You are here


แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้
สมัชชาครั้งที่: 
2
มติที่: 
2
ชื่อมติ: 
แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี พิจารณามอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทบทวนร่างแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน และแผนพัฒนาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นแผนบูรณาการและมีหลักการสำคัญ ดังนี้
รายละเอียด: 

1.1 ให้เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาการศึกษาที่สร้างคนให้มีคุณภาพสู่สมดุลทางด้านสุขภาวะ

1.2  ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตามความต้องการและความจำเป็นของท้องถิ่น โดยเป็นอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงการรักษาฐานทรัพยากร ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและสุขภาพชุมชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

1.3  ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น และการกระจายรายได้ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ

1.4  ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าสมุนไพร พื้นที่ชุ่มน้ำ การส่งเสริมการเกษตรยั่งยืน และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียง

1.5  ให้ความสำคัญกับฐานความรู้ภูมินิเวศ เคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เสนอความต้องการและมีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นในการพัฒนา ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้การดำเนินโครงการพัฒนาของภาครัฐและเอกชน คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน และสร้างกลไกเพื่อพิจารณาข้อเสนอที่จะชลอแผนงานและโครงการที่สร้างความขัดแย้ง และ/หรือมีผลกระทบต่อสังคมและชุมชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างฉันทามติร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2553 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 คสช. เห็นชอบให้นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๒ ระเบียบวาระ “แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้” เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป
  • วันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 มติที่ 2 เรื่องแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ และมอบหมายให้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รับไปดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป และให้ให้ สช. รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

           - มติ 2 ควรเพิ่มนโยบายการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนภาคใต้ได้สามารถเรียนรู้วิชาชีพที่เชื่อมต่อกับการประกอบอาชีพ พัฒนาทักษะวิชาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริงควบคู่กันไป การให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตามความต้องการและความจำเป็นของท้องถิ่นโดยไม่กระทบวิถีชีวิตและสุขภาพชุมชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวปฏิบัติในการเชื่อมโยงวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเมืองที่มีความสมดุล มั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตามหลักความพอประมาณ

           - ในการจัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืนมีความสอดคล้องและให้ความสำคัญตามประเด็นในมติสมัชชาสุขภาพแล้ว ทั้งนี้ การทบทวนร่างแผนแม่บทฯ และแผนพัฒนาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรมอบให้คณะกรรมการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์เป็นผู้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 เนื่องจากมีหน้าที่ในการพิจารณาและกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการและมาตรการในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคการผลิตเชิงนิเวศน์ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนในภาพรวมทั้งระบบ

  • วันที่ 15 กันยายน 2553  สจน. ซึ่งเป็นผู้ประสานงานเฉพาะประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ ได้ส่งเรื่องไปยังเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้มีการติดตามและดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ มีข้อเสนอเชิงปฏิบัติคือให้ทาง สศช. เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะทำงานเฉพาะประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ โดยมี ศ.สุรชัย หวันแก้ว เป็นประธานเพื่อวางแผนกระบวนการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพต่อไป
  • วันที่ 26 กันยายน 2553 สช. ได้ส่งเรื่องไปยังประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ในการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กรณีแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้  เพื่อต้องการให้ทาง ได้ดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้องตามมติคณะรัฐมนตรี
  • วันที่ 17 ธันวาคม 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แถลงไว้ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2553 ณ ที่ประชุมสหประชาชาติ ไว้ว่า “รัฐบาลได้เรียนรู้จากบทเรียนครั้งนี้แล้ว  เรียนรู้ว่าการพัฒนาจากนี้ไป เราจะต้องใช้ความระมัดระวังตั้งแต่ต้น และจึงเป็นเหตุผลให้ รัฐบาลได้ตัดสินใจในขณะนี้ว่า การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ รวมไปถึงพื้นที่ซึ่งเคยมีการมองว่าจะมีการสนับสนุนให้มีการเกิดอุตสาหกรรมหนักหรืออุตสาหกรรมที่มีมลพิษมากนั้น  รัฐบาลได้ตัดสินใจอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการดำเนินการอย่างนั้นหลังจากที่ได้ใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่และในชุมชนต่างๆ
  • วันที่ 26 มีนาคม 2554 สมัชชาปฏิรูปประเทศไทยระดับชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ.2554 มีมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติ มติ 2  ประเด็น “การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง” ในข้อ 2 ดังนี้ “ขอให้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลทุกภาค  หรือโครงการพิเศษใดๆ ที่กำหนดไว้  และที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน  และข้อให้มีการเร่งรัดการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๒ เรื่อง แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมกรณีภาคใต้  รวมทั้งจัดให้มีกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลทั่วทุกภาคของประเทศไทยขึ้นใหม่  ด้วยกระบวนการที่มีส่วนร่วมจากผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม  ผู้มีส่วนได้เสียประชาชนในพื้นที่ทุกเพศทุกวัยทุกเศรษฐฐานะ และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม”

 

ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ในการดำเนินการตามข้อ 1 ขอให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคชุมชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบจากการพัฒนาตั้งคณะกรรมการทบทวนร่างแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เครื่องมือที่หลากหลายมุ่งเน้นสนับสนุนการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • วันที่ 31 สิงหาคม 2553 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ได้เปิดแถลงข่าวไม่ยอมรับโครงการของรัฐ ทั้งนี้มีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 มติที่ 2 เรื่อง แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ ดังต่อไปนี้ รัฐบาลต้องทำให้เห็นถึงความจริงใจในการที่จะดูแลประชาชนทุกฝ่าย ก่อนที่จะกำหนดการพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ด้วยการยุติโครงการศึกษาของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาพื้นที่ในภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชนทั้งในและนอกประเทศ ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ประเด็น “แผนพัฒนาที่ยั่งยืน...กรณีภาคใต้” ตามกระบวนการพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 โดยมีสาระสำคัญให้คณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายให้สภาพัฒน์ฯ ทบทวนและยุติแผนพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้ และให้คณะรัฐมนตรีออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้และภาคอื่นๆอย่างยั่งยืน กป.อพช.ใต้ เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และให้ยุติการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้ทั้งหมดก่อน จนกว่าจะเกิดแผนแม่บทการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มอบหมายให้บริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาดำเนินโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นจำนวน 7 ครั้ง ช่วงวันที่ 19 – 22 กรกฎาคม 2554 ที่จังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง พังงา นครศรีธรรมราช ระนอง และสุราษฎร์ธานี โดยผู้เข้าร่วมประชุมครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ วัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นของประชาชนและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการศึกษาเพื่อจัดทำทิศทางการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ 12 จังหวัดและพื้นที่ต่อเนื่อง (ยะลาและพัทลุง) ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 530 คนครอบคลุมทุกภาคส่วนได้แก่ ภาคประชาชน นักพัฒนาจากองค์การพัฒนาเอกชน ภาคธุรกิจเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชนท้องถิ่น ภาครัฐ และภาครัฐวิสาหกิจ โดยได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย ทั้งนี้ประเด็นข้อคิดเห็นต่อการพัฒนาที่ทุกกลุ่มจังหวัดมีความเห็นสอดคล้องกันว่าควรต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้และพื้นที่ต่อเนื่อง ได้แก่ 1) ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวและผลไม้ 2) ส่งเสริมการทำประมงและการแปรรูปครบวงจร 3)พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 4) ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับโลก สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงประวัติศาสตร์/วัฒนธรรม เชื่อมโยงการท่องเที่ยวสองฝั่งสมุทรและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และ 5) พัฒนาตลาดการค้าชายแดนอย่างเป็นระบบและมีความทันสมัย ทั้งนี้การพัฒนาจะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การพัฒนาคุณภาพคน การสนับสนุนการเชื่อมโยงการขนส่งทั้งในพื้นที่และกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุมในส่วนกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยได้แสดงความเป็นห่วงต่อโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่และโครงการพัฒนาที่ได้ปรากฏอยู่ในแผนของหลายหน่วยงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและสุขอนามัยของประชาชน พร้อมทั้งแสดงจุดยืนว่าไม่ต้องกรการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก รวมทั้งได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการระดมความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาว่า การระดมความคิดเห็นควรครอบคลุมถึงภาคประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนา เพื่อให้เกิดการยอมรับผลสรุปร่วมกัน นอกจากนี้ภาครัฐควรเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ให้ภาคประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง ผลการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ สศช.จะนำไปรวมกับผลการระดมความคิดเห็นภายใต้โครงการศึกษาเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาพื้นที่สตูล-สงขลาและพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อที่ สศช.จะใช้ประกอบในการกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ต่อไป
  • ในการจัดเวทีของ สศช. ที่ดำเนินการโดยบริษัทบริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา เกิดข้อคิดเห็นจากภาคประชาชนดังต่อไปนี้

            - วันที่ 19 กรกฎาคม 2554 จัดที่โรงแรมซากุระแกรนด์วิว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อระดมความคิดเห็นประชาชนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนประกอบด้วย สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ที่ประชุมได้ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดในการประชุมจึงไม่มีคนในเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเข้าร่วมประชุม กระบวนการรับฟังความคิดเห็นยังเป็นแบบเดิมๆ เน้นเชิญเฉพาะคนกลุ่มเดิมๆ ที่มุ่งผลักดันโครงการใหญ่ๆ ทำไมไม่เชิญชาวบ้านและเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้ามาด้วย

            - วันที่ 20 กรกฎาคม 2554 จัดที่โรงแรมวังโนรา อ.เมือง จ.พัทลุง ที่ประชุมเกิดข้อสงสัยว่า การที่บริษัทที่ปรึกษาเชิญคนเข้าร่วมประชุมจำนวน 40 คน และมีการตอบรับเข้าร่วมประชุมเพียง 7 คน มีความชอบธรรมแค่ไหนที่เชิญคนเพียง 10 คน มากำหนดอนาคตจังหวัดพัทลุง ซึ่งขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 ที่ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษา และสำหรับเวทีที่จังหวัดตรังซึ่งจัดวันเดียวกับที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งจัดที่ โรงแรมวัฒนาปาร์ค ผู้เข้าร่วมเวทีที่เมืองตรัง ต่างยืนยันแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนใต้ว่า ให้เน้นการพัฒนาทรัพยากรทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมและสุขภาพ สินค้าและบริการให้เชื่อมโยงและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ระหว่างกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันกับนานาชาติอย่างยั่งยืน การพัฒนาการตลาดการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ เพื่อรักษาฐานนักท่องเที่ยวเดิม และเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวคุณภาพบนฐานทรัพยากรท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของพื้นที่ และการพัฒนากลไกการบริหารจัดการ การตลาด การพัฒนาคุณภาพบุคลากรการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

            - วันที่ 21 กรกฎาคม 2554 จัดประชุมที่โรงแรมทักษิณ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ในที่ประชุมซึ่งมีตัวแทนคณะกรรมการเครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีธรรมราชได้มีข้อซักถามในที่ประชุมว่า ทำไมถึงไม่เชิญคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาร่วมเวทีด้วย ในเมื่อมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติบอกให้ทบทวนอย่างบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของคนภาคใต้ ไม่ได้บอกให้ สศช. ไปจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ มาทบทวน ทำอย่างนี้ขัดกับมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จากนั้นจากนั้น ตัวแทนคณะกรรมการเครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีธรรมราชได้อ่านแถลงการณ์เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีธรรมราช เรื่องความไม่ถูกต้องการดำเนินการทำแผนพัฒนาภาคใต้โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เนื้อหาสรุปว่า กระบวนการจัดประชุมระดมความคิดเห็นทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ของบริษัทฯ มีความไม่ชอบธรรม“การดำเนินการของบริษัทและสภาพัฒน์ อยู่นอกเหนือมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กรณีแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืน ที่ขอให้ทบทวนแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้โดยรวม ขอให้บริษัทฯ ยุติการดำเนินการ และจะติดตามการดำเนินงานจนกว่าสภาพัฒน์ ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป”  และเวทีที่โรงแรมภูงา อ.เมือง จ.พังงา ผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคประชาชนต่างแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย หากรัฐจะนำอุตสาหกรรมหนักมาลงยังภาคใต้

            - วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 จัดประชุมที่โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนเวทีที่สุราษฎร์ธานี “นายประวีณ จุลภักดี” ประธานมูลนิธิป่า–ทะเลเพื่อชีวิต บอกกับที่ประชุมว่า ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เคยเข้าร่วมประชุมมา 15 ครั้ง แต่น่าแปลกใจที่ไม่ทราบเรื่องการจัดการประชุมคราวนี้อย่างเป็นทางการ แต่ทราบโดยบังเอิญจากการฟอร์เวิร์ดเมล์ต่อๆ กันมา และกล่าวว่า “การทบทวนแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนจริงๆ ไม่ใช่จัดการประชุมหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อสร้างความชอบธรรม ผมและเครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่าการประชุมในครั้งนี้ไม่ชอบธรรม” ประเด็นที่ทุกฝ่าย ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ วงประชุมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีวันนั้น ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ต่างแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ พื้นที่นี้ไม่ต้องการอุตสาหกรรมหนัก และที่โรงแรมเฮอริเทจ แกรนด์คอนแวนชั่น อ.เมือง จ.ระนอง มีตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ลุกขึ้นตั้งข้อสังเกตต่อที่ประชุมว่า ผู้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม แถมเพิ่งได้รับเอกสารก่อนเข้าประชุม แน่ใจได้อย่างไรว่า แต่ละคนเข้าใจเนื้อหาของแผนพัฒนาที่กำลังพูดคุยกันอยู่

  • วันที่ 27 กรกฎาคม 2554 เวทีของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่โรงแรมเอเชี่ยนหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทางสถาบันวิจัยสังคมโดย ดร.อุ่นเรือน เล็กน้อย ได้นำเสนอสาระสำคัญที่ได้จากพื้นที่และตั้งเวทีย่อย 25 ครั้ง ในด้านต่างๆ ก่อนที่จะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเนืองแน่น ซึ่งมีชาวบ้านจากจังหวัดสตูลและสงขลาที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย และการเกิดขึ้นของโรงแยกก๊าซ-โรงไฟฟ้าจะนะและนำไปสู่การร้องเรียนให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาตรวจสอบ แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งไม่ได้เชิญชาวบ้านกลุ่มนี้เข้าร่วมเวทีสัมมนาแต่ชาวบ้านที่ติดตามความเคลื่อนไหวของแผนพัฒนารับทราบและเดินทางมาร่วมงานกันเอง นอกจากนี้ การจัดเวทีครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยความไม่ชอบธรรมที่ฝืนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีมติให้สภาพัฒน์ทบทวนร่างแผนแม่บทภาคใต้ โดยมีหลักการที่สำคัญภายใต้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่สภาพัฒน์กลับนำเงินภาษีว่าจ้างบริษัทเอกชนและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยลงพื้นที่ศึกษาอีกครั้ง ทำให้เกิดคำถามหลักจากคนกลุ่มที่ไม่ได้รับเชิญซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ตลอดระเวลาเกือบ 1 ปี ที่นักวิชาการของสถาบันวิจัยสังคม ลงพื้นที่พูดคุยกลุ่มย่อย 25 เวที ทำไมพวกเขาซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐ ไม่เคยได้รับเชิญให้ไปแสดงความคิดเห็น เสียงสะท้อนของ “นายเจะปิ อนันทบริพงษ์” ชาวบ้านจากตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่พูดต่อที่ประชุมในวันนั้นว่า “ชาวบ้านจะนะ เพิ่งทราบจากพี่น้องจังหวัดสตูลว่า จะมีการจัดเวทีฯ ในวันนี้ ทำไมถึงไม่เชิญพวกผม ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการรัฐ พอมาถึงที่ประชุมก็ไม่มีการข้อมูลเกี่ยวกับโครงการแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล ที่พี่น้องต้องเจอโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ” นอกจากนี้ “นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี”  คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ได้ยืนยันว่า การดำเนินการทบทวนโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของสภาพัฒน์ โดยว่าจ้าง “บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด” และ “สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นการขัดมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 และมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ต้องการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงมาตั้งแต่ต้น ด้วยคำถามว่า “เวทีย่อย 25 ครั้งที่จัดกันมา เคยเชิญพวกผมไปร่วมเวทีบ้างหรือไม่ ทำไมการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม จึงไม่เชิญชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนมาร่วมประชุมแม้สักครั้งเดียว”
  • เครือข่ายภาคประชาชนได้จัดทำข้อเสนอแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ ในชื่อ “แผนอยู่เย็นเป็นสุขภาคใต้” โดยการจัดเวทีจังหวัดในพื้นที่ 13 จังหวัดภาคใต้ (ยกเว้นสุราษฎร์ธานี) เพื่อรับฟังข้อเสนอและแนวทางการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้เป็นรายจังหวัด เพื่อที่จะเปรียบเทียบกับแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของ สศช. การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของการนิคมแห่งประเทศประเทศไทย และโครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นต่อเอกสารร่างมติข้อเสนอในแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืน

           - ผลจากการจัดเวทีจังหวัดทำให้ได้ข้อเสนอต่อประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ ความเห็นส่วนใหญ่ของผู้เข้าร่วมสัมมนาคือไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่จำพวกอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงถลุงเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ท่าเรือน้ำลึก โรงกลั่น และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่เห็นด้วยว่าทิศทางการพัฒนาควรต่อยอดจากศักยภาพเดิมของพื้นที่บนฐานการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องเอื้อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่คือ การพัฒนาด้านการเกษตร ประมง การท่องเที่ยว และการศึกษา รวมทั้งอุตสาหกรรมที่นำมาสู่การยกระดับสินค้าเกษตรและต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

           - ความเห็นในการจัดเวทีระดับจังหวัด ใช้เนื้อหาเดียวกันกับข้อเสนอในร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมในแต่ละจังหวัดสนับสนุนร่างมติที่คณะทำงานร่างขึ้นโดยมีความเห็นเพิ่มเติมบ้างแต่ในด้านเนื้อหาสอดคล้องกับของเดิม

  • วันที่ 15 สิงหาคม 2554 สช. ได้ประสานงานการประชุมเพื่อตั้งกลไกติดตาม  ผลสรุปการประชุมคือ ศึกษาความเป็นไปได้ในการฟ้องศาลปกครอง กรณีที่ สภาพัฒน์ฯ ไม่ปฏิบัติตามมติ จัดเวทีสาธารณะสร้างความเข้าใจร่วมกัน ระดมความคิดเห็นต่อการทำแผนพัฒนาจังหวัด กลไกของการขับเคลื่อนในจังหวัดกระจายในพื้นที่/จังหวัด ประสานงานร่วมกันหลายเครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายสภาพัฒนาการเมืองภาคใต้  สภาองค์กรชุมชนภาคใต้ เครือข่ายสุขภาพภาคใต้  กป.อพช.ใต้ และเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาในการขับเคลื่อนร่วมกันจัดทำเป็นเอกสารหลักระดับภาค เข้าสู่เวทีสมัชชาต่างๆ และเวทีสาธารณะ ในภาคใต้ และระดับประเทศ โดยมีทีมคณะทำงานวิชาการ   ทำข้อมูลพื้นที่ ตามข้อเสนอนโยบายรายจังหวัด
  • วันที่ 21 – 22 สิงหาคม 2554 เครือข่ายภาคประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ได้รวมตัวกันกำหนดทำกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการ “เพชรเกษม 41” เป็นการออกมาประกาศของเครือข่ายภาคประชาชนถึงการต่อต้านการพัฒนาที่มากมายอันจะนำมาซึ่งการพลิกผันให้ผืนแผ่นดินภาคใต้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดมหึมาแหล่งใหม่ ตามแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ได้ให้แต่ละเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ คิดกิจกรรมและเคลื่อนไหวกันเองก่อน จากนั้นจึงนำไปสู่การรวมตัวเคลื่อนไหวพร้อมกันครั้งใหญ่ ณ บริเวณวนอุทยานเขาพาง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งถือว่าการเคลื่อนไหวก่อนหน้าที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้แถลงนโยบายการพัฒนาประเทศต่อรัฐสภาเพียงวันเดียว ภายหลังปฏิบัติการเพชรเกษม 41 แล้ว เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดและชุมชนต่างๆ ได้พร้อมใจกับปฏิญาณว่าจะขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกันต่อไป พร้อมๆ กับให้แต่ละเครือข่ายกลับไปจัดกิจกรรมที่เป็นอิสระของตนเอง แต่ให้สอดรับกับแนวทางของการเคลื่อนไหวในภาพรวม
  • วันที่ 22 สิงหาคม 2554 เครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา ได้ยื่นหนังสือผ่าน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายพิศาล ทองเลิศ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี กลุ่มเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลาได้ติดตามนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ “โครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล หรือแลนบริดจ์” ให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินนโยบายการพัฒนาแลนบริดจ์ การขนส่งพาณิชย์-ท่อน้ำมัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี ทั้งนี้เนื่องจากแผนพัฒนาภาคใต้ของพรรคเพื่อไทยไม่สอดคล้องกับฐานทรัพยากร ศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมของคนในภาคใต้ สังคมไทยมีบทเรียนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกรณีมาบตาพุด ซึ่งทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการพึ่งตนเองของประชาชนซึ่งไม่อาจเรียกคืนมาได้ จึงไม่อยากให้เกิดขึ้นในภาคใต้อีก แผนพัฒนาภาคใต้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งทางเครือข่ายยินดีและร่วมสนับสนุนการพัฒนาประเทศที่ทำให้ความสุข ความยั่งยืนของประชาชนโดยเริ่มจากท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยเน้นการพัฒนาที่สอดคล้องกับทรัพยากร ศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชน
  • นับตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2554 ได้มีปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ครั้งใหม่ภายใต้หัวข้อ “เดินเท้าปักธงเขียว เกี่ยวก้อยกันบรรเลงเพลง พิทักษ์ปักษ์ใต้” ทั้งนี้สิ่งที่เครือข่ายภาคประชาชนกำหนดเป็นกิจกรรมสำคัญร่วมกันคือ การรวมตัวกันเดินเท้ารณรงค์ไปทั่วพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ไม่เอาเมกะโปรเจคที่มากมายไปด้วยปัญหาและมลภาวะบนแผ่นดินด้ามขวาน แต่ต้องการให้ประชาชนได้เป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเอง
  • สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) โดย คณะทำงานเฉพาะประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้(กป.อพช.ใต้) จัดเวทีร่วมกำหนดแผนพัฒนาอยู่เย็นเป็นสุขภาคใต้ ณ ห้องประชุมแกรนด์คอนเวนชั่น โรงแรมแกรนด์ปาร์ค อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 28 – 29 ตุลาคม 2554 การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน กำหนดแผนการพัฒนาไว้ 4 ประการสำคัญ ได้แก่ หนึ่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงชายฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย สองพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันระดับโลก โดยมีเกาะภูเก็ตเป็นศูนย์กลาง สามการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และประการสุดท้าย การเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้กับเขตเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนในภาคใต้เข้ามามีบทบาทกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกันภายใต้ข้อมูลศักยภาพของพื้นที่ เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดดุลยภาพทั้ง 4 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การลดความขัดแย้งในสังคม และเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ประกอบกับพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หมวด 4 ว่าด้วย สมัชชาสุขภาพ มาตรา 40-45 จึงกำหนดให้มีเวทีร่วมกำหนดแผนพัฒนาอยู่เย็นเป็นสุขภาคใต้ การจัดเวทีครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอจากทุกภาคส่วนเชิญผู้เข้าร่วมประชุมจากแต่ละจังหวัดจะประกอบด้วย ผู้แทนชุมชน ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน หอการค้าจังหวัด และนักธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนต่อการกำหนดแผนพัฒนาบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็น แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเอง เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในโอกาสต่อไป
  • วันที่ 4 กันยายน 2554 สภาพัฒนาการเมืองภาคใต้ ได้จัดประชุมร่วมกันหลายฝ่าย โดยมีผลสรุปดังนี้

           1) การทำแผนพัฒนาภาคประชาชนในจังหวัด

           2) เสนอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ระยะสั้นในการหยุดโครงการพัฒนา

           3) มีทีมงานวิชาการจัดทำฐานข้อมูลประกอบ  โดยมีกระบวนการจากทุกภาคีร่วมดำเนินการ

           4) มีกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืนและ เสนอโครงสร้างการกระจายอำนาจจัดการตนเอง

           5) นัดประชุมวันที่ 2 ตุลาคม 2554 เวลา 13.00 น. ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และร่วมประชุมกับสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยในวันที่ 3 ตุลาคม 2554 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้เข้าร่วมประชุม คือแกนหลักประสานงานของแต่ละเครือข่าย และนำผลการปรึกษาหารือในจังหวัดมานำเสนอในวันที่ 2 ตุลาคม 2554

  • วันที่ 22 กันยายน 2554 คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะทำงานเฉพาะประเด็น ประชุมหารือแนวทางขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น แผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ฯ  โดยสรุปว่าให้ทาง สช. ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้มีการปฏิบัติตามมติ
  •  วันที่ 2 ตุลาคม 2554 ประชุมเห็นร่วมกันให้แต่ละจังหวัดนำไปจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดที่ยั่งยืน และร่วมทำแผนพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมีทีมงานติดตามสถานการณ์ของโครงการพัฒนาต่างๆ
  • วันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2554 ทีมงานคณะทำงานวิชาการร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำเอกสารข้อมูลศักยภาพพื้นที่ภาคใต้ ร่างข้อเสนอในการติดตามมติแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ฯ และข้อเสนอในการสื่อสารกับสังคม และการขับเคลื่อนในทางสาธารณะ

 

ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการทบทวนร่างแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืนที่ได้ผ่านการทบทวนข้อ 1 และ 2 เรียบร้อยแล้ว จึงผลักดันให้แผนฯ ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งในระดับภาคและระดับท้องถิ่น มีกลไกการติดตาม กำกับประเมินผลและเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้และภาคอื่นๆ อย่างยั่งยืน เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการในข้อ 2 เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
เอกสารหลัก: