‘ชุมชนเข้มแข็ง’ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ผลึกความคิด ‘ศ.นพ.ประเวศ วะสี’

   “นพ.ประเวศ” บรรยายพิเศษหัวข้อ “ชุมชนเข้มแข็ง : หัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย” ในเวที Kick off สานใจสานพลังภาคีสนับสนุนปฏิรูปชุมชนเข้มแข็งนัดแรก ระบุ ต้องสร้าง “ผู้นำตามธรรมชาติ” ให้เป็นฐานของประเทศ ยืนยันมีคุณภาพกว่าผู้นำจากการเลือกตั้ง-แต่งตั้ง
 
   ผู้แทนภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กรทั่วประเทศ กว่า ๒๐๐ ชีวิต พร้อมใจกันมาร่วม เวที Kick off สานใจ สานพลัง ภาคีสนับสนุนปฏิรูปชุมชนเข้มแข็ง ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ และพิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ. .... ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ณ ห้องประชุมทิพวรรณบอลลูน โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑
 
   การประชุมเปิดฉากด้วยหนึ่งในไฮไลท์สำคัญ นั่นคือ การบรรยายพิเศษหัวข้อ “ชุมชนเข้มแข็ง : หัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย” ผ่านมุมมองของราษฎรอาวุโส ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี
 
   “ชุมชนเข้มแข็งเป็นหัวใจของการพัฒนาในทุกเรื่อง” และ “การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องเริ่มจากฐานราก” คือคอนเซ็ปต์ใหญ่ที่อาจารย์ประเวศฉายภาพแก่ผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำมาสู่ดอกผลอย่างน้อย ๘ ประการ ได้แก่ ๑.ฐานประเทศแข็งแรงประเทศมั่นคง ๒.พัฒนาอย่างบูรณาการเชื่อมโยงกันอย่างสมดุลโดยใช้ “พื้นที่” เป็นตัวตั้ง ๓.ฐานประชาธิปไตยสร้างผู้นำคุณภาพซึ่งเป็นผู้นำตามธรรมชาติที่เกิดจากการยอมรับของคนในชุมชน ๔.ฐานทางศีลธรรมที่เกิดจากการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับคนและคนกับสิ่งแวดล้อม ๕.ฐานของระบบเศรษฐกิจที่มีภูมิคุ้มกัน คือมีบ้านอยู่ มีข้าวกิน ทำอาชีพตามถนัด ๖.รองรับสังคมสูงอายุ ๗.ระบบบริการสุขภาพใกล้บ้านใกล้ใจ และ ๘.เป็นฐานของการปฏิรูปการศึกษา
 
   นพ.ประเวศ อธิบายว่า การรวมตัวกันของคนในชุมชนเพื่อทำงานร่วมกันจะทำให้เกิดผู้นำตามธรรมชาติ อาจเป็นผู้นำจากด้านต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น ผู้นำตามกลุ่มอาชีพ กลุ่มสตรี เยาวชน ศาสนา กลุ่มครู ปราชญ์ชาวบ้าน โดยผู้นำตามธรรมชาติจะเกิดขึ้นมาเองและมีคุณภาพสูงกว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้ง
 
   “หากทั้ง ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้าน มีผู้นำตามธรรมชาติสักแห่งละ ๔๐-๕๐ คน ประเทศไทยก็จะมีฐานที่เข้มแข็งจากผู้นำกว่า ๔ ล้านคน” คุณหมอประเวศ ระบุ และชี้ประเด็นว่า ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศก็คือ “ตำบล”
 
   สำหรับสิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดชุมชนเข้มแข็งนั้น ประกอบด้วย ๑.การสื่อสารสร้างคุณค่าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ๒.Mapping สถานภาพและงานชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ๓.กฎหมายกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นและองค์กรในพื้นที่จัดการกันเอง ๔.สถาบันพัฒนานักจัดการองค์กรชุมชน (Community Organizing Development Institute : CODI) และ ๕. ๑มหาวิทยาลัย /๑จังหวัด
 
   ๖.นักเรียน นิสิต นักศึกษา เรียนรู้จากการปฏิบัติงานในชุมชน ๗.นโยบายและกลไกในการบริหารยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง ๘.ภาคีสนับสนุนยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง และ ๙.ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ. .... ซึ่งเป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม
 
   “ระเบียบสำนักนายกฯ ที่ดีต้องบอกถึงปรัชญาและวิธีการที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องสนับสนุนให้เกิดชุมชนเข้มแข็งอย่างแท้จริง และต้องมีกลไกที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป” นพ.ประเวศ ทิ้งท้าย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143