เปิดวงถกอนุกรรมการวิชาการนัดที่ 3 กรองประเด็นละเอียดยิบ - เห็นชอบแล้ว 2 วาระ

   วงถกคณะอนุกรรมการวิชาการระดมสมองจัดลำดับความสำคัญ ๑๕ ประเด็นร้อนจากข้อเสนอภาคีเครือข่าย ก่อนเปิดฉากอภิปรายเข้ม “ร่อนตะแกรง” ประเด็นที่มีศักยภาพที่สำคัญและปั้นได้ และเห็นชอบ ๒ ระเบียบวาระ “Health Literacy & Public Space” เสนอที่ประชุม คจ.สช. พิจารณา ๓๐ เม.ย.นี้
 
   ค่อนข้างชัดเจนแล้วสำหรับ ๒ ระเบียบวาระที่คณะอนุกรรมการวิชาการ ซึ่งมี รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ เป็นประธาน จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) เพื่อลงมติประกาศเป็นร่างระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๑ ประจำปี ๒๕๖๑ ได้แก่ ระเบียบวาระ “ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” (Health Literacy) และ “การพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาอย่างยั่งยืน: เขตเมือง” (Public Space) ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการวิชาการ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑ ได้ให้ความเห็นชอบพร้อมทั้งร่วมกันอภิปราย และเสนอปรับแก้ชื่อระเบียบวาระเพื่อความครอบคลุมและสอดรับกับสถานการณ์
 
   ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้ร่วมกันพิจารณาผลการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาประเด็นนโยบายสาธารณะฯ ซึ่งเชิญภาคีเครือข่ายผู้เสนอประเด็นฯ ๕ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ ๑ เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขและการบริการสุขภาพ ๑ กลุ่มที่ ๒ เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขและการบริการสุขภาพ ๒ กลุ่มที่ ๓ เกี่ยวข้องกับเกษตร อาหาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มที่ ๔ เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ กลุ่มที่ ๕ เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ และการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค รวม ๖๕ ประเด็น มาหารือ ทำความเข้าใจ และกลั่นกรองประเด็นร่วมกัน โดยผู้เสนอประเด็นฯ แต่ละกลุ่มได้อภิปรายถึงความสำคัญ ความเร่งด่วน และความเป็นไปได้ในการผลักดันจนเกิดเป็นรูปธรรมของนโยบายสาธารณะ ก่อนลงคะแนนโหวตภายในจนได้ “ป๊อปปูล่าโหวต” ที่ก่อนกลั่นกรองจากแต่ละกลุ่ม รวม ๑๕ ประเด็นสำคัญ ซึ่งจะมีการหยิบยกเข้าสู่การประชุมเพื่อจัดลำดับความสำคัญอีกครั้ง ซึ่งจากการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ประกอบด้วย
 
   ๑.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ให้ไปใช้ช่องทางกลไกพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสังคมสูงวัยแบบมีส่วนร่วม และสมัชชาเฉพาะประเด็นแทน ๒.ประเด็นที่มีหน่วยงานเฉพาะ ให้ไปใช้ช่องทางเฉพาะของหน่วยงานนั้นๆ ๓.ประเด็นที่เคยมีมติสมัชชาสุขภาพฯ ไปแล้ว ให้ใช้กลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) และ ๔.ประเด็นที่เป็น Potential ซึ่งจะร่อนตะแกรงอีกครั้งเพื่อเสนอให้ คจ.สช. พิจารณาต่อไป
 
   ในส่วนของประเด็นที่มีศักยภาพ มีด้วยกัน ๓ กลุ่มย่อย ได้แก่ ๑.Consumer Protection ได้แก่ การจัดการปัญหาการจัดฟันแฟชั่น, ความปลอดภัยของน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำแข็งบริโภคในประเทศไทย ๒.Community Health & Self Care ได้แก่ การขับเคลื่อนพยาบาลในการดูแลสุขภาพชุมชน, ขอให้รัฐคุ้มครองสุขภาพของประชาชนอย่างทั่วถึงและเสมอภาคทุกคน, สุขภาพดี วิถีธรรม วิถีไทย ๓.Health For All ได้แก่ ประกันสุขภาพแรงงานอาเซียน, ทุกข์เศร้าใต้เงาเพศภาวะ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้อนุกรรมการรับผิดชอบจัดกระบวนการหารือระหว่างองค์กรที่เสนอประเด็นอีกครั้ง ทั้งนี้ ประเด็นที่ยังไม่ได้คัดเลือก จะมีการพัฒนาต่อในช่องทางต่างๆ เช่น เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การพัฒนาเป็นสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การพัฒนาความพร้อมนำเสนอในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งต่อไป หรือช่องทางอื่นๆ ที่เหมาะสมต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143