เผยความคืบหน้า 2 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ VS. น้ำดื่มปลอดภัย

   ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ เผยความคืบหน้าการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 เรื่อง น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ระบุ อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดอีกไม่นานชัด
 
   แนวทางการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐” ซึ่งได้ประกาศใช้ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ คือสาระสำคัญที่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๑ ให้น้ำหนักและร่วมกันอภิปรายอย่างหลากหลาย โดยมุ่งหวังให้เกิดรูปธรรมอย่างแท้จริง
 
   ตลอดระยะเวลา ๔ เดือนนับตั้งแต่ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พ.ศ.2560 ฉบับแรกของประเทศบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นฟากฝั่งฆราวาสหรือองค์กรสงฆ์ต่างให้ความสำคัญและตื่นตัวกันเป็นอย่างมาก ส่งผลให้การขับเคลื่อนมีความคืบหน้าตามลำดับ
 
   บางช่วงบางตอนระหว่างการประชุม ดร.วณี ปิ่นประทีป ประธานอนุกรรมการฯ ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า ล่าสุด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ทำเรื่องไปยังมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อให้พิจารณาแต่งตั้งกลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนแล้ว คาดว่าจะได้รายชื่อคณะกรรมการในระยะเวลาอันใกล้
 
   “การดำเนินการในครั้งนี้นับว่าเป็นก้าวสำคัญมาก พระชั้นผู้ใหญ่ก็เห็นพ้องร่วมกันว่าสุขภาพของพระสงฆ์เป็นเรื่องที่สำคัญ และทุกคนต้องช่วยกันจริงๆ จึงจะสำเร็จ” ดร.วณี ระบุ
 
   ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน อนุกรรมการ แสดงความคิดเห็นว่า ขณะนี้พลังของชาวพุทธยังไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะของพระสงฆ์ นั่นเพราะพุทธศาสนิกชนยังไม่เห็นภาพว่าจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ได้อย่างไร และอะไรคือรูปธรรมความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหากทุกคนช่วยกัน
 
   “นี่คือภารกิจสำคัญที่เราต้องขับเคลื่อนและสนับสนุน ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เกิดเป็นมติตัวอย่าง ซึ่งจะแสดงให้ทุกฝ่ายเห็นว่าสามารถขับเคลื่อนไปในวงกว้างได้” ดร.ธีรารัตน์ ระบุ
 
   อีกหนึ่งความคิดเห็นที่น่าสนใจมาจาก ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อนุกรรมการซึ่งเสนอประเด็นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานท้องถิ่น เนื่องจากบริบทของพระสงฆ์ในเมืองกับชนบทมีความแตกต่างกัน ปัญหาสุขภาพย่อมแตกต่างกัน ฉะนั้นหน่วยงานท้องถิ่นน่าจะเข้ามามีบทบาทด้วย รวมถึงที่ประชุมยังเห็นพ้องต้องกันอีกว่า ควรสนับสนุนให้พระสงฆ์เข้ามามีบทบาทด้านสุขภาวะของสังคมมากยิ่งขึ้น และในอนาคตควรขยับขยายให้ครอบคลุมสุขภาวะของบุคคลในศาสนาอื่นๆ ด้วย
 
   นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามความคืบหน้า มติน้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ต่างเห็นพ้องถึงสถานการณ์ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ปลอดภัย โดยข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่า มีตู้น้ำหยอดเหรียญใน กทม. กว่า ๙๐% ที่ไม่มีใบอนุญาต
 
   สำหรับการดำเนินการ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรให้ภาคประชาชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน และควรประสานกับการประปานครหลวง (กปน.) เข้ามาร่วมแก้ปัญหา พร้อมกันนี้ควรใช้โอกาสเนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภค ๓๐ เมษายน ทำการรณรงค์เรื่องนี้อย่างเข้มข้น
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143