You are here


นโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
สมัชชาครั้งที่: 
3
มติที่: 
4
ชื่อมติ: 
นโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
ผลการปฏิบัติงาน: 
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ““นโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” โดยที่ประชุมเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “นโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้อง วันที่ 12 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 มติ 4 นโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ตามมติการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2554 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติต่อไป เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ.1559-1568) ระยะ 10 ปี  ดังนี้ เห็นชอบหลักการยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ.2559-2568) ระยะ 10 ปี ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบริการสุขภาพของโลกใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์กลางบริการสุขภาพ ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขปรับระยะเวลาของยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับระยะเวลาของยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ส่วนงบประมาณในการดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ในส่วนของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในระยะเร่งด่วน พ.ศ.2559-2560 ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบกิจกรรมต่างๆ ให้ชัดเจน และต้องมีการบูรณาการร่วมกันจากสักส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณจากความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อเสนอขอตั้งบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสำนักานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อาทิ การคำนึงถึงมาตรการรองรับการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสมเพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเพียงพอ การพิจารณากำหนดตัวชี้วัดเพิ่มเติมให้ครอบคลุมเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์ ที่กำหนดไว้เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และการพิจารณาให้ความสำคัญกับการบริหารและขับเคลื่อนนโยบายการเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติที่ไม่เกิดผลกระทบต่อระบบสุขภาพของคนไทย โดยกำหนดเป็นโครงการสำคัญและให้มีการดำเนินการตั้งแต่ในระยะแรกไปพิจารณาดำเนินการด้วย ให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาบริการทางวิชาการและงานวิจัยทางการแพทย์ (Academic Hub) และร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (มหาวิทยาลัยมหิดล) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินโครงการสถาบันทางด้านพันธุกรรมเฉพาะบุคคลและเวชพันธุ์รักษ์ระดับนานาชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 (เรื่องข้อเสนอโครงการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ด้วย
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เรื่อง นโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบและมอบมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้
รายละเอียด: 

1.1 ให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคเอกชน และภาคประชาชน สนับสนุนข้อมูลแก่คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพเพื่อสนับสนุนการศึกษาในประเด็น (1) ผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบจากการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (2) ความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านลบจากนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและแนวทางให้ภาคเอกชนที่ดำเนินการนโยบายนี้คืนกำไรให้กับสังคม โดยยึดหลักความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน

1.2 ให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาดำเนินการตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ข้อ 51 โดยไม่พึงให้การสนับสนุนหรือสิทธิพิเศษทางภาษีและการลงทุนบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจ

1.3 ให้โรงพยาบาลรัฐ รวมถึงโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยต่างๆ ตระหนักถึงพันธกิจหลักในการศึกษา การวิจัย การบริการสุขภาพเพื่อประชาชนไทย โดยให้ส่งเสริมการเข้าร่วมเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติด้านขีดความสามารถทางวิชาการทางการแพทย์ทั้งนี้ ให้พึงระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุขไทย และให้ทบทวนการเข้าร่วมเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติในด้านบริการทางการแพทย์ โดย

1.3.1 ให้มีระบบการติดตามและประเมินผลกระทบที่จะเกิดกับระบบสาธารณสุขไทย

1.3.2 ให้สร้างหลักประกันการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพของประชาชนไทย

1.4 ให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่มีศักยภาพในการจัดการข้อมูลและให้ความรู้แก่ประชาชนไทย เกี่ยวกับคุณภาพการบริการรักษาพยาบาลและสาธารณสุข เพื่อป้องกันผลกระทบจากธุรกิจการแพทย์ และลดผลกระทบด้านลบจากการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

1.5 ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ระยะที่ 2 ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการเฉพาะกิจของนายกรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติด้านการรักษาพยาบาล ดำเนินนโยบายหรือยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติที่ไม่กระทบต่อบริการสุขภาพสำหรับประชาชนไทย และต้องพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดและพัฒนานโยบายดังกล่าว ทั้งนโยบายระดับชาติและแผนปฏิบัติการเพื่อลดผลกระทบในทางลบต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับคนไทย ทั้งนี้ ให้ใช้ผลการศึกษาจากข้อ 1.1

1.6 ให้คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติเป็นกลไกหลักร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชนดำเนินการดังต่อไปนี้

1.6.1 ร่วมกับคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ จัดทำแผนการผลิต การจัดการและมาตรการธำรงรักษาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เหมาะสม เพื่อทดแทนการสูญเสียบุคลากรจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

1.6.2 สนับสนุนการพัฒนาระบบข้อมูล และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น เพื่อการกำกับติดตามการเคลื่อนย้ายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

1.6.3 พัฒนาข้อเสนอนโยบายที่ชัดเจนในการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในระบบบริการสุขภาพของประเทศอันเป็นผลมาจากนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดย

(1) กำหนดแนวทางให้มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการใช้ทรัพยากรร่วมกันในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยเฉพาะสาขาที่ขาดแคลน

(2) สนับสนุนให้เกิดกลไกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนด้านการบริหารงานบุคคลและการดำเนินงานในโรงพยาบาล เพื่อให้มีการนำไปปรับระบบบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนไทย

 

ผลการปฏิบัติงาน: 

กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการดำเนินงานดังนี้

  • วันที่ 10 มกราคม 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบาย แผนงาน และกิจกรรมของกระทรวงสาธารณสุขที่จะให้ความสำคัญหรือเน้นย้ำเป็นพิเศษปี 2554 โดยเฉพาะนโยบายศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติหรือเมดดิคอลฮับ (Medical Hub) จะเน้น 3 เรื่อง คือ (1) การส่งเสริมบริการด้านสุขภาพ สปาไทย นวดแผนไทย (2) การบริการด้านแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก (3) การส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนให้เขตละ 1 ล้านบาท โดยทุกจังหวัดจะต้องมี 1 แห่ง และจะคัดเลือกเขตต้นแบบ 1 เขต
  • วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ มีมติให้ ชะลอการดำเนินการตามมติคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ออกไปก่อนจนกว่าการศึกษาและพิจารณาร่วมกันระหว่างสำนักงานส่งเสริมการลงทุนและองค์กรด้านสุขภาพจะแล้วเสร็จ และให้ระงับการรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในประเภทกิจการโรงพยาบาลไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีมาตรการที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน โดยได้ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ง. 1/2554 เรื่อง การงดให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการโรงพยาบาล ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ ไว้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไป
  • วันที่ 30 มีนาคม 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบจากนายกรัฐมนตรีให้ เป็นประธานการหารือ กรณีสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้มีหนังสือที่ 012/2554 เรื่อง ขอพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความชัดเจนในนโยบายของรัฐต่ออุตสาหกรรมสุขภาพภาคเอกชน สืบเนื่องมาจากนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ระงับมติคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเรื่องการสนับสนุนกิจการโรงพยาบาล ทั้งนี้ ตามหนังสือสมาคมโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวยังแสดงความเห็นว่าธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาตินั้น มีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 29 มาตรา 80 และมาตรา 81 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย (1) ผู้แทนจากภาคธุรกิจเอกชน ได้แก่ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (2) ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ(3) ผู้แทนจาก สช. โดยที่ประชุมมีข้อสรุป ดังนี้
  1. องค์กรธุรกิจเอกชนที่ประกอบด้วยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน คณะกรรมการธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สมาคมแพทย์แผนไทย สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ และสมาพันธ์สปาไทย มีความไม่สบายใจต่อข้อความในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ หมวดที่ 6 ข้อ 43 วรรค 2 ที่กล่าวว่า “การบริการสาธารณสุขต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ และรัฐควรสนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่มุ่งเน้นประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก โดยไม่สนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจ”
  2. ผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรธุรกิจเอกชน เสนอให้เพิ่มรายชื่อผู้แทนจากภาคเอกชนและนักวิชาการเข้าร่วมเป็นคณะทำงานวิชาการด้วยอีก 3 คน เพื่อการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น และเพื่อขยายมุมมองให้กว้างขึ้น ดังนี้

         2.1 แพทย์หญิงประภา วงศ์แพทย์ ประธานคณะกรรมการธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

         2.2 รศ.ดร.ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

         2.3 ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

     ​3.  ขอให้ สช. นำข้อสรุปนี้ เสนอต่อที่ประชุมร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และ สช. ในวันที่ 31 มีนาคม 2554 เพื่อ

         พิจารณาเพิ่มเติมรายชื่อนักวิชาการในข้อ 2.2 ในคณะทำงานวิชาการด้วย

  • เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 ที่ประชุมร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและ สช. เพื่อพิจารณา ร่าง ข้อเสนอกรอบการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสุขภาพ ที่สอดคล้องกับธรรมนูญฯ ได้พิจารณาข้อเสนอจากการประชุมหารือตามในข้อ 2 แล้ว และมีมติว่า เห็นควรให้คณะทำงานวิชาการร่วมชุดเดิม ดำเนินการศึกษาเพื่อยกร่างข้อเสนอกรอบการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมด้านสุขภาพต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการทำงานร่วมเป็นไปตามพันธกิจที่ทั้งสององค์กรต่างได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในลักษณะทวิภาคีของสองหน่วยงาน โดยยังไม่มีการตั้งคณะทำงานเป็นทางการ มุ่งจัดทำร่าง ข้อเสนอฯ เป็นเพียงเอกสารตั้งต้น (Background paper) เท่านั้น และขณะนี้เอกสารตั้งต้นกำลังจะเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ร่างข้อเสนอฯ ดังกล่าวจะนำไปใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านทั้งในระดับผู้เชี่ยวชาญและในวงกว้าง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดกระบวนการรับฟังความเห็นต่อไป เนื่องจากการส่งเสริมการลงทุนเป็นพันธกิจในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง
  • วันที่ 31 มกราคม 2554 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านบริการสุขภาพ (Hub) ที่มีการเชื่อมโยงกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร ด้วยการยกระดับระบบบริการสุขภาพ ทั้งศาสตร์การแพทย์ปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกภายในประเทศไทย รวมทั้งยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งระบบ ให้มีมาตรฐานในระดับสากล เผยแพร่ภูมิปัญญาเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้ชาวโลกได้รับรู้ ด้วยการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางบริการรักษาพยาบาลและศูนย์กลางบริการ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ที่มีความเป็นเลิศ และสอดรับกับทุกความต้องการของผู้รับบริการ จัดเวทีทำประชาพิจารณ์ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ.2553-2557) หรือ เมดิคัลฮับครั้งแรก โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน จากภาครัฐ เอกชน และโรงพยาบาลเอกชน การอภิปรายและแสดงความคิดเห็นต่อ(ร่าง)แผนยุทธศาตร์ ฯ ได้ข้อสรุป ดังนี้

         1. หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ต้องดำเนินการร่วมกันอย่างสมดุล โดยนำประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง

         2. ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านการแพทย์ที่ชัดเจนก่อนดำเนินนโยบายนี้ ทั้งด้านสุขภาพ ทรัพยากรด้านสุขภาพ ค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุน ผลกระทบเชิงบวกและลบ ภายใต้ความมั่นคงด้านสุขภาพ

         3. มุ่งเน้นศักยภาพพัฒนาสุขภาพให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ หากพัฒนาการแพทย์เป็นระดับสากลจะต้องพัฒนาให้คนไทยเข้ารับบริการในมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ใช่แยกเป็น / มาตรฐาน ไม่มุ่งเน้นแค่คนต่างชาติเท่านั้น

         4. รัฐต้องคำนึงถึงมาตรฐานและแรงจูงใจให้แก่บุคลากรสาธารณสุขในภาครัฐอย่างสมศักดิ์ศรี มีการสร้างแรงจูงใจบรรยากาศการทำงานอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันภาคเอกชนต้องไม่ดูดแพทย์เข้ามาในงานบริการเอกชน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบประเทศโดยรวม

         5.ต้องวางรูปแบบนโยบายที่สามารถนำรายได้ หรือ ผลกำไรจากนโยบายเมดิคัลฮับ มาใช้พัฒนาโครงการสุขภาพด้านอื่น ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันด้านบริการการแพทย์ของประเทศ เพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืน

         6. นำมติสมัชชาสุขภาพมาประกอบการดำเนินนโยบายเมดิคัลฮับ เพื่อให้ทั้งประเทศสามารถผนึกกำลังรวมกันเพื่อให้การดำเนินนโยบายเมดิคัลฮับเป็นประโยชน์สูงสุด

  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)  ได้ร่วมกันหารือตั้งคณะทำงานร่วมกันพิจารณาร่างกรอบและรายละเอียดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมสุขภาพ โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ และ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ที่ปรึกษา สช. เป็นหัวหน้าคณะทำงานชุดนี้ และได้นำเสนอ “กรอบการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ” โดยสาระสำคัญในข้อเสนอกรอบการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมด้านสุขภาพที่ร่างขึ้น ได้กำหนด “หลักการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ” ไว้ 4 ประการคือ 
  1. เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสถานะทางสุขภาพโดยรวมของคนในประเทศเป็นสำคัญ
  2. เป็นไปเพื่อเสริมสร้างศักยภาพหรือประสิทธิภาพ และเพิ่มความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยั่งยืนเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพโดยรวม
  3. ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญฯ กฎหมาย แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธรรมนูญระบบสุขภาพฯ
  4. มีระบบติดตาม ประเมินสถานการณ์ ผลกระทบของนโยบายส่งเสริมการลงทุน

         กรอบบริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ควรได้รับการส่งเสริมการลงทุนประกอบไปด้วย 1) กิจการบ้านพักและศูนย์สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ 2) ยา ซึ่งรวมถึงยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ และยาสมุนไพร 3) เครื่องมือแพทย์ ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ฟื้นฟูสภาพ และ 4) บริการรักษาพยาบาลโดยเฉพาะการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิ

  • เดือนกุมภาพันธ์ 2555 โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH) หนึ่งในโครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นการให้บริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากลให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่สะดวกรวดเร็ว เช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชนในมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลศิริราช โดยมีราคาค่าบริการการรักษาพยาบาลที่สมเหตุสมผล ซึ่งรายได้จะนำกลับมาเป็นทุนวิจัยและพัฒนาศักยภาพองค์กรของโรงพยาบาลศิริราช รวมถึงช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาลต่อไป ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายของ SiPH เน้นคนไทยที่มีกำลังจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ รวมถึงผู้ป่วยชาวต่างชาติ
  • เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของการขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยรวม 90 วัน สำหรับกรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาล ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และมอบให้รองนายกรัฐมนตรี (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) เป็นประธานคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ โดยมีกระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมเป็นคณะกรรมการด้วย
  • คณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยรวม 90 วัน ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการประชุมและมีมติให้แก้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เพื่อให้ยกเว้นการตรวจลงตราระยะ 90 วันให้กับผู้มีมาจากกลุ่มประเทศรัฐอ่าวอาหรับ ทั้งนี้จะมีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
  • มีนาคม 2555 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้วางนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติให้ได้ภายในปี 2553-2557 ช่วยยกระดับให้การแพทย์ของประเทศไทยให้พัฒนาขึ้น ต้องสร้างมาตรฐานการดูแลรักษาพยาบาลและพัฒนาความก้าวหน้าทางการแพทย์ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยจะสร้างเครือข่ายกับโรงพยาบาลทุกระดับ พัฒนาการส่งต่อผู้ป่วยทั้งไปและกลับให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาพยาบาลร่วมกัน ตามศักยภาพของโรงพยาบาลในแต่ละระดับ กระจายการรักษาพยาบาลยังโรงพยาบาลทุกระดับ เปิดโอกาสให้คณะได้พัฒนาอาจารย์แพทย์เพื่อให้การรักษาพยาบาลในระดับตติยภูมิที่เต็มประสิทธิภาพ เป็นพี่เลี้ยงแก่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชนได้อย่างคล่องตัว
  • วันที่ 6 มิถุนายน 2555 โรงพยาบาลหัวเฉียว (ในสังกัดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง) และ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงนามความร่วมมือการให้บริการทางการเพทย์ ถือเป็นความร่วมมือกันครั้งแรกของทั้งสองโรงพยาบาลเพื่อร่วมกันพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดีจะให้การสนับสนุนให้อาจารย์แพทย์ออกมาตรวจและเป็นแพทย์ที่ปรึกษาให้กับโรงพยาบาลหัวเฉียว รวมถึงสนับสนุนในเรื่องเครื่องมือแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ และรับเป็นโรงพยาบาลส่งต่อของที่นี่อีกด้วย ส่วนโรงพยาบาลหัวเฉียวจะให้สนับสนุนการใช้บริการห้องผ่าตัด ห้องพัก หรือห้องบริการอื่นๆในกรณีที่ โรงพยาบาลรามาธิบดีมีเตียงไม่เพียงพอต่อคนไข้ หรือมีนัดหมายผ่าตัดที่ต้องใช้เวลานาน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาบุคลากรร่วมกันโดยโรงพยาบาลรามาธิบดีได้ให้สิทธิแพทย์จากโรงพยาบาลหัวเฉียวไปร่วมประชุมวิชาการทางการแพทย์ และการฝึกอบรมเฉพาะทาง โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการระหว่างปี 2555-2558
  • วันที่ 19 กรกฎาคม 2555 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น “นโยบายการเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ” ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ สาระสำคัญมีดังนี้

​          - ดร.ชะเอม พัชนี นักวิจัยสำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (ไอเฮชพีพี) : จากการที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยจนพึงพอใจและเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยปี 2551 มีผู้ป่วยต่างชาติเข้ารับการรักษาพยาบาลสูงถึง 1.36 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 ทำให้โรงพยาบาล (รพ.) เอกชนปรับตัวเพื่อให้บริการแก่ชาวต่างชาติดีขึ้น รัฐบาลปัจจุบันยังสนับสนุนให้ ร.พ.ภาครัฐและมหาวิทยาลัยการแพทย์จัดตั้งศูนย์การแพทย์มาตรฐานสากล โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ 1.โครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ 2.โครงการจัดตั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 3.โครงการการจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข 4.โครงการพัฒนา จ.ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตามการเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ(เมดิคัลฮับ) ของไทยได้ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกคือจะสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ด้านลบบุคลากรด้านการแพทย์และพยาบาลไม่เพียงพอกับผู้รับบริการ นอกจากนี้ยังเกี่ยวพันถึงผลกระทบต่อการผลิตนิสิตนักศึกษาแพทย์ด้วย เนื่องจากบุคลากรที่ย้ายไปอยู่ในระบบเมดิคัลฮับส่วนหนึ่งเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ ทำให้ต้องใช้งบประมาณและเวลามากในการผลิตอาจารย์แพทย์ใหม่ และการเข้าถึงการบริการอย่างไม่เท่าเทียมของคนไทย  ฉะนั้นจึงเสนอให้พัฒนาเมดิคัลฮับโดยต้องสอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2553 ซึ่งต้องมีกลไกร่วมระหว่างรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด ขณะที่รัฐบาลต้องจัดสรรรายได้ของเมดิคัลฮับไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 มาผลิตบุคลากรและพัฒนาระบบสุขภาพในชนบทและสร้างแรงจูงใจทางการเงินให้บุคลากรด้านสุขภาพ โดยเฉพาะระดับท้องถิ่น ซึ่งทุกคนต้องเข้าถึงการรับบริการอย่างเท่าเทียม

          - นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ : รัฐบาลสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางเมดิคัลฮับในอาเซียน ซึ่งต้องแข่งขันกับสิงคโปร์ที่ประกาศตัวเป็นผู้นำด้านการแพทย์ในภูมิภาค ทำให้สถาบันการแพทย์และการศึกษาของไทยต้องเร่งพัฒนางานวิจัยและบุคลากรให้มากขึ้น ภายหลังหลายฝ่ายกังวลว่าบุคลากรด้านสาธารณสุขจะไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยไทย เนื่องจากต้องดึงไปรักษาผู้ป่วยต่างชาติ โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางที่มีน้อยและใช้เวลาในการผลิตนาน ส่งผลให้มีบุคลากรเข้ามากระจุกตัวในเมืองใหญ่ จนชนบทขาดแคลนหมอ  ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบทมีมานาน แม้ภาครัฐจะพยายามผลิตแพทย์ชนบท แต่ไม่สามารถจูงใจให้อยู่ในท้องถิ่นได้นานตามสัญญาใช้ทุนเรียน ถึงจะออกมาตรการเสียค่าปรับแต่กลับถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย ดังนั้นหากจัดตั้งเมดิคัลฮับสมบูรณ์ในอนาคต อาจเกิดปัญหาการดึงบุคลากรจาก ร.พ.ศูนย์และมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ “สมองไหล” ไปรองรับบริการศูนย์กลางการแพทย์ โดยเฉพาะเอกชนซึ่งมีระบบเมดิคัลฮับรองรับอยู่แล้ว

          - ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล : การเปิดเมดิคัลฮับของไทยซึ่งมีร.พ.ศิริราชนำร่องดำเนินการระยะที่ 1 เมื่อ 1 ส.ค.49 – 29 พ.ค.50 และระยะที่ 2 เมื่อ 16 มิ.ย.52 มิใช่มุ่งหวังตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่สร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพและบริการทางการแพทย์เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้รับบริการคนไทยที่มีกำลังจ่ายหลีกเลี่ยงจากการเข้ารับบริการ ร.พ.เอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า และยกระดับมาตรฐานด้านสุขภาพระดับนานาชาติให้คนไทยได้ใช้ มิใช่ต้องการบริการเฉพาะชาวต่างชาติ โดยกำไรที่ได้นั้นจะนำมาช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ จึงยืนยันว่าไม่มีโรงเรียนแพทย์แห่งใดที่ประกาศรับเฉพาะชาวต่างชาติ

  • วันที่ 6 สิงหาคม 2555  ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพของนานาชาติ ในปี 2555-2559 โดยให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อเป็นกรอบในการกำหนดรูปแบบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์บริการ สุขภาพทั่วประเทศ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอีกด้านหนึ่งด้วย มีเป้าหมายหลัก 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การรักษาพยาบาล เช่น ทันตกรรม การรักษาโรคเฉพาะทาง การพำนักระยะยาว 2.การส่งเสริม สุขภาพ เช่น สปา นวดเพื่อสุขภาพ 3.ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพรไทยให้ได้มาตรฐานจีเอซีพี (GACP) ขององค์การอนามัยโลก 4.การเพิ่มผลผลิตด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกส่งเสริมให้จัดตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์ทางเลือกทุกภูมิภาค ให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเปิดคลินิกแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาล ทั้งหมดนี้จะไม่ให้เกิดผลกระทบกับการบริการสุขภาพโดยรวมของคนไทย ทั้งนี้ สธ.ได้ขยายเวลาพำนักของชาวต่างชาติที่เดินทาง เข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย จากเดิม 30 วัน เป็น 90 วัน โดยไม่ต้องทำวีซ่า และสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้หลายครั้ง รวมกันแล้วไม่เกิน 1 ปี ในขั้นต้นอนุโลมให้ 5 ประเทศในกลุ่มอาหรับ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ กาตาร์ คูเวต โอมาน และบาห์เรน ขณะเดียวกันจะพัฒนาโรงพยาบาลและคลินิกของไทยให้ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ หรือมาตรฐานเจซีไอเอ (JCIA: Joint Commission International on Accrediation) ซึ่งจะเป็นศูนย์บริการเฉพาะชาวต่างชาติที่เดียวเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop service Center) มีล่าม มีหอผู้ป่วย บริการต่ออายุวีซ่า หรือบริการตามหลักศาสนาทั้งอาหารและบุคลากร อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพ ของนานาชาติในปี 2555-2559 ใช้งบประมาณในการดำเนินงาน 3,131 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศรวม 5 ปี ประมาณ 814,266 ล้านบาท
  • วันที่ 7 สิงหาคม 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรับการรักษาพยาบาลและผู้ติดตามได้รับยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินเก้าสิบวันรวมทั้งมาตรการด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการป้องกันการปลอมแปลงหนังสือเดินทาง ตามที่ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง  รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์กรณีคนต่างด้าวขออยู่ในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราวเพื่อการรักษาพยาบาล และส่งเสริมการท่องเที่ยว เสนอโดยส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และส่งให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการต่อไป
  • วันที่ 9 ธันวาคม 2555 ในที่ประชุมสัมมนาเรื่อง “นโยบายรัฐบาลด้านศูนย์บริการทางการแพทย์นานาชาติหรือเมดิเคิลฮับ : ภาครัฐและองค์กรอิสระ” น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ชี้แจงว่า ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์รองรับนโยบายเมดิเคิลฮับรวม 2 ฉบับ เป็นกรอบดำเนินงานระดับประเทศล่าสุด คือ ยุทธศาสตร์ พ.ศ.2555-2559 กำหนดผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้สู่ประเทศไทย รวม 4 ประเภท ได้แก่ 1. บริการรักษาพยาบาล 2. บริการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ 3. บริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ 4. ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพรไทย โดยมีเจตนารมณ์หลักเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันต่างประเทศ 
  • วันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 นพ.ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอยุทธศาสตร์ศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติ (เมดิคัลฮับ) 5 ปี ในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง โดยโครงการจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. การพัฒนาศูนย์กลางการศึกษาวิชาการและการวิจัย มูลค่า 1 ล้านบาท และ 2. การพัฒนาศูนย์กลางบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาศูนย์กลางการศึกษาวิชาการและการวิจัยตัวอย่างเช่น ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มทั้งสิ้น 654 คน งบประมาณ 689 ล้านบาท เพิ่มการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 44 คนต่อปีงบประมาณ 231 ล้านบาท ผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช 400 คน งบประมาณ 107 ล้านบาท และผลิตทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 400 คน งบประมาณ 612ล้านบาท ขณะที่โครงการด้านศูนย์กลางการวิจัยมี 27 โครงการ อาทิ เวชพันธุรักษ์ระดับชาติ ที่โรงพยาบาลศิริราชมูลค่า 2,000 ล้านบาท ศูนย์วิจัยด้านพันธุกรรม สมองและจิตใจ ของกรมสุขภาพจิต มูลค่า 1,155 ล้านบาท โครงการวิจัยโรคมะเร็ง โรงพยาบาลพนมไพร จ.ร้อยเอ็ด 370 ล้านบาท ศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัยด้านสุขภาพที่จำเพาะของประชากรในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 314 ล้านบาทเป็นต้น
  • เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 นายกรัฐมนตรี ได้สั่งทบทวนมติคณะกรรมการบีโอไอ เรื่องการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสุขภาพ หลังพบไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
  • วันที่ 3 กรกฎาคม 2557 ในงานประชุมวิชาการเรื่อง “ปฏิรูประบบสุขภาพสู่ความเป็นเลิศทางการพยาบาลในประชาคมอาเซียน” นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาระบบบริการสุขภาพ พ.ศ.2556-2560 เพื่อให้มีศักยภาพรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยแย่งการบริหารออกเป็น 12 เขตพื้นที่บริการ ทั้งนี้ปัจจุบันมีพยาบาลทั่วประเทศ 1.28 แสนคน อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 8.65 หมื่นคนในปีการศึกษา 2557-2560 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ผลิตเพิ่ม 2.79 หมื่นคน  นอกจากนี้เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนคาดว่าจะมีคนจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้บริการสาธารณสุขในกรุงเทพฯ จำนวนมาก จึงต้องวางแผนจัดระบบเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลให้มีความเข้มแข็งและมีบริการที่เหมาะสมสำหรับคนไทยและต่างชาติ
  • เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาและคณะ หารือการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลและการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ การหารือในครั้งนี้ สนับสนุนการส่งเสริมศักยภาพด้านสุขภาพ และแพทย์แผนไทย ให้เป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลและการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของภูมิภาค กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขก็ดำเนินงานหลายด้านเสริมกัน โดยจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ พร้อมเชิญภาคเอกชนร่วมวางแผนระยะสั้น กลาง และยาว พัฒนามาตรฐานโรงพยาบาลให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล และสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว อาทิ ความเข้มแข็งในการเฝ้าระวังโรคติดต่อ การสร้างหลักประกันสุขภาพแก่นักท่องเที่ยวกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และการอำนวยความสะดวกด้านอื่นๆ เช่น การขยายวีซ่าแก่ผู้เดินทางมารักษาพยาบาล โดยที่ผ่านมาดำเนินการในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับตะวันออกกลาง 6 ประเทศ ได้แก่ คูเวต บาเรนห์ โอมาน การ์ตาร์ ซาอุดิอาระเบีย และอาหรับเอมิเรสต์ ขยายจาก 30 วันเป็น 90 วัน อนุญาตผู้ป่วยและญาติรวม 4 คน กระทรวงสาธารณสุขจะหารือกับกระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขยายเวลาแก่ประเทศอื่นที่ต้องการเข้ามารักษาในประเทศไทยต่อไป นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ให้ความสนใจเรื่องการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ โดยจะตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเช่นกัน
  • เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ. 2559 – 2568) ระยะ 10 ปี ดังนี้

    1. เห็นชอบหลักการยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยให้ สธ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมตามกรอบระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล (ถึงเดือนกรกฎาคม 2560) แล้วดำเนินการต่อไปได้ ส่วนกิจกรรมใดที่เป็นการดำเนินการซึ่งเกินกว่ากรอบระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ให้นำเรื่องดังกล่าวบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติรูปเพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินพิจารณาดำเนินการต่อไปตามนัยมติข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 (เรื่อง การเสนอโครงการที่ต้องขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี) ทั้งนี้ ในส่วนงบประมาณและเงินจากแหล่งอื่นสำหรับดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป

                2. ในการดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hab)กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการโดยไม่ให้กระทบต่อประสิทธิภาพในการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนชาวไทยด้วย

                ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ. 2559 – 2568) มีวิสัยทัศน์พันธกิจที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขของโลกภายใน 10 ปี โดยมีเป้าประสงค์ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) 2. ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) 3. ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) 4. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)

                ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการจัดบริการสุขภาพ 2) พัฒนาบริการรักษาพยาบาล 3) พัฒนาบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ 4) พัฒนาบริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 5) พัฒนาบริการวิชาการและงานวิจัยทางการแพทย์ (Academic Hub) 6) พัฒนายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ 7) ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์
                ทั้งนี้ แผนระยะเร่งด่วน 2 ปี จะดำเนินการในปี 2559– 2560 และระยะปานกลาง – ระยะยาว 8 ปี จะดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป โดยมีการติดตามและประเมินผลตามตัวชี้วัดของยุทธศาสตร์ พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย

  • เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติในหลักการขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทย รวม 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม กรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

    12. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2560 พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี พร้อมหน่วยงานทีเกี่ยวข้อร่วมแถลงข่าว “การขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยรวม 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม กรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน และการขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay)” ในงานดังกล่าวมีรัฐมนตรีจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมด้วย อาทิ กระทรางสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ รวมถึงเอกอัครราชทูตและผู้แทนจากสถานทูต 14 ประเทศเข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย การขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยรวม 90 วัน (จากเดิม 15-30 วัน) สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม กรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในกลุ่มประเทศ CLMV และสาธารณรัฐประชาชนจีน นั้นสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้าน Medical & Wellness Tourism ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก โดยการพัฒนาศักยภาพของสถานบริการสุขภาพทุกระดับ และสถานประกอบการเพื่อสุขภาพให้ได้คุณภาพและมีมาตรฐานส่วนการขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทย แก่กลุ่มพำนักในระยะยาว  ตามมาตรการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ หรือ Medical Wellness Tourism นั้น จากเดิม 1 ปี ขยายเป็น 10 ปี

  • เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2560 โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติรับทราบและชื่นชมการทำงานร่วมกันของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้พัฒนาข้อเสนอต่อมาตรการสนับสนุนการลงทุนเพื่อส่งเสริมการบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นโจทย์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ โดยการทำงานร่วมกันนี้ ได้นำหลักการด้านการเงินการคลังด้านสุขภาพของ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2559 ที่กำหนดว่า “การลงทุนด้านสุขภาพต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพในภาพรวม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงความมั่นคงด้านสุขภาพและประสิทธิภาพของการลงทุน” เป็นหลักสำคัญ และนำ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการพัฒนาข้อเสนอที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ เพื่อให้การลงทุนด้านบริการสุขภาพเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ทำให้คนไทยโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล รายได้ต่ำ สามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ รวมถึงก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หนุนเสริมและไม่ซ้ำซ้อนกับการลงทุนที่มีอยู่แล้วของภาครัฐ

                สช. บีโอไอ และกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันจัดทำข้อมูลทางวิชาการ โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีการเจ็บป่วย มีความจำเป็นด้านสุขภาพสูง มีอัตราการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษานอกเขตพื้นที่สูง พื้นที่ที่อยู่ห่างไกล และพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาล พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พิจารณาข้อมูลจำแนกรายเขตสุขภาพ โดยข้อเสนอฯ นี้ ได้ถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว สาระสำคัญของข้อเสนอต่อมาตรการสนับสนุนหรือส่งเสริมการบริการสาธารณสุขในระดับศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง (Excellence center) มีเงื่อนไขคือ ควรพิจารณาให้การสนับสนุนใน (1) เขตบริการสาธารณสุขที่ไม่มีแผนการลงทุนด้านสุขภาพในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุขหรือภาคเอกชน หรือ (2) เขตบริการสาธารณสุขที่มีแผนการลงทุนฯ อยู่ในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพแล้ว แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือ (3) เขตบริการสาธารณสุขที่มีการส่งต่อผู้ป่วยในเรื่องนั้นๆออกนอกพื้นที่ หรือ (4) เขตพื้นที่เฉพาะพิเศษ/เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยต้องคำนึงถึงความพร้อมของบุคลากรที่จะไปปฏิบัติงาน และสถานบริการที่ได้รับการส่งเสริมต้องให้บริการประชาชนในระบบประกันสุขภาพภาครัฐโดยไม่เลือกปฏิบัติ เงื่อนไขการสนับสนุนประเภทกิจการ “ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง” ได้นำข้อเสนอจากการทำงานร่วมกันของ สช. บีโอไอ กระทรวงสาธารณสุข ไปปรับใช้ โดยให้ ส่งเสริมการลงทุนเฉพาะสาขาที่ขาดแคลน ได้แก่ ด้านหัวใจ (โรคหลอดเลือดหัวใจ ผ่าตัดหัวใจ และหัวใจล้มเหลว) ด้านมะเร็ง (เคมีบำบัด รังสีวิทยา) และด้านไต (ศูนย์ไตเทียม) โดยระบุเงื่อนไขว่า ต้องมีแผนการจัดหาบุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสม มีเครื่องมือและอุปกรณ์ตามที่คณะกรรมการกำหนด ต้องได้รับอนุญาตและปฏิบัติตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข มาตรฐานการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องพิจารณาถึงการกระจายการให้บริการและการเข้าถึงของประชาชน ส่วนการส่งเสริม กิจการสถานพยาบาล นั้น ระบุเงื่อนไขพื้นที่ที่จะขอรับการส่งเสริมตามข้อเสนอ คือ พื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ พื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา-เฉพาะ อ.จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย เทพา) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

  • เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาและออประกาศเรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านการบริการทางการแพทย์ ใน 4 กิจการ ได้แก่ 1. กิจการบริการสาธารณสุขด้านแพทย์แผนไทย 2. กิจการศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง 3. กิจการสถานพยาบาล ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เฉพาะเพื่อกระจายการให้บริการอย่างทั่วถึงสำหรับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลใน 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ หรือใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้และในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และ 4.กิจการบริการขนส่งผู้ป่วย แพทย์ หรืออุปกรณ์การแพทย์ทั้งทางอากาศ ทางบก และทางเรือ
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ได้จัดทำรายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 แล้ว
เอกสารหลัก: