You are here


ร่วมฝ่าวิกฤตความไม่เป็นธรรม นำสังคมสู่สุขภาวะ
สมัชชาครั้งที่: 
3
มติที่: 
7
ชื่อมติ: 
ร่วมฝ่าวิกฤตความไม่เป็นธรรม นำสังคมสู่สุขภาวะ
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้รัฐบาลและคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) นำแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยที่จะลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเป็นธรรม นำไปสู่สังคมสุขภาวะ ในประเด็นต่อไปนี้
รายละเอียด: 

1.1 การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ โดยปฏิรูประบบภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีรายได้จากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และแก้ปัญหาเรื่องการหลบเลี่ยงภาษี ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เน้นการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สินได้อย่างยั่งยืน ผลักดันและส่งเสริมระบบเศรษฐกิจทางเลือก มีการกระจายงบประมาณที่เน้นการพัฒนาชนบทและภูมิภาค และลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้ประชาชนผู้ยากจนมีรายได้เพียงพอ

1.2 การปฏิรูปด้านการจัดการทรัพยากร ให้มีการจำกัดสิทธิการถือครองที่ดิน เน้นการส่งเสริมการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับสมรรถนะของดินและภูมินิเวศ สำหรับการจัดการน้ำและปัจจัยการผลิตต่างๆ ให้ชุมชน องค์กรชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรอย่างบูรณาการและเป็นธรรมมากขึ้น รวมทั้งมีกระบวนการทบทวนการยกเลิกกฎหมายป่าและกฎหมายที่ดินที่ไม่เป็นธรรมและผลักดันการออกกฎหมายคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมและจำกัดการขยายเขตพื้นที่อุตสาหกรรม

1.3 การปฏิรูปด้านสังคมและสุขภาวะ เสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันศาสนา ชุมชน และครอบครัว สร้างระบบสวัสดิการและหลักประกันความมั่นคงด้านสุขภาพโดยถ้วนหน้าและยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการ และชุดสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบประกันสังคม ส่งเสริมกิจกรรมทางสังคมที่สร้างสรรค์บนความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การพึ่งตนเองแลละวิถีชีวิตพอเพียง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต เป็นมิตรกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

1.4 การปฏิรูปประชาธิปไตยและการเมืองให้มีคุณธรรมและจริยธรรม เน้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริงของทุกภาคส่วน ทุกระดับ และการกำหนดนโยบายจากล่างสู่บน ส่งเสริมให้มีประชาธิปไตยทางตรง เพิ่มอำนาจต่อรองให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นให้จัดการตนเองได้ โดยการปฏิรูประบบราชการ ลดการรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ประชาชนเข้าถึงโดยง่ายและมีระบบกำกับโดยสังคม รวมทั้งส่งเสริมระบบยุติธรรมชุมชน

1.5 การปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพบนพื้นฐานของความเป็นธรรมทางสังคม โดยสนับสนุนให้ทุกสถาบันเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ความรู้และปัญญา ให้ทุกคนมีโอกาสศึกษาเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ ยอมรับในศาสนาและวัฒนธรรมที่หลากหลาย เห็นคุณค่าศักดิ์ศรีของคนอย่างเสมอกัน และมีการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ

1.6 การปฏิรูปสื่อทุกประเภทในทุกระดับเพื่อให้เกิดพลังปัญญา พลังสร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อสังคม โดยกลไกการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องและภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • การประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2554 ที่ประชุมสมัชชาปฏิรูปได้มีมติจากเวทีสมัชชาปฏิรูป 8 ประเด็น ประกอบด้วย
  1. การจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยให้มีการจัดการถือครองที่ดินไม่เกินรายละ 50 ไร่ เกินกว่านั้นให้มีระบบอัตราภาษีก้าวหน้าที่เหมาะสม และให้เร่งรัดกลไกและกระบวนการออกโฉนดชุมชนและให้ชุมชนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจัดการ
  2. การจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการวางแผนและจัดการทรัพยากร และให้ยุติแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลทั้งหมด
  3. การคืนความเป็นธรรมกรณีที่ดินและทรัพยากร โดยให้ดำเนินการเพื่อการปฏิรูประบบยุติธรรมที่เกี่ยวกับคดีที่ดินและทรัพยากร
  4. การปฏิรูประบบประกันสังคม ให้มีกลไกที่เป็นอิสระ มีระบบการสรรหากรรมการที่โปร่งใสและมีส่วนร่วม โดยเฉพาะการเลือกผู้แทนประกันสังคมจากผู้ประกันตนโดยตรง
  5. หลักประกันและการสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ โดยมีมติให้กำหนดให้มีหลักประกันการดำรงชีพในระดับที่พอเพียง และมีระบบสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุ
  6. สังคมที่คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยมีมติให้จัดทำวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ นโยบาย แผนงาน และกลไกการสร้างสังคมที่คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
  7. การกระจายอำนาจ มีมติรับรองและให้เร่งดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของท้องถิ่น
  8. ศิลปวัฒนธรรมกับการสร้างสรรค์และเยียวยาสังคม
  9. มติให้ คปร. และ คปส. วิเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายและจัดสมัชชาปฏิรูปทุกระดับอย่างต่อเนื่องโดยดำเนินการเป็นอิสระจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
  • วันที่ 20 เมษายน 2554 คณะรัฐบาลมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.......ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป 
  • วันที่ 18 ตุลาคม 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนงานบูรณาการงบประมาณ โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยในระยะเริ่มต้นของโครงการให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ให้สอดคล้องกับภารกิจของแต่ละหน่วยงานตามความจำเป็นและเหมาะสม เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ประกาศใช้บังคับแล้ว ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
  • วันที่ 15 มกราคม 2555 คณะรัฐมนตรีอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบ ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์) เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุรวิทย์ คมสมบูรณ์) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นส.กฤษณา สีหลักษณ์) เป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ และกรรมการอื่นตามความจำเป็น และมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยคณะกรรมการฯ ชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

            1) ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรผู้ยากจน และไม่มีที่ดินทำกิน พร้อมทั้งปัญหาอุปสรรคการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวทั้งหมด

            2) เสนอความเห็น และแนวทางในการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบ ชัดเจน มีความครอบคลุมและสามารถบูรณาการให้บังเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาล

            3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น

            4) ให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือเอกสารหลักฐานจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ได้

            5) รายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว

            6) ดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

  • วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ...... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาลงนามในระเบียบดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เป็นการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ตามข้อ 4 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 เพิ่มรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการและให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ
  • วันที่ 4 กันยายน 2555 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมระบุถึง กรอบการดำเนินงานของกรอบแนวทางการดำเนินงานคณะกรรมการบูรณาการการบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบ และสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบูรณาการฯ ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ดังนี้

         1) คณะกรรมการบูรณาการฯ ทำหน้าที่ในการบูรณาการการทำงานของทุกส่วนราชการในการจัดการและกระจายการถือครองที่ดินทั่วประเทศให้เหมาะสมและสอดคล้องต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยมีสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) เป็นกลไก ซึ่งมีแผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบโดยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่ดินระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจ ที่ดิน ป่าไม้ อุทยาน ธนารักษ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และสถาบันการศึกษา เป็นต้น เป็นคณะกรรมการทำหน้าที่ในการกำกับดูแล สั่งการ หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาป้องกันการบุกรุก และการใช้ประโยชน์ในที่ดินระดับจังหวัด

         2) เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการที่ดินระดับจังหวัดสามารถสนองต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินได้อย่างเป็นรูปธรรม ให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) เสนอขอแปรญัตติเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการฯ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,570,535,200 บาท

        3) เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการบูรณาการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวม 3 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านกฎหมาย 2) คณะอนุกรรมการจัดรูปที่ดิน และ 3) คณะอนุกรรมการบริหารจัดการที่ดิน มีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทั้ง 3 คณะ

  • วันที่ 6 กันยายน 2555 นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัดจากจังหวัดตรังและพัทลุง รวมประมาณ 60 เข้าร่วมประชุมกรณีการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปเทือกเขาบรรทัด ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดตรัง อันเป็นผลสืบเนื่องจากมติการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 กันยายน 2555 ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า จังหวัดตรังจะดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 กันยายน 2555 ตามกรอบแนวทางการดำเนินงานคณะกรรมการบูรณาการบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัดที่ดำเนินการตามนโยบายโฉนดชุมชนของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยทางจังหวัดจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชะลอการตัดฟันยางพาราในพื้นที่ดำเนินการโฉนดชุมชนจังหวัดตรัง จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 และทางจังหวัดพร้อมประสานงานกับอัยการจังหวัดตรัง และอัยการภาค 9  เพื่อชะลอการดำเนินคดีกับชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัดด้วย
  • เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อกรณีการแก้ปัญหาให้กลุ่มผู้ชุมนุมขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเพียงเรื่องโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 ชุมชนภาคเหนือ โดยอนุมัติงบ 167 ล้านบาทให้ พอช. ดำเนินการโครงการและจัดซื้อที่ดินจำนวน 800 ไร่ แทนสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินในระหว่างที่สถาบันฯ ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ทั้งนี้หากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ แล้วเสร็จให้ พอช. โอนภารกิจคืนและให้สถาบันธนาคารที่ดินฯ ชำระเงินคืนแก่ พอช. เพื่อให้ปัญหาการดำเนินคดีจับกุมชาวบ้านในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการรอให้ธนาคารที่ดินเข้าซื้อเพื่อจัดสรรที่ทำกินยุติไปโดยเร็ว
  • เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2557 กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64 และ 66 และแผนแม่บทป่าไม้เพื่อหวังให้แก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ภายใต้กิจกรรม “ก้าวแรก เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย” โดยมีแผนการรณรงค์เดินจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ แต่เจ้าหน้าที่ภาครัฐได้ขอความร่วมมือให้หยุดกิจกรรมดังกล่าวทันที
  • เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนส่วนราชการ และผู้แทน สกน. โดยพร้อมจะผลักดันนโยบายโฉนดชุมชน และกฎหมาย 4 ฉบับ ส่วนประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายป่าไม้จะเร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมวิงวอนให้หยุดเดินขบวน
  • เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ลงพื้นที่เจรจากับผู้แทน สกน. และเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดิน ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ผลการประชุมครั้งล่าสุดระบุว่า ได้มีการหยิบยกรูปธรรมของชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าขึ้นมาหารือ ซึ่งผลสรุปเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง
  • วันที่ 17 ธันวาคม 2557 นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรและผู้ที่ยากจน โดยการจัดที่ดินให้แก่ราษฎร ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทยโดยกรมที่ดินจึงได้จัดทำโครงการ “จัดที่ดินของรัฐขจัดความยากจน”ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรที่ยากจนไม่มีที่ทำกิน และได้เข้าไปครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ ก่อนปี พ.ศ. 2546 ซึ่งรัฐไม่มีนโยบายขับไล่หรือดำเนินคดี แต่จะเข้าไปจัดการที่ดินให้แก่ราษฎรตามสภาพเดิม ซึ่งที่ดินสาธารณะดังกล่าวต้องเป็นที่ที่ราษฎรเลิกใช้ประโยชน์ร่วมกันแล้ว โดยมีการประชาคมเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ครอบครองที่ดินว่าต้องเป็นผู้ยากจนไม่มีที่ดินทำกินหรือมีแต่ไม่พอ รวมทั้งต้องยอมรับว่าที่   ที่ได้เข้าไปครอบครองนั้นเป็นที่สาธารณะประโยชน์ตามกฎหมาย จึงจะดำเนินการเพื่อออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐดังกล่าวได้ตามเนื้อที่ที่ได้ครอบครองอยู่จริงแต่ครอบครัวหนึ่งไม่เกิน 15 ไร่ ใบอนุญาตฯ มีกำหนด 5 ปี ต่ออายุได้คราวละ 5 ปี โดยเสียค่าเช่าให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในราคาถูก และโอนกรรมสิทธิ์ให้กันไม่ได้ สำหรับในปีงบประมาณ 2558 เพื่อเป็นการคืนความสุขให้แก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแผนงานที่จะดำเนินการออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐให้แก่ราษฎรที่ยากจนไม่มีที่ทำกิน เป้าหมายจำนวน 5,000 แปลง ในพื้นที่ 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ ชุมพร เชียงใหม่ ตาก นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง ลพบุรี ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้มี 5 จังหวัด (จังหวัดตาก ศรีสะเกษ สุพรรณบุรี อุดรธานี  และจังหวัดมุกดาหาร) ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อออกหนังสืออนุญาตฯ และได้จัดส่งโครงการมายังกรมที่ดินแล้ว จำนวน 784 แปลง ซึ่งกรมที่ดินจะรีบดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลต่อไป และภายในเดือนธันวาคม นี้ กระทรวงมหาดไทยจะเริ่มมอบหนังสืออนุญาตฯ ให้แก่ราษฎรที่ผ่านหลักเกณฑ์และขั้นตอนการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และชุมพร จำนวน 874 ครัวเรือน จำนวน1,042 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 6,000 ไร่ เพื่อให้ราษฎรสามารถเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐได้อย่างถูกต้อง เกิดความมั่นคงในการถือครองที่ดิน และในวันพรุ่งนี้ (18 ธ.ค.) ตนจะเดินทางไปมอบหนังสืออนุญาตฯ ให้แก่ราษฎรในพื้นที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ซึ่งมีราษฎรได้รับการจัดสรรที่ดิน จำนวน 327แปลง
  • เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2558 ณ โรงเรียนบ้านห้วยทราย ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสักขีพยานในพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เพื่อดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน โดยพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้มอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชน และหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อปลูกสร้างสวนป่า รวมขนาดพื้นที่ 7,282 ไร่ ให้แก่นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนชุมชน ตำบลแม่ทา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป โดยโอกาสนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ข้าราชการ ประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับและเป็นสักขีพยานในพิธี โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เป็นการดำเนินงานภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 เรื่องการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน จากนโยบายดังกล่าว เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรมและยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ 2557 คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือเรียกชื่อย่อว่า "คทช.” มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ คทช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อมาขับเคลื่อนนโยบายนี้ขึ้นอีก 4 ชุด ได้แก่

          1) คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน โดยมีพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มีหน้าที่ในการจัดหาที่ดินที่มีศักยภาพในการดำเนินการตามนโยบาย

          2) คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน โดยมี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และพิจารณาจัดที่ดินให้กับประชาชนในรูปแบบของชุมชนที่เหมาะสม เช่น สหกรณ์ หรือรูปแบบอื่น ๆ

          3) คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ โดยมีปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน มีหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ตลอดจนพัฒนาระบบสาธารณูปโภค

4) คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ทำหน้าที่ประสานงานและตรวจสอบการดำเนินงานให้แก่คณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด

          ในการดำเนินงานของ คทช. ในระยะแรกได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายใน 6 พื้นที่ 4 จังหวัด เนื้อที่ 53,697 ไร่ และโครงการระยะที่ 2 จำนวน 8 พื้นที่ ใน 8 จังหวัด เนื้อที่ 51,929 ไร่

          ระยะที่ 1 เป็นการเริ่มโครงการที่ชุมชนแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ดำเนินการโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมสภาพ ขนาดพื้นที่ 7,282 ไร่ ทั้งนี้ เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ เน้นด้านการอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ที่เหลืออยู่ ฟื้นฟูป่าไม้ที่เสื่อมสภาพให้ความสมบูรณ์กลับคืนมา การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนนั้น ที่ดินยังคงเป็นที่ดินของรัฐ โดยจะเป็นการจัดระเบียบให้ราษฎรใช้ประโชยน์อยู่อาศัยทำกินในลักษณะแปลงรวม ไม่ให้เป็นส่วนบุคคล เพื่อป้องกันการซื้อขาย เปลี่ยนมือ และให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการดูแลป้องกันรักษาป่าโดยรอบพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต และนอกจากการจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวมแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ ได้จัดทำโครงการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ดังนี้

             1) การจัดตั้งป่าชุมชน ให้ราษฎรหมู่บ้านละ 1 ป่าชุมชน จำนวน 7 หมู่บ้าน รวม 7 ป่าชุมชน เพื่อให้ราษฎรได้ใช้สอยประโยชน์จากผลผลิตจากป่าเพื่อการยังชีพได้อย่างยั่งยืน

             2) การส่งเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจชุมชนไว้ใช้สอยไม้ในชุมชนได้ในอนาคต นอกจากการจัดระเบียบการใช้ที่ดินเพื่อให้ราษฎรมีความมั่นคงในการใช้ที่ดินแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้มีแผนพัฒนาแหล่งน้ำและส่งเสริมอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการของแต่ละชุมชน เพื่อความอยู่ดีกินดี รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มและการบริหารจัดการในรูปแบบสหกรณ์ เพื่อให้ชุมชนที่เข้มแข็งอยู่แล้วแห่งนี้ มีศักยภาพเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อประเทศชาติโดยรวม

  • เมื่อวันที่  3 กันยายน 2558 นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ครั้งที่ 36 - 2/2558 เพื่อขับเคลื่อนงานจัดรูปที่ดินฯ และงานโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง มีความมุ่งหมายให้ทุกจังหวัดในประเทศไทยมีการจัดรูปที่ดินฯ เพื่อการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยการจัดระเบียบแปลงที่ดินและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้เกิดเป็นเมืองที่น่าอยู่ สะดวก ปลอดภัย และสวยงามเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินฯ รวมทั้งให้ความเห็นชอบแผนแม่บทและพื้นที่เป้าหมายการจัดรูปที่ดินฯ ตามที่จังหวัดเสนอ สำหรับการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการจัดรูปที่ดินฯ ได้ติดตามความคืบหน้าในการจัดรูปที่ดินฯ ในพื้นที่เป้าหมาย และได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนแม่บทและพื้นที่เป้าหมายการจัดรูปที่ดินของจังหวัดตามที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดเสนอมา เพื่อให้การพัฒนาเมืองสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด โดยงานจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ในประเทศมีความก้าวหน้าขึ้นมาเป็นลำดับ ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีพื้นที่เป้าหมายการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่แล้ว 74 จังหวัด โดยกระทรวงมหาดไทยจะเร่งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาพื้นที่ของตนเอง โดยประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของที่ดินและประชาชนที่เกี่ยวข้องเห็นประโยชน์ของการพัฒนาและฟื้นฟูเปลี่ยนแปลงที่ดินที่มีลักษณะที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพให้สามารถนำมาจัดรูปที่ดิน เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ภายใต้ความร่วมมือของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในการจัดรูปที่ดินของตนเองด้วยความสมัครใจอันจะเป็นการบริหารจัดการและดำเนินการของทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ดีต่อไป
  • เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการ “ลดความเหลื่อมล้ำ แบ่งปันความสุข” เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ โดยให้ความสำคัญเรื่องการจัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนที่ยากจน การคุ้มครองสิทธิการถือครองที่ดินของประชาชน และการรักษาความมั่นคงของทรัพยากรให้เกิดความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ในปี 2558 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดินได้เร่งรัดขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินโครงการสำคัญหลายโครงการมีผลการดำเนินงาน ดังนี้

         1. ด้านการช่วยเหลือประชาชนที่ยากไร้ให้มีที่ทำกิน โดยการจัดที่ดินของรัฐให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินและประชาชนที่ยากจน ให้ได้มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ มีประชาชนได้รับการจัดที่ดินแล้ว จำนวน 10,081 แปลง 7,613 ครัวเรือน แบ่งเป็น 1) การจัดที่ดินตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การดำเนินงานโครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง โครงการหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย และสระแก้ว จำนวน 4,553 แปลง 2,562 ครัวเรือน และ 2) การจัดที่ดินตามโครงการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ที่มีการบุกรุกเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท ซึ่งได้คัดเลือกแปลงที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนเลิกใช้ประโยชน์ร่วมกันนำมาจัดที่ดินตามสภาพเดิมที่ครอบครองอยู่ครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ พร้อมทั้งออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐคราวละ 5 ปี จำนวน 5,528แปลง 5,051 ครัวเรือน

          2. การเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีกรรมสิทธิ์ในการครอบครอบและใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้องและได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย โดยในปีงบประมาณ 2558 ได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินแก่ประชาชนไปแล้ว จำนวน 113,846 แปลง ซึ่งเป็นการออกโฉนดตามหลักฐานที่สามารถออกโฉนดได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน จำนวน 111,324 แปลง การออกโฉนดที่ดินบริเวณพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และบริเวณพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดี (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) จำนวน 2,522 แปลง นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตรวจพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ตามหลักฐาน ส.ค.1 เพื่อเป็นข้อมูลในการออกโฉนดที่ดิน ตามโครงการบริหารจัดการคำขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์จากหลักฐาน ส.ค.1 จำนวน 30,455 แปลง

           3. การแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อรักษาความมั่นคงของทรัพยากร สร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยได้เร่งรัดในการจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐให้มีความชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ สามารถรังวัดและจัดทำแผนที่เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้จำนวน 2,507 แปลง ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเพื่อความมั่นคงและการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน เทิดไท้ 82 พรรษา มหาราชินี จำนวน 1,467 แปลง และดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เลย ชัยภูมิ บึงกาฬ สกลนคร หนองบัวลำภู อีกจำนวน 1,040 แปลง

            กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินนโยบายด้านการบริหารจัดการที่ดินในภาพรวมทั่วประเทศโดยยึดหลักการจัดระบบและจัดระเบียบที่ดินอย่างเหมาะสม เพื่อนำทรัพยากรที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และในขณะเดียวกันก็ได้แก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐและการรุกล้ำเขตป่าสงวนเพื่อรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งได้ดำเนินการปรับปรุงการให้บริการประชาชนของสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นภายใต้แนวคิด “สำนักงานที่ดินทั่วไทย รวดเร็ว โปร่งใส ใส่ใจบริการ” เพื่อตอบสนองต่อการให้บริการประชาชนที่เข้ารับบริการกว่า 10 ล้านรายต่อปี

  • เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเรื่อง ปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพโดย

              1) มีนายสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานกรรมการ มีผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการร่วม

              2) มีจำนวนกรรมการไม่เกิน 20 คน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ มอบหมายให้ประธานและเลขานุการร่วมพิจารณา เสนอประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป

              3) ให้คณะกรรมการฯ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งโดยให้มีหน้าที่และอำนาจตามเสนอ

ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 87 (1) ให้มีการปฏิรูปกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยต้องมีการดำเนินงานที่เร่งด่วน ดังนี้
รายละเอียด: 

2.1 ให้มีภาคีเครือข่ายประชาชนและองค์กรที่เกี่ยวข้องจัดทำให้เกิดกระบวนการนโยบายสาธารณะที่เป็นธรรม ตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน รวมไปถึงการยอมรับขบวนการต่อสู้ของผู้เกี่ยวข้องเพื่อความเป็นธรรมอย่างสันติวิธี

2.2 ให้มีการกำหนดกรอบและกติการ่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะและการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ให้ความสำคัญกับประเด็นการปฏิรูปข้อ 1.1 ถึง 1.6 ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งจัดให้มีระบบการรับผิดชอบต่อผลและความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบาย

2.3 พัฒนากลไกเพื่อการปฏิรูประบบการวิจัยแห่งชาติและระบบการสร้างปัญญาสาธารณะ เปิดกว้างให้ชุมชนหรือพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางยุทธศาสตร์ กำหนดทิศทางและแนวทางมาตรฐานทางวิชาการ ระบบการประเมินการวิจัยบนพื้นฐานของการรับผิดชอบต่อสังคมและท้องถิ่น ดำเนินการวิจัย ตลอดจนเข้าถึงองค์ความรู้สาธารณะเพื่อต่อยอดองค์ความรู้และนำความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นไปปฏิบัติได้จริง พร้อมทั้งผลักดันให้รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณและพัฒนาสมรรถนะการวิจัยและภูมิปัญญาของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์ข้อมูลและองค์ความรู้ประจำท้องถิ่น

2.4 สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาสมรรถนะของสังคมและระดับการมีส่วนร่วมในการติดตามให้ความเห็นอย่างจริงจังในกลไกพหุภาคีและเครื่องมือที่มีอยู่ ในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดจากนโยบายของรัฐ โดยเน้นกระบวนการที่เป็นธรรม การรับฟังความทุกข์จากผู้เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจต่อสาเหตุและปัญหาที่ถ่องแท้ และให้มีเครื่องมือในการตรวจสอบรัฐ เพื่อให้สามารถเข้าจัดการกับปัญหาได้อย่างแท้จริงและทันท่วงที ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ มาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

2.5 จัดให้มีกลไกการจัดการความไม่เป็นธรรมในระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือกลุ่มจังหวัด และระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่นที่มีองค์ประกอบพื้นที่ผู้แทนตามเขตการปกครองทั้งท้องที่และท้องถิ่น พื้นที่เชิงประเด็น และพื้นที่เชิงภูมินิเวศ โดยกลไกนี้มีหน้าที่ในการกำหนดทิศทาง แผนงาน วิธีการ เครื่องมือในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทั้งในเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่

 

ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติดำเนินการดังนี้
รายละเอียด: 

3.1 นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เรื่อง “ร่วมฝ่าวิกฤตความไม่เป็นธรรมนำสังคมสู่สุขภาวะ” เสนอคณะรัฐมนตรีและเชื่อมโยงประสานกับคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) สภาพัฒนาการเมือง และสภาองค์กรชุมชน เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนการปฏิรูปสังคมไทย สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังต่อไป

3.2 จัดให้มีการสื่อสารสาธารณะและรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการตามมติไปยังภาคีเครือข่าย

3.3 สนับสนุนให้สมาชิกจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่และเฉพาะประเด็นเพื่อสนับสนุนมตินี้

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • วันที่ 24 ธันวาคม 2553 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2553 มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๓ ในระเบียบวาระ “ร่วมฝ่าวิกฤตความไม่เป็นธรรม นำสังคมสู่สุขภาวะ” และดำเนินการดังต่อไปนี้
  1. เสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติต่อไป
  2. เสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้ต่อคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) สภาพัฒนาการเมือง และสภาองค์กรชุมชน เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
  3. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนให้มีการสื่อสารสาธารณะ การรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการตามมติ และสนับสนุนการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่และเฉพาะประเด็นเพื่อสนับสนุนมตินี้ต่อไป
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
สมาชิกและเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติการส่งเสริม สนับสนุน ติดตาม และผลักดันมติข้างต้นอย่างจริงจัง รวมทั้งสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) เพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะที่เป็นธรรม
เอกสารหลัก: