย์อำนาจในการบริหารที่ สธ.ดำเนินการอยู่นี้จึงไม่ใช่คำตอบ และอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในระบบสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นทิศทางที่ถูกต้องของระบบสุขภาพ คือ เชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งการกระจายอำนาจ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนเกี่ยวข้องดูแล จากความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ คสช.ต้องเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ มากกว่าเดิม และตั้ง “คณะกรรมการประสาน ระบบประกันสุขภาพ” ที่มี ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นประธาน พร้อมรายชื่อกรรมการที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ รวมทั้ง เพิ่มองค์ประกอบให้มีตัวแทนภาคประชาชน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มี  พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติคร้งที่ 6 มติ 8 เรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพภายใต้การปฏิรูปประเทศไทยต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอต่อสภาปฏิรุปแห่งชาติและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป วันที่ 15 สิงหาคม 2557 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในที่ประชุมเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 50 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เรื่องแนวคิดแนวทางในการปฏิรูประบบสุขภาพของชาติ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการประชาชน ที่จะปฏิรูปมี 3 รูปแบบคือ 1.เขตสุขภาพเพื่อประชาชน ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. 2.เขตสุขภาพของผู้จ่ายเงินแทนประชาชน หรือ สปสช. และ 3.เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการนำภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ทั้งสถานพยาบาลในสังกัด ภาครัฐนอกสังกัด เอกชน และส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมจัดบริการในเขตสุขภาพ เน้นการสร้างสุขภาพนำการซ่อมสุขภาพ โดยเฉพาะในส่วนโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ จะปรับบทบาทให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อกำหนดทิศทาง นโยบายการทำงานในเขตสุขภาพเป็นการใช้กลไกวิชาการวิชาชีพ นำการทำงาน โดยจะนำร่องความร่วมมือใน 3 คณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และสาธารณสุขศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2557 ที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นพ.สมศักดิ์  ชุณหรัศมิ์) เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมรับทราบการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 มติ 8 การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย ดังนี้ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา (พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย) ได้ลงนามเสนอเรื่องต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ. 2556 มติ 8 การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทยสำาหรับใช้เป็นกรอบการดำเนินการปฏิรูประบบสุขภาพในภาพรวมของประเทศต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2557 หลังจากที่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว สช.ได้เสนอมติดังกล่าวให้แก่ ประธานคณะกรรมาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทั้ง 18 คณะ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติเพื่อสุขภาวะของประชาชนทุกคนในชาติ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นประธานที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2556 จำนวน 8 มติ และให้เสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป  เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุข และการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เช่น ปรับระบบการบริหารจัดการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิให้เป็นรูปแบบ Primary Care Cluster เพิ่มแหล่งทุนเพื่อการสร้างสุขภาพป้องกันโรคของประเทศเป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งเตรียมความพร้อมสังคมและคนทุกวัยเพื่อเป็นสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ เป็นต้น ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องร่างแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ดังนี้             1. อนุมัติร่างแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) เร่งการเสริมสร้างสุขภาพคนไทยเชิงรุก (2) สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพ (3) พัฒนาและสร้างกลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ และ (4) พัฒนาและเสริมความเข้มแข็งในการอภิบาลระบบสุขภาพ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ            2. ให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อาทิ ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเพื่อการดังกล่าว จะต้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณและรายละเอียดค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมร่างแผนฯ โดยคำนึงถึงขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสม ส่วนค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ให้พิจารณาดำเนินการภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว การพิจารณาเพิ่มตัวชี้วัดและเพิ่มเติมรายละเอียดตัวชี้วัดบางประการของยุทธศาสตร์ที่ 4 การให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงการดำเนินงานกับกลไกการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นเอกภาพและสอดคล้องกับบริบทการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ และการนำสาระสำคัญของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาประกอบในขั้นตอนการจัดทำแผนรองรับการปฏิบัติงาน ตามร่างแผนฯ ต่อไป และความเห็นชอบของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขควรพิจารณาปรับปรุงร่างแผนฯ ให้ครอบคลุมแผน/ยุทธศาสตร์ด้านอื่นๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขเคยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบมาแล้ว และที่จะเสนอเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินโครงการภายใต้แผน/ยุทธศาสตร์นั้นๆ รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินการไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ให้กระทรวงสาธารณสุขคำนึงถึงความคุ้มค่าและการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย            3. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้แผนฯ ดังกล่าวเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานการพัฒนาด้านสุขภาพของประเทศตามห้วงระยะเวลาของแผนฯ และให้กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือภาคีเครือข่ายด้านสาธารณสุขในการดำเนินการต่อไป            4. เมื่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ ประกาศใช้แล้ว ให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2564)  ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป            5. ในการจัดทำแผนหรือยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขในโอกาสต่อไป ให้กระทรวงสาธารณสุขนำแผนหรือยุทธศาสตร์ของหน่วยงานอื่นๆ ที่มีการดำเนินโครงการในลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อความลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการและลดภาระงบประมาณต่อไป เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล กทม. พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 4 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุข ครั้งที่ 3/2560 โดยมีศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  และคณะกรรมการจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุม ว่า ขณะนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปด้านระบบบริการ ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการแพทย์ปฐมภูมิและบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 55 และ มาตรา 258 เพื่อเป็นกฎหมายที่ใช้ในการบริหารจัดการระบบการแพทย์ปฐมภูมิและบริการสาธารณสุขมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพมาตรฐาน ใกล้บ้าน ด้วยแนวทางการพัฒนาในรูปแบบคลินิกหมอครอบครัว โดยมีหลักการ 5 ข้อ คือ 1.มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหสาขาวิชาชีพดูแล 2.มีข้อมูลสุขภาพจากทุกระดับบริการกลับสู่ทีมผู้ดูแลในระดับปฐมภูมิและประชาชน เพื่อการดูแลต่อเนื่อง 3.มีการเชื่อมโยงระบบกับประชาชนโดยการลงทะเบียน4.มีเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ใช้พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ5.การจัดการโดยใช้กลไกทางด้านการเงินการคลัง ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มี 12 ประเด็นหลัก และ 38 ประเด็นย่อย อาทิ ผู้มีสิทธิได้รับบริการ การขึ้นทะเบียนของผู้มีสิทธิตาม พ.ร.บ. การมีส่วนร่วมของประชาชน หน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายบริการปฐมภูมิ การควบคุณภาพและมาตรฐาน ระบบข้อมูลสารสนเทศ การผลิตและพัฒนากำลังคน ระบบงบประมาณ เป็นต้น โดยจะสรุปร่างสุดท้ายในวันที่ 19 กันยายน 2560 จากนั้นจะขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นประชาชน และสรุปร่างฉบับสมบูรณ์เสนอครม.พิจารณาภายในเดือนธันวาคม 2560 นอกจากนี้ คกก.เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ พ.ศ. .... ซึ่งประกอบด้วย 1.คณะกรรมการนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นที่ปรึกษา มีปลัดกระทรวงทั้ง 2 กระทรวงเป็นประธาน 2.คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) มีนายอำเภอเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากทุกภาคส่วน และสาธารณสุขอำเภอเป็นกรรมการและเลขานุการ 3.พื้นที่ กทม. เป็นคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต มีผู้อำนวยการเขตเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการในเขต ภาคเอกชน และประชาชน มีผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุขเขตเป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้เมื่อครม.มีมติอนุมัติระเบียบสำนักนายกฯฉบับนี้แล้ว จะมีผลบังคับใช้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม สร้างชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนสุขภาพดี
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
เสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยประธานกรรมการ (นายกรัฐมนตรี) พิจารณานำกลไกและกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และเครื่องมืออื่นๆ สำหรับการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และเครื่องมือตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิรูป พ.ศ.2553 ไปปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวางในทุกระดับ เท่าเทียมด้วยความปรองดองและสมานฉันท์
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • วันที่ 8 สิงหาคม 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมเห็นชอบเรื่องการจัดทำเขตบริการสุขภาพเพื่อประชาชน สนับสนุนสุขภาวะของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำ
    ความไม่เป็นธรรม ผ่านการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนแบบไร้รอยต่อ โดยไม่ผูกพันกับงบประมาณและ ทรัพยากร ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพในอนาคต และตอบโจทย์เรื่องความปรองดองสมานฉันท์ เบื้องต้นแต่งตั้ง นพ. ณรงค์ อังคะสุวพลา กรรมการ สช. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีคณะทำงานทั้งหมด 20 คน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน มหาวิทยาลัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้คณะทำงานหารือ ออกแบบเขตบริการ เพื่อนำมาเสนอในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปลายเดือน ธ.ค.2557
  • เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2556 และ ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2557 ที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบแล้วในการประชุม ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ ตามลำาดับความสำคัญเร่งด่วน โดยให้ยึดหลัก ดังนี้ (1) นโยบายของรัฐบาล (2) กฎหมาย ระเบียบหลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง (3) งบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่ของหน่วยงาน
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
เสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นำ “หลักการ ทิศทาง และแนวทางสำคัญของการปฏิรูป ระบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1-6 จำนวน 59 มติ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น 6 มติ ไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมในทุกระดับภายในกรอบเวลาที่เหมาะสมและชัดเจน เพื่อตอบสนองต่อการปฏิรูประบบสุขภาพ และการปฏิรูปประเทศไทยอย่างเต็มที่
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
เสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยประธานกรรมการ (นายกรัฐมนตรี) นำข้อเสนอต่างๆ ของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1-3 พ.ศ.2554-2556 จำนวน 21 มติ ไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้ทุกภาคส่วนถือเป็นพันธะและร่วมรับผิดชอบในการนำหลักการ ทิศทาง และแนวทางสำคัญของการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย มติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น สมัชชาปฏิรูประดับชาติ และข้อเสนอต่างๆ ของคณะกรรมการปฏิรูปไปพิจารณาในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยและนำสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 10  กันยายน 2557 นพ.พินิจ ฟ้าอำนวยผล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับกรณีที่ภาคประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบสุขภาพทั้งระบบเพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในมิติการเข้าถึงกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของผู้สูงอายุ เนื่องจากคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2567 และเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ในปี 2573 ดังนั้น ประเทศไทยควรมีความพร้อมด้านการส่งเสริมระบบสุขภาพมากกว่าที่เป็นอยู่
  • เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2557 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าได้หารือกับผู้บริหาร สธ. ในการจัดทำข้อเสนอต่อ รมว.สธ. และ รมช.สธ. ได้ข้อสรุป 16 ข้อ โดยมี 4 เรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการคือ 1. การสร้างธรรมาภิบาลใน สธ. ให้โปร่งใสมากขึ้น 2. เรื่องขวัญกำลังใจสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ต้องมีการจัดทำกรอบอัตรากำลังให้สอดคล้องกับภาระงานและประชากรเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบริหารบุคคล 3. เรื่องการปฏิรูปเขตสุขภาพ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากร และการให้บริการภายในเขตร่วมกัน ซึ่งตรงกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เห็นชอบ 4. เรื่องระบบการเงินการคลัง ซึ่งภาพรวมมีอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบของ สธ. 1 แสนล้านบาท สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รพ.ในสังกัด จะได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวจากกองทุนฯ ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท
  • เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ขบวนการปฏิรูปประเทศไทยได้เสนอยุทธศาสตร์ 3 ด้าน โดยมีมาตรการรูปธรรม 16 ประการ สำหรับ 5 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน) กลุ่มผู้ด้อยโอกาส (คนเร่ร่อน, ไร้สัญชาติ, ติดเชื้อ, ติดยา, ต้องโทษ) กลุ่มเปราะบางทางสังคม (เด็ก, เยาวชน, ผู้สูงอายุ, สตรี, ผู้พิการ, กลุ่มชาติพันธุ์) กลุ่มชุมชนท้องถิ่นและเครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งนี้ ไม่รวมประเด็นสิทธิด้านการศึกษาและสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่แยกออกไป โดยข้อเสนอที่ได้รวบรวมมาจากภาคีต่างๆ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ในฐานะผู้รวบรวมข้อเสนอทางนโยบายของสถาบัน องค์กรและภาคีต่างๆ มากมายและในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินกระบวนการประชุมระดมความคิดรับฟังข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการภาคสนามหลายเวที นับเป็น “คลังความรู้” มหาศาลที่ถอดรหัส “วิธีการ” ขับเคลื่อนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอเพียงการนำไปใช้ในภาคปฏิบัติเท่านั้น

           ด้านแรก : ด้านสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน  ประกอบด้วยมาตรการการกระจายความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและสิ่งแวดล้อมอันเป็นสมบัติสาธารณะของชาติ สร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตและความปลอดภัยในการทำงานให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง และซ่อมแซมฐานล่างของสังคมอย่างเป็นระบบ ตามข้อเสนอของเครือข่ายสมัชชาปฏิรูประดับชาติ รวม 6 มาตรการ ได้แก่

         1) การผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้คนจนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
         2) การผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อป้องกันการกักตุนเก็งกำไรจากที่ดินโดยปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่า
         3) การผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน เพื่อเป็นกลไกการจัดการทรัพยากรที่ดินให้เกิดการกระจายตัว เกิดประโยชน์สุขและความเป็นธรรมในสังคม
        4) การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2524 เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมอย่างเต็มประสิทธิภาพ
        5) การผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือดูแลประชาชนที่ยากจน ผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับปัญหาที่ดินและอื่นๆ
       6) การเร่งรัดการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยฯ 2554 เพื่อเพิ่มหลักประกันแก่ผู้ใช้แรงงาน ในด้านความปลอดภัยและคุณภาพสิ่งแวดล้อมในโรงงาน
           ด้านที่สอง : ด้านสังคมเข้มแข็ง
ประกอบด้วย 4 มาตรการในการส่งเสริมสนับสนุนการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเพื่อการพึ่งตนเองได้ในกลุ่มประชากรรากหญ้า ทั้งในชนบทและในเมือง เสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานล่างพระเจดีย์ เพิ่มเครื่องมือในการพัฒนาสังคมและขยายบทบาทพลเมือง เมืองผู้ตื่นรู้ในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ
      1) ผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนภาคประชาสังคม เพื่อนำรายได้และผลกำไรจากสลากกินแบ่งส่วนหนึ่ง มาตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนการพัฒนาสังคม ดูแลประชากรกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางทางสังคมอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ตามข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปสลากเพื่อสังคมเข้มแข็ง และคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา
     2) ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์รวมแสงเลเซอร์สนับสนุนชุมชนเข้มแข็งชุมชนสุขภาวะอย่างเป็นขบวนการ เพื่อบูรณาการภารกิจสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งของ 46 หน่วยงานภาคีระดับชาติ มุ่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนทั่วประเทศทั้ง 23 ประเภท 300,000 องค์กร ภายใน 10 ปี ทั้งนี้ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6
    3) ผลักดันแนวคิดการจัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อให้เป็นสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงาน 20 ล้านคน ตามข้อเสนอของกรรมการปฏิรูป
   4) การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกันสังคมเพื่อให้มีอิสระ ประสิทธิภาพ ธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในการดำเนินงานมากขึ้น เป็นไปตามข้อเสนอของเครือข่ายสมานฉันท์แรงงานไทย
   5) ผลักดัน (ร่าง) พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ…. ตามข้อเสนอของสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้

          ด้านที่สาม : ด้านสังคมคุณธรรม ประกอบด้วย 5 มาตรการในการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์และผลประโยชน์ เปิดโอกาสให้กับคนเล็กคนน้อยในสังคม ทั้งในและนอกระบบ เพิ่มหลักประกันในชีวิตรวมทั้งขยายบทบาทชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมในการเยียวยาผลกระทบจากความแตกแยกทางสังคมและฟื้นฟูคุณธรรมจริยธรรมของสังคมไทย ภายหลังความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่อีกด้วย
         1) ผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.สลากกินแบ่งฉบับประชาชน เพื่อปฏิรูประบบสลากกินแบ่งอันมีแหล่งที่มาของรายได้หลักจากคนจน ให้กลับไปดูแลและสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเป้าหมายตามข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปสลากเพื่อสังคม
        2) การเร่งรัดการบังคับใช้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ 2554 เพื่อให้กฎหมายที่ถูกดองเอาไว้ด้วยเหตุผลทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ได้รับการดำเนินการให้เกิดประโยชน์สร้างหลักประกันแก่ประชาชนและรองรับสังคมผู้สูงอายุ

        3) การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 เพื่อให้มีความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน ตามอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ
        4) การขับเคลื่อนแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมความซื่อสัตย์ซื่อตรงผ่าน 7 เครือข่ายสังคมคุณธรรม ตามมติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติครั้งที่ 6
        5) การขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูคุณธรรมจริยธรรมของสังคมไทย โดยเฉพาะความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ความถูกต้องดีงามและความรับผิดชอบ รวมทั้งคุณธรรมสังคมในด้านความสามัคคีเป็นปึกแผ่น ความเอื้ออาทรความมีน้ำใจ เพื่อนำสังคมไทยกลับสู่สังคมแห่งรอยยิ้มอันบริสุทธิ์ ตามข้อเสนอของเครือข่ายองค์กรภาคีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ

  • เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนด้าน “สุขภาพ-สุขอนามัย” นั้น ได้เตรียมเสนอแผนพัฒนาระบบสุขภาพเร่งด่วน 4 เรื่องจากทั้งหมด 16 เรื่อง ต่อ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณา ได้แก่ 1.ระบบธรรมาภิบาล 2. การสร้างขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ 3. การจัดระบบบริการสุขภาพ  และ 4.การพัฒนาระบบสุขภาพระดับ อำเภอควบคู่ไปกับการพัฒนาโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยจะจัด ทำโครงการทศวรรษพัฒนา รพ.สต. ซึ่งจะเชื่อมโยงกับหมอประจำครอบครัวและการจัดบริการปฐมภูมิด้วย
  • เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 โครงการเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Forum) ได้รวบรวมสรุปแนวคิดต่างๆ จากการศึกษาวิจัยและจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ดินของ 11 หน่วยงาน/องค์กร ที่ได้ดำเนินการมาล่วงหน้านับสิบปี มีมาตรการต่างๆ ที่หลากหลายรวม 6 ด้าน 58 มาตรการนั้น ในที่สุดได้ผ่านการสังเคราะห์จากสมัชชาปฏิรูประดับชาติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 11 มาเป็นชุด (ร่าง) พ.ร.บ.เพื่อคนจน 4 ฉบับ อันได้แก่
    1. (ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร พ.ศ. …แต่เดิมชื่อร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชน แต่ว่าล่าสุดไม่มีร่าง พ.ร.บ. โฉนดชุมชนแล้ว และจะใช้ชื่อนี้แทน เพราะจะไม่ใช่การจัดการที่ดินอย่างเดียว จะเป็นเรื่องดินน้ำป่าและทรัพยากรอื่นในทะเลด้วย ทั้งนี้ จะเอาเรื่องสิทธิชุมชนเป็นแกนหลักนำไปสู่การจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ยั่งยืนและเป็นระบบ
    2. (ร่าง) พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ. …โดยหลักแล้วเมื่อมีธนาคารที่ดินก็จะทำให้มีกองทุนดำเนินการ ถ้าหากว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่า ธนาคารที่ดินจะเข้าไปขอซื้อจากนายทุนเอามาจัดการในรูปโฉนดชุมชนและให้ประชาชนที่ต้องการใช้ประโยชน์ สามารถเช่าที่ดินในระยะยาวได้ ไม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ ให้ที่ดินยังคงเป็นสมบัติของส่วนรวม
    3. (ร่าง) พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พ.ศ. …หัวใจหลักเป็นเรื่องภาษีอัตราก้าวหน้า กฎหมายจะกำหนดคนสามารถเป็นเจ้าของที่ดินเกินกว่า 50 ไร่ได้แต่ต้องเสียภาษีอัตราก้าวหน้า ถ้ามีไม่เกิน 50 ไร่ก็เสียอัตราธรรมดา เพื่อที่จะให้คนที่มีที่ดินมากๆ มีภาระจะต้องจ่ายภาษี ถ้าไม่นำที่ดินไปใช้ประโยชน์ แต่ถ้าใช้ประโยชน์ก็จะถูกลง และมีรายได้จากส่วนอื่นมาชดเชย
    4.(ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ. … เรื่องกองทุนยุติธรรม ขณะนี้เป็นแค่ระเบียบของกระทรวงยุติธรรมและมีเงินกองทุนจำนวนไม่มาก ในข้อเสนอนี้ให้ยกระดับระเบียบนี้ขึ้นเป็น พ.ร.บ. และมีเงินกองทุนที่ใหญ่ขึ้น มีภารกิจช่วยเหลือคนยากจนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมกว้างขวางขึ้น รวมทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคดีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
  • เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2557 บทบาทของภาคส่วนต่างๆ ในการทำงานเรื่องการปฏิรูปมีดังนี้
    • ภาคชุมชน ซอาจจะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ครอบคลุมองค์กรชุมชนทั้งประเทศ เช่น เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป (คชสป.) มีสมาชิกกว่า 15,000 องค์กรทั้งประเทศ ตั้งใจปฏิรูปด้านที่ดิน สวัสดิการ และปัญหาคนชายขอบ เครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move ซึ่งให้ความสำคัญกับปัญหาร้อนที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งสภาประชาชนสภาพลเมืองเพื่อการปฏิรูป เป็นต้น
    • ภาคสถาบันการศึกษา ก็มีอยู่หลายเครือข่าย เช่น เวทีถกแถลงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้อเสนอการปฏิรูปด้านต่างๆ ของที่ประชุมอธิการบดีประเทศไทย ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป 16 ด้านของอาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นต้น
    • ภาคสื่อมวลชน มีหลายเวที เช่น ความร่วมมือของไทยพีบีเอสกับเครือข่ายต่างๆ จัดเวที ‘เสียงประชาชนที่ต้องรับฟังก่อนการปฏิรูป’ ขึ้นทุกภาค เวทีความร่วมมือระหว่าง ‘กรุงเทพธุกิจ’ กับ NOW 26 จัดเทวีพลเมืองปฏิรูป 6 ประเด็น เป็นต้น
    • ความร่วมมือระหว่างหลายองค์กร เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน P-move เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายแรงงาน กป.อพช. RNN เป็นต้น ตั้ง ‘สภาประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ’ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เป็นฝ่ายวิชาการ รวบรวมทุกประเด็นปัญหา สังเคราะห์บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนขึ้นมา
  • วันที่ 27 ตุลาคม 2557 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงนโยบายในการปฏิรูประบบสุขภาพ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้แทนสาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบล (รพ.สต.) และนักวิชาการสาธารณสุข จากทุกจังหวัดประมาณ 200 คน เพื่อพัฒนาเครือข่ายสุขภาพอำเภอ (District Health System : DHS) ในการขับเคลื่อนงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันและลดปัญหา การเจ็บป่วยของประชาชน  มีเป้าหมาย สูงสุดคือประชาชนสุขภาพดี สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ โดยใช้รูปแบบเขตสุขภาพในการจัดระบบบริการ แบ่งเป็น 12 เขต และเขตกทม. เพื่อกระจายอำนาจในการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องบุคลากร งบประมาณ ไปที่เขต มีหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรสุขภาพร่วมภายในเขตสุขภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ และการจัดบริการร่วมกันระหว่างสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสังกัดอื่นๆ ในพื้นที่ ในการขับเคลื่อนเขตสุขภาพ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน จะมีการขับเคลื่อน 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.การจัดระบบบริการตามแผนการจัดบริการ 10 สาขา อาทิ หัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง อุบัติเหตุ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นต้น ให้มีระบบการค้นหา ติดตาม ส่งต่อและดูแลผู้ป่วย เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับหมู่บ้านคือรพ.สต. ไปจนถึง โรงพยาบาลใหญ่หรือระดับเชี่ยวชาญภายในเขตสุขภาพ 2.ทศวรรษการพัฒนารพ.สต. ซึ่งเป็นหน่วยบริการสุขภาพที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด ทั่วประเทศมี 10,198 แห่ง สอดคล้องกับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการปฐมภูมิ เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม สุขภาพ ป้องกันโรคในชุมชน และ 3.การพัฒนา เครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอให้เข้มแข็ง เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนตามบริบทของพื้น
  • วันที่ 22 มกราคม 2558 จากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในแนวทางการบูรณาการใช้งานภาพถ่ายจากการสำรวจระยะไกล ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เสนอไปนั้น ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าว เป็นแผนปฏิรูป 1 ใน 5 ด้าน ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ คือ การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อทรัพยากร อันเป็นแนวทางนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรของประเทศอย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถวางแผนป้องกันก่อนเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งองค์ประกอบของการดำเนินการเป็น 3 ส่วน คือ ระบบคลังภาพถ่ายทางอากาศและภาพจากดาวเทียมแห่งชาติ ซึ่งกระจายตามหน่วยงานแต่เชื่อมโยงและให้บริการด้วยมาตรฐานเดียวกัน และ 2. คือศูนย์ข้อมูลแนวเขตและรูปลักษณ์ที่มีกฎหมายรองรับ เช่น แปลงที่ดินกรรมสิทธิ์ ที่ดินของรัฐ ป่าไม้และพื้นที่อนุรักษ์ ที่ดินทำกินที่ได้รับอนุญาต ผังเมืองและเขตเศรษฐกิจพิเศษ อาคาร ระบบสาธารณูปโภค สุดท้ายคือ ระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการติดตามสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงได้ทันต่อเหตุการณ์ เช่น ภัยพิบัติ การบุกรุกป่าไม้และที่ของรัฐ การเพาะปลูกและคาดการณ์ผลผลิต แหล่งน้ำ มลพิษและอุบัติภัยทางบกและทะเล การใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ
  •  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ความคืบหน้าการจัดทำร่างปฏิรูปด้านสังคมฯ ว่า ได้รวบรวม 12 ประเด็นที่สมาชิก กมธ.ปฏิรูปสังคมเสนอสรุปเป็น 3 เรื่องหลัก ดังนี้ 1.การปฏิรูประบบเพื่อเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งจะทำใน 4 ด้านได้แก่ สร้างระบบและกลไกหนุนชุมชนจัดการตนเอง โดยจะเปิดให้ชุมชนเป็นนิติบุคคลสามารถจัดการตัวเองได้ หรือเป็นสภาองค์กรชุมชน, ระบบและกลไกหนุนสัมมาชีพชุมชน/เศรษฐกิจชุมชน โดยจะทบทวนเรื่องรัฐวิสาหกิจชุมชน ทุนชุมชน สหกรณ์ชุมชน เปิดให้ชุมชนได้คิดและมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เหมาะสมกับบริบทชุมชน โดยเราจะสร้างระบบจับคู่ระหว่างชุมชนกับภาคเอกชนในการถ่ายทอดความรู้การเป็นผู้ประกอบการ, ระบบสวัสดิการชุมชน โดยจะส่งเสริมการออมตั้งแต่เกิดจนตายสำหรับคนที่อยู่ในชุมชน เชื่อมโยงการออมแห่งชาติ เป็นการเชื่อมสวัสดิการชุมชน และระบบการจัดการ ทรัพยากรชุมชน โดยเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรของชุมชนร่วมกับรัฐ เป็นโฉนดชุมชน ป่าชุมชน 2.การปฏิรูประบบรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งด้วยไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องนำผู้สูงอายุกลับมาทำงานใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกันต้องดูแลระบบสวัสดิการ การเงิน สุขภาพ โดยเรื่องนี้เกี่ยวข้อง กมธ.อีก 4 ด้านต้องมาทำงานร่วมกัน ฉะนั้นประธาน สปช.จึงแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยมีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธาน ซึ่งถือเป็นระบบทำงานใหม่ที่ไม่เหมือนระบบราชการ เป็นการเชื่อมโยงการทำงานข้าม กมธ.ที่ต้องการความสำเร็จ และ 3.การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม เรื่องนี้ใหญ่และเกี่ยวข้องทั้งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มั่นคงทางสุขภาพ มั่นคงสังคม ฉะนั้นต้องมาทบทวนสวัสดิการเพื่อประชาชนต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย อะไรที่ดีอยู่แล้วก็ทำต่อ ส่วนอะไรไม่ดีก็ปรับเปลี่ยน หรือเริ่มใหม่ อย่างไรก็ตาม สปช.มีเวลาดำเนินการจัดทำร่างปฏิรูปอีกไม่เกิน 6-7 เดือน ฉะนั้นภายใน 1-2 เดือนจากนี้จะต้องจัดทำกรอบแนวคิดและรวบรวมข้อเสนอให้ชัดเจนเพื่อนำเสนอ สปช.ใหญ่ จากนั้นภายใน 3 เดือนโรดแมปต้องเสร็จเพื่อเสนอ สนช.ใหญ่ และเสนอตามขั้นตอนต่อไปได้
  • เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ได้เชิญผู้บริหารในภูมิภาค ซึ่งเป็น 5 เสือของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสาธารณสุขอำเภอ เพื่อสื่อสารแนวทางการปฏิรูประบบสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอต่อคณะกรรมมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติโดยมี  4 เรื่อง ได้แก่ 1.พัฒนากลไก การสร้างเอกภาพในการกำหนด นโยบาย สาธารณสุขของประเทศ โดยเสนอให้มีคณะกรรมการอำนวยการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Directing Board : NHDB) 2.ปฏิรูประบบบริการเป็นเขตสุขภาพ 3.ปฏิรูปการเงินการคลังด้านสุขภาพ และ4.สร้างระบบธรรมาภิบาลและกลไกเฝ้าระวัง ตรวจสอบถ่วงดุล 
  •  เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ในที่ประชุมวิชาการพยาบาลแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การปฏิรูประบบสุขภาพ (Updated Health Care Reform” ว่า ในปีงบประมาณ 2559 กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าดำเนินการใน 5 เรื่องคือ 1.ความเป็นเอกภาพของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการ 2.การเงินการคลังด้านสุขภาพระยะยาวของระบบ ให้มีความยั่งยืน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพ และการหาแหล่งเงินที่เหมาะสม 3.การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันปัจจัยเสี่ยง เพื่อลดการเจ็บป่วย 4.จัดระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ 5.การใช้ภูมิปัญญาไทย การแพทย์แผนไทยในการพัฒนาสุขภาพ  ทั้งนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติได้เสนอ 3 วาระปฏิรูป คือ ระบบบริการสาธารณสุข ระบบการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และระบบบริหารจัดการและการเงินการคลังด้านสุขภาพ อาทิ การปฏิรูปให้ระดับปฐมภูมิพื้นที่เป็นฐานระบบสุขภาพอำเภอ ระบบการสนับสนุนตามกรอบระบบสุขภาพซึ่งมีองค์ประกอบที่พึงประสงค์หลัก 6 ส่วนขององค์การอนามัยโลก กลไกสร้างความเข้มแข็งทุกระดับ กระจายให้ชุมชนท้องถิ่น การมีคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการสุขภาพท้องถิ่น การแยกบทบาทผู้กำหนดนโยบาย-ผู้จัดบริการ-ผู้ซื้อ-ผู้สนับสนุน  การผลิตและพัฒนาคน ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ เคลียร์ริ่งเฮ้าส์
  • มื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 4 ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เลขาธิการนายกรัฐรัฐมนตรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขเป็นเลขานุการ ได้เห็นชอบกรอบการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบการสาธารณสุข 4 บวก 4 โดยแต่ละประเด็นได้ตั้งคณะกรรมการดูแล พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลหรือหน่วยงานเพิ่มเติม    สำหรับประเด็นการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุข 4 บวก 4 ประกอบด้วย 1.ประเด็นการขับเคลื่อนระบบการสาธารณสุขใน  4  เรื่อง ได้แก่ การให้บริการอย่างทั่วถึงครอบคลุม เน้นการใช้พื้นที่เป็นฐานการทำงาน การสร้างเสริมสุขภาพทุกช่วงอายุ การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ เน้นเรื่องอุบัติเหตุ และการพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทยและการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ (Medical Hub) เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ 2.ประเด็นการปฏิรูประบบการสาธารณสุข 4 เรื่อง ได้แก่ ระบบบริการ (Service Reform) เน้นเรื่องหมอครอบครัว งานส่งเสริมสุขภาพสุขภาพและป้องกันโรค (Prevention and Promotion Reform) เน้นการปฏิรูปงานป้องกันควบคุมโรค การเงินการคลัง (Financing Reform) เน้นโปร่งใสตรวจสอบได้ และระบบบริหารจัดการ (Governance Reform) เน้นเรื่องข้อมูลข่าวสาร ความมั่นคงด้านยา โดยแต่ประเด็นจะมีการตั้งคณะกรรมการมาดูแล หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำเสนอประเด็นใดๆเพิ่มเติม คณะกรรมการชุดนี้ยินดีรับฟัง ทั้งนี้ จะดำเนินการให้ทันแผนการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน  โดยจะประชุมหารืออีกครั้งในวันที่ 27 มกราคม 2559  เพื่อจัดลำดับความสำคัญของงาน เช่น  เรื่องที่ต้องแก้กฎระเบียบ  การปรับโครงสร้าง เป็นต้น นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
  • เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุขได้นำเสนอแนวทางการทำงานในการประชุมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ซึ่งมีผู้แทนจากเขตสุขภาพ 12 เขต กทม. และทุกภาคส่วนเข้าร่วม โดยประเด็นเหนึ่งที่น่าสนใจคือ กลไกในการอภิบาลระบบสุขภาพซึ่งมีผู้เสนอในรูปแบบคณะกรรมการระดับแต่มีข้อเสนอทางเลือกการทำงานออกเป็น 3 รูปแบบ

    1) รูปแบบคณะกรรมการประสานงานด้านนโยบายสุขภาพแห่งชาติเป็นการอภิบาลโดยจัดตั้งให้มีกลไกที่จะสามารถประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทด้านสุขภาพ ให้มีมิศทางการทำงานที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อน ขัดแย้ง โดยไม่ได้ไปก้าวล่วงต่ออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่แต่ละองค์กรมีอยู่

    2) รูปแบบคณะกรรมการความร่วมมือด้านสุขภาพแห่งชาติ เป็นการอธิบายโดยจัดตั้งให้มีกลไกกลางที่สร้างความร่วมมือในการกำหนดทิศทาง มาตรการ การดำเนินการเฉพาะในประเด็นที่มีความสำคัญ ซึ่งหากมีข้อเสนอหรือมติอย่างใดให้มีผลผูกพันต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    3) คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ เป็นการอภิบาลโดยจัดให้มีกลไกที่สามารถใช้อำนาจเหนือหน่วยงานด้านสุขภาพทั้งหมด โดยเฉพาะหน่วยงานหรือกลไกของรัฐไม่ว่าจะเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ใดก็ตาม เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการกำหนดและดำเนินการตามนโยบายสุขภาพ

    ทั้งนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเลือกรูปแบบใด แต่ได้มอบให้คณะทำงานไปศึกษาข้อดีข้อเสียของทั้ง 3 รูปแบบเพื่อนำเสนออีกครั้ง

  • เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 4คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุข โดยมีพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุข ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อการปฎิรูปด้านสาธารณสุข ในระยะ 18 เดือน และแนวทางปฏิรูปต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2561-2565 ใน 3 ด้าน คือ ด้านระบบบริการสุขภาพส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค แพทย์แผนไทยและศูนย์กลางด้านการแพทย์ ด้านการคลังสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพ และด้านการอภิบาลระบบสุขภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมจากคณะทำงานขับเคลื่อนและปฏิรูปฯ ทั้ง 8 คณะ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั่วประเทศ
  • เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2559 ภายหลังการบรรยายพิเศษ “ปฎิรูประบบสุขภาพไทย” ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงนี้ ได้กำหนดเรื่องระบบการคลังสุขภาพเป็น 1 ใน 4 ประเด็นที่ต้องเร่งรัดปฏิรูป เพื่อทำให้ระบบการคลังสุขภาพมีความยั่งยืน พอเพียง เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ (SAFE: S=sustainability A=accessibility F=fairness E=effectiveness) โดยไม่ใช้งบประมาณภาครัฐเพิ่มไปกว่าในปัจจุบันมากนัก ด้วยความร่วมมือประชารัฐเพื่อความยั่งยืนในระบบสุขภาพ สำหรับ ประเด็นการขับเคลื่อนระบบสุขภาพมี 4 ประเด็น ได้แก่ ให้บริการอย่างทั่วถึงครอบคลุม สร้างเสริมสุขภาพทุกช่วงอายุ สร้างระบบหลักประกันสุขภาพ และการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ ประเด็นปฎิรูประบบสุขภาพ 4 ประเด็น ได้แก่ ระบบบริการ งานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การเงินการคลังและระบบบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมาย ลดป่วย ลดตาย ลดแออัด ลดเวลาในการรอคอย โดยในการปฏิรูปและขับเคลื่อนระบบบริการ เพื่อลดป่วยนั้น เน้นการพัฒนาบริการปฐมภูมิให้มีคุณภาพ เพิ่มบริการปฐมภูมิในเขตเมือง  มีทีมหมอครอบครัว 3 ทีมต่อประชากร 30,000 คน ในส่วนการลดตาย ลดรอคอยและลดเวลาส่งต่อ จะเน้นพัฒนาระบบบริการระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ โดยมีแผนพัฒนาศูนย์แพทย์เชี่ยวชาญชั้นสูง และการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ของ 19 มหาวิทยาลัย ใน 5 หลักสาขาเพื่อประจำในทุกเขตสุขภาพ ตั้งเป้าให้ผู้ป่วยไตวายทุกคนได้รับบริการ ผู้ป่วยโรคหัวใจลดลงร้อยละ 10 ใน 5 ปี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกคนได้รับยาละลายลิ่มเลือดทันเวลา  และการส่งต่อผู้ป่วยได้ในโรงพยาบาลทุกสังกัดแบบไร้รอยต่อ
ข้อที่: 
5
ชื่อรายการ: 
การดำเนินการตามข้อ 1-4 ดังกล่าว ให้ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางสำคัญในการทำงาน
ข้อที่: 
6
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความคืบหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8
เอกสารหลัก: