You are here


การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิเพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพของประชาชน
สมัชชาครั้งที่: 
2
มติที่: 
3
ชื่อมติ: 
การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิเพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพของประชาชน
ผลการปฏิบัติงาน: 
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุข และการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เช่น ปรับระบบการบริหารจัดการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิให้เป็นรูปแบบ Primary Care Cluster เพิ่มแหล่งทุนเพื่อการสร้างสุขภาพป้องกันโรคของประเทศเป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งเตรียมความพร้อมสังคมและคนทุกวัยเพื่อเป็นสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ เป็นต้น ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีภาคประชาชน พัฒนาแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิที่ชัดเจนให้แล้วเสร็จภายในปี 2553 โดยนำแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2550-2554 ประสานกับแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550-2559 แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 นโยบายการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 1.7 มาประกอบในการพัฒนาด้วย เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีดำเนินการอนุมัติเป็นแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิต่อไป โดย
รายละเอียด: 

1.1 กำหนดเป้าหมายการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิ ให้มีความพร้อม มีคุณภาพ มีศักยภาพ และสามารถตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นบริการลำดับแรกแก่ประชาชน ก่อนไปรับบริการในระดับทุติยภูมิหรือระดับอื่นๆ ภายในระยะเวลา 5 ปี หรือภายในปี พ.ศ. 2558

1.2 ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ให้ความสำคัญและมีแผนที่ชัดเจน เรื่องการลงทุนด้านกำลังคนในหน่วยบริการปฐมภูมิ เพื่อให้มีจำนวนเพียงพอและเป็นความสำคัญลำดับต้น ก่อนการลงทุนด้านโครงสร้างและเครื่องมืออุปกรณ์

1.3 ให้กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงโครงสร้างภายใน ให้มีหน่วยงานที่เป็นกลไกกลาง มีการบริหารงานอย่างคล่องตัว เป็นอิสระ โดยมีงบประมาณรองรับที่ชัดเจน ในการจัดการแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและให้มีกลไกการกำกับทิศทาง ทำหน้าที่กำกับและติดตามการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิของประเทศในระยะยาว โดยเป็นกลไกที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

 

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • สช. ได้จัดประชุมปรึกษาหารือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน สำนักประสานการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถาบันพระบรมราชชนก และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2553 ณ ห้องประชุม สช. 1 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมพิจารณาเห็นตรงกันว่า

             1) แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2550-2554 ที่มีอยู่เดิมนั้นเป็นแผนที่จัดทำร่วมกับ สปสช. แม้จะไม่ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา แต่แผนดังกล่าวนี้ได้นำไปใช้ประโยชน์บางส่วน ได้แก่ ใช้ในการบริหารจัดการทำแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด เป็นต้น

             2) ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลซึ่งเป็นนโยบายการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ฉะนั้น จึงเห็นร่วมกันให้มีการจัดทำ“แผนยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนดำเนินการ โดยเสนอ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์  และ นพ.เกษม เวชสุธานนท์ ผู้อำนวยการสำนักประสานการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (สป.รพ.สต.) เป็นเลขานุการคณะทำงาน ทำงานร่วมกับ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข และภาคีอื่นๆ โดยสาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ควรให้ความสำคัญกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในประเด็น กำลังคน บทบาทของท้องถิ่น และการจัดระบบบริการปฐมภูมิในเขตเมือง ทั้งนี้ กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน นับจากการประชุม

  • วันที่ 1 มิถุนายน 2554 สำนักงานโครงการสนับสนุนนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ได้จัดทำ (ร่าง) แผนการจัดทำยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พ.ศ.2555 – 2564 โดยมีหลักการดังนี้ เป็นแผนยุทธศาสตร์ในภาพรวมของ รพสต. ที่สอดคล้องและสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ย่อยเพื่อการพัฒนา รพสต. เช่น แผนทศวรรษพัฒนากำลังคน รพสต. พ.ศ.............,  แผนพัฒนางานเวชปฏิบัติครอบครัวระดับชาติ, Service Plan ของกระทรวงสาธารณสุข, ร่างแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของ สปสช. และ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ เป็นต้น และยึดหลักการของระบบบริการปฐมภูมิทั้งในด้านความครอบคลุม ต่อเนื่อง มีคุณภาพและบูรณาการ รวมทั้งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาสังคม และประชาชน ทั้งนี้ เพื่อจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พ.ศ.2555-2564 ที่สอดคล้องกับบริบทและความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และระบบสุขภาพของประเทศ โดยมุ่งหวังให้เป็นกรอบแนวทางและทิศทางการพัฒนา รพสต. ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
  • กระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ 1574/2554 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานผลิตและพัฒนากำลังคนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 ทั้งนี้เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการโครงการทศวรรษพัฒนากำลังคนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พ.ศ.2555-2564 ให้มีการผลิตและพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างความเข้มแข็งและคุณภาพการให้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน 2 คณะได้แก่ คณะทำงานผลิตกำลังคนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และคณะทำงานพัฒนากำลังคนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้ดำเนินการผลิตและพัฒนากำลังคนได้ตรงตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม ดังนี้

            - คณะทำงานผลิตกำลังคนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มี นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองผู้ตรวจราชการ เป็นประธานคณะทำงาน และ นางลิลลี่ ศิริพร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษา เป็นเลขานุการ ทั้งนี้คณะทำงานมีหน้าที่ดังนี้

            1) กำหนดแนวทางการจัดสรรโควตาการผลิตบุคลากรประเภทต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

            2) กำหนดแนวทางการคัดเลือกบุคลากรอย่างเหมาะสม ตรงตามความต้องการและเป็นไปตามกรอบและเกณฑ์มาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา

            3) ส่งเสริม สนับสนุน ให้กระบวนการจัดการศึกษามีคุณภาพ ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่กำหนด และผลการดำเนินงานจัดการศึกษาเป็นที่ยอมรับของสังคม

            4) หน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

            - คณะทำงานพัฒนากำลังคนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มี นพ.ทรงยศ ชัยชนะ สาธารณสุขนิเทศ เขต 1 เป็นประธานคณะทำงานฯ และ นางชลธี หาญเบญจพงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาบุคลากร เป็นเลขานุการ มีบทบาทหน้าที่ดังนี้

            1) วางแผนการดำเนินการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ

            2) กำหนดกรอบแนวทาง แผนการพัฒนาและแผนปฏิบัติการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกระดับ

            3) ส่งเสริมสนับสนุนกลไกต่างๆ แก่หน่วยงานในพื้นที่ เพื่อการดำเนินการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้มีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

            4) ติดตามประเมินผลการดำเนินการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงาน

            5) หน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

  • เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 ในการประชุมการพัฒนาบริการของสถานพยาบาลที่อยู่ในชุมชนใกล้บ้านประชาชนที่สุด ณ ศูนย์ประชุมไบเทค กรุงเทพฯ นพ.วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบาย 1 หมอ 1 รพ.สต. ซึ่งเป็นนโยบายเร่งพัฒนาคุณภาพบริการของ รพ.สต. โดยให้มีแพทย์ประจำ 1 หมอ 1 รพ.สต. และเป็นแพทย์ประจำครอบครัว โดยในปี 2555 ซึ่งเป็นปีแรก กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหมอประจำ รพ.สต. 1,000 แห่งและศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 228 แห่ง เพื่อเป็นหมอประจำครอบครัวรุ่นแรก 1,000 คน รับผิดชอบดูแลประชาชน 12 ล้านครัวเรือน ในโครงการ “สานต่อ คืนหมอครอบครัว ประจำตัวทุกครัวเรือน 1,000 แรก 1,000 โอกาส 1,000 สำเร็จ” คาดว่าจะสามารถจัดแพทย์ประจำ รพ.สต.ครบทั้ง 9,750 แห่งดูแลทุกครอบครัวทั่วไทยภายในปี 2565
  • วันที่ 21 ตุลาคม 2557 นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบนโยบายปี 2558 ให้กับผู้บริหารส่วนกลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป และผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ในเรื่องการให้บริการสาธารณสุข ต้องทำให้ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีการบูรณาการอย่างเท่าเทียม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องรวมกองทุน แต่จะต้องทำให้กลมกลืนกันเท่านั้น โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ ซึ่งทางรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการประสานงานกองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ มี ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ร่วมเป็นคณะกรรมการ
  • วันที่ 16 มิถุนายน 2558 ที่ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็น “ร่างแนวทางการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ”จากผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/ โรงพยาบาลชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษา สภาวิชาชีพต่างๆ ผู้แทนจากกทม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน  อสม. และชมรมร้านยา จำนวน 100 คน เพื่อนำมาปรับปรุงให้เป็นที่ยอมรับและเกิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

           - กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งพัฒนาบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ ซึ่งมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและศูนย์สุขภาพชุมชน เป็นสถานบริการหลักในการจัดบริการดูแลประชาชน  ขณะนี้มีครอบคลุมทุกตำบลแล้ว แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาคือการจัดบริการให้สอดคล้องกับพื้นที่ เขตเมืองใหญ่ และพื้นที่เฉพาะ เช่น เขตอุตสาหกรรม พื้นที่ชายแดน ท่องเที่ยวและทุรกันดาร โดยการเพิ่มบุคลากร และเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็น จึงได้จัดทำ “ร่างยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ พ.ศ. 2559 -2568” เพื่อพัฒนาบริการระดับนี้ให้เข็มแข็งขึ้น เชื่อมโยงบริการดูแลประชาชนร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและศูนย์เชี่ยวชาญต่างๆ รวมทั้งองค์กรนอกสังกัดที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน เป็นต้น ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสะดวกทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมในทุกพื้นที่ เน้นการทำงานในรูปทีมหมอครอบครัว ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเอง ลดโรคภัยไข้เจ็บ ส่งผลให้โรงพยาบาลแออัดน้อยลง

           - แนวทางการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิมี 6 แนวทาง ดังนี้ 1.เพิ่มศักยภาพและการขยายบริการระบบปฐมภูมิให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองและพื้นที่เฉพาะ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวกและทั่วถึง ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ภาคเอกชน ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่  2.พัฒนากลไกระบบการบริหารจัดการด้านบริการปฐมภูมิในชุมชน ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การป้องกัน ส่งเสริม การฟื้นฟูสุขภาพ 3.พัฒนาระบบสนับสนุนการบริการปฐมภูมิให้มีประสิทธิภาพ อาทิ พัฒนากำลังคนที่หน่วยบริการปฐมภูมิ และการสนับสนุนให้วิชาชีพอื่นๆ อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข ร่วมให้บริการมากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้บุคลากร ให้มีความก้าวหน้าในการทำงาน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมในบริบทพื้นที่ 4.บริหารงานอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงเครือข่ายบริการสอดคล้องกับพื้นที่ 5.พัฒนาปัจจัยต่างๆเพื่อสร้างความสำเร็จ เช่น พัฒนาผู้นำทั้งในและนอกสังกัด การสร้างทักษะเจ้าหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน พัฒนาระบบข้อมูลเชื่อมโยงความรู้ในแต่ละด้านที่เอื้อประโยชน์ในการทำงานร่วมกัน และ 6.พัฒนาระบบติดตามประเมินผลและการวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น

 

ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
พัฒนากลไกที่มีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะบุคลากรด้านสุขภาพในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบลอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่สนับสนุนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ โดยให้
รายละเอียด: 

2.1 กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดมาตรการหรือกลไกที่ทำหน้าที่บริหารจัดการงบประมาณและการกระจายกำลังคนที่รองรับระบบหลักประกันสุขภาพในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบลอย่างมีส่วนร่วม และตรวจสอบได้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพ

2.2 ให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย พิจารณาดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนมาตรการและกลไกบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม เพื่อสนับสนุนให้มีเครือข่ายบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพ

2.3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีประชาชน ร่วมเป็นกรรมการในกลไกที่กำหนดทิศทาง บริหารจัดการ สนับสนุนทรัพยากร และติดตามประเมินผล เพื่อให้มีระบบบริการปฐมภูมิที่ยั่งยืนในพื้นที่

2.4 ให้มีกลไกอิสระที่มีการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อติดตาม ตรวจสอบการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการสนับสนุนหน่วยบริการปฐมภูมิ

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งกลไกดูแลระบบบริการปฐมภูมิ โดยปรับบทบาทและภารกิจของ “สำนักบริหารการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (สบพป.)” ให้สอดรับนโยบายการยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และเปลี่ยนชื่อสำนักเป็น “สำนักประสานการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (สป.รพ.สต.)” เพื่อดำเนินการ พัฒนานโยบาย บริหารจัดการ ประสานงาน ติดตาม ประเมินผล และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีโครงสร้าง ภารกิจ หน้าที่ความรับผิดชอบ และดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการอำนวยการสำนักประสานการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แม้จะยังไม่เป็นหน่วยงานอิสระ ที่มีงบประมาณรองรับชัดเจนแต่ก็เป็นกลไกตั้งต้นที่ทำหน้าที่ดูแลระบบบริการปฐมภูมิตามโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ได้รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 แล้ว
เอกสารหลัก: