You are here


ความเสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็น
สมัชชาครั้งที่: 
1
มติที่: 
8
ชื่อมติ: 
ความเสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็น
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานประกันสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
รายละเอียด: 

1.1 จัดให้มีบริการสาธารณสุขที่หลากหลาย มีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนทั่วไปและกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์และ/หรือชาวไทยภูเขา ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ รวมทั้งจัดระบบงบประมาณหรือระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืนและเพียงพอให้กับสถานพยาบาล ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิและความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้อย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มประชากรไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม  รวมทั้งบุคลากรชาวไทยที่ยังมิได้มีการพิสูจน์สถานะซึ่งไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ โดยยึดถือมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ว่าด้วย ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ทั้งนี้จะต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการสาธารณสุขในทุกระดับ ทั้งระบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการและให้เจ้าหน้าที่ มีทัศนคติที่ดีต่อผู้รับบริการ

1.2 ส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมในการจัดบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน รวมถึงพัฒนาศักยภาพและกลไกในชุมชน เพื่อให้สามารถร่วมสร้างสุขภาวะ และเป็นกลไกในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน

1.3 ผลักดันและส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพทุกระดับโดยมีตัวแทนเป็นกรรมการในสัดส่วนที่เหมาะสมตั้งแต่ระดับชาติ ระดับเขต ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น รวมทั้งสถานบริการด้านสุขภาพ

1.4 ผลักดันและสนับสนุนให้เกิดเวทีการประชุมหรือกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับสุขภาวะของประชาชนในภูมิภาคนี้โดยเป็นพันธกิจร่วมระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในการดูแลสุขภาพของประชาชนในภูมิภาคนี้เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพและการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นของแรงงานต่างด้าวทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

1.5 เร่งรัดและผลักดันการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรวมทั้งผู้ติดตามอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมคนต่างด้าวทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งเร่งรัดให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพที่เหมาะสม

1.6 เร่งรัดให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ค้นหา ช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่พำนักในประเทศไทย ประชาชนชาวไทยที่ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก เพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้า

1.7 สนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขในทุกระดับ โดยเฉพาะระบบบริการปฐมภูมิ โดยเร่งรัดให้มีการจัดทำแผนรองรับอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนในระยะ 10 ปีข้างหน้า มีการแก้ไขปัญหาการกระจายตัวของบุคลากรสาธารณสุขวิชาชีพต่างๆ อย่างเหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณและร่วมผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามแผนฯ อย่างเป็นรูปธรรม

1.8 ปรับปรุงประสิทธิภาพและการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพ โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ร่วมกันจัดทำแผนปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกระยะ 5 ปี และมีการทบทวนการทำงานทุก 1 ปี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มประสิทธิภาพระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ โดยมีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมและกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน

1.9 กำหนดมาตรการเชิงบวกและมาตรการด้านกฎหมายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล กรณีการเจ็บป่วยที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น อุบัติเหตุจราจรเนื่องจากการดื่มสุรา หรือการใช้สารเสพติดอันก่อให้เกิดผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น

1.10 เร่งรัดและผลักดันการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การกระจายบุคลากรสาธารณสุข และการพัฒนาระบบส่งต่อ

1.11 สนับสนุนให้ท้องถิ่นหรือหน่วยบริการปฐมภูมิสามารถให้การรับรองสภาพความพิการที่เห็นประจักษ์ด้วยสายตา ซึ่งไม่จำเป็นต้องอาศัยการพิสูจน์ทางการแพทย์ ในกรณีที่ต้องมีการวินิจฉัยสภาพความพิการให้ส่งต่อหน่วยบริการหลัก เพื่อวินิจฉัยสภาพความพิการและดำเนินการจดทะเบียนต่อไป

ผลการปฏิบัติงาน: 

       สช. ได้จัดประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ได้รับทราบว่า

1) ครม. ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 อนุมัติให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขซึ่งครอบคลุม งานการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพ และการควบคุมป้องกันโรค กับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป โดยมอบให้ สปสช. เป็นหน่วยดำเนินการ และอนุมัติให้จัดตั้ง “กองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ” โดยให้ สปสช. จัดงบประมาณให้กับหน่วยบริการต่าง ๆ ในปีงบประมาณ 2553 สำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ จำนวนทั้งสิ้น 457,409 คน เป็นเงิน 472.8 ล้านบาท และขอตั้งงบประมาณชดเชย รวมทั้งงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปรับตามโครงสร้างอายุ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 เป็นต้นไป

2) สสส. ได้จัดตั้งกลไกในการทำงานเพื่อผลักดันนโยบายรัฐตาม มติ ครม. 23 มีนาคม 2553 รวม 3 ชุด คือ 1) คณะทำงานติดตามความเคลื่อนไหวระดับนโยบาย 2) คณะทำงานระดับพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชากรกลุ่มเป้าหมายให้เข้าถึงบริการอย่างแท้จริง โดยใช้กลไกศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ที่มีอยู่แล้วเป็นกลไกดำเนินงาน และ 3)คณะทำงานสื่อสารสาธารณะ ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มประชากรเป้าหมายและผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทราบข้อมูลเรื่องการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) นอกจากนั้นได้มีแผนงานการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบระดับจังหวัดด้านสุขภาพที่มีระบบบริการที่ทำให้แรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลเข้าถึงการบริการ โดยร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ จัดตั้งศูนย์สาธารณสุขมูลฐานไทย-พม่า (ศสมช.) ในจังหวัดระนอง และร่วมกับชุมชนจัดกิจกรรมให้มี อสม.โรงเรียน และเทศบาล รวมทั้งสนับสนุนเครือข่ายชาติพันธุ์ ในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ รวมทั้งพัฒนากลไกเพื่อพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอาสาสมัครล่ามประจำชุมชนด้านสุขภาพกลุ่มชาติพันธุ์ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข

3) เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง (คชส)  ร่วมกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาติพันธุ์  เครือข่ายประชาสังคม เครือข่ายแพทย์ชนบท องค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกันปฏิบัติงานในฐานะกลไกระดับพื้นที่ โดยจัดเวทีสร้างความเข้าใจเรื่องกองทุนฯ ทั้งเวทีระดับจังหวัด ระดับภาค ทั้งผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ แกนนำชุมชน แกนนำสุขภาพ แกนนำเยาวชน อสม. ล่ามชุมชน องค์กรภาคประชาชน และประสานงานร่วมกับกลไกศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคเหนือ

4) กระทรวงวัฒนธรรม เสนอแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง มาตรการฟื้นฟูระยะสั้น ดำเนินการภายใน 6-12 เดือน  โดยคณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบหลักการแนวนโยบายและหลักปฏิบัติ และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง โดยในเรื่องสิทธิในสัญชาติ ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาการขอเป็นคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย ให้ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว รวมทั้งบุตรที่เกิดในประเทศไทยขอสัญชาติไทยได้ตามกฎหมายสัญชาติ และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติให้ความร่วมมือในเรื่องบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ที่อพยพเข้ามาตั้งแต่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2528 ให้เป็นคนต่างด้าวมีถิ่นอยู่ถาวรในไทย ส่วนบุตรที่เกิดในประเทศไทยก็สามารถขอสัญชาติไทยได้  นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย ได้สนับสนุนทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาที่จำเป็นในการพัฒนาชุมชน เช่น ด้านสาธารณสุข  รวมทั้งให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรงบประมาณรายหัวตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ชาวกะเหรี่ยงที่ได้จัดทำประวัติและมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป

5) วันที่ 15 มกราคม 2556 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหน่วยงานหลักในการที่ให้การดูแลทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยคนต่างด้าวกลุ่มนี้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง โดยให้เป็นไปตามกฎระเบียบหรือข้อบังคับที่ สธ. จะได้กำหนดร่วมกับกระทรวงแรงงาน (รง.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมุนษย์ (พม.) ในการที่ให้การดูแลการบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และอนามัยเจริญพันธุ์ในแรงงานต่างด้าว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ

6) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน 2558 ที่เห็นชอบในหลักการการให้สิทธิ (คืนสิทธิ)  ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มเติม ประกอบด้วย บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิรวมถึงบุตรที่กระทรวงมหาดไทยได้ขึ้นทะเบียน โดยมีเลขประจำตัว 13 หลัก เรียบร้อยแล้ว จำนวน 208,631 คน  ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ สำหรับบุคคลกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้เพราะขาดหลักฐาน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนถึงจำนวนที่แท้จริงและอาจมีความซ้ำซ้อนของข้อมูล  ให้กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงมหาดไทย  และสภาความมั่นคงแห่งชาติ  ตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้องและรับรองการขึ้นทะเบียนของกลุ่มบุคคลดังกล่าวก่อนแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป

7) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 นพ.สมศักดิ์ ชณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวความคืบหน้าการสร้างหลักประกันสุขภาพแก่คนไทยที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 เห็นชอบในหลักการการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มเติม ในกลุ่มที่กระทรวงมหาดไทยขึ้นทะเบียน มีเลขประจำตัว 13 หลักเรียบร้อยแล้ว จำนวน 208,631 คน ประกอบด้วย ชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยนานแล้วและบุตร รวม 206,748 คน และกลุ่มที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาฯ อีก 1,883 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพ ตามมติครม. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ที่ได้จัดสรรให้กับคนไร้สถานะไปแล้ว 457,409 คน เนื่องจากขณะนั้นอยู่ระหว่างการสำรวจ ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานกับสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการลงทะเบียนแก่บุคคลดังกล่าว และได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลในสถานบริการตามภูมิลำเนา ได้รับการดูแลสุขภาพเทียบเคียงกับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว โดยจัดระบบรองรับให้เข้าถึงสิทธิ 4 ช่องทาง คือ 1.เปิดเว็บไซต์กองทุนผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิhttp://state.cfo.in.th ให้บุคคลกลุ่มนี้ตรวจสอบสิทธิการรักษาได้ โดยใช้เลขประจำตัว 13 หลัก  2.สอบถามทางโทรศัพท์ได้ที่กลุ่มประกันสุขภาพ โทร 02 590 1577-79 หรือ  3.ติดต่อสอบถามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลในสังกัด ทุกแห่ง และ 4.เน้นย้ำให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง หากพบว่าผู้ป่วยในกลุ่มเป้าหมายนี้ยังไม่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูล ให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมและใช้สิทธิการรักษาได้ทันที เพื่อให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ  นอกจากนี้ยังได้เร่งค้นหาคนไทยที่ยังไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ ได้แก่ กลุ่มนักเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการให้สิทธิด้านการศึกษา ซึ่งครม.มีมติให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และสภาความมั่นคงแห่งชาติ  ตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้อง และรับรองการขึ้นทะเบียนของกลุ่มบุคคลดังกล่าวก่อน โดยจะร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการคัดแยกกลุ่มโดยกลุ่มที่มีถิ่นฐานถาวรในไทยให้ชัดเจน  เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการดูแลด้านสุขภาพเพิ่มเติมต่อไป ส่วนในกลุ่มประชาชนที่ยังไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งสำรวจและบันทึกข้อมูล เพื่อลงทะเบียนสิทธิประกันสุขภาพให้ครอบคลุม ระบบเหล่านี้ ถือเป็นการวางฐานการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กลุ่มประชาชนที่อยู่ห่างไกล และขาดโอกาสหลายๆ ด้าน ซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลตามแนวชายแดนปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัวขึ้น

8) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 ที่ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็น “ร่างแนวทางการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ”จากผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/ โรงพยาบาลชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษา สภาวิชาชีพต่างๆ ผู้แทนจากกทม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน  อสม. และชมรมร้านยา จำนวน 100 คน เพื่อนำมาปรับปรุงให้เป็นที่ยอมรับและเกิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยมีแนวทางการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิมี 6 แนวทาง ดังนี้ 1.เพิ่มศักยภาพและการขยายบริการระบบปฐมภูมิให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองและพื้นที่เฉพาะ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวกและทั่วถึง ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ภาคเอกชน ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่  2.พัฒนากลไกระบบการบริหารจัดการด้านบริการปฐมภูมิในชุมชน ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การป้องกัน ส่งเสริม การฟื้นฟูสุขภาพ  3.พัฒนาระบบสนับสนุนการบริการปฐมภูมิให้มีประสิทธิภาพ อาทิ พัฒนากำลังคนที่หน่วยบริการปฐมภูมิ และการสนับสนุนให้วิชาชีพอื่นๆ อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข ร่วมให้บริการมากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้บุคลากร ให้มีความก้าวหน้าในการทำงาน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมในบริบทพื้นที่  4.บริหารงานอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงเครือข่ายบริการสอดคล้องกับพื้นที่ 5.พัฒนาปัจจัยต่างๆเพื่อสร้างความสำเร็จ เช่น พัฒนาผู้นำทั้งในและนอกสังกัด การสร้างทักษะเจ้าหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน พัฒนาระบบข้อมูลเชื่อมโยงความรู้ในแต่ละด้านที่เอื้อประโยชน์ในการทำงานร่วมกัน และ 6.พัฒนาระบบติดตามประเมินผลและการวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น

  • < >. ได้จัดประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ได้รับทราบว่า มีหลายหน่วยงานที่มีแผนงานโครงการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ อปท. และภาคประชาสังคมในการจัดบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพและกลไกในชุมชน อาทิ กระทรวงสาธารณสุขมีการสนับสนุนการจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์ในระดับ อปท. สปสช. มีการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบล ซึ่งขณะนี้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 70 ไปแล้ว และมีเป้าหมายขยายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ในขณะที่ สสส. มีการสนับสนุนการสร้างตำบลสุขภาวะ เป็นต้น
    เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทนกรุงเทพมหานครในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ความร่วมมือในการพัฒนางานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเชิงรุกกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 7 แห่ง โดยมีนายชัยพร ทองประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ นายพีระศักดิ์ พอจิต นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นายนิรักตร์ นิมิตรถวิล นายกเทศมนตรีนครยะลา นายกิตติศักดิ์ ชูชัยยะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมลงนาม ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร การลงนาในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนางานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเชิงรุก รวมถึงการประสานข้อมูลและระดมแนวคิดในการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขอย่างเป็นระบบและมีเอกภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วย สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนางานด้านการแพทย์สาธารณสุขเชิงรุก สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ส่งเสริมบทบาทด้านการแพทย์และสาธารณสุขเชิงรุกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับประเทศ อาทิ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และระดับนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข สนับสนุนและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยจะมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานร่วมกันทุกปีหรือเมื่อมีความจำเป็น เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายและประชาชนอย่างจริงจัง
  • สช. ได้จัดประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ได้รับทราบว่า สปสช. ได้จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการหรือสถานบริการต่างๆ ในพื้นที่ โดยจัดสรรงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อัตรา 40 บาทต่อประชากร สมทบกับเงินอุดหนุนจาก อปท. และเงินสมทบจากชุมชนหรือกองทุนชุมชน โดยเมื่อสิ้นปี 2553 ครอบคลุม อปท. ทั้งสิ้น 5,508 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 70.8 ของพื้นที่ทั้งหมด ในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ได้มีการจัดตั้งกลไกตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับพื้นที่โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย อาทิ คณะอนุกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วม จะมีเป็นผู้แทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ ในระดับจังหวัดและท้องถิ่นก็จะมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนประจำจังหวัดและประจำ อปท. ไปแล้ว 25 แห่ง นอกจากนั้น ในระดับชุมชน ก็มีการกำหนดให้มีกรรมการจากภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารกองทุนสุขภาพตำบลด้วย
  • มีการดำเนินงานเพื่อสร้างสุขภาพของประชาชนทั้งในระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาคและกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว เช่น การทำงานร่วมกับ WHO, ASEAN และ ACD เป็นต้น
  • สช. ได้จัดประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ได้รับทราบว่า สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีนโยบายเกี่ยวกับการจัดการสถานนะด้านสิทธิของบุคคล และมียุทธศาสตร์การจัดทำหลักเกณฑ์การตรวจสถานะ  รวมไปถึงยุทธศาสตร์การบริหารแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ  โดยได้ร่วมมือกับกรมการปกครองในการสำรวจจำนวนประชากรที่เป็นคนต่างด้าว เพื่อขึ้นทะเบียนและพิจารณากลั่นกรองในเรื่องของการได้รับสิทธิต่างๆ   ขณะที่กระทรวงแรงงานได้มีนโยบายเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว และมียุทธศาสตร์การจัดบริการด้านสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว  และร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องของการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว   นอกจากนี้ยังได้ช่วยเหลือและประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติ  โดยกระทรวงต่างประเทศได้ประสานงานเจรจากับประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ในการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย เพื่อรับรองสถานะโดยการออกหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคล
  • ภาคีเครือข่ายได้มีการพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิเพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพของประชาชน และนำเสนอเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ซึ่งสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบต่อระเบียบวาระดังกล่าว และผลการดำเนินงานในเรื่องนี้ปรากฏในรายงานผลมติความเสมอภาคในการเข้าถึงและการได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็น
  • วันที่ 25 กรกฎาคม 2555 กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอแนวทางการขยายบริการตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวให้ครอบคลุมข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น 4 แสนรายทั่วประเทศ เข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี(ครม.) แนวทางดำเนินการ ได้แก่

           1) ขอให้ ครม.เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย(มท.)ออกประกาศและแจ้งไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งให้เพิ่มสิทธิข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น สามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวได้เท่าเทียมกับผู้ใช้สิทธิอีก 3 ระบบ

           2) ขอให้ครม.เห็นชอบให้ มท.แก้ไขระเบียบและแจ้งให้ อปท.ตั้งหน่วยงานกลางเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Clearing House) โดยเบื้องต้น สปสช.จะสำรองจ่ายและให้ อปท.จ่ายเงินคืนให้แก่ สปสช.ภายใน 30 วัน

           3) ขอให้ ครม.เห็นชอบให้ สปสช.ทำข้อตกลงความร่วมมือกับ อปท.ทุกแห่ง เพื่อดำเนินการตามรายละเอียดทั้ง 2 ข้อ

    ทั้งนี้มอบหมายให้ สปสช.ยกร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดให้พนักงานและลูกจ้าง อปท.ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญคือผู้ที่ได้สิทธิจะต้องเป็นพนักงานและลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างจากงบประมาณ อปท. ผู้ที่ได้บำนาญ อปท. ผู้บริหารอปท. ประธานและรองประธานหรือสมาชิกสภาพ อปท. รวมถึงบิดา มารดา คู่สมรส บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่เกิน 3 คน สำหรับสิทธิประโยชน์ให้เป็นไปตาม มท.ว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น และให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรเงินในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแก่ สปสช. ตามที่ได้ตกลงกันเป็นรายปี รวมทั้งค่าบริหารจัดการในวงเงิน 1.5% ของเงินค่าใช้จ่ายสวัสดิการรวมในแต่ละปี

  • คสช. ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2553 มีนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นประธานการประชุม ได้ให้ความเห็นชอบร่างข้อเสนอจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งต่อมา ครม. ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการตามที่ คสช. เสนอ และยังได้เห็นชอบต่อร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ….
  • คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงานเป็นรองประธานกรรมการ มีผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเป็นเลขานุการ คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ (1) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพที่สามารถจัดการกับภาระการเงินการคลังในระบบประกันสุขภาพและบริการสาธารณสุข เพื่อให้ระบบมีความยั่งยืนในระยะยาว (2) เสนอแนะให้มีการปรับปรุงนโยบาย โครงสร้าง และระบบบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ ได้แก่ ระบบข้อมูลสารสนเทศ ระบบจ่ายเงิน ระบบตรวจสอบ เป็นต้น เพื่อให้ระบบเกิดประสิทธิภาพ มีคุณภาพและความยั่งยืน (3) ดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อยกร่าง ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง (4) สนับสนุนการศึกษาวิจัย และจัดการความรู้ เพื่อสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอและทางเลือกต่างๆ ในการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ (5) จัดให้มีข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์และสื่อสารทางสังคม เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ ได้เข้าใจ และสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ (6) ดำเนินการทางสังคมเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาข้อเสนอ ร่วมเรียนรู้ และร่วมขับเคลื่อนตลอดขั้นตอนกระบวนการพัฒนานโยบาย
  • เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2555 ตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้มีแนวคิดให้กรมบัญชีกลางไปศึกษาเรื่องระบบการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานที่ปัจจุบันมีอยู่ 3 กองทุนหลัก ประกอบไปด้วย ข้าราชการ ระบบประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ครอบคลุมประชาชนไทยทั้งหมดให้มีบริการขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้กรมบัญชีกลางได้มอบหมายให้บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ไปศึกษาแนวทางเบื้องต้นเพื่อให้การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานของประชาชนคนไทยทั้งหมดอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน แต่จะไม่ลิดรอนสิทธิเดิมที่แต่ละกลุ่มมีอยู่ให้ด้อยลงไปกว่าเดิม ผลการศึกษาที่ได้จะสรุปเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นหลักการเบื้องต้นที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรเงินในการรักษาพยาบาลประชาชนเบื้องต้นปีละเท่าไร
  • วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์ว่า ที่ประชุมมีการหารือถึงกรอบการทำงานใหญ่ๆ 3 เรื่อง เพื่อเสนอต่อบอร์ด สปสช. ประกอบด้วย 1 สิทธิประโยชน์พื้นฐานของ 3 กองทุน คือ กองทุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ โดยต้องหาจุดร่วมของสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นพื้นฐาน และต้องมีมาตรฐานเหมือนกันทั้ง 3 กองทุนให้ได้ เบื้องต้นได้สรุปสิทธิแต่ละกองทุนออกมาแล้ว เหลือเพียงการหาจุดร่วมของสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดอีกครั้ง 2.การหารือถึงกรอบการทำงานในเรื่องผู้ป่วยฉุกเฉิน การส่งต่อต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้ง 3 กองทุน 3.การหารือถึงกระบวนการได้มาซึ่งชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ในอนาคต
  • เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงบันทึกความร่วมมือของ 3 กองทุนสุขภาพของรัฐ ประกอบด้วย กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกันภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป โดยผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทันที ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน
  • เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล (ฉบับที่...) พ.ศ.... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้กระทรวงการคลังเสนอว่า ระบบการรักษาพยาบาลของประเทศไทยในปัจจุบันมี 3 ระบบ ซึ่งดูแลโดย 3 หน่วยงานคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และ กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางดูแลระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล ซึ่งทั้งสามระบบดังกล่าวได้ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้อยู่ในระบบ โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่โดยที่มีการบริหารจัดการที่แตกต่างกันจึงเป็นเหตุให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล สมควรหาแนวทางการสร้างความเป็นเอกภาพของระบบการให้บริการเจ็บป่วย โดยเริ่มจากระบบการบริการฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิ ประกอบกับนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) มีนโยบายพัฒนาระบบประกันสุขภาพภาครัฐให้เป็นเอกภาพ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในทุกระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศได้รับสิทธิประโยชน์หลักเท่าเทียมกัน และรัฐสามารถบริหารจัดการระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพระยะยาวภายใต้การใช้จ่ายงบประมาณที่เหมาะสม จึงเห็นควรปรับปรุงสิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของเอกชน กรณีที่ผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน ตามนิยามในพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ทั้งประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ทั้งนี้ การจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดเพื่อให้สอดรับกับนโยบายด้งกล่าว ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาคือ กำหนดให้ผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวที่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชนทั้งประเภทผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป
  • วันที่ 20 มิถุนายน 2555 นักวิชาการและเครือข่ายผู้ป่วย จะเสนอให้ นายกรัฐมนตรี ขยายนโยบายไปยังผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย.) เนื่องจากแต่ละกองทุน มีมาตรฐานการรักษาที่แตกต่างกัน เพราะยาที่รักษามะเร็งบางชนิดมีราคาแพงกว่า 1 ล้านบาท แม้ขณะนี้โรคมะเร็งจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย แต่มาตรฐานการรักษาของผู้ป่วย 3 กองทุนสุขภาพ ยังมีความเหลื่อมล้ำกัน โดยเฉพาะการเข้าถึงยาราคาแพง อย่างยารักษาโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด ที่ต้องใช้เงินในการรักษาคอร์สละกว่า 1 ล้านบาท ที่ผู้ป่วยระบบสวัสดิการข้าราชการ สามารถเข้าถึงได้เพียงกลุ่มเดียว  ขณะที่อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพการรักษาก็ยังมีความแตกต่างกัน เช่นโรคมะเร็งตับ และมะเร็งปอด ที่ผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีอัตราการรอดชีวิตในช่วง 1-2 ปี สูงเกินกว่าครึ่งของผู้ป่วยระบบประกันสังคม นักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชน จึงเสนอให้ ปรับสิทธิประโยชน์ และแบบแผนการรักษามะเร็งทุกโรคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะยาราคาแพงที่ทุกคนต้องเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ปรับวิธีการจ่ายเงินให้หน่วยบริการในอัตราเดียวกัน และแยกจากงบเหมาจ่ายรายหัว โดยผู้ป่วยใน ให้จ่ายตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมที่เท่ากัน เพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติ รวมถึงให้ความสำคัญในการส่งเสริมป้องกันโรค และคัดกรองกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้การรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และอัตราการเสียชีวิตให้น้อยลง
  • วันที่ 21 มิถุนายน 2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมเชิงนโยบาย เรื่อง”การสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบปรับปรุงสุขภาพภาครัฐ” ครั้งที่ 5 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน การดูแลระยะยาว เรื่องยาการสร้างความเสมอภาคในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์และผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเพื่อให้ผู้ป่วยใน 3 กองทุนคือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคมและกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพต่อเนื่องแม้มีการเปลี่ยนสิทธิ และการพัฒนาบริการการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Thailand Healthcare Telemedicine CARE) ที่ประชุมมีมติดังนี้

           - เห็นชอบหลักการ เรื่องการสร้างเอกภาพและบูรณาการระบบดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ สำหรับประชาชนทุกสิทธิ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ได้รับบริการตามมาตรฐานการรักษาเดียวกัน และสามารถเข้ารับบริการในสถานพยาบาลใดก็ได้ที่อยู่ในเครือข่ายบริการของกองทุนนั้นๆ กรณีเปลี่ยนสิทธิก็ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการดื้อยาและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ทั้งนี้ นายกฯให้เพิ่มแนวทางการป้องกันบุคคลที่อยู่รอบข้างผู้ติดเชื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาด ลดการติดต่อเชื้อเอชไอวีในรายใหม่ ในแผนบูรณาการระบบดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ด้วย

           - เห็นชอบหลักการ เรื่องการบูรณาการการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าบำบัดทดแทนไตในช่วงเวลาที่เหมาะสม ด้วยหลักเกณฑ์เดียวกันอย่างเสมอภาค และได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง แม้เปลี่ยนสิทธิการรักษาพยาบาล โดยนายกฯมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำวิจัยเลือกวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาผู้ป่วยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และให้จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนมีความตื่นตัวดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรค เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยลดต้นทุนการรักษาพยาบาล และยกระดับการบริการให้ดีขึ้นอย่างมีคุณภาพ

           - เห็นชอบพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียม เน้นพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ มีหมอประจำครอบครัวมาดูแลสุขภาพถึงบ้าน ให้ได้รับการปรึกษาดูแล และส่งต่อการรักษาอย่างเหมาะสม ลดอัตราการป่วยและการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง เป็นต้นโดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555-ตุลาคม 2557 ครอบคลุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกว่า 9,000 แห่งทั่วประเทศ

  • วันที่ 27 มิถุนายน 2555 นายสหรัฐ ศราภัยวานิช รักษาการประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การขยายสิทธิผู้ป่วยไตวาย และผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้ได้รับการรักษาที่เท่าเทียม ขอให้รัฐบาลพูดถึงสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เนื่องจากมติที่ประชุมเห็นชอบเพียง 2 เรื่อง คือ 1.การกำหนดให้ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคไตวายเหมือนกันทุกกองทุน โดยยึดเกณฑ์ของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย 2.กรณีผู้ป่วยเปลี่ยนสิทธิจากกองทุนหนึ่งไปยังอีกกองทุนให้สามารถรักษาด้วยวิธีเดิมมตินี้ไม่ถือว่าเสมอภาคเพราะเป็นมติที่แต่ละกองทุนทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์การวินิจฉัย หรือแม้แต่การย้ายสิทธิ ตรงนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิด ชมรมมีข้อเสนอรัฐบาล ดังนี้ 1.ให้ สปสช.ยกเลิกการเรียกเก็บร่วมจ่าย 500 บาทต่อการฟอกเลือดหนึ่งครั้งในกรณี ผู้ป่วยเก่าฟอกเลือดก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2551 2.ขอให้ผู้ป่วยไตวายรายใหม่ทุกคนที่ไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ให้เริ่มต้นทำการทดแทนไตผ่านช่องท้องก่อน เพราะเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ดีกว่า และลดต้นทุนในอนาคต 3.ให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มค่าชดเชย ฟอกเลือด ค่าชดเชยทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง และสนับสนุนยากระตุ้นการเพิ่มเม็ดเลือดแดง เหมือนระบบ สปสช. และห้ามโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วยทุกกรณี 4.ให้กรมบัญชีกลางปรับราคาค่าฟอกเลือด ค่าทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง และยากระตุ้นการเพิ่มเม็ดเลือดแดง ให้เป็นราคามาตรฐานเดียวกับ สปสช. วันที่ 4 กรกฎาคม ชมรมจะประชุมหารือว่ายื่นข้อเสนอให้แก่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
  • วันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติ ให้สถานพยาบาลตั้งแต่ระดับ โรงพยาบาลชุมชน ขึ้นไป เรียกเก็บค่ารักษา 30 บาท จากผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน นี้เป็นต้นไป ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ ให้ผู้ป่วยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่วมจ่ายค่ารักษาครั้งละ 30 บาท กรณีเข้ารับการรักษาจนสิ้นสุด และได้รับยา โดยจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ ในสถานพยาบาลตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้ ยกเว้นผู้ป่วย 23 กลุ่มตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เช่น กลุ่มคนยากจน คนพิการ ผู้สูงอายุ ทหารผ่านศึก และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่ไม่ต้องร่วมจ่าย ทั้งนี้คาดว่าหน่วยบริการจะมีรายได้จากการให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายครั้งละ 30 บาท ปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ และสนับสนุนค่าตอบแทนบุคลากรต่อไป
    11) วันที่ 14 สิงหาคม 2555 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าโครงการร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมบริการ 30 บาทในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามนโยบายรัฐบาลว่าจะเริ่มในวันที่ 1 ก.ย.55 พร้อมกันทั่วประเทศ โดยดำเนินการในระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไปจนถึงโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และในโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการโดยประชาชนต้องร่วมจ่ายในกรณีที่มีการรับยาเท่านั้น และยกเว้นการร่วมจ่าย 30 บาทสำหรับคน 21 กลุ่ม ขณะนี้ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจประชาชนและให้โรงพยาบาลทุกแห่งพัฒนาความพร้อมให้บริการที่ดีขึ้นทุกด้านทั้งผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยเรื้อรัง บริการผู้สูงอายุ ผู้พิการ โดยไม่มีเวลาหยุดพักเที่ยง นอกจากนั้นยังให้ให้สิทธิประชาชนเปลี่ยนหน่วยบริการที่พอใจได้ปีละ 4 ครั้ง จากเดิม 2 ครั้ง โดยใช้บัตรประชาชนหรือเอกสารทางราชการที่มีเลข 13 หลักเป็นหลักฐาน เพิ่มความสะดวกยิ่งขึ้น ในเขต กทม.สามารถยื่นเปลี่ยนได้ที่สำนักงานเขต ส่วนต่างจังหวัดที่สถานบริการสาธารณสุข ทั้งนี้ สปสช. ได้จัดทำคู่มือบัตรทอง 3 ล้านฉบับแจกประชาชน เพื่อชี้แจงเรื่องการร่วมจ่ายด้วย โดย 21 กลุ่มที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่ 1.ผู้เข้ารับบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ฉุกเฉินเร่งด่วน หรือเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ระดับต่ำกว่าโรงพยาบาลชุมชน 2.ผู้มีรายได้น้อย 3.ผู้นำชุมชน ได้แก่ กำนัน สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และบุคคลในครอบครัว 4.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร และบุคคลในครอบครัว 5.ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี 6.เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี 7.คนพิการทั้งที่มีบัตรและไม่มีบัตรประจำตัว 8.พระภิกษุ สามเณร แม่ชี นักบวช นักพรต ผู้นำศาสนาอิสลามที่มีหนังสือรับรอง และบุคคลในครอบครัวของผู้นำศาสนาอิสลาม 9.ทหารผ่านศึกทุกระดับที่มีบัตร และบุคคลในครอบครัว รวมถึงผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิและทายาท 10.นักเรียนไม่เกินชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 11.นักเรียนทหารและทหารเกณฑ์12.ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรปและบุคคลในครอบครัว 13.อาสาสมัครมาเลเรีย ตามโครงการของกระทรวงสาธารณสุขและบุคคลในครอบครัว 14.ช่างสุขภัณฑ์หมู่บ้านตามโครงการของกรมอนามัยและบุคคลในครอบครัว 15.ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญชายแดน 16. ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน 17.สมาชิกผู้บริจาคโลหิตของสภากาชาดไทยที่มีหนังสือรับรองว่าได้บริจาคโลหิตตั้งแต่ 18 ครั้งขึ้นไป 18.หมออาสาหมู่บ้านตามโครงการกระทรวงกลาโหม 19.อาสาสมัครคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม 20.อาสาสมัครทหารพรานในสังกัดกองทัพบก 21.บุคคลที่แสดงความประสงค์ไม่จ่ายค่าบริการ
  • วันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติ ให้สถานพยาบาลตั้งแต่ระดับ โรงพยาบาลชุมชน ขึ้นไป เรียกเก็บค่ารักษา 30 บาท จากผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน นี้เป็นต้นไป ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ ให้ผู้ป่วยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่วมจ่ายค่ารักษาครั้งละ 30 บาท กรณีเข้ารับการรักษาจนสิ้นสุด และได้รับยา โดยจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ ในสถานพยาบาลตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้ ยกเว้นผู้ป่วย 23 กลุ่มตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เช่น กลุ่มคนยากจน คนพิการ ผู้สูงอายุ ทหารผ่านศึก และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่ไม่ต้องร่วมจ่าย ทั้งนี้คาดว่าหน่วยบริการจะมีรายได้จากการให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายครั้งละ 30 บาท ปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ และสนับสนุนค่าตอบแทนบุคลากรต่อไป
  • เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2556 ตามที่รัฐบาลมีนโยบายบูรณาการสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพมาตรฐานเดียว 3 กองทุน ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ล่าสุดคณะกรรมการเตรียมการจัดบูรณาการโรคมะเร็งมาตรฐานเดียวทั้งระบบ มีมติบูรณาการโรคมะเร็งมาตรฐานเดียว 5 ชนิดคือ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 สำหรับสำนักงานหลักประกันสังคม ปัจจุบันระบบประกันสังคมจะจ่ายค่ารักษาแบบเหมาในช่วงแรกของการรักษาพยาบาลโรคมะเร็งทั้ง 7 ชนิด แต่หากมีค่าใช้จ่ายสูงจะจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (ดีอาร์จี) โดยผู้ประกันตนซึ่งมีระดับความรุนแรงของโรค (RW) อยู่ในระดับ 2 ขึ้นไป จะจ่ายค่ารักษาให้ระดับละ 15,000 บาท และหากมีการรักษาตามแนวทางที่ สปส. กำหนดโดยยึดมาตรฐานของราชวิทยาลัยแพทย์ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ สปสช. ใช้อยู่ในปัจจุบัน สปส.จะจ่ายค่ารักษาเพิ่มเติมให้แก่โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมหรือโรงพยาบาลคู่สัญญาที่โรงพยาบาลระบบประกันสังคมส่งต่อผู้ประกันตนไปเข้ารักษาซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา ทั้งนี้ การจ่ายเงินค่ารักษาเพิ่มเติมนั้นจะจ่ายจริงตามอัตราที่กำหนด โดยโรคมะเร็งเต้านมจะจ่ายไม่เกิน 117,900 บาทต่อรายต่อปี มะเร็งปากมดลูกไม่เกิน 75,000 บาทต่อรายต่อปี มะเร็งรังไข่ไม่เกิน 272,100 บาทต่อรายต่อปี มะเร็งโพรงจมูกไม่เกิน 35,100 บาทต่อรายต่อปี มะเร็งปอดไม่เกิน 246,000 บาทต่อรายต่อปี มะเร็งหลอดอาหาร 15,000 บาทต่อรายต่อปี มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายไม่เกิน 96,400 บาทต่อรายต่อปี ซึ่งหากคณะอนุกรรมการการแพทย์ได้ข้อสรุปผลการศึกษาแล้ว จะเสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์เพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อนเสนอต่อบอร์ด สปส. ต่อไป
  • เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติดังนี้ 1) รับทราบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ 2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงาน ก.พ. รับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอ ไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน โดยให้อยู่ในกรอบกฎหมาย ระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย หากเห็นว่าจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายเรื่องใดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกันศึกษารายละเอียดและแนวทางดำเนินการก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี
  • เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557 เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (นพ.วินับ สวัสดิวร) ชี้แจงว่า สปสช. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมเสนอคณะกรรมการประสานงาน 3 กองทุนสุขภาพ ซึ่งมีนายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นประธาน ให้จัดตั้งองค์กรกลาง ทำหน้าที่กำหนดสิทธิประโยชน์กลาง 3 กองทุนสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสิทธิการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ จะใช้เวลา 4-5 เดือน เพื่อจัดทำ พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรใหม่ และจะ นำเสนอไปยังคณะกรรมการประสาน 3 กองทุน รวมถึงเสนอไปยังรัฐบาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีในการจัดตั้ง ซึ่งจะให้ทันรัฐบาลชุดนี้ สำหรับรูปแบบดังกล่าว ได้มาจากองค์กรกลางในการจัดการระบบสุขภาพของประเทศเบลเยียมที่มีกองทุนสุขภาพจำนวนมาก แต่ใช้รูปแบบองค์กรกลางมาต่อรองและกำหนดสิทธิประโยชน์ ซึ่งสามารถสร้างความเท่าเทียมในสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุน  นอกจากนี้ ที่ประชุมร่วมกันระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ ยังเห็นตรงกันอีกว่าควรเดินหน้าการจัดทำเคลียริงเฮาส์ระดับชาติเพื่อติดตามข้อมูลด้านสุขภาพ และจัดสรรงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยแต่ละกองทุน โดยจะอยู่ในโครงสร้างเดียวกันกับองค์กรกลางดังกล่าว
  • วันที่ 25 มีนาคม 2558 ความคืบหน้าการทำงาน คณะกรรมการลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ ซึ่งมีนายอัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน ว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมการชุดดังกล่าว กำลังเดินหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อรองรับตั้งองค์กรกลางมาบริหารงาน ภายใต้แนวคิดที่จะไม่มีการยุบรวมกองทุน แต่ประสานการทำงานทั้งสามกองทุนร่วมกัน จึงต้องหากลไกมารองรับและต้องมีการทำกฎหมายไม่ให้ขัดกับกฎหมายเดิม ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่างกฎหมาย โดยจะไม่มีการยุบรวมสามกองทุนแน่นอน แต่จะเป็นการทำงานเพื่อให้สิทธิประโยชน์ของสามกองทุนสุขภาพ ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มีความเท่าเทียม โดยเฉพาะสิทธิการรักษาพื้นฐานต้องเท่าเทียมทั้งหมด ส่วนประเด็นหน่วยงานกลางในการจัดทำธุรกรรมการเบิกจ่ายระดับชาติ ซึ่งมีการร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมาใหม่ด้วยนั้น จะทำหน้าที่ดูแลการเบิกจ่ายเงินแต่ละกองทุน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวขึ้น โดยขณะนี้ก็อยู่ระหว่างผลักดันเช่นกัน ส่วนประเด็นร่วมจ่ายนั้นไม่มีการพิจารณา
  • สช. ได้จัดประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ได้รับทราบว่า มีหลายหน่วยงานที่มีแผนงานโครงการที่สอดคล้องกับข้อเสนอเชิงนโยบายข้างต้น อาทิ กระทรวงแรงงานมีการจัดตั้งกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากการทำงานสำหรับชดเชยกรณีเกิดการเจ็บป่วยจากการทำงาน กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตามนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้แก่ประชาชนให้ดียิ่งขึ้น สถาบันพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีการดูแลคุณภาพชีวิตของคนพิการ เป็นต้น

 

ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา องค์กรภาคเอกชน ภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และสื่อภาครัฐ
รายละเอียด: 

2.1 เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารสิทธิหน้าที่เกี่ยวกับการบริการสาธารณสุข และสร้างกระบวนการให้ประชาชนทุกคนได้รับรู้ถึงหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของตนเองและสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง

2.2 เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชากรทุกคนมีหน้าที่ในการแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดในการเข้าถึงการประกันสุขภาพ รวมทั้งมีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว รวมทั้งการป้องกันโรค และปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้รับ

2.3 ร่วมสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขทุกระดับอย่างจริงจัง โดยร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการจัดกองทุนตำบลและจัดให้มีกลไกของภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาวางแผนแก้ไขปัญหาในชุมชนร่วมกัน

2.4 ให้ท้องถิ่นร่วมกับสถานบริการสาธารณสุขจัดบริการรักษาพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพให้กับผู้พิการที่อยู่ที่บ้าน

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • สช. ได้จัดประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ได้รับทราบว่า มี อปท. หลายแห่งที่ดำเนินการในเรื่องนี้
  • จากข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2553 มี อปท. ทั้งระดับ อบต. และเทศบาล มีการจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบลไปแล้ว 5,508 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 70.8 โดยมีเป้าหมายเมื่อสิ้นปี 2554 ให้ครอบคลุมร้อยละ 92
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
รายละเอียด: 

3.1 จัดให้มีกลไกการกำกับ ติดตาม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเสมอภาคในการเข้าถึง บริการสาธารณสุขที่จำเป็น โดยสนับสนุนให้หน่วยงานที่เป็นกลางหรือประชาสังคม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการและให้มีการรายงานความคืบหน้าให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้รับทราบทุก 2 ปี และประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกัน

3.2 ประสานงานและผลักดันให้หน่วยงานที่รับผิดชอบระบบบริการสุขภาพจัดบริการที่มีความหลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนทั่วไปและกลุ่มเฉพาะ

3.3 ประสานและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองร่วมกันกำหนดระบบ/รูปแบบการจัดบริการด้านสาธารณสุขที่จำเป็นที่เอื้อให้กลุ่มบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่พำนักในประเทศไทย สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้โดยสะดวกและปลอดภัย

 

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • คสช. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยมีการดำเนินงานในหลายรูปแบบทั้งการนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ การประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน การสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ และการใช้สื่อสารสาธารณะ เป็นต้น
  • เครือข่ายคณะทำงานเพื่อพัฒนากลไกและกลยุทธ์การเข้าถึงนโยบายประกันสังคมที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ได้เสนอประเด็น “การเข้าถึงนโยบายประกันสังคมที่เหมาะสมกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีการจ้างงานในภาค อุตสาหกรรมและบริการในประเทศไทย” เพื่อพิจารณากลั่นกรองเป็นระเบียบวาระในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 แต่เนื่องจากคณะทำงานได้มีการประชุมหารือแล้ว พบว่าประเด็นที่เสนอนั้นสอดคล้องกับ มติ 1.8 ความเสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็น จึงเปลี่ยนการทำงานมาเป็นการขับเคลื่อนร่วมกันตาม มติ 1.8 โดยมีความก้าวหน้าการดำเนินงานสรุปได้ดังนี้
  1. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2557 ได้มีการประชุมปรึกษาหารือประเด็นสุขภาวะคนไร้รัฐ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้เป็นการติดตามและขับเคลื่อนมติ 1.8 ความเสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็น
  2. วันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2557สช. ได้เชิญหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องมาร่วมปรึกษาหารือ มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวะพลา เป็นประธาน วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการขับเคลื่อนของแต่ละหน่วยงาน และระดมความคิดเห็นต่อแนวทางขับเคลื่อนมติ ผลการประชุม มีดังนี้  (๑) ติดตามรายละเอียดความก้าวหน้าการดำเนินของมติฯ และมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง (๒) จัดให้มีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชิงเทคนิค (เช่น สธ. สปสช. มท. สมช. เป็นต้น)  (๓)ควรจัดให้มีการประชุมผู้ปฏิบัติการรายข้อในมติ
  • สช.ในฐานะสำนักงานเลขานุการของ คสช. ได้ประสานงานและสนับสนุนการดำเนินงานตามพันธกิจโดยเฉพาะการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมระบบบริการสุขภาพด้วย
  • สช. มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพให้กับประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อการมีสุขภาพที่ดี ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในธรรมนูญว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552
เอกสารหลัก: 
เอกสารมติ: