You are here


ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
สมัชชาครั้งที่: 
8
มติที่: 
2
ชื่อมติ: 
ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ผลการปฏิบัติงาน: 
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 โดยมี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม ได้มีมติ เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 จำนวน 5 มติ และให้เสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานรวม 2 ชุดโดยการสนับสนุนของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย
รายละเอียด: 

1.1 คณะกรรมการประสานความร่วมมือสนับสนุนการจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างยั่งยืน  โดยมีผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน และมีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นฝ่ายเลขานุการ โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) สถาบันอุดมศึกษา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิสัมมาชีพ และผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ผู้แทนชุมชน ท้องถิ่นและท้องที่ เป็นคณะกรรมการ  โดยมีภารกิจดังต่อไปนี้

1.1.1 ประสานเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาระบบและบูรณาการแผนการจัดการหมอกควันและไฟป่าในระดับภาคและระดับชาติ จัดทำแผนงานโครงการเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะทำงานระดับจังหวัดและพื้นที่รูปธรรม ตลอดจนประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหมอกควันและไฟป่า เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม รวมถึงเชื่อมโยงและรายงานผลการดำเนินงานต่อศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันระดับชาติและระดับภาค

1.1.2 สนับสนุนให้จัดทำแผนปฏิบัติการเชิงรุกทั้งด้านการป้องกัน การเผชิญเหตุ และการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ในทุกพื้นที่เสี่ยงในระดับจังหวัด รวมถึงสนับสนุนให้เกิดศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการหมอกควันและไฟป่าแบบบูรณาการเพื่อขยายผล เป็นกลไกการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนและการสื่อสารสาธารณะ

1.1.3 สนับสนุนให้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ร่วมกันพัฒนาระบบ โดยให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำข้อมูลไปใช้ในการบริหารจัดการ ติดตามเฝ้าระวังและประเมินผล

1.1.4 สนับสนุนให้เกิดการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการผลิตพืชเชิงเดี่ยวไปสู่ระบบการผลิตทางเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลดปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า โดยคำนึงถึงความสามารถในทางเศรษฐกิจผลกระทบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมภูมิปัญญา และปัญหาปากท้องของประชาชน พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอทางนโยบาย ระเบียบ กฎหมายให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม เช่น นำวัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

1.1.5 จัดทำแผนงานโครงการความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการระดมการสนับสนุน การแก้ปัญหา และความช่วยเหลือทั้งงบประมาณ องค์ความรู้และอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนให้กลไกตามข้อ 1.1 สามารถดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน และการพัฒนาระบบการจัดการเชิงระบบได้ในระยะยาว

1.1.6 ส่งเสริมให้ความรู้ สร้างจิตสำนึก และทักษะแก่เด็ก เยาวชน ประชาชนและเอกชนทุกภาคส่วน ในการให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่อย่างเหมาะสม และประสานกับกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินการ ตลอดจนกรมประชาสัมพันธ์ในการเผยแพร่ให้ความรู้

1.1.7 สนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับสถาบันวิชาการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องศึกษายกร่างปรับปรุงและพัฒนากฎระเบียบ กฎหมายรวมถึงการจัดตั้งกองทุน เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าเพื่อเสนอต่อการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

1.1.8 ส่งเสริมและสนับสนุนระบบการเฝ้าระวังการติดตาม และการดูแลผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากหมอกควันและไฟป่า รวมทั้งเพิ่มความรู้ความสามารถในการดูแลสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล

1.2 คณะทำงานขับเคลื่อนพลังชุมชนแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าระดับจังหวัดในทุกจังหวัดที่มีปัญหาโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเป็นเลขานุการ โดยมีองค์ประกอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เสนอโดยคณะกรรมการประสานความร่วมมือสนับสนุนการจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างยั่งยืน ผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัด องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ผู้แทนชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในจำนวนที่เหมาะสมเพื่อร่วมกันดำเนินงานดังนี้

1.2.1 ประสาน บูรณาการและเชื่อมโยงแผนงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า และรายงานผลการดำเนินงานต่อศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าระดับจังหวัด

1.2.2 สนับสนุนให้องค์กรชุมชน สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายสิ่งแวดล้อมชุมชน เครือข่ายลุ่มน้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเครือข่ายและอาสาสมัครของหน่วยงาน และกลไกที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงรุกทั้งด้านการป้องกัน การเผชิญเหตุ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่รูปธรรมในระดับจังหวัด รวมทั้งสร้างศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการหมอกควันและไฟป่าแบบบูรณาการเพื่อขยายผล และเป็นกลไกการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนและการสื่อสารสาธารณะในทุกระดับ

1.2.3 สนับสนุน เอื้ออำนวยให้เกิดการจัดทำแผนปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมระดับชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดในระดับจังหวัด

1.2.4 สนับสนุนให้กำหนดมาตรการลดการเผาในพื้นที่ชุมชน การจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าของรัฐและเอกชน และพื้นที่เกษตร การจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์และเหมาะสม ให้เป็นรูปธรรมตามหลักวิชาการ

1.2.5 ส่งเสริมองค์ความรู้ ทักษะ และสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนและเอกชนทุกภาคส่วนในจังหวัดในการให้ความร่วมมือกันแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่อย่างเหมาะสมในระดับจังหวัด

1.2.6 ประสานให้ภาคเอกชนกำหนดมาตรการที่ชัดเจน รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้วัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวให้เป็นประโยชน์

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559  พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานเปิดศูนย์เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และประสานข้อมูลสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ (War Room) ภายใต้ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ เพื่อเป็นช่องทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ติดตามและรายงานสถานการณ์ปัญหาจากพื้นที่ พร้อมกันนี้ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ในฐานนะผู้บังคับบัญชาการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ ได้มีการพูดคุยหารือกับรองแม่ทัพภาคที่ 3 ผู้ว่าราชการจับหวัด ผู้แทนทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกลเพื่อรับฟังสรุปสถานการณ์และการดำเนินงานในห้วงเวลาที่ผ่านมา และได้ร่วมหารือ วางแผน และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ให้สามารถผ่านช่วงวิกฤตหมอกควันไปได้ โดยที่มีฝุ่นเกินมาตรฐานให้น้อยที่สุด
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการดังนี้
รายละเอียด: 

2.1 ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแต่งตั้งและสนับสนุนคณะทำงานความร่วมมือในการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและท้องที่ องค์กรชุมชนและเครือข่ายต่าง ๆ ให้มีการจัดทำกฎหมาย ระเบียบ ข้อตกลงในระดับชุมชน และข้อบัญญัติของท้องถิ่นเพื่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการและการป้องกันปัญหาหมอกควันและไฟป่าในระดับพื้นที่  รวมถึงการจัดระบบการดูแลอาสาสมัครและการจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้ร่วมกับหน่วยงานรัฐอย่างบูรณาการ โดยมีสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น ผู้แทนองค์กร ชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ และองค์กรสาธารณประโยชน์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)        กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน

2.2 ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ร่วมกันในการพัฒนา ปรับปรุง ระบบวิธีการงบประมาณ ระบบการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณ ที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า สอดคล้องกับแผนงานและจังหวะเวลาอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพของงบประมาณ ทั้งนี้ให้รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนขึ้นปีงบประมาณต่อไป 

2.3 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศประสานสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในระดับภาครัฐ ความร่วมมือของคณะทำงานภาคประชาชนกลุ่มประเทศอาเซียนรวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์และการจัดทำแผนการป้องกันการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในกลุ่มประเทศอาเซียน

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดประชุมปรึกษาหารือแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 มติที่ 2 ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ณ ห้องประชุมสานใจ 2 ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ การประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมกว่า 30 คน ที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันว่า ควรสนับสนุนแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติใน 2 ประเด็นหลักคือ 1) เร่งรัดจัดตั้งกลไกร่วม 2 ระดับ แบ่งเป็น กลไกสนับสนุน โดยมี “คณะกรรมการประสานความร่วมมือสนับสนุนการจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างยั่งยืน” และกลไกการขับเคลื่อนระดับจังหวัด โดยมี “คณะทำงานขับเคลื่อนพลังชุมชนแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าระดับจังหวัด อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าระหว่างรอพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ควรจัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนระดับจังหวัดที่มีความพร้อม โดยกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงาน ข้อเสนอการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมและจัดทำพื้นที่นำร่องพร้อมตั้งคณะทำงานติดตามการขับเคลื่อนมติฯ และ 2) เร่งประสานหน่วยงาน/สร้างเงื่อนไข นโยบาย-กฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกข้อบัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจจัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างถูกต้อง เหมาะสม และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 และ ครั้งที่ 12
เอกสารหลัก: