You are here


น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน
สมัชชาครั้งที่: 
9
มติที่: 
1
ชื่อมติ: 
น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน
ผลการปฏิบัติงาน: 
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้            1. เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 เรื่อง น้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชน และมอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) พิจารณาดำเนินการ โดยนำข้อเสนอแนะจากกรรมการไปพิจารณาร่วมด้วย และนำมารายงานให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรับทราบความคืบหน้าต่อไป            2. เห็นชอบให้เสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 จำนวน 4 มติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป            3. มอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แจ้งมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 ให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนของมติที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานปัญญา เพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ภาคกลาง-ตะวันตก ณ ห้องประชุมทวารวดี 1 โรงแรมไมด้าทวารวดีแกรนด์ จังหวัดนครปฐม มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกว่า 100 คน ที่ประชุมมีการนำเสนอรายละเอียดของแต่ละมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั้ง 4 ประเด็นได้แก่ น้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชน การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม และสานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน โดยเน้นหนุนเสริมการทำงานของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ซึ่งขับเคลื่อนมติอยู่ปัจจุบันให้เกิดพลังอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยกลไกประชารัฐ ตัวแทนภาครัฐ วิชาการ ประชาสังคม ทำงานอย่างสอดคล้องเป็นทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเข้าใจให้ภาคีเครือข่าย และแลกเปลี่ยนสถานการณ์ และความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด มีการประเมินสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ แผนงาน กิจกรรม และงบประมาณของแต่ละหน่วยงานที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้เห็นต้นทุนของจังหวัด ก่อนร่วมกันออกแบบกิจกรรมการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม โดยจะมีการติดตามความก้าวหน้าและนำมาสรุปเป็นความรู้ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะกันต่อไป เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ณ ห้องประชุมสานใจ ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธาน คมส. ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2559 เรื่อง “น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน” ซึ่งมีเครือข่ายภาคีเกี่ยวข้อง เช่น กรมอนามัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา การประปานครหลวง ประปาภูมิภาค เครือข่ายสมัชชาสุขภาพพื้นที่ ร่วมกันทำงานเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรม คณะกรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ (คมส.) เร่งกรมอนามัยออกมาตรฐานน้ำดื่มสะอาดทั่วประเทศภายใน 1 ปี ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ก่อนออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อสนับสนุนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติฯ ดูแลความปลอดภัยน้ำดื่มของประชาชน ด้าน กทม. จับมือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมลงพื้นที่นำร่องหนองแขม หนุนอาสาสมัครประชาชนเฝ้าระวังความปลอดภัยตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ก่อนขยายผลครอบคลุม 6 กลุ่มพื้นที่ทั่ว กทม. เรื่องที่ คมส. ให้ความสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ แนวทางการนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ ในปี 2560 จะเริ่มที่มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 จำนวน 4 มติ ได้แก่ น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน, การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง เพื่อสุขภาวะ, การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม และสานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน โดยในเดือนมิถุนายนนี้จะจัดการประชุมขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (Regional NHA9 Roadshow) ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ แผนงานหรือกิจกรรมที่ได้ดำเนินงานอยู่และกำหนดแนวทางขับเคลื่อนมติให้เกิดรูปธรรมร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ หน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับมติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้ง 4 มติ ระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และเขตพื้นที่ นอกจากนี้ คมส. ยังได้รับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประเด็นอื่นๆ อาทิ การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมือง เพื่อสุขภาวะ, พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ และสานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน, การพัฒนาแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ฯลฯ
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันกำหนดมาตรฐานน้ำดื่มปลอดภัยในประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยอ้างอิงเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลกและสอดคล้องกับบริบทของประเทศ ภายใน 1 ปี เพื่อออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ต่อไป
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวน จัดทำ ปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบปฏิบัติ และบังคับใช้กฎหมาย ให้สามารถนำไปใช้ในการตรวจติดตามแหล่งน้ำดิบ สถานที่ผลิต เครื่องมือเครื่องจักร ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ และการบำรุงรักษาวัสดุและอุปกรณ์ เพื่อน้ำดื่มปลอดภัยและราคายุติธรรม อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้
รายละเอียด: 

2.1 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขให้ครอบคลุมน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัย รวมถึงสุขลักษณะการเก็บกักน้ำดื่ม

2.2 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สนับสนุนและกำกับดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ

2.3 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเร่งรัดการจัดทำมาตรฐานตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ เป็นมาตรฐานบังคับภายใน 1 ปี เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย เช่น ไฟเตือน ระบบสั่งการตัดการจ่ายน้ำเมื่อต้องเปลี่ยนไส้กรอง อุปกรณ์เก็บกักสำรองน้ำ และกำหนดอายุการใช้งานตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติพร้อมอุปกรณ์ พร้อมทั้งจัดทำมาตรฐานบังคับถังบรรจุน้ำขนาด 5-200 ลิตร ซึ่งยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน

2.4 คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และกรมการค้าภายใน พิจารณาแนวทางการกำกับดูแลราคาจำหน่ายน้ำบริโภคบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท และน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติโดยคำนึงถึงราคาที่เหมาะสม ภายใน 1 ปี

2.5 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เร่งออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขควบคุมสถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์น้ำดื่มที่ไม่บรรจุในภาชนะปิดสนิท ภายใน 1 ปี และร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กำกับดูแลมาตรฐานผู้ผลิตและสถานที่ผลิตน้ำดื่มเพื่อจำหน่ายในรูปแบบทั้งบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท และไม่บรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท

2.6 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบฉลากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติของผู้ประกอบธุรกิจ ผลิต ขาย นำเข้า สั่งนำเข้า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ รวมทั้งเร่งทำความเข้าใจแก่ประชาชนในการเลือกซื้อ และใช้บริการจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติที่ปลอดภัย

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เข้ามาสำรวจและออกแบบระบบเฝ้าระวังภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นกลไกเฝ้าระวัง ตรวจสอบมาตรฐานและราคา วางแผนดำเนินการในเขตพื้นที่ กทม. 6 โซน ได้แก่ กลุ่มรัตนโกสินทร์ กลุ่มบูรพา กลุ่มศรีนครินทร์ กลุ่มเจ้าพระยา กลุ่มกรุงธนใต้ และกลุ่มกรุงธนเหนือ เปิดพื้นที่นำร่องไปแล้วที่โซนกรุงธนเหนือ โดยสำนักงานเขตหนองแขม สำนักอนามัย กทม. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา การประปานครหลวง ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตหนองแขม เข้าร่วมการดำเนินงานด้วย โดยผู้ประกอบการทุกรายต้องมาขึ้นทะเบียนและตรวจสอบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอตามที่กฎหมายกำหนด
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้ กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบกิจการ จัดให้ประชาชนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัย โดยสนับสนุน งบประมาณ วิชาการ และอื่น ๆ ตามบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดน้ำดื่มสาธารณะที่ปลอดภัยไว้บริการในชุมชนอย่างน้อย 1 แห่ง
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นใน คมส. ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำขั้นตอนและหลักเกณฑ์การออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่ออำนวยการให้การจัดทำข้อบังคับท้องถิ่นที่จะเป็นแนวปฏิบัติควบคุมดูแลผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่ต่างๆเป็นไปได้สะดวกขึ้น
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำข้อมูลหรือรายงานจากการตรวจสอบเฝ้าระวังน้ำดื่มและแหล่งน้ำที่นำมาใช้ผลิตน้ำดื่มต่อสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยน้ำดื่มไม่ปลอดภัยร่วมกัน ผ่านสื่อสาธารณะระดับชาติและท้องถิ่นที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย
ข้อที่: 
5
ชื่อรายการ: 
ขอให้ คณะอนุกรรมการสาธารณสุขระดับจังหวัดและคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัด กำกับดูแลการตรวจสอบและเฝ้าระวังน้ำดื่มให้มีความปลอดภัย และราคาเป็นธรรมอยู่เสมอ โดยกำหนดให้เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคและภาคประชาสังคมร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ และมีส่วนร่วมเฝ้าระวังและตรวจสอบน้ำดื่ม ทั้งนี้ ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ข้อที่: 
6
ชื่อรายการ: 
ขอให้ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพพื้นที่และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมดำเนินการเฝ้าระวังและตรวจสอบน้ำดื่มให้มีความปลอดภัยและราคาเป็นธรรม รวมทั้งรณรงค์ ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายจากน้ำดื่มที่ไม่ได้มาตรฐาน
ข้อที่: 
7
ชื่อรายการ: 
ขอให้ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11
เอกสารหลัก: