ปิ๊งไอเดีย! จ่อผุด ‘ฉลากคำเตือน’ เนื้อแดงและเนื้อแปรรูป สู่สมัชชาสุขภาพประเด็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

   คณะทำงานแก้ปัญหามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ชี้การบริโภค “เนื้อแดงและเนื้อแปรรูป” มากเกินจำเป็นมีความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ ระดมสมองหาแนวทางล้อมคอก ปิ๊งไอเดีย! ติดฉลากคำเตือนแก่ผู้บริโภค
 
   “มะเร็ง” คือโรคอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตคนไทย โดยสาเหตุเกิดได้ทั้งจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และโรคทางพันธุกรรม ที่ประชุมคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นว่าด้วย “การแก้ปัญหาป้องกันและควบคุมมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักอย่างมีส่วนร่วม” เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะลดระดับของภัยคุกคามด้านสุขภาพประเภทนี้ลง
 
   วงอภิปรายตั้งประเด็นจากพฤติกรรมการบริโภคตามสมัยนิยม โดยเฉพาะ “บุฟเฟต์ปิ้งย่าง” ที่นำมาซึ่งการบริโภคเนื้อแดงเกินความจำเป็น (ร่างกายต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่เกินสัปดาห์ละ ๔๐๐ กรัม) และการรับประทานอาหารไหม้ ซึ่งเป็นสาเหตุความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
 
   ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข บอกเล่าถึงสถานการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่และทหารหนักว่า คาดการณ์ว่าปัจจุบันจะมีผู้ป่วยสูงถึง ๑๔,๐๐๐ คน มากกว่าเมื่อ ๑๐ ปีก่อนถึง ๔,๐๐๐ คน หรือคิดเป็นร้อยละ ๔๐ โดยสาเหตุมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการกินอาหารประเภทเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปที่เกินความต้องการของร่างกาย
 
   “การกินเนื้อแดงหรือเนื้อแปรรูปที่มากเกินไปมีผลกระทบและสร้างปัญหา คณะทำงานจึงต้องวางแนวทางดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความตระหนักต่อกลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่นและคนวัยทำงาน” ดร.ศุลีพร เน้นย้ำ
 
   แน่นอนว่าการขอความร่วมมือจากร้านค้าหรือผู้ประกอบการเนื้อแดงคงเป็นเรื่องยาก ที่ประชุมได้ระดมความคิดเห็นและเกิดไอเดียที่ได้รับการสนับสนุนเป็นเสียงเดียวกัน นั่นก็คือการทำ “คำเตือน” ให้ผู้บริโภคมีความตระหนักและเข้าใจ
 
   นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และประธานคณะทำงานฯ เสนอว่า ควรติดประกาศคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์เนื้อแดงและเนื้อแปรรูปว่า “การรับประทานมากเกินจำเป็นมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในมนุษย์” ซึ่งมีกรณีศึกษาในต่างประเทศในบางผลิตภัณฑ์ที่มีสารก่อมะเร็งว่ามีผู้บริโภคเคยฟ้องร้องผู้ผลิตผู้จำหน่ายว่าไม่มีการเตือนว่ามีสารก่อมะเร็ง ส่วนตัวคิดว่าเตือนบนฉลากของผลิตภัณฑ์เข้าถึงเป้าหมายได้มากกว่าและรวดเร็ว
 
   ทั้งนี้ คณะทำงานได้นัดหมายที่จะประชุมกันอีกครั้งในวันที่ ๒๗ มิถุนายนนี้ โดยจะเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากอาหารที่เป็นผลต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเข้ามาพูดคุยขอความคิดเห็น เพื่อวางกรอบและพัฒนาข้อเสนอสู่กระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อสานพลังแก้ไขปัญหาต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143