You are here


ความรุนแรงทางเพศ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมและเรื่องเพศกับเอดส์/โรคติดต่อทางเพศส...
สมัชชาครั้งที่: 
1
มติที่: 
10
ชื่อมติ: 
ความรุนแรงทางเพศ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมและเรื่องเพศกับเอดส์/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย องค์กรวิชาชีพ องค์กรวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม ดำเนินการดังนี้
รายละเอียด: 

1.1 ส่งเสริมให้ความรู้ ความเข้าใจด้านเพศศึกษาที่รอบด้าน (Comprehensive sexuality education) และมีหน่วยงานรับผิดชอบ โดยเน้นสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสร้างความปลอดภัยต่อสุขภาวะทางเพศ รวมทั้งทักษะชีวิตทั้งในและนอกระบบการศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงผ่านสื่อมวลชนโดยจัดให้สอดคล้องเหมาะสมกับกลุ่มประชาชนทุกเพศทุกวัย

1.2 สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบให้การปรึกษาทุกระบบ ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงในระดับชุมชนและครอบครัว โดยเน้นการจัดบริการให้การปรึกษาทั้งก่อนและหลังเผชิญปัญหา (pre-post counseling) การปรึกษาแบบเพื่อนช่วยเพื่อน (peer-to-peer counseling) และการปรึกษาแบบเสริมพลังและเน้นทางเลือก (empowerment and option counseling)

1.3 จัดให้มีศูนย์บริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ครบวงจรทุกระดับที่เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความต้องการบริการที่ละเอียดอ่อนเป็นการเฉพาะ รวมทั้งบริการคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งระบบสืบพันธุ์และจัดบริการคลินิกโรคที่เป็นมิตร เพื่อเป็นกลไกในการควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้แก่คนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมฃ

1.4 สนับสนุนให้รวมบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการที่ปลอดภัยภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพทุกระบบ

1.5 สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยอย่างมีส่วนร่วมและจัดทำฐานข้อมูลสำคัญของปัญหาสุขภาวะทางเพศทั้งด้านความรุนแรงทางเพศ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และเรื่องเพศกับเอดส์/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

1.6 ให้หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งชุมชนและครอบครัว ดำเนินการโดยเร่งด่วนให้มีมาตรการที่มีประสิทธิผลเพื่อป้องกันและขจัดความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ

1.7 จัดตั้งที่พักพิงและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงทางเพศในทุกจังหวัด โดยเน้นระบบบริการที่มีความครอบคลุมและครบวงจร โดยผู้ที่มีความชำนาญและทัศนคติที่เหมาะสมควบคู่กับการพัฒนาและเพิ่มสถานบริการให้ความช่วยเหลือทั้งด้านสุขภาพกาย จิตใจ การศึกษา เศรษฐกิจและสังคมแก่ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่ตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อ ให้มีความครอบคลุม ครบวงจร เข้าถึงได้ง่าย ตั้งแต่ระหว่างตั้งครรภ์ ก่อนคลอด และหลังคลอด

1.8 เสริมสร้างความเข้าใจ และเคารพความแตกต่างระหว่างเพศ ความหลากหลายทางเพศ และความละเอียดอ่อน ในมิติการเจ็บป่วย ความพิการ และชาติพันธุ์แก่ทุกภาคส่วนรวมถึงสื่อมวลชน

1.9 สนับสนุนการพัฒนาระบบยุติธรรมที่เป็นมิตรและปราศจากอคติทางเพศในทุกระดับจากสถานีตำรวจถึงอัยการและศาล ทั้งในเชิงตัวบทกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆ ความพร้อมของระบบและทัศนคติของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

1.10 พัฒนานโยบายและมาตรการในการจัดการปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่มีผลต่อปัญหาสุขภาวะทางเพศ

1.11 จัดตั้งกลไกระดับชาติที่มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางเพื่อดำเนินการ ประสานงาน พัฒนาและติดตามประเมินผลนโยบายในการจัดการกับปัญหาสุขภาวะทางเพศ โดยมีงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ

1.12 ผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ครอบคลุมประเด็นความรุนแรงทางเพศ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์

 

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • สช. ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ๑ ครั้ง เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๒ เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานในเรื่องนี้
  • กรมอนามัยร่วมกับองค์กรภาคีร่วมกันจัดประชุมวิชาการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ในหัวข้อ “เกิดน้อย ไม่ด้อยคุณภาพ” เนื่องในวันประชากรโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคม ว่า ปัจจุบันโครงสร้างประชากรของไทยได้เปลี่ยนแปลง จากเดิมอัตราเพิ่มประชากรที่เคยสูงกว่าร้อยละ 3 ต่อปี เมื่อ 40 ปีก่อนได้ลดลงเหลือร้อยละ 0.5 ต่อปี และในขณะนี้อัตราการเกิดได้ลดลงเหลือร้อยละ 1.3 คือจำนวนเด็กเกิดแต่ละปีจากเดิมเกินกว่า 1 ล้านคน เหลือเพียง 8 แสนคน และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงไปอีก คาดว่าไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าจะมีเด็กเกิดในประเทศไทยเพียงปีละประมาณ 7 แสนคน อัตราการเพิ่มประชากรที่ลดต่ำลงเป็นผลมาจากภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว จากเดิมหญิงไทยหนึ่งคนมีลูกโดยเฉลี่ยมากกว่า 6 คน ปัจจุบันมีลูกเฉลี่ยเพียง 1.5 คนเท่านั้น แต่ด้านการส่งเสริมคุณภาพประชากร ประเทศไทยกลับต้องเผชิญปัญหาเด็กเกิดน้อย แต่ด้อยคุณภาพ สาเหตุหนึ่งเกิดจากปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนาและไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยทำให้แต่ละปีมีการเกิดจากเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ยังไม่พร้อมจะเป็นแม่ประมาณ 2,500 ราย และเกิดจากแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี ประมาณ 84,000 ราย อีกทั้งปัญหาทารกที่คลอดออกมามีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่า 2,500 กรัมมากกว่า 70,000 รายต่อปี และเป็นเด็กที่คลอดออกมาแล้วติดเชื้อเอดส์จากแม่ 240 รายต่อปี ขณะนี้เด็กเกิดน้อยแต่ด้อยคุณภาพ ดังนั้น จะต้องแก้ไขให้เด็กที่เกิดน้อยอยู่แล้วมีคุณภาพมากขึ้น โดยเริ่มพัฒนาคุณภาพประชากรตั้งแต่แรกเกิด มีการเตรียมความพร้อมพ่อแม่ก่อนการตั้งครรภ์ ไม่ใช่แต่งงานตั้งแต่เป็นเด็กหญิง ไม่ทันได้ใช้นางสาว ก็ต้องเปลี่ยนเป็นนาง ซึ่งกลุ่มนี้พบว่ามีประมาณ 20% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่ลดลงรวมถึงต้องดูแลครรภ์ขณะคลอดและหลังคลอดทั้งแม่และทารก และการเกิดที่มีคุณภาพจะต้องเป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ที่สตรีมีความพร้อมและตั้งใจ ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อลดปัญหาด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กไทย ตั้งแต่การให้ความรู้แก่กลุ่มวัยรุ่นเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์เพื่อให้การเกิดที่มีคุณภาพ เป็นการตั้งครรภ์ของสตรีที่ตั้งใจ และมีความพร้อม ซึ่งปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนาในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ต้องเร่งด่วน ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่จะส่งเสริมคุณภาพการเกิด ทุกรายในประเทศไทยให้มีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี คือ การดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนางานอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2552-2556) 6 ด้าน คือ 1) การเสริมสร้างครอบครัวใหม่และเด็กรุ่นใหม่ให้เข้มแข็งและมีคุณภาพ 2) การส่งเสริมให้คนไทยทุกเพศ ทุกวัย มีพฤติกรรมอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่เหมาะสม 3) การพัฒนาระบบบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ 4) การพัฒนาระบบการบริหารจัดการงานอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศแบบบูรณาการ 5) การพัฒนากฎหมาย กฎและระเบียบเกี่ยวกับงานอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ 6) การพัฒนาและการจัดการองค์ความรู้และเทคโนโลยีอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ โดยมีคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติที่ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชา-สังคม เป็นแกนหลักในการผลักดันการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 6 ที่บัญญัติให้ “สุขภาพของหญิงในด้านสุขภาพทางเพศและสุขภาพของระบบเจริญพันธุ์ ซึ่งมีความจำเพาะ ซับซ้อน และมีอิทธิพลต่อสุขภาพหญิงตลอดช่วงชีวิตต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม” ใช้เป็นแนวคิดในการวางทิศทางการสร้างนโยบายที่หลากหลาย เพื่อยกระดับสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศของคนไทยให้ดีขึ้น
  • เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 รวม 14 ประเด็น และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายงานผลการดำเนินการพร้อมทั้งปัญหาอุปสรรคเพื่อแจ้งต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติด้วย โดยมติสมัชชาสุภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย มติ 1.1 ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ มติ 1.2 การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย มติ 1.3 นโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มติ 1.4 การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายการเจรจาการค้าเสรี มติ 1.5 เกษตรและอาหารในยุควิกฤต มติ 1.6 ยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มติ 1.7 บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการจัดการสุขภาพและทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มติ 1.8 ความเสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็น มติ 1.9 ผลกระทบจากสื่อต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว มติ 1.10 สุขภาวะทางเพศ : ความรุนแรงทางเพศ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และเรื่องเพศกับเอดส์/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มติ 1.11 ระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในสังคมไทย มติ 1.12 นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะของแรงงานนอกระบบ มติ 1.13 การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ มติ 1.14 วิกฤตเศรษฐกิจและการปกป้องสุขภาวะคนไทย
  • เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2553 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)  และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.  ได้จัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัย การเจริญพันธุ์ ที่โรงแรมทีเค พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 250 คนจากทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ ภาครัฐ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงความคิดเห็นอย่างสมานฉันท์เพื่อหาฉันทามติในสาระสำคัญที่ปรากฎอยู่ในร่างกฎหมายดังกล่าว การประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมอนามัยกับ สช. และ สคส. ที่ต้องการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยได้เรียนเชิญตัวแทนจากองค์กร หน่วยงานและภาคีเครือข่ายตามยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาเข้าร่วมเวที โดยในท้ายสุดจะมีการหาฉันทามติต่อสาระบัญญัติทั้ง ๒๙ มาตราของร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อจะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติและคณะรัฐมนตรีเพื่อเร่งรัดให้มีกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและป้องการอนามัยการเจริญพันธุ์ของคนไทยทุกเพศทุกวัยต่อไป พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้มีขอบเขตกว้างขวางตั้งแต่ก่อนเกิดจนถึงสูงวัย โดยประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ ที่พบชัดเจนคือแม่ที่อยู่ในวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ควรอยู่ในระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นผู้รับภาระที่มีคุณภาพของประเทศ มีแนวโน้มสูงขึ้นจากร้อยละ 13.92 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 15.55 ในปี 2551 การคลอดในสตรีที่อายุน้อยกว่า 20 ปี มีโอกาสเสี่ยงต่อการคลอดบุตรก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม ซึ่งเป็นผลกระทบต่อทารกที่เกิดมาและค่าใช้จ่ายในการรักษา และพบว่าร้อยละ 46.8 ของสตรีที่ทำแท้งมีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 30 เป็นสตรีที่อายุต่ำกว่า 20 ปี รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกที่เป็นปัญหา เนื่องจากอายุการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเร็วขึ้นคือระหว่าง 15-16 ปี ร่างกฎหมาย ที่ต้องร่วมกันพิจารณาในครั้งนี้ มีด้วยกัน 29 มาตรา ซึ่งคุ้มครองบุคคลให้มีสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ สิทธิทางเพศ สิทธิเข้าถึง ได้รับข้อมูลข่าวสาร รับการปรึกษาและบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์จากสถานบริการสาธารณสุขอย่างเหมาะสม จากนี้ไปจะรวบรวมความคิดเห็น และความเห็นของอนุกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ เข้าที่ประชุม ครม.ให้ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งสาระสำคัญใหญ่ คือ 1.เรื่องสถานบริการที่ให้ความรู้ คำปรึกษา โดยเฉพาะเรื่องการไม่เปิดเผยความลับของผู้ให้บริการ 2.สถานศึกษาที่ต้องพัฒนาบุคลากรเพื่อจัดการเรียนการสอนด้านเพศศึกษา ซึ่งประเด็นการศึกษาต่อเป็นเพียงประเด็นย่อยเท่านั้น และ 3.การป้องกันการคุกคามทางเพศ

          ขณะเดียวกัน การจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า สุขภาพของหญิงในด้านสุขภาพทางเพศและสุขภาพของระบบเจริญพันธุ์ ซึ่งมีความจำเพาะซับซ้อนและมีอิทธิพลต่อสุขภาพหญิงตลอดช่วงชีวิต ต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ข้อ 31 ที่กำหนดว่า ให้รัฐจัดให้มีแผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพทางเพศ และอนามัยการเจริญพันธุ์แบบมีส่วนร่วม และสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนให้เป็นรูปธรรม ให้รัฐสนับสนุนให้มีการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนางานด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ด้วย รวมทั้งมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 เรื่อง สุขภาวะทางเพศ : ความรุนแรงทางเพศ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และเรื่องเพศกับเอดส์/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นมติ 1.10 ที่สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีฉันทามนติให้เร่งผลักดันกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว

  • เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2552 ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ โดยมีนายมานิต นะอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ที่ประชุมได้พิจารณาร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนางานอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๒ - ๒๕๕๖) สร้างชีวิตเด็กเกิดใหม่ให้มีคุณภาพ ประชาชนทุกเพศทุกวัยมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี มี ๖ ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ๑) ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างครอบครัวใหม่และเด็กรุ่นใหม่ให้เข้มแข็งและมีคุณภาพ ๒) ยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้คนไทยทุกเพศ ทุกวัย มีความรู้เรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศอย่างเหมาะสม ๓) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ๔) ยุทธศาสตร์การร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดันให้งานอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศในกลุ่มวัยรุ่นเป็นวาระแห่งชาติ ๕) ยุทธศาสตร์การพัฒนากฎหมาย กฎระเบียบเกี่ยวกับงานอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพ ทางเพศ และ ๖) ยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีอนามัยการเจริญพันธุ์
  • เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม และประกาศให้เรื่องดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
  • อนุกรรมการพิจารณาแนวทางการพิจารณาแนวทางปฏิบัติการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี พิจารณาอนุมัติข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีในเด็กวัยรุ่น พ.ศ.....นับเป็นแนวโน้มที่ดีที่คณะอนุกรรมการแพทยสภามีมติเห็นชอบและเตรียมส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการแพทยสภาเพื่อออกเป็นประกาศต่อไป สำหรับการให้บริการตรวจเลือดของสถานพยาบาลแก่เยาวชน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การให้คำปรึกษา ในกรณีที่ผลเลือดเป็นบวกคือติดเชื้อ ถือว่าปัจจุบันสถานพยาบาลเกือบทุกแห่งมีความพร้อมเป็นอย่างดีในการให้คำปรึกษา ซึ่งต้องวางแผนให้กับผู้ติดเชื้อว่าจะรักษาอย่างไร ดูแลตนเองและคนใกล้ชิดอย่างไร สำหรับเยาวชนสถานพยาบาลไม่สามารถบังคับให้ผู้ปกครองต้องรับทราบ แต่ต้องเตรียมความพร้อมให้เด็กจะปฏิบัติตัว วางตัว รับการรักษาอย่างไร และจะแจ้งกับผู้ปกครองอย่างไร
  • เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 7 “ประชากรและสังคม 2554” ในการประชุมได้มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยเผยแพร่จำนวน 2,000 เล่ม มีผลงานวิจัยเรื่อง “หนูยังไม่อยากเป็นแม่ : เส้นทางชีวิตที่น่าห่วงใยของแม่วัยเด็กสังคมไทย โดย ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต และคณะ ทั้งนี้เนื้อหาสะท้อนพัฒนาการเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การท้องไม่พร้อม และการทำแท้งของแม่วัยรุ่นที่มีอายุระหว่างตั้งครรภ์และคลอดน้อยกว่า 15 ปี วิพากษ์การเรียนการสอนหลักสูตรเพศศึกษาเพื่อนำไปสู่การคุ้มครองเรื่องทางเพศของวัยรุ่นหญิงทั่วไปในสังคมไทย ผลการศึกษาพบว่าเมื่อเด็กหญิงวัยรุ่นที่ยังอยู่ในวัยเรียน “ตั้งท้องไม่พร้อม” และ “ยังไม่อยากเป็นแม่” ส่วนใหญ่จะทำแท้งเมื่อไม่มีทางเลือก สถานการณ์เช่นนี้ แม้จะมีการเรียนการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนที่เป็นความหวังในการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่มีหลักฐานยืนยันว่า “หลักสูตรเพศศึกษา” ยังแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้ผลตามที่คาด ดังนั้นการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนโดยครูนั้น อาจไม่ได้ผลดีเท่ากับเพื่อนนักเรียนที่มีประสบการณ์ทางเพศ ครูควรมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงในการสอนเพศศึกษา นอกจากนี้การเรียนการสอนเพศศึกษาต้องมีความต่อเนื่องตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงวัยทำงาน รวมทั้งผู้ปกครอง สมาชิกครอบครัว และผู้ให้บริการด้านการสาธารณสุขที่เป็นบุคคลใกล้ชิดของช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นต้องเพิ่มทักษะในการสื่อสารและยอมรับพฤติกรรมทางเพศของเด็กวัยรุ่นโดยเฉพาะเด็กหญิงในสังคมไทยว่าได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว ข้อสำคัญต้องสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยแบบบูรณาการข้ามศาสตร์และสาขาวิชาในเรื่อง “แม่วัยเด็ก” เพื่อนำไปสู่ข้อปฏิบัติในการป้องกัน และดูแลแม่วัยรุ่นและแม่วัยเด็กที่เกิดขึ้นแล้วให้สามารถดำเนินวิถีชิวตของตนและลูกต่อไปในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
  • วันที่ 6 กันยายน 2555 กระทรวงสาธารณสุขจัดโครงการรณรงค์วัยรุ่นฉลากรู้จักป้องกัน โดยเปิดโครงการฯ ที่โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เพื่อให้ความรู้วัยรุ่นเรื่องเพศศึกษา สุขภาพทางเพศ และเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง เป็นการป้องกันปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรและป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในวัยเรียน โดยนำร่อง 12 โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2555
  •  
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจัดทำแผนปฏิบัติการรณรงค์สร้างสุขภาวะทางเพศทั้ง 3 ด้าน โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและร่วมกันผลักดันสู่การปฏิบัติ
รายละเอียด: 

2.1 จัดตั้งกองทุนสุขภาพเพื่อดำเนินการสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ

2.2 เสริมสร้างกลไกการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาวะทางเพศในระดับท้องถิ่น

ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
รายละเอียด: 

3.1 ผลักดันให้เกิดนโยบายและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาวะทางเพศอย่างรอบด้าน

3.2 สร้างเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายการทำงานสุขภาวะทางเพศ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ความรุนแรงทางเพศ และการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

3.3 จัดทำรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามมตินี้ และนำเสนอในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่สอง ปี 2552

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ได้รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามมตินี้ และนำเสนอในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่สอง ปี 2552 แล้ว
เอกสารหลัก: 
เอกสารมติ: