You are here


การจัดการขยะอันตรายจากชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
สมัชชาครั้งที่: 
2
มติที่: 
1
ชื่อมติ: 
การจัดการขยะอันตรายจากชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการสาธารณสุขร่วมพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจสำหรับการจัดการขยะอันตรายจากชุมชนที่ประกอบด้วยหน่วยงานรับผิดชอบภาครัฐ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนผู้ประกอบการ ตัวแทนนักวิชาการ ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน ตัวแทนภาคประชาสังคม ตัวแทนสื่อมวลชนและสื่อภาคประชาชน และตัวแทนชุมชน เพื่อทำหน้าที่
รายละเอียด: 

1.1 จัดทำนโยบายด้านการจัดการขยะอันตรายจากชุมชน รวมทั้งส่งเสริมและควบคุมให้มีการลดปริมาณขยะอันตรายจากชุมชน เช่น การใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producers Responsibility/EPR) หลักการส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production/SCP) เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

1.2 เชื่อมประสาน ทบทวน และขับเคลื่อนแผนและนโยบายที่เกี่ยวกับการจัดการขยะอันตรายจากชุมชนที่มีอยู่ในปัจจุบันของหน่วยงานรับผิดชอบ เช่น กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

1.3 ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง กำหนดให้ปัญหาขยะอันตรายเป็นวาระสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

1.4 สนับสนุนกระบวนการประสานงานและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในทุกระดับ เพื่อจัดการปัญหาขยะอันตรายจากชุมชน

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2554 ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับกรมควบคุมมลพิษจัดการสัมมนาเผยแพร่ร่างอนุบัญญัติที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติเครื่องมือเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม พ.ศ... ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นร่างพ.ร.บ.มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ห้องบุษราคัมบอลรูมโรงแรมอมารี เอเทรียม กรุงเทพฯ โดยร่างอนุบัญญัติดังกล่าวเป็นผลการศึกษาของโครงการที่กรมควบคุมมลพิษได้มอบหมายให้ศูนย์ความเป็นเลิศฯ ดำเนินการศึกษา ร่างอนุบัญญัติที่นำเสนอคือ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไขและการจัดการเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์และกลไกการรับซื้อคืน ตลอดจนการกำกับดูแล ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่จะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ในระยะแรก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งรวมถึงหลอดไฟและแบตเตอรี่แห้งซึ่งมีปัญหาการจัดการอย่างไม่ถูกต้องในปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่า 150 คนและได้มีผู้แทนจากหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ประกอบด้วยผู้แทนกรมสรรพสามิต (หน่วยงานจัดเก็บค่าธรรมเนียม) ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม (หน่วยงานกำกับและส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิล) ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (หน่วยงานบริหารและกำกับดูแลศูนย์รับซื้อคืน) และผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และผู้รับบำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรม ผู้เข้าร่วมการสัมมนาส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการที่จะให้มีกฎหมายเพื่อมาจัดการของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วแต่อภิปรายให้ข้อคิดเห็นสำหรับข้อความในบางมาตรการที่ไม่ชัดเจนและข้อห่วงกังวลต่อแนวทางปฏิบัติ เช่น ขั้นตอนการชำระ การขอคืนภาษีซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาความยุ่งยากในทางปฏิบัติ  ขั้นตอนและเงื่อนไขการยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ทั้งผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเงื่อนไขการยกเว้นกรณีที่ผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะรวมกลุ่มเพื่อจัดการผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วซึ่งทางผู้ผลิตเสนอทางเลือกในกรณีที่เป็นการดำเนินการเฉพาะราย นอกจากนี้ ยังมีข้อห่วงใยในเรื่องการบริหารจัดการและใช้จ่ายเงินจากกองทุนและกลไกการกำกับดูแลและการให้ความรู้แก่ท้องถิ่นและศูนย์รับซื้อคืน ซึ่งทาง ศสอ. ได้ประมวลข้อคิดเห็นทั้งหมดเพื่อเสนอกรมควบคุมมลพิษพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายและเตรียมความพร้อมของระบบโดยเฉพาะการจัดให้มีโครงการนำร่องในระยะต่อไป
  • กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดยุทธศาสตร์เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการสร้างความสมดุลระหว่าง ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ดังนั้น สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินกิจกรรมกำกับควบคุม ติดตาม และดูแลโรงงาน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจัดการกากอุตสาหกรรมให้เข้าระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ โดยมีการดำเนินการโครงการต่างๆ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เช่น โครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์กากอุตสาหกรรม และลดปริมาณกากที่ต้องฝังกลบ โครงการการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นโครงการจัดตั้งอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industry) โครงการจัดทำคู่มือการกำหนดสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โครงการศึกษาการแลกเปลี่ยนของเสียระหว่างโรงงาน และโครงการพัฒนา อุตสาหกรรมเชิงนิเวศเศรษฐกิจ เป็นต้น และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเกิดการขยายผล ในปี 2554 สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม จึงได้มีการดำเนินโครงการต่างๆ ทั้งที่เป็นโครงการต่อเนื่องและเพิ่มเติม ทั้งนี้ได้จัดงานสัมมนา “การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการกากอุตสาหกรรมให้เข้าระบบ ถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายมีความรู้ความเข้าใจในแนวปฏิบัติในการจัดการกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ และเกิดการผลักดันให้เครือข่ายการจัดการกากอุตสาหกรรมให้มีการดำเนินการอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมมีการจัดการทรัพยากรเพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดมลพิษสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างสันติสุข
  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สรุปรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในเรื่องนโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความรับผิดชอบของกองสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ ได้รายงานผลการดำเนินงานเรื่องการควบคุมและลดปริมาณของเสียที่กลายมาเป็นมลพิษ ทั้งในรูปขยะ ขยะอันตราย มลพิษทางอากาศ ดังนี้

           - ส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

           - การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำหรือหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่

           - ส่งเสริมการป้องกันมลพิษตั้งแต่จุดกำเนิด

           - เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะชุมชน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยเฉพาะการจัดให้มีศูนย์กำจัดขยะชุมชนกลางในทุกจังหวัด

           - เร่งแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่วิกฤตซ้ำซาก

           - สนับสนุนมาตรการจูงใจด้านภาษีและสิทธิต่างๆ กับผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและลดมลพิษ

  • วันที่ 29 มีนาคม 2553 นายปฏิการ มหัทธนารักษ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ สภาอุตสาหกรรม ได้รายงานการจัดการกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน มีสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานราชการที่ควบคุมดูแล ทั้งนี้มีผู้ให้บริการกำจัดหลัก ได้แก่ 1) หลุมฝังกลบกากของเสีย 4 ราย 2) เตาเผากากของเสียอันตราย 1 เตาของกรมโรงงานฯ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู 3) เตาเผาปูนซีเมนต์ 3 ราย จำนวน 9 เตา และ 4) ผู้ให้บริการรีไซเคิลเพื่อนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และใช้เป็นพลังงานทดแทน จำนวนประมาณ 100 ราย (เฉพาะรายที่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง) จากรายงานสามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้

          ประเด็นที่ 1 ชนิดของของเสียอันตรายที่มีอยู่ในภาคอุตสาหกรรม และการจำแนกประเภทเพื่อดำเนินการกำจัดด้วยวิธีการต่างๆ ของเสียทุกชนิดที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำคู่มือกำหนดรหัสสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว แบ่งเป็น 19 หมวดใหญ่ และแบ่งย่อยในแต่ละหมวดอีกกว่า 700 ประเภท ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ อยู่ในระหว่างการดำเนินการควบคุมการจัดการของเสียให้สามารถกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับระดับผลกระทบ เทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์และพัฒนาการต่างๆ ที่มีในสังคม เพื่อให้อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องรับภาระค่ากำจัดมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม และผู้รับกำจัดต้องมีระบบการกำจัดที่น่าเชื่อถือ ดังนั้น หากสังคมเข้าใจว่าการกำจัดหรือบำบัดของเสียเป็นโครงการที่อาจรุนแรง และตีรวมวิธีกำจัดทุกชนิดว่าอาจรุนแรง ย่อมบั่นทอนวิธีการพัฒนาที่กรมโรงงานฯ และผู้ประกอบการที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างวิธีบำบัดที่หลากหลายให้ถดถอยลง

           ประเด็นที่ 2 เงื่อนไขและข้อจำกัดในการให้บริการกำจัดด้วยวิธีการต่างๆ กรมโรงงานฯ ได้จัดลำดับนโยบายและการจัดการที่สากลยอมรับ ดังนี้

  1. การรีไซเคิล มี 2 แบบคือ 1) การรีไซเคิลเพื่อนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ นโยบายนี้มีข้อจำกัดในเรื่องของชนิดและปริมาณวัสดุที่ต้องมีมากพอ มีการจัดเก็บที่ดีเพียงพอ และมีเทคโนโลยีที่ต้องสูงพอจึงจะสามารถนำมาผ่านกระบวนการจนได้วัสดุที่มีคุณภาพใกล้เคียงของใหม่ และ 2) การรีไซเคิลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน การใช้ประโยชน์ในลักษณะนี้มีมานานก่อนที่กรมโรงงานฯ จะเริ่มจัดระเบียบ ปัญหาที่พบคือของเสียส่วนใหญ่มิได้เกิดในพื้นที่ที่กรมโรงงานฯ มีอำนาจในการกำกับดูแล ทำให้กระบวนการควบคุมทำได้ไม่เต็มที่
  2. การเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ วิธีนี้เป็นการนำแนวคิดการจัดการที่โรงปูนซีเมนต์ในประเทศที่พัฒนาแล้วได้ดำเนินการอยู่ ประโยชน์มี 2 ด้านคือ 1) ผู้รับกำจัดจะได้ความร้อนมาช่วยค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ทำให้สามารถลดค่าบริการกำจัดได้บางส่วน และ 2) ไม่ต้องลงทุนในการสร้างเตาเผา แต่วิธีนี้ผู้ให้บริการต้องคำนึงถึงผลผลิตหรือธุรกิจหลักที่ตนเองดำเนินการ จึงต้องดูแลในเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ กรมโรงงานฯ ได้มีประกาศควบคุมการกำจัดด้วยวิธีนี้ โดยคำนึงถึงผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องชนิดของของเสียที่มีอันตรายสูงห้ามนำเข้าเผาทำลาย 20 ประเภท และต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย
  3. เตาเผากากของเสียอันตรายที่จัดสร้างเป็นการเฉพาะ เตาเผาลักษณะนี้ในประเทศไทยขณะนี้มี 1 เตา ติดตั้งและดำเนินการแล้วในปี 2551 อยู่ในการควบคุมของกรมโรงงานฯ เนื่องจากเตานี้มีกำลังการเผาเพียง 50 ตันต่อวัน และใช้เทคโนโลยีการจัดการของประเทศในยุโรป จึงไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ แม้จะรับเผากำจัดของเสียอันตรายทุกประเภทที่ไม่สามารถกำจัดด้วยวิธีการอื่นๆ โดยเฉพาะสารเคมีที่มีอันตรายสูงทุกชนิด
  4. หลุมฝังกลบกากของเสียอันตราย การฝังกลบของเสียอันตรายเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการที่ถูกวิธีในประเทศ ซึ่งหลุมฝังกลบได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับของเสียได้เกือบทุกชนิด ยกเว้นของเสียที่เป็นของเหลว ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ยังต้องมีการพัฒนาและควบคุมดูแลอย่างจริงจังได้แก่ 1) สภาพการแข่งขันด้านราคา ทำให้การจัดการก่อนการฝังกลบหย่อนมาตรฐานที่ควรจะเป็น และ 2) การผลักดันให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียต้องมีการคัดแยกและจัดเก็บอย่างถูกวิธี เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและการลดผลกระทบ ในประเด็นนี้หากผู้ให้บริการยังต้องแข่งขันกันสูง คงผลักดันผู้รับบริการได้ยาก

        ประเด็นที่ 3 กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อควบคุมการจัดการกากของเสียอันตราย อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกประกาศต่างๆ เพื่อกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติและการควบคุมเกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรม ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎหมายต่างๆ เพื่อควบคุมการกำกับดูแลการจัดการกากของเสียต่างๆ ในประเด็นหลักๆ เกี่ยวกับ 

  1. มาตรฐานและระเบียบการขนส่งวัตถุอันตรายและของเสียอันตราย
  2. หน้าที่ของผู้ก่อกำเนิดของเสียจากโรงงานต่างๆ วิธีปฏิบัติ และการรายงานให้แก่กรมโรงงานฯ
  3. มาตรฐานและวิธีการปฏิบัติของผู้รับบำบัดของเสีย ตลอดจนการจัดการในทุกขั้นตอนเพื่อให้ของเสียเข้าสู่ศูนย์บำบัดอย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ
  4. มาตรการควบคุมด้วยระบบเอกสาร เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ทั้งผู้ก่อกำเนิด ผู้ขนส่ง และผู้รับบำบัดของเสีย
  5. รายละเอียดเกี่ยวกับข้อจำกัด ข้อห้าม และเงื่อนไขในการกำจัดหรือบำบัดหรือรีไซเคิลของเสียอันตรายทุกประเภท

      ประเด็นที่ 4 ความเห็นเพื่อให้มีการพัฒนาระบบการจัดการของเสียในอนาคต นับจากปี 2540 ที่เริ่มมีการฝังกลบกากของเสียอันตรายอย่างถูกวิธี จนถึงวันนี้ได้มีการพัฒนาวิธีการกำจัดของเสียเพิ่มขึ้นตามแบบอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประการ แต่ปัญหาที่แท้จริงในการพัฒนามิได้อยู่ที่การต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงรับกำจัด แต่กลับเป็นสัญญาณเร่งเร้าให้โรงรับกำจัดที่อาจก่อปัญหาต้องดำเนินการให้ได้คุณภาพยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ ดังนั้นการควบคุมให้ผู้รับกำจัดต้องปฏิบัติในทุกขั้นตอนให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดจึงสำคัญที่สุด สำคัญกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือการเยียวยา

  • เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ให้กับผู้ประกอบการโรงงานที่มีของเสียอันตราย และกิจการที่เกี่ยวข้องกับขยะอุตสาหกรรมทั้งระบบ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 1,200 คน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า รัฐบาลได้แถลงนโยบายในด้านการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะกากอุตสาหกรรมอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรมฯ ได้วางมาตรการบริหารจัดการเป็นพิเศษ โดยกำหนดให้ทิ้งในบ่อขยะอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน แยกออกจากบ่อขยะชุมชนไม่ให้ปะปนกัน สำหรับขยะของเสียอันตราย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะติดเชื้อ จะพัฒนาระบบการกำกับติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวัง ไม่ให้มีการลักลอบทิ้ง และใช้มาตรการทางกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรซึ่งจะเกิดขึ้นใน 1-2 ปีนี้ ภายในโครงการจะประกอบด้วย ส่วนรวบรวม การจัดเก็บ คัดแยก รีไซเคิล การบำบัด(น้ำเสีย/ทำลายฤทธิ์/ปรับเสถียร) และการกำจัดด้วยการเผาและฝังกลบ เพื่อจัดการกับกากอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกากไม่อันตรายประมาณ 33.6 ล้านตัน และอันตราย ประมาณ 2.9 ล้านตัน รวมแล้วประมาณ 36.5 ล้านตัน และให้มีพื้นที่เพียงพอสามารถรองรับกับกากอุตสาหกรรมในอนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้าด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งกำลังหารือกับกองทัพ เพื่อขอใช้พื้นที่ทหารหากไม่สามารถจัดหาพื้นที่ปกติได้
  • เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ชี้แจงถึง การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และการตรวจติดตามการขนส่งกากของเสียอันตรายอุตสาหกรรม ยังไม่ครบถ้วนและไม่ทันสมัย จึงไม่สามารถบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่เป็นของเสียอันตรายและปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน และปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเหตุผลดังกล่าว กรอ.จึงมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น โดยได้รับงบประมาณ 59.5 ล้านบาท เป้าหมายเพื่อเร่งรัดนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ ซึ่งประกอบด้วยโครงการ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเร่งรัดการนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ โครงการการติดตามการขนส่งกากของเสียอุตสาหกรรมด้วยระบบ GPS และโครงการส่งเสริมการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ขึ้น ซึ่งแผนระยะเร่งด่วนจะทำการเร่งรัดตรวจสอบผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด คือ โรงงานที่มีกากอุตสาหกรรมอันตรายทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกับพัฒนาระบบตรวจสอบใบกำกับการขนส่งควบคู่กับการตรวจสอบ ผู้รับกำจัด บำบัดและรีไซเคิล เพื่อยกระดับขีดความสามารถการบริการให้เป็นไปตามกฎหมาย
  • เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้แทนของกระทรวงมหาดไทย ร่วมแถลงข่าวเรื่องการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอันตรายตามนโยบายรัฐบาลร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลได้มีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการโครงการนำร่องในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นต้นแบบในการกำจัดขยะอย่างถูกวิธีให้กับจังหวัดอื่นต่อไป ทั้งนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดให้โครงการจัดการขยะนำร่องในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในโครงการที่มอบเป็น “ของขวัญปีใหม่” ให้กับประชาชน ภายใต้ชื่อ “อยุธยาเมืองประวัติศาสตร์ เมืองสะอาดปลอดขยะต้นแบบ” โดยมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นต้นแบบ ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาขยะอย่างเป็นระบบและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินการขนย้ายขยะเดิมจากตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา ที่มีอยู่ประมาณ 2 แสนตันเศษ โดยเป็นขยะแบบเทกองและเป็นมลพิษมานานเกือบ 30 ปี มาฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ณ สถานที่แห่งใหม่ ที่ตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล เนื้อที่จำนวน 372 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ซึ่งอยู่ห่าง 4 กิโลเมตร นับไกลจากชุมชนและบ้านเรือนราษฎร ขณะนี้ดำเนินไปแล้วกว่า 1.5 แสนตัน คาดว่าจะแล้วเสร็จอย่างช้าภายในเดือนมีนาคมนี้  โดยขยะทั้งหมดจะถูกนำมาฝังกลบอย่างถูกวิธี แม้กระทั่งน้ำเสียที่เกิดจากขยะก็จะได้รับการบำบัดและนำมาใช้เป็นน้ำสะอาดในบริเวณสถานที่กำจัดขยะ ไม่สร้างมลภาวะรบกวนต่อสภาพแวดล้อม เตรียมพร้อมเข้าสู่ระบบกำจัดขยะในอนาคต  โดยจะดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF และโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ ขนาด 3.5 เมกะวัตต์ เพื่อนำขยะมูลฝอยมาแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งวิธีดังกล่าวถือว่าเป็นการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ตามแนวทางที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่เลือกทำ เพราะนอกจากจะสามารถใช้ทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่มีราคาสูงในปัจจุบันแล้วยังสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้  ยังมีจังหวัดที่มีขยะตกค้างสะสมในขั้นวิกฤติที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับงบประมาณในการดำเนินการมาแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สระบุรี และลพบุรี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ TOR และปรับแผนดำเนินการให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการบริหารจัดการขยะ สำหรับพื้นที่จังหวัด2.1อื่น จำนวน 24 จังหวัด กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัด จัดทำแผน Road Map การจัดการขยะมูลฝอยและหาพื้นที่ในการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะ โดยจะพิจารณาหาเทคโนโลยีในการกำจัดขยะให้มีความเหมาะสมกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ต่อไป นอกจากนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขยะเกิดความยั่งยืน กระทรวงมหาดไทยยังได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดโครงการเมืองสะอาด คนในชาติมีสุข โดยให้จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรณรงค์สร้างวินัยของคนในชาติ สร้างจิตสำนึกประชาชนปลูกฝังค่านิยม วินัยการรักษาความสะอาด การคัดแยก ตลอดจนการจัดกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชน และยังจะมีการสรรหา 1 จังหวัด 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ต่อไปด้วย
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้ภาคีเครือข่าย/องค์กรสมาชิกทั้งภาครัฐ ภาคองค์กรธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน ภาควิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชนทุกแขนงและสื่อภาคประชาชน และชุมชน
รายละเอียด: 

2.1 ผลักดันให้มีการกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนออกแบบและผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรับคืนซากผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และการกำจัดอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยให้มีกลไกสนับสนุนการจัดซื้อคืนซากโดยทุนอุดหนุนจากเอกชนผู้ผลิต

2.2 รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการและพิษภัยของขยะอันตรายจากครัวเรือนหรือชุมชน

2.3 รณรงค์ให้ประชาชนมีการบริโภคที่พอเพียง และส่งเสริมการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สินค้าฉลากเขียว และนำหลักการ 3Rs ได้แก่ การลดปริมาณ การใช้ซ้ำ และการนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ (รีไซเคิล) มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ควรมีกิจกรรมลดขยะที่หลากหลายและมีทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง

2.4 ส่งเสริมการจัดการที่ถูกต้องให้กว้างขวางไปในภาคีสมาชิกและสาธารณะโดยคำนึงถึงศักยภาพของท้องถิ่นนั้นๆ โดยเฉพาะสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการดำเนินการจัดการขยะอันตรายชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล

2.5 ผลักดันให้สถาบันการศึกษาทุกแห่ง มีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นด้านการจัดการขยะอันตราย

2.6 ติดตาม เฝ้าระวัง และตรวจสอบการจัดการขยะอันตรายจากชุมชนของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการประเมินและติดตามเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะอันตรายและประชาชนในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง

2.7 ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาการจัดการขยะอันตรายที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการได้เอง

2.8 สนับสนุนให้มีมาตรการจูงใจเพื่อให้มีการจัดการขยะที่ดี เช่น ให้มีรางวัลการจัดการขยะที่ดี และการใช้กลไกราคาเพื่อการคัดแยกขยะและจัดการขยะอย่างมีคุณภาพ

2.9 ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

2.10 สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับจังหวัด จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการขยะอันตรายจากชุมชน

 

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • สมัชชาสุขภาพจังหวัดสระบุรี ได้นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ขับเคลื่อนลงสู่ชุมชนภายใต้ชื่อ “โครงการสมัชชาสุขภาพจังหวัดสระบุรี ว่าด้วยการเสริมสร้างสุขภาวะจากปัญหาขยะ ปี 2553” นำร่องในตำบลหนองปลาไหล กุดนกเปล้า นาโฉง และตำบลดาวเรือง เครือข่ายพัฒนาองค์กรชุมชน จ.สระบุรี ได้เห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาวะที่เกิดจากขยะ จึงได้จัดทำโครงการโดยใช้กระบวนการ “สมัชชา” ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วย ”การสร้างเสริมสุขภาวะจากปัญหาขยะ” ในระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกันยายน 2553 นี้ ทั้งนี้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้กับผู้นำชุมชน ในการจัดการขยะอันตรายในชุมชนและขยะกากอุตสาหกรรมที่เป็นพิษ บนพื้นฐานการมีข้อมูลที่ชัดแจ้ง ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างชัดเจน มีการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาขยะอันตราย และนำเสนอเป็นนโยบายสาธารณะสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเชิงนโยบายคือมีการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาขยะอันตรายในชุมชนแบบมีส่วนร่วม บรรจุไว้ในนโยบายหรือข้อบังคับของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการนำรูปแบบกระบวนการสมัชชาไปประยุกต์ใช้ในการ ดำเนินงานพัฒนาหรือแก้ไข ปัญหาสุขภาพตามบริบทของแต่ละชุมชนและ แกนนำภาคีเครือข่ายสุขภาพในชุมชน มีการเฝ้าระวังผลกระทบจากขยะอันตรายในชุมชน โดยมีกระบวนการในการทำงานคือประชุมคณะทำงาน สัมมนาสื่อมวลชนท้องถิ่น ประชุมเชิงปฏิบัติการแกนนำ จัดเก็บ/วิเคราะห์/ประมวลผล เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง 4 ตำบลนำร่อง จัดทำประชาพิจารณ์ในชุมชนและจัด เวทีผลักดันข้อเสนอสู่นโยบายสาธารณะระดับอำเภอ
  • สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “จะรับมืออย่างไร หากเมืองไทยจะเต็มไปด้วยขยะอุตสาหกรรม” เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2554 โดยผู้เข้าร่วมประชุม เช่น คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ตัวแทนสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตัวแทนสมัชชาประชาชน รักษ์คน รักษ์โลก และตัวแทนนักวิชาการ ที่ประชุมมีข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชน ดังนี้
  1. รัฐควรออกกฎหมายที่เข้มแข็งและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยใช้ความยั่งยืนของสุขภาพและทรัพยากรของคนในท้องถิ่นเป็นเป้าหมายสำคัญ
  2. กระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ BOI ต้องเข้าสู่กระบวนคิดในการจัดการปัญหาขยะอุตสาหกรรมร่วมกัน
  3. การนิคมอุตสาหกรรมต้องทำหน้าที่ควบคุม กำกับ ตรวจสอบปัญหาขยะในนิคมอุตสาหกรรมและต้องเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่มีอำนาจในการยุติปัญหาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
  4. ต้องมีกฎหมายกำหนดให้สถานที่กำจัดขยะอุตสาหกรรมตั้งอยู่ใจกลางนิคมอุตสาหกรรม และต้องห่างจากแนวชุมชนและแนวลำน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตร และรับกำจัดเฉพาะขยะที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่บ่อขยะตั้งอยู่เท่านั้น
  5. กรณีขยะข้ามชาติต้องมีการจัดการด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักสากลเพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพของคนไทย โดยการเคารพสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ

        สมัชชาประชาชน รักษ์คน รักษ์โลก ได้เสนอยุทธศาสตร์ “มวลประชาร่วมรัฐจัดระเบียบขยะอุตสาหกรรม” ด้วยการรวมตัวของผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดการขยะอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการจัดการขยะทั่วประเทศ มีกรอบ 3 มิติในการแก้ปัญหาคือ มิติที่หนึ่ง ชุมชนต้องใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 มิติที่สอง สังคมทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 1 และวรรค 2 และมิติที่สาม นโยบายรัฐบาล หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและนักลงทุน ต้องให้ความร่วมมือในการหยุดยั้งปัญหาการจัดการขยะอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง   

  • คณะทำงานสมัชชาสุขภาจังหวัดระนองได้จัดเวทีติดตามมติสมัชชาสุขภาพปี 2553 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลน้ำจืด อ.กระบุรี จ.ระนอง เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 นายสุชีพ พัฒน์ทอง อาจารย์สมพวง สีสิน และคณะทำงานฯ นำเสนอทบทวนกระบวนการสมัชชาสุขภาพตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2550 และทบทวนมติสมัชชาสุขภาพ ปี 2553 เรื่อง การจัดการขยะอันตรายจากชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตระหนักว่า ขยะอันตรายจากชุมชน เช่น ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง กระป๋องสเปรย์ หลอดไฟ ซากผลิตภัณฑ์อิเลคทรอนิคส์หรือเครื่องไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์เคมี (โฟม) ขวดแก้วขนาดเล็ก (เครื่องดื่มชูกำลัง) ถุงพลาสติก ถุงขนมกรุบกรอบ และขยะอันตรายอื่นๆ ได้กลายเป็นปัญหาที่สำคัญของจังหวัดระนอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากร สิ่งแวดล้อม และขนาดปัญหาที่เพิ่มขึ้นยากต่อการจัดการฃฃ

          - รับทราบว่า การจัดการขยะอันตรายจากชุมชนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีประสิทธิภาพ แม้จะมีกฎหมายหรือแผนยุทธศาสตร์ในการจัดการขยะระดับชาติแล้วก็ตาม แต่ในระดับจังหวัดยังไม่มีการนำแผนยุทธศาสตร์มาปฏิบัติอย่างจริงจัง เนื่องจากขาดความพร้อมในหลายด้าน เช่น การสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน อันจะนำมาซึ่งความร่วมมือในการจัดการขยะอันตรายจากชุมชนอย่างมีผลสำเร็จ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้นำมาตรการทางกฎหมายมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด

          - รับทราบว่า การจัดการขยะอันตรายจากชุมชนที่ไม่ถูกต้องก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งด้านทรัพยากรบุคคล เศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการสูญเสียสมดุลของธรรมชาติ มีความกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอันตรายจากชุมชนและการจัดการขยะอันตรายจากชุมชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะซากผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  การขาดแคลนสถานที่กำจัด ซึ่งหากใช้วิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้วจะลดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

          - ตระหนักว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวควรเป็นการจัดการแบบบูรณาการ ทั้งด้านการรณรงค์ สร้างความรู้ความตระหนัก ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีอายุการใช้งานยาวนาน ส่งเสริมการคัดแยก นำกลับมาใช้ซ้ำ การนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ รวมทั้งมีกฎหมายที่อำนวยให้เกิดกลไกในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการจัดการขยะอันตรายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการขยะอันตรายจากชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปริมาณขยะทั้งในส่วนผู้ผลิตและผู้บริโภค และเกิดการจัดการขยะที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ

          - ผลจากการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดระนองครั้งที่ 1 ทางคณะทำงานฝ่ายวิชาการได้ประมวลผลการพิจารณาร่างมติตามประเด็นที่ได้ประชุม ที่ประชุมได้รับรองมติดังต่อไปนี้

        1. ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจังหวัดระนอง และคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดระนองผู้แทนกระทรวงพลังงาน (ในจังหวัดระนอง) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดระนอง ร่วมพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจสำหรับการจัดการขยะทั่วไปและขยะอันตรายจากชุมชนที่ประกอบด้วยหน่วยงานรับผิดชอบภาครัฐ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนผู้ประกอบการ ตัวแทนนักวิชาการ ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน ตัวแทนภาคประชาสังคม ตัวแทนสื่อมวลชนและสื่อภาคประชาชนและตัวแทนชุมชน เพื่อทำหน้าที่

           1.1 จัดทำนโยบายด้านการจัดการขยะอันตรายจากชุมชน รวมทั้งส่งเสริมและควบคุมให้มีการลดปริมาณขยะอันตรายจากชุมชน บริษัทผู้ผลิตขยะอันตรายต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบอันตรายในสิ่งที่จะก่อให้เกิดขึ้น เช่น การใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตบริษัทผู้ผลิตขยะอันตรายได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบขยะอันตรายที่เกิดขึ้นกับประชาชน หลักการบริโภคและการผลิตแบบพอเพียง เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

            1.2 เชื่อมประสาน ทบทวน และขับเคลื่อนแผนและนโยบายที่เกี่ยวกับการจัดการขยะอันตรายจากชุมชนที่มีอยู่ในปัจจุบันของหน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระนอง สถาบันการศึกษาทุกระดับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดระนอง สภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง สภาหอการค้าจังหวัดระนอง หน่วยงานสังกัดกรมการปกครอง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

            1.3 ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งดำเนินการอย่างจริงจัง และส่งเสริมเรื่องการมีจิตสำนึก กำหนดให้ปัญหาขยะอันตรายเป็นวาระสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรหาสถานที่กำจัดขยะ

            1.4 สนับสนุนกระบวนการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนการจัดการขยะอันตรายที่เน้นการประสานงานและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในทุกระดับ เพื่อพัฒนาการจัดการปัญหาขยะอันตรายจากชุมชน

       2. ให้ภาคีเครือข่าย/องค์กรสมาชิกทั้งภาครัฐ ภาคองค์กรธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน ภาควิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชนทุกแขนงและสื่อภาคประชาชน และชุมชน ร่วมดำเนินการดังนี้

            2.1 ผลักดันให้มีการกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนออกแบบและผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรับคืนซากผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และการกำจัดอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยให้มีกลไกสนับสนุนการจัดซื้อคืนซากโดยทุนอุดหนุนจากเอกชนผู้ผลิต

            2.2 รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการขยะและพิษภัยของขยะอันตรายจากครัวเรือนชุมชน และให้ความสำคัญพิเศษที่ระดับครัวเรือน

            2.3 รณรงค์ให้ประชาชนมีการรู้จักบริโภคที่พอเพียง บริโภคแต่พอควร และส่งเสริมการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สินค้าฉลากเขียว และนำหลักการ 3Rs ได้แก่ การลดปริมาณ การใช้ซ้ำ และการนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ (รีไซเคิล) มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และควรจัดกิจกรรมลดขยะที่หลากหลายโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

            2.4 ส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการดำเนินการจัดการขยะอันตรายชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

            2.5 ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะอันตราย ควรทำเตาเผาขยะขนาดเล็ก และควรหาที่กำจัดขยะ รถขยะทุกเทศบาล อบต. ต้องมี

            2.6 บริหารจัดการขยะอันตรายจากชุมชน  เพื่อประสานการกำจัดกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

            2.7 ส่งเสริมให้สถานศึกษาทุกแห่ง มีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นด้านการจัดการขยะอันตรายในสถานศึกษารวมทั้งจัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกและใช้ในการจัดการขยะอันตราย ธนาคารขยะ ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาสร้างและพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะ

            2.8 สนับสนุนให้หน่วยงานในจังหวัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เช่น จับ / ปรับกรณีทิ้งขยะอันตราย ห้ามนำเข้าขยะอันตรายจากต่างประเทศ (เครื่องจักรมือสอง ถัง บรรจุภัณฑ์เคมี ฯลฯ)

            2.9 ติดตาม เฝ้าระวัง ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการขยะอันตรายจากชุมชนของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง

            2.10 สนับสนุนให้มีมาตรการจูงใจเพื่อให้มีการจัดการขยะที่ดี เช่น ให้มีรางวัลการจัดการขยะที่ดี และการใช้กลไกราคาเพื่อคัดแยกขยะและจัดการขยะอย่างมีคุณภาพ

         3. ให้คณะกรรมการสมัชชาสุขภาพจังหวัดระนองเสนอแผนงานโครงการต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์จังหวัดระนอง (กบจ) และเสนอสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3

         4. สิ่งแวดล้อมมีเจ้าภาพ 4 กระทรวง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาที่ดิน ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอให้ตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจังหวัดระนองโดยให้สำนักงานจังหวัดเป็นเจ้าภาพประสานการดำเนินงานซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมเป็นภาคี

         5. เสนอขยะอันตราย ควรเป็นขยะทั่วไปซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนในการดูแล

         6. ขยะมี 2 ประเภท (ภาคประชาชน) และควรแยกประเภทขยะ ให้หน่วยงานรัฐเข้าไปรับซื้อ กระทรวงความมั่นคงควรมีรถรับซื้อขยะ ส่วน อปท. เก็บทำลายขยะ

            6.1 ขยะธรรมชาติ (ไม่ย่อยสลายเอามาทำเป็นเชื้อเพลิง)

            6.2 ขยะที่ผลิตขึ้น (โลหะ อโลหะ)

        7. ขยะมี 4 ประเภท (กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

            7.1 ขยะมูลฝอย มี 64%

            7.2 ขยะรีไซเคิล มี 30%

            7.3 ขยะทั่วไป มี 3%

            7.4 ขยะอันตราย มี 3% ควรมีการรวมขยะระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัดโดยท้องถิ่น ส่งไปกำจัดที่ส่วนกลาง ส่วนขยะมีพิษควรรวบรวมโดยท้องถิ่นส่งไปกำจัดที่มาบตาพุต และให้ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

       8. รณรงค์ให้ชุมชนมีความรู้เรื่องการจัดการขยะ การคัดแยกขยะ จำแนกขยะ มีธนาคารขยะ

      9. ปลูกจิตสำนึกให้รู้คุณค่าของขยะ ให้มีการเชื่อมต่อการกำจัดขยะให้เป็นทอง

     10. ส่งเสริมให้การศึกษาแก่นักเรียนในเรื่องขยะ

     11. ขยะชุมชนพม่า ควรมีเจ้าภาพ (เจ้าของบ้านเช่า ต้องเสียค่ากำจัดขยะ )

     12. สถานที่กำจัดขยะมีน้อย เพราะต้องใช้ที่ป่าสงวน เนื่องจากชาวบ้านไม่เข้าใจเรื่องขยะ ควรให้ความรู้เรื่องขยะแก่ชาวบ้าน มีการรณรงค์ ควรมีการร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วน

     13. ขยะเกิดขึ้นจากครอบครัว ต้องสร้างจิตสำนึกภายในครอบครัวหรือโรงเรียนละต่อไปถึงชุมชน เริ่มจากคัดแยกขยะ แปรรูปขยะ (Re-think/ Re-deuces / Re-use /Re-good )

  • วันที่ 30 มีนาคม 2553 คณะกรรมการสมัชชาสุขภาพจังหวัดลำปาง ได้ถูกจัดตั้งขึ้น โดยการสนับสนุนของ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคลฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง เพื่อเป็นแกนนำการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแก้ไขปัญหาสุขภาพภาคประชาชนในจังหวัดลำปาง ที่ประชุมได้มีการนำประเด็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ที่ได้จากฉันทามติการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 รวม 11 เรื่อง เรื่องการจัดการขยะอันตรายจากชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็นหนึ่งเรื่องที่ทางคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพจังหวัดลำปางได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนและกำหนดเป็นนโยบายเพื่อสุขภาพจังหวัดลำปาง และได้มีการปรับเปลี่ยนหัวข้อโดยใช้ครอบครัวเป็นเป้าหมาย ตามแนวคิด “สุขภาพดี เริ่มที่ครอบครัว” ดังนั้น “การจัดการขยะอันตรายจากชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” ได้ปรับเป็น “การกำจัดขยะ เปลี่ยนขยะเป็นเงิน หรือเปลี่ยนขยะพิษเป็นชีวิตที่สดใสและการเข้าถึงบริการ”
  • เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสระบุรี ได้มีการนำกระบวนการสมัชชาสุขภาพเข้ามาใช้กับกลุ่มชาวบ้านแกนนำเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสระบุรีมาจัดทำโครงการ “สมัชชาสุขภาพจังหวัดสระบุรีว่าด้วยผลกระทบจากการก่อสร้างสถานีขนย้ายขยะของเทศบาลเมืองสระบุรี” ร่างแผนการแก้ไขปัญหาขยะในชุมชน ก่อนออกสร้างเวทีประชาพิจารณ์เพื่อการมีส่วนร่วมจาก 22 ชุมชนในเขตเทศบาล แล้วนำมาสรุปเพื่อยื่นเสนอต่อทางเทศบาลเมืองสระบุรี ผลจากโครงการที่นำร่องทำให้กระแสกลุ่มต่อต้านในชุมชนลดลง ขณะเดียวกันชุมชนเริ่มเปลี่ยนมุมมองใหม่ มีความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะในบ้านของตนเอง มีการบริหารจัดการขยะและส่งขายที่ธนาคารขยะ สร้างรายได้เข้าครัวเรือนและชุมชน  จนมีพื้นที่ต้นแบบในการคัดแยกขยะเปลี่ยนขยะเป็นรายได้ที่ตำบลนาโฉง การดำเนินกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดสระบุรีในเรื่องการจัดการขยะจากชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นการจุดประกายให้อีกหลายพื้นที่ที่ทุกข์จากการมีโรงงานขยะอยู่ใกล้ๆ บ้านได้นำเอากระบวนการสมัชชาสุขภาพมาช่วยพลิกปมปัญหา คลี่คลายวิกฤตด้วยมือคนใน ชุมชนโดยคนในชุมชน เพื่อคนในชุมชน
  • เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มอบนโยบายการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวแทนองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และเอกชน โดยได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กำหนดโรดแมปจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว มีหลักดำเนินงาน 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.กำจัดขยะมูลฝอยเก่าตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่วิกฤต 2.สร้างรูปแบบการจัดการขยะ โดยเน้นการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง กำจัดขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวม และกำจัดโดยใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสานเน้นการแปรรูปเป็นพลังงาน 3.วางระเบียบมาตรการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย และ 4.สร้างวินัยของคนในชาติ มุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืนโดยการให้ความรู้กับประชาชนและการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ได้กำหนดระยะเร่งด่วนแก้ปัญหาขยะในพื้นที่วิกฤต 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครปฐม สระบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยเร่งแก้ปัญหาขยะสะสม 11 ล้านตัน ภายใน 6 เดือน ส่วนระยะกลาง 26 จังหวัด แก้ไขปัญหาใน 1 ปี กำจัดขยะสะสม 22 ล้านตัน มีศูนย์กำจัดขยะที่แปรรูปเป็นพลังงานอย่างน้อย 15 แห่ง มีการแยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไป และมีกฎหมายเฉพาะ และภายในปีนี้จะออก พ.ร.บ.ขยะแห่งชาติ เพื่อกำจัดขยะอย่างมีระบบ และมีบทลงโทษ ส่วนที่เหลืออีกกว่า 40 จังหวัด ให้ดำเนินการควบคู่ไปโดยไม่ต้องรอสั่งการ จะออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อระบุภารกิจที่ชัดเจน เช่น กระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวงเรื่องการคัดแยกขยะและค่ากำจัดขยะมูลฝอย” รัฐมนตรีว่าการ ทส.กล่าว และว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของแต่ละจังหวัด ส่งให้ คพ.พิจารณาภายในเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นจะสรุปแผนแม่บทเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำงบประมาณภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558

 

  •  
เอกสารหลัก: 
เอกสารมติ: