สช. ดึงทุกภาคส่วนร่วมทบทวนอีสปอร์ต วางแนวทางป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน

   สช. จัดเวทีรับฟังทุกภาคส่วน ร่วมแก้ปัญหา ‘อีสปอร์ต’ วางแผนพัฒนาสู่นโยบายสาธารณะ รองผู้ว่า กกท. หวังสร้างอนาคตเด็กรุ่นใหม่ ควบคู่แก้ปัญหาติดเกม ด้านนักวิชาการห่วงกระทบสุขภาวะ แนะทบทวนมาตรการกำกับเนื้อหาให้เหมาะ คณบดีดิจิทัลมีเดีย ม.ศรีปทุม ชี้ทิศทางถูกแล้วแต่ต้องวางระบบให้ดีในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนฯ แนะผู้ใหญ่ฟังเสียงเด็กๆ อย่างรอบด้าน ทั้งฝ่ายหนุนและต้าน
 
   นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในเวที สช. เจาะประเด็นครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ “E-Sport เกม กีฬา ท้าทายโรคดิจิทัล” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า หลังจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) รับรองอีสปอร์ตเป็นกีฬา ทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องผลดี ผลเสียต่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนมาก สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และสร้างกระบวนการขับเคลื่อน เพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เสนอในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๑ เดือนธันวาคม ๒๕๖๑ นี้
 
   ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมติเด็กกับสื่อ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากนี้จะมีเวทีสาธารณะเรื่องอีสปอร์ตอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันผลกระทบในวงกว้าง เพราะงานวิจัยระบุว่าเด็กไทยอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ๓๕ ชั่วโมงต่อสัปดาห์และกลายเป็นโรคติดเกม ต้องไปพบแพทย์ซึ่งส่วนมากเล่นเกม MOBA (Multiplayer Online Battle Arena)
 
   “ขณะนี้เกิดความสับสนของพ่อแม่ เพราะรัฐบาลบอกว่าอีสปอร์ตเป็นกีฬา ไม่ใช่เกม นำไปสู่ความขัดแย้งในครอบครัว กระทบฐานะทางเศรษฐกิจ ปฏิสัมพันธ์ลดลง”
 
   ดร.ธีรารัตน์ เรียกร้อง กกท. ทบทวนในเรื่องนี้ ด้วยการนำผลการศึกษาวิจัยมาวินิจฉัยอีกครั้ง ว่าการตัดสินใจรับรองเป็นกีฬานั้นถูกต้องแล้วหรือไม่ และขอให้ร่วมรับผิดชอบโดยไม่ทิ้งภาระให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
 
   นายณัฐวุฒิ เรืองเวส รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบด้าน เชิญหน่วยงานต่างๆ หารือผลกระทบก่อนตัดสินใจ เพราะการแข่งขันอีสปอร์ตในต่างประเทศเกิดขึ้นแล้วและมีองค์กรสากลให้การยอมรับ ดังนั้น ภารกิจของ กกท. คือสร้างนักกีฬาที่เป็นเลิศ ก้าวสู่มืออาชีพ และพัฒนาอุตสาหกรรม
 
   รองผู้ว่าการ กกท. ระบุว่า การประกาศรับรองมีข้อดีคือ กกท. ก็มีสิทธิเข้าไปร่วมดูแล สร้างวินัย ฝึกฝน ให้ความรู้อย่างเป็นระบบ หรือเมื่อรับรองแล้วถ้าเกิดผลกระทบมากก็สามารถนำกลับมาทบทวนใหม่ได้ หลังจากนี้สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย จะกำหนดว่าเกมไหนคืออีสปอร์ต และจะมีแนวทางดูแลอย่างไรต่อไป
 
   นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพและจิตเวช ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต มองว่า อีสปอร์ตเป็นวาทกรรมของผู้สนับสนุนให้เกิดขึ้น แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับทางวิชาการว่าเป็นกีฬา บางเกมก็ใช้ความรุนแรง เนื้อหาไม่เหมาะสม ขาดการกำกับดูแลที่ดี
 
   “เกมสามารถกระตุ้นสมอง ๒ ส่วน คือสมองส่วนคิดใช้วางแผน และสมองส่วนหยาบคือเรื่องอารมณ์ความรู้สึก หากเป็นเกมที่กระตุ้นสมองส่วนหยาบ องค์การอนามัยโลกเตือนว่าอาจเข้าสู่โรคติดทางพฤติกรรมหรืออาการติดเกม เพราะเด็กมีปัญหาเพิ่มขึ้นในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมาเมื่อเกิดกระแสอีสปอร์ต”
 
   ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ได้รับการร้องจากเครือข่ายสิทธิเด็กกว่า 40 องค์กรและเครือข่ายครอบครัวอีกมากว่าเกิดปัญหา เพราะลูกๆ จะอ้างเรื่องอีสปอร์ตเป็นกีฬา ร้านเกมก็เปลี่ยนชื่อเป็นอีสปอร์ตเซ็นเตอร์ เพื่อปรับภาพลักษณ์เรื่องเด็กติดเกม บริษัทผู้พัฒนาเองก็ใช้แคมเปญกระตุ้นการเล่นตลอดเวลา
 
   ผศ.ดร.กมล จิราพงษ์ คณบดีคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม มองว่า เราควรพัฒนาอุตสาหกรรมนี้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยและให้เด็กเยาวชนใช้ดิจิทัลในทางที่ถูกต้อง ซึ่ง ม.ศรีปทุม ได้สอนเรื่องของศิลปะดิจิทัล กราฟิก แอนิเมชั่น สเปเชียลเอฟเฟกต์ และการสร้างสรรค์เกม เป็นการเปิดมิติใหม่ สร้างโอกาสในโลกใบใหม่ให้ดีขึ้น
 
   “เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงควรจัดระเบียบหาวิธีชักนำเด็กไปในทางที่ถูกต้อง ผู้ประกอบการก็จะคิดหาเกมเชิงบวกมากขึ้น ผมเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้ว ประเทศไทยเหมาะที่จะทำเรื่องนี้ ยังมีอาชีพอีกมากที่เกี่ยวข้อง แต่อาจถูกดึงศักยภาพไว้เพราะภาพของเด็กติดเกม”
 
   ผศ.ดร.ฉัตรชัย ฉัตรปุณญกุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การกำหนดให้อีสปอร์ตเป็นกีฬายังมีข้อถกเถียงในทางวิชาการ เพราะยังขาดกิจกรรมทางกายภาพ (Physical Activity) รวมถึงองค์กรควบคุมกฎระเบียบต่างๆ ไม่ชัดเจน แต่เห็นด้วยที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาส่งเสริมให้ถูกต้อง เกมใดที่ส่งเสริมสมองจริงๆ ก็ควรพิจารณาให้ชัด อย่างประเทศเกาหลีใต้มีกฎหมายเรียกว่า Cinderella Law ที่ห้ามเด็กต่ำกว่าอายุ ๑๘ ปี เล่นตั้งแต่เที่ยงคืนถึงหกโมงเช้า เป็นต้น
 
   นายตรีภพ เที่ยงตรง นักบรรยายเกม ฉายา Xyclopz อดีตวิศวกร ปัจจุบันเป็น Game Caster ที่ได้รับเชิญไปทั่วโลก กล่าวว่า ในส่วนของตนอีสปอร์ตช่วยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและบุคลิกภาพ “อยากบอกน้องๆ ให้เข้าใจว่ายังมีทักษะอื่นที่มากกว่าเป็นนักกีฬาอย่างเดียว เช่น ต่อยอดอาชีพทางนิเทศศาสตร์หรือการเป็นพิธีกร”
 
   นายปฏิพัทธิ์ รัตน์อนากุล ประธานชมรมอีสปอร์ต โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า เพิ่งจัดตั้งชมรมฯ สำเร็จ มีผู้สนใจมากกว่า ๑๐๐ คน แต่รับเป็นสมาชิกได้แค่ ๔๕ คน ซึ่งปัจจุบันครูในโรงเรียนเข้าใจความสำคัญเรื่องนี้และได้ให้การสนับสนุนมากขึ้น
 
   น.ส.ภูรินุช บัญชาจารุรัตน์ ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้รับฟังความคิดทุกๆ ฝ่าย ทั้งหน่วยงาน แพทย์ นักวิชาการ เด็กเยาวชนที่เล่นเกมและไม่เล่นเกมด้วย สุดท้ายก็ควรเคารพความคิดของเด็ก โดยไม่ตัดสิน ไม่ชี้นำ ก็จะได้ทางออกดีๆ ในการปกป้องคุ้มครอง
 
   “การบอกว่าอีสปอร์ตเป็นกีฬา ทำให้เด็กหรือผู้ใหญ่เข้าใจว่าทุกอิเล็คทรอนิกส์เกมคืออีสปอร์ต จึงรับเนื้อหารุนแรงหรือใช้สื่อลามก นับเป็นวาทกรรมการโฆษณามีผลต่อเด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ เกิดผลลบต่อสุขภาพ ทุกฝ่ายจึงควรร่วมมือกัน ไม่ผลักภาระให้ครอบครัวอย่างเดียว”
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143