You are here


การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ
สมัชชาครั้งที่: 
3
มติที่: 
9
ชื่อมติ: 
การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนของสังคมไทย ให้สัตยาบันว่าจะให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคม ไม่น้อยไปกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับกลไกการค้าระหว่างประเทศ และแสดงจุดยืนในการป้องกันผลกระทบดังกล่าวต่อคู่เจรจาต่างประเทศ
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายและสนับสนุนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศดำเนินการทันทีเพื่อจัดให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA) จากการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศด้านสินค้า การบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญาและอื่นๆ รวมถึงภาระผูกพันในปัจจุบันและอนาคตจากการเข้าร่วมเป็นภาคีหรืออยู่ในสาระของการเจรจาเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมอย่างเป็นระบบและครอบคลุมให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นแนวทางใน 1) การกำหนดกรอบการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และ 2) การพิจารณาให้ความเห็นชอบของรัฐสภาหรือหน่วยงานที่มีอำนาจลงนามความผูกพันตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้การประเมินนี้เป็นไปตาม “หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ” คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการกำกับทิศทางการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพด้วย
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • วันที่ 4 ตุลาคม 2554 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้  
  1. เห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเปรู สำหรับการขยายการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าส่วนที่เหลือ การค้าบริการและการลงทุน และให้นำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
  2. นำเสนอพิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า และพิธีสารเพิ่มเติมระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้ารวม 2 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
  3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งสาธารณรัฐเปรูทราบว่าไทยได้ดำเนินการเสร็จสิ้นตามกระบวนการภายในแล้ว เมื่อพิธีสารฯ ตามข้อ 2. ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว เพื่อให้พิธีสารฯ ทั้ง 4 ฉบับ มีผลใช้บังคับในคราวเดียวกันต่อไป

        ทั้งนี้กรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู มีสาระสำคัญครอบคลุม 10 ประเด็น ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3) ด้านศุลกากร 4) มาตรการป้องกันและมาตรการเยียวยาด้านการค้า 5) มาตรการปกป้องด้านดุลการชำระเงิน 6) การค้าบริการ 7) การลงทุน 8) ความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 9) ทรัพย์สินทางปัญญา และ 10) เรื่องอื่นๆ

  • วันที่ 18 ตุลาคม 2554 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบสาระสำคัญของร่างปฏิญญาร่วมระหว่างอาเซียนและแคนาดาด้านการค้าและการลงทุน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยให้ประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามในปฏิญญาร่วมฯ ในนามของประเทศไทย และให้กระทรวงการต่างประเทศ ผ่านทางคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียนแจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียนว่ารัฐบาลไทยเห็นชอบให้จัดทำร่างปฏิญญาร่วมฯ และให้ประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามในปฏิญญาร่วมฯ ดังกล่าว ปฏิญญาร่วมระหว่างอาเซียนและแคนาดาด้านการค้าและการลงทุน มีสาระสำคัญคือ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างอาเซียนกับแคนาดาที่จะมีความร่วมมือเพื่อเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันในด้านการค้าสินค้าและบริการ ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน และเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับแคนาดา ตลอดจนเพื่อพัฒนากลไกแลกเปลี่ยนข้อสนเทศการค้า การลงทุนและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงให้มีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจระหว่างกันเป็นครั้งคราวและอาจจะตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ โดยไม่ได้ใช้ถ้อยคำที่แสดงนัยว่าคู่กรณีมีเจตนาที่จะให้ปฏิญญาร่วมฯ เป็นพันธกรณีที่เกิดผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ
  • วันที่ 18 ตุลาคม 2554 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอเรื่อง การจัดทำพิธีสารฉบับที่สองเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย – อินเดีย มีสาระสำคัญดังนี้ 

         1. เพิ่มรายการสินค้าตู้เย็นพิกัด 8418.10  (ตู้เย็นที่มีตู้แช่แข็งประกอบอยู่ด้วยกันโดยมีประตูนอกแยกกัน  แบบคอมเพรสชันชนิดที่ใช้ตามบ้านเรือน)  ไว้ในรายการ Early Harvest Scheme ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย – อินเดีย โดยไทยและอินเดียจะลดภาษีศุลกากรเหลือร้อยละ 0 ณ วันที่พิธีสารฉบับที่ 2 มีผลใช้บังคับ

         2. เพิ่มระเบียบพิธีปฏิบัติให้รองรับการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม  สำหรับสินค้ากลุ่ม Early Harvest Scheme ที่มีการยกเลิกภาษีศุลกากรไปแล้ว ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีหากมีการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม แต่จะไม่มีผลย้อนหลังไปก่อนที่พิธีสารฉบับที่ 2 จะมีผลใช้บังคับ

         3. ให้พิธีสารนี้มีผลใช้บังคับในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 เมื่อแต่ละประเทศดำเนินการตามขั้นตอนภายในประเทศเพื่อให้พิธีสารฯ มีผลใช้บังคับ และได้แจ้งอีกฝ่ายเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ตาม  หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถดำเนินการให้พิธีสารฯ มีผลใช้บังคับภายในวันที่ 31  ตุลาคม 2554 ให้ถือว่าพิธีสารฯ มีผลตั้งแต่วันที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นแจ้งการเสร็จสิ้นของการดำเนินการภายในประเทศ

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

          1. เห็นชอบพิธีสารฉบับที่สองเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐอินเดีย และอนุมัติการลงนามพิธีสารฯ

          2. นำเสนอพิธีสารฯ ในข้อ 1. เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

          3. เมื่อรัฐสภาเห็นชอบพิธีสารฯ ตามข้อ 1. แล้ว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามพิธีสารฯ ทั้งนี้  หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญ ขอให้ผู้ลงนามสามารถใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ   แทนคณะรัฐมนตรีได้  รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินกระบวนการภายในประเทศเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามพิธีสารฯ

          4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) สำหรับการลงนามในพิธีสารฯ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามพิธีสารฯ และหลังจากลงนามแล้วให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งผลการรับรองผูกพันพิธีสารฯ ต่อประเทศอินเดียอย่างเป็นทางการ

  • วันที่ 6 ธันวาคม 2554 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบท่าทีไทยในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) สมัยสามัญ ครั้งที่ 8 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ผู้แทนไทยพิจารณาใช้ดุลพินิจตามสถานการณ์ ตามความเหมาะสมในเรื่องอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย 
  • วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบผลการประชุมการทบทวนนโยบายการค้าของไทย ครั้งที่ 6 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับประเด็นสำคัญที่สมาชิกหยิบยกในระหว่างการประชุมทบทวนนโยบายการค้าของไทย ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมการทบทวนนโยบายการค้าของไทย ครั้งที่ 6 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับประเด็นสำคัญที่สมาชิกหยิบยกในระหว่างการประชุมทบทวนนโยบายการค้าของไทย ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ   
  • วันที่ 9 สิงหาคม 2255 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะเลขานุการการประชุมระดับสูง เพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาการค้าเสรีของไทย ได้วางกรอบรายละเอียดการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู และเตรียมดันเข้าสู่คณะรัฐมนตรีภายใน 1-2 สัปดาห์ต่อจากนี้ เพื่อให้ทันการพิจารณาของรัฐสภาในเดือนสิงหาคม   ข้อเสนอแนะที่กรมเจรจาการค้าฯ ส่งให้แก่รัฐบาลระบุว่า “กำหนดให้ไทยมีท่าทีการเจรจาที่ยืดหยุ่น โดยอาจยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่า TRIPS (TRIPS Plus) ในการจัดทำ FTA เนื่องจาก (1) การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาเพิ่มเติม 5 ปี จะไม่มีผลกระทบต่อราคาของยาในปัจจุบัน (2) การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา อาจมีผลทำให้ยาสามัญ (generic drugs) วางตลาดได้ช้าลง แต่ไม่เกิน 5 ปี จึงทำให้ผลกระทบต่อราคายามีจำกัด” ทว่า ความเร่งรีบนี้กำลังซุกซ่อนปมที่ละเอียดอ่อน และผลกระทบน่าหวาดวิตกที่อาจเกิดขึ้นแก่สังคมไทยหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงยาของคนไทย เมื่อกรมเจรจาการค้าฯ มีความเห็นว่า ข้อเรียกร้องของอียูไม่กระทบต่อการเข้าถึงยาของคนไทย น่าแปลกที่ความเห็นนี้ขัดแย้งกับรายงานการศึกษา “แนวทางการเจรจาและผลกระทบของการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทยกับสหภาพยุโรป” ที่ทางกรมเจรจาการค้าฯ ให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เป็นผู้ศึกษา ซึ่งระบุชัดเจนว่า เป็น “ข้อเรียกร้องที่ไทยไม่ควรยอมรับ” นอกจากประเด็นการตัดจีเอสพีแล้ว ปัจจัยที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า ไทยควรเร่งเจรจาเอฟทีเอกับอียูคือ มองว่าไทยต้องพึ่งพาตลาดอียูในสัดส่วนที่สูง เพราะอียูเป็นคู่ค้าสำคัญ และตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทย และอียูก็เป็นผู้ลงทุนในประเทศไทย มากเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น กรมเจรจาฯ เชื่อว่า การเปิดเอฟทีเอกับอียู จะช่วยรักษาตลาดการส่งออกของไทย และดึงดูดการลงทุนในอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนก็ให้การสนับสนุน ปัจจุบันอียูมีความตกลงเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ แล้ว 27 ประเทศ และอยู่ระหว่างการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ส่วนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ กำลังพยายามขอทำเอฟทีเอกับอียู ซึ่งอาจทำให้ไทยเป็นประเทศเดียว ที่จะไม่ได้ทำเอฟทีเอกับอียู
  • วันที่ 21 สิงหาคม 2555 อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ) ระบุว่าจะนำกรอบการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป เสนอให้รัฐสภาพิจารณาในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2555 ตามมาตรา 190 ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุแห่งเศรษฐกิจของอียูมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของโลก หากสามารถตกลงกันได้ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับคือ ภาษีนำเข้าสินค้าที่อียูจะต้องลดลง และจะมีผลถาวรกว่าการลดภาษีภายใต้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าไทยน่าจะอยู่ในข่ายถูกตัดสิทธิ GSP ในปี 2556 แม้เงื่อนไขข้อกำหนดให้มีระยะในการปรับตัว 1 ปี หมายความว่า สินค้าของไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงในราวต้นปี 2558 สินค้าที่รับ GSP อาทิ สัตว์น้ำแปรรูป  อาหารปรุงแต่ง อัญมณีและเครื่องประดับ ยานยนต์ อุปกรณ์/อากาศยาน เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงต้องเร่งเครื่องดำเนินการ อย่างไรก็ดี  FTA ไทย-อียู เป็นการเจรจาความตกลงทางการค้าที่มีประเด็นครอบคลุมกว้างขวางทั้งการเปิดตลาดการค้าสินค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ การค้าบริการ การลงทุน ฉะนั้นนอกเหนือไปจากดำเนินการเจรจาที่รอบคอบรัดกุม โปร่งใส มีส่วนร่วมแล้ว ยังควรมีการประเมินศักยภาพทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนศึกษาผลดี-ผลเสียที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติ ควบคู่ไปกับศึกษาประสบการณ์จากประเทศอื่นๆ ที่กำลังเจรจาหรือลุล่วงไปแล้ว 
  • วันที่ 24 สิงหาคม 2555 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค ได้จัดให้มีการอภิปลายและแลกเปลี่ยนความเห็น เรื่อง "ผลกระทบจาก FTA EU-ไทย กรณีการเข้าถึงยา" เนื่องจากอาเซียนและสหภาพยุโรปได้เจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันตั้งแต่ปี 2550 โดยความตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญครอบคลุมการเปิดตลาดสินค้า การค้าภาคบริการ การลงทุน และความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงร่างเนื้อหาการเจรจาในกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ยุโรป มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงยาคือ การขยายระยะเวลาการผูกขาดในสิทธิบัตร ซึ่งเป็นลักษณะที่เกินกว่าข้อตกลงพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลกว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS Agreement) หรือเรียกว่า TRIPS-Plus ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงยาของประชาชนสภาที่ปรึกษาฯ ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากการเจรจา จึงจัดสัมมนาเรื่องดังกล่าวขึ้น ณ ห้องประชุม 8 สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ 
  • วันที่ 5 กันยายน 2555  นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ การแพทย์ การสาธารณสุข การพัฒนาสังคม การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งสิ้น 84 คน ได้ทำจดหมายถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีสำเนาถึง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี, นายบุญทรง เตริยาภิรมณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวิทยา บูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคัดค้านข้อสรุปของกรมเจรจาการค้าฯ ที่ให้ยอมรับทริปส์พลัส หากทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป เพราะการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาหรืออีกนัยหนึ่งคือ การผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา (data exclusivity) เป็นการสร้างระบบการผูกขาดทางการตลาดยาขึ้นใหม่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “สิทธิบัตรอำพราง” เพื่อเพิ่มการผูกขาดของสิทธิบัตรที่มีอยู่เดิม โดยอาจมีระยะเวลาการผูกขาดเพิ่มมากขึ้นถึง 10 ปี ในฐานะนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ การแพทย์ การสาธารณสุข การพัฒนาสังคม การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้ง 84 คนจึงได้ทำจดหมายเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียืนยันที่จะกำหนดไว้ในกรอบการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรปที่จะไม่รับข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ความตกลงทริปส์  ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ. 2554 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559  และขอให้การเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปที่จะมีขึ้นรอผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกำลังดำเนินการอยู่
  • วันที่ 18 กันยายน 2555 ได้มีการจัดอภิปรายเรื่อง กระบวนการพัฒนากฎหมายนโยบายสาธารณะ ปัญหา อุปสรรค ความท้าทาย กรณีศึกษาการการจัดทำ FTA Thai-EU ต่อการเข้าถึงยา ซึ่งจัดขึ้นที่ อาคารศศนิเวศน์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ การอภิปรายกระบวนการพัฒนากฎหมายนโยบายสาธารณะ ปัญหา อุปสรรค ความท้าทาย กรณีศึกษาการการจัดทำ FTA Thai-EU ต่อการเข้าถึงยา ร่วมจัดโดยสถาบันวิจัยสังคม, ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน 14 องค์กรเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบกระบวนการจัดทำการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป โดยเฉพาะความพยายามเร่งรัดนำร่างกรอบเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและการประชุมรัฐสภา   โดยมีข้อเรียกร้อง 2 ประเด็นคือ 
  1. เรื่องขั้นตอน โดยก่อนที่จะมีการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ครม.จะต้องให้ข้อมูลและจัดฟังความเห็นของประชาชนก่อน จากนั้นจึงเสนอรายละเอียดกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบตามที่มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แต่การดำเนินการของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามนี้และสุ่มเสี่ยงต่อการผิดรัฐธรรมนูญ
  2. เรื่องเนื้อหา  เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 ในการประชุมเพื่อพิจารณาเพื่อเตรียมเปิดการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป กรมเจรจาฯ ได้จัดทำเอกสารเสนอต่อรัฐบาลว่า “ควรกำหนดให้ไทยมีท่าทีการเจรจาที่ยึดหยุ่นและเสนอให้พิจารณารับเงื่อนไขข้อตกลงทางการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงในองค์การการค้าโลก (TRIPs Plus)” โดยอ่างว่าจะไม่มีผลกระทบต่อราคายาในปัจจุบัน อีกทั้งยังระบุว่าการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาที่จะส่งผลขยายอายุสิทธิบัตรของยาต้นแบบเกินกว่า 20 ปี ตามพ.ร.บ.สิทธิบัตรและข้อตกลงทริปส์ อาจมีผลให้ยาสามัญวางตลาดได้ช้าลงเพียง 5 ปี 

          ดังนั้น ทางเครือข่ายภาคประชาชนจึงมีข้อเสนอ 5 ข้อดังนี้ 1) ให้กรมเจรจาฯ ดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อปี 2553 โดยนำผลการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนรายงานกลับไปยัง ครม.ก่อนการยกร่างกรอบการเจรจา และไม่ควรลัดขั้นตอนโดยให้ ครม.พิจารณาร่างกรอบฯ ทั้งที่ยังไม่มีการรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ  2) นำร่างกรอบการเจรจาไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เช่นที่เคยทำเมื่อครั้งเริ่มเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-สหภาพยุโรป ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา 3) เปิดเผยเนื้อหาการทำขอบเขตการเจรจาที่กรมเจรจาฯ ไปทำกับสหภาพยุโรปก่อนหน้านี้ เพื่อให้ไม่สุ่มเสี่ยงกับการผิดรัฐธรรมนูญหรืออย่างน้อยต้องเสนอให้กรรมาธิการฯ พิจารณา  4) รอผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่ อย. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำลังดำเนินการก่อนการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป  5) เครือข่ายภาคประชาชนผู้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการฯ ยืนยันจุดยืนเดียวกับคณะนักวิชาการ 84 คน ที่ให้กำหนดกรอบเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปว่า ไม่รับข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์

  • วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างปฎิญญาร่วมว่าด้วยการประกาศการเริ่มเจรจาความตกลง RCEP ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

     (1) เห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยการประกาศการเริ่มเจรจาความตกลง RCEP ตามที่ระบุในข้อ 4 และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

     (2) ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองปฏิญญาร่วมว่าด้วยการประกาศการเริ่มเจรจาความตกลง RCEP และเอกสารแนบท้าย

  • วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ที่ประชุมใหญ่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เห็นชอบร่างความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องการจัดทำความตกลงทางการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปที่จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
  • วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐชิลี ซึ่งครอบคลุมการค้า การลงทุน และข้อบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 10 ประเด็น เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ การระงับข้อพิพาท ความร่วมมือเศรษฐกิจภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ชิลี มีประเด็นที่ไทยจะเปิดให้ชิลีนำเข้าสินค้าแอลกอฮอล์ เช่น ไวน์ 9 รายการในอัตรา 0% ภายในปี 2558 แต่เนื่องจากการนำเข้าแอลกอฮอล์ดังกล่าวขัดมติ ครม. ที่รับข้อเสนอสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2553 ที่มีมาตรการปกป้องไม้ให้มีการนำเข้าแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ หากยกเลิกมติ ครม. วันที่ 20 ก.ค. 2553 และเปิดทางให้มีการนำเข้าแอลกอฮอล์ได้ อาจกลายเป็นประเด็นทางการเมือง จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับเรื่องนี้ไปพิจารณาและนำกลับมารายงานให้ ครม. รับทราบ
  • เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2556 นายโอฬาร ไชยประวัติ ผู้แทนการค้าไทย (TTR) ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาข้อตกลงการค่าเสรีไทย-ยุโรป เปิดเผยว่า ไทยได้ขอเป็นฝ่ายกำหนดบทร่างประเด็นการเจรจาใน 6 หัวข้อเพื่อให้ทิศทางเป็นไปในแบบที่ไทยต้องการ ขณะที่ฝ่ายสหภาพยุโรปจะเป็นผู้กำหนดบทร่างใน 8 หัวข้อที่เหลือจากทั้งหมด 14 หัวข้อเจรจาที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้                      สำหรับ 6 หัวข้อประกอบด้วย 1) ผลกระทบการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร 2) ทรัพย์สินทางปัญญาเน้นประเด็นการเข้าถึงยารักษาโรค ภูมิปัญญาไทยและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ 3) การลดอัตราภาษีสินค้าเหล้า บุหรี่ หากเกิดขึ้นจะสร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางในหลายมิติ 4) กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ซึ่งรัฐบาลไทยมีข้อพิพาทกับเอกชนยุโรปอยู่ก่อนหน้านี้  5) สิ่งแวดล้อมและการค้าอย่างยั่งยืน และ 6) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ส่วนประเด็นการเจรจาที่เหลือซึ่งฝ่ายยุโรปจะเป็นผู้กำหนดบทร่างใน 8 หัวข้อ ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4) มาตรการเยียวยาทางการค้า 5) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 6) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 7) การค้าบริการ และ 8) การลงทุน
  • เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค จัดสัมมนาเรื่อง “ข้อตกลงทางการค้ากับการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค กรณี TPP และ EU-ไทย FTA” เพื่อศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการ ภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนและสื่อมวลชน ในการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ 
  • เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2556 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอและให้เสนอรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบตามมาตรา 190 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป       ทั้งนี้ การจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับ EFTA จะสร้างโอกาสให้แก่ไทยในการเป็นศูนย์กลางของ EFTA ด้านการค้าและการลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เทคโนโลยีชีวภาพ เวชภัณฑ์และเภสัชกรรม และเคมีภัณฑ์ รวมทั้งภาคบริการทางการเงินและการธนาคาร และเปิดโอกาสให้ไทยเป็นฐานในการผลิต และแหล่งรองรับการลงทุนของ EFTA ซึ่งจะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มากขึ้น
  • วันที่ 23 กันยายน 2556 คณะผู้แทนไทยได้ออกแถลงการณ์ผลเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรปครั้งที่ 2 ระหว่าง ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยกับ Mr.Joao Agular Machado รองปลัดกระทรวงการค้า คณะกรรมาธิการการค้ายุโรป ที่ได้มีการเจรจากันระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน 2556 สาระสำคัญของการเจรจาในครั้งนี้ได้แก่ การเปิดตลาดสินค้าและบริการ การลงทุน มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิค ทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดของสินค้า พิธีการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ มาตรการเยียวยาทางการค้า และการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ นายแพทย์อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ประจำปี 2558 ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ เป็น 1 ใน 9 ภารกิจระหว่างประเทศ รองรับการค้าเสรีในตลาดโลกจะมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนไทยมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัว ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิบัตรยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อการรักษาพยาบาล การค้าสินค้าทำลายสุขภาพ การเปิดเสรีงานบริการรักษาพยาบาล การกำหนดมาตรฐานอาหารปลอดภัย และการเปิดเสรีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น  โดยต้องมีการจัดระบบการศึกษาข้อมูลทางวิชาการ เป็นภูมิคุ้มกันพื้นฐานในการเจรจาต่อรอง เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย ในการประชุมครั้งนี้ มีการนำเสนอข้อมูล 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา และสิทธิบัตรยาและความยืดหยุ่นของทริปส์  2.การลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งรัฐและเอกชน เช่น บริการสุขภาพ ซึ่งไม่จำกัดเพียงโรงพยาบาลแต่ครอบคลุมทั้งคลินิกต่างๆ เช่น คลินิกทันตกรรม กายภาพบำบัด และการแพทย์ทางเลือก รวมทั้งกรณีพิพาทเกี่ยวกับยาสูบและแร่ใยหิน (Asbestos) และ3.การค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกยาไปขายต่างประเทศ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ประเทศนั้นๆ กำหนด ซึ่งในที่ประชุมจะมีการนำเสนอผลการวิจัยความเป็นไปได้ของการส่งยาไปขายในประเทศจีน อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ สำหรับเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานั้น จะมีการอภิปรายการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยสมัครใจและการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรตามความยืดหยุ่นของข้อตกลงทริปส์ ได้แก่ การใช้สิทธิโดยรัฐและการบังคับใช้สิทธิ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศใช้สิทธิบัตรโดยรัฐ ในยารักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ หัวใจ และมะเร็ง รวม 7 รายการ ที่เป็นยาราคาแพง  ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2549 - 2550 และใช้มาถึงขณะนี้ ทำให้ยามีราคาถูกลง ผู้ป่วยไทยเข้าถึงยามากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะมีการพิจารณาทบทวนประเด็นต่างๆ ทั้งในด้านผลการดำเนินงาน ประโยชน์ ความคุ้มค่า และปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งล่าสุดนี้ประเทศอินเดีย ได้ประกาศการบังคับใช้สิทธิบัตรด้วยวิธีการที่แตกต่างจากไทยเป็นครั้งแรกในยาต้านมะเร็งเมื่อปี 2555 ซึ่งได้เชิญมาร่วมให้ข้อมูลประสบการณ์ด้วย  การประชุมในครั้งนี้จัดโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และภาคี โดยมีดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ เป็นประธานพิธีเปิด เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศและผลกระทบต่อระบบสุขภาพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ สภาวิชาชีพด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และองค์การอนามัยโลก เข้าร่วมการประชุมกว่า 150 คน
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติดำเนินการ
รายละเอียด: 

3.1 นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบและสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

3.2  ประสานและสนับสนุนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้ดำเนินงานตามมติข้อ 2 และส่งเสริมการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอื่นที่เกี่ยวข้อง

3.3 ประสานหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยงานวิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ร่วมกันกำหนดรายการสินค้า การบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมให้เป็นรายงานยกเว้นจากการเจรจาอย่างถาวร (Permanent exclusive list) และรายการพึงเจรจาอย่างระมัดระวังเพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดกรอบเจรจาการค้าระหว่างประเทศและทบทวนความตกลงเพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดกรอบเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และทบทวนความตกลงการค้าที่มีผลบังคับใช้แล้ว โดยอาศัยผลการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพตามมติข้อ 2 หรือข้อมูลทางวิชาการอื่นที่เป็นที่ยอมรับและผ่านการปรึกษาหารือโดยสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น

3.4 ให้เผยแพร่จากเวทีทบทวนร่างรายงานการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพโดยสาธารณะและรายงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพฉบับสมบูรณ์ตามมติข้อ 2 ตามกระบวนการและขั้นตอนที่กำหนดในข้อ 15 ของหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ

3.5 ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคเอกชนรวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการดำเนินการตามมตินี้

3.6 ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดให้มีการศึกษาแนวทางการปฏิรูปกองทุนเยียวยาต่างๆ ที่มีอยู่โดยเฉพาะที่มาของกองทุนจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการเจรจาการค้าเสรีที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคม และการบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2554 วันที่ 22 เมษายน 2554 มีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 มติ 9 “การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ”และมอบหมาย สช. รับข้อสังเกตจากที่ประชุมไปพิจารณาและดำเนินการดังต่อไปนี้
  1. ประสานการทำงานร่วมกับ คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ เพื่อศึกษาออกแบบกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศ และเมื่อแล้วเสร็จให้จัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเพื่อพิจารณา กำหนดกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อประกอบการพิจารณาประเด็นเกี่ยวข้องในกระบวนการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศพร้อมกับประสานเตรียมความพร้อมการดำเนินงานตามมติกับหน่วยงานและภาคีต่างๆที่เกี่ยวข้อง
  2. รายงานต่อ คสช. เพื่อพิจารณานำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบและสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในโอกาสต่อไป เมื่อ สช. ประสานงานและดำเนินการต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • สช. ได้มีการปะสานการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

      1. ผู้บริหารของ สช. ได้ร่วมหารือกับภาคีที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญตามมติ ได้แก่ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำความเข้าใจในกลไกและกระบวนการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าว มีข้อสรุปเบื้องต้น ดังนี้

         1.1 สช. และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะร่วมกันทำงานเพื่อให้เกิดความเข้าใจและมั่นใจในการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างเหมาะสม โดย สช. ขอให้พิจารณาใช้กลไกนโยบายที่ คสช. แต่งตั้ง ได้แก่คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ที่มี นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา เป็นประธาน เป็นช่องทางหลักในการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบเป็นทางการ และคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่มี นพ.วิพุธ พูลเจริญ เป็นประธานพัฒนาแนวทางการใช้เครื่องมือประเมินผลกระทบทางสุขภาพในส่วนที่เกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศต่อไป

         1.2 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะตีความมติให้ชัดเจนว่าข้อเสนอที่ให้ทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพนั้นจะต้องทำในช่วงระยะเวลาใด ก่อน ระหว่าง หรือหลังการเจรจา ในเบื้องต้นเห็นควรให้มุ่งเน้นในส่วนของการศึกษาผลกระทบจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่จะมีการทำในอนาคตมากกว่ากลับไปศึกษาข้อผูกพันที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยมีข้อสังเกตว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงกรอบระยะเวลาในการเจรจาระหว่างประเทศด้วย

         2. คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพได้รับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ดังกล่าวแล้วในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554

         3. คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพได้พิจารณามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าว และเห็นควรสนับสนุนกระบวนการศึกษาเพื่อออกแบบการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในกระบวนการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศ โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้ศูนย์ประสานงานการพัฒนากลไกและระบบการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในฐานะฝ่ายเลขานุการ ทำการศึกษาแนวทางและขั้นตอนกระบวนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยการทบทวนเอกสาร จัดสัมมนาวิชาการ เชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมาให้ ข้อมูลความรู้ในที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ รวมถึงจัดกระบวนการพูดคุยให้กลุ่มต่างๆ เพื่อสะท้อนข้อห่วงกังวลก่อนวางแนวทางการทำงานต่อไป กำหนดกรอบเวลาในการทำงาน ๓ เดือน โดยในเรื่องนี้ ฝ่ายเลขานุการได้ประสานกับมูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นองค์กรที่มีประสบการณ์ในการศึกษาผลกระทบจากการเจรจาการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการฯ ดังกล่าว โดยกำหนดผลการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ เพื่อให้ได้ข้อมูลมาใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อออกแบบการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในกระบวนการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศของไทยต่อไป

ผลการประสานงานการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง สช. ได้วิเคราะห์ว่า ก่อนเสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ควรมีการทำงานทางวิชาการเพื่อเตรียมความพร้อมของการนำเครื่องมือประเมินผลกระทบทางสุขภาพแห่งชาติไปใช้ในกระบวนการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพอยู่แล้ว หากการออกแบบกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพฯเสร็จสิ้น ควรให้มีการนำเข้ารับฟังความเห็นและหาฉันทามติจากสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น พร้อมกับประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมของการดำเนินการ ก่อนเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

  • วันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 ที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการศึกษาและติดตามการเจาจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ได้จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเจรจาการค้าเสรีไปยังคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) โดยเห็นตรงกันว่า รัฐบาลต้องปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (ข้อตกลงทริปส์) ในกรณีของยารักษาโรค อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเจรจาในประเด็นสิทธิบัตรและการผูกขาดเชิงพาณิชย์ได้ ก็ควรดำเนินการทางกฎหมายให้เกิดมาตรการเยียวยาและมาตรการรองรับผลกระทบภายในประเทศก่อนที่การเจรจาจะแล้วเสร็จ โดยต้องจัดสรรงบประมาณให้กับระบบบริการสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่สูงขึ้นจากความตกลงทางการค้าเสรีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านยาและเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วย นอกจากนี้ให้จัดสรรงบประมาณในการทำวิจัยและพัฒนาอย่างเพียงพอเพื่อสนับสนุนให้คนไทยผลิตยาเองได้ลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศพร้อมทั้งให้รัฐกำหนดให้มีมาตรการควบคุมยาในประเทศอย่างจริงจัง สำหรับปัญหาคู่เจรจาขอให้ขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา โดยที่ประชุมเห็นว่าต้องเสนอให้มีการขยายระยะเวลาคุ้มครองสั้นที่สุด
  • สช. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข มีความตกลงร่วมมือดำเนินการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จากความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปตามขั้นตอนในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพแบบสมบูรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
  1. เพื่อทดลองกระบวนการเรียนรู้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
  2. เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นหลักฐานทางวิชาการประกอบการให้ข้อคิดเห็นต่อกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรปต่อไป 

     ปัจจุบันเพิ่งเสร็จสิ้นกระบวนการทำงานขอบเขตโดยสาธารณะ (public scoping) ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในสรุปรายงานการจัดประชุมเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ “ผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปต่อการเข้าถึงยา” ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบอย่างน้อย 8 ประเด็นดังนี้ 1) ผลกระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศและการลงทุน 2) ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานยาในประเทศ 3) การแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ 4) ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย 5) การจดสิทธิบัตรพรรณพืชและพันธุ์สัตว์ 6) การขยายระยะเวลาการผูกขาดด้านข้อมูล 7) การถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 8) ผลกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

  • เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556 มูลนิธิชีววิถีและ สช. ได้จัดการประชุมว่าด้วยผลกระทบจากข้อเสนอความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศและสหภาพยุโรปหรืออียู ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ห้องประชุมสานใจ 2 ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมวิชาการเกษตร นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ฯลฯ เข้าร่วม ข้อเสนอแนะในที่ประชุม 

          - ควรศึกษาเพิ่มในเรื่องทางเลือกของการทำเอฟทีเอตั้งแต่ควรทำหรือไม่ควรทำไปจนถึงควรทำในประเด็นอะไรและทำไปเพื่ออะไร ทั้งนี้จะนำเสนอผลการศึกษานี้ไปยังรัฐบาลที่ถึงแม้ปัจจุบันจะกำลังเจรจาเอฟทีเออยู่ที่เชียงใหม่ แต่ในกระบวนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุดยังมีอีกหลายขั้นตอนที่เปิดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนเสนอข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์เข้าไปร่วมพิจารณาได้

         - รัฐบาลควรพักการเจรจาทางการค้า (Delay) ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำได้หากพิจารณาแล้วว่ายังไม่เห็นประโยชน์จากการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ และในปัจจุบันอียูเร่งรัฐให้รัฐบาลไทยเร่งการทำเอฟทีเออาจจะเป็นเพราะทางกลุ่มอียูกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2551 และยังไม่เห็นแนวทางการฟื้นฟู

          - ควรมีการสื่อสารข้อมูลเหล่านี้ไปยังกลุ่มเกษตรกรให้ทั่วถึงเพราะจะเป็นกลุ่มที่กระทบมากที่สุด

  • คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พ.ศ.๒๕๕๖ ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๖ โดยในหมวดที่ ๕ ข้อ ๗ การกำหนดระเบียบวาระการประชุม ได้เปิดโอกาสให้ คจ.สช. สามารถกำหนดระเบียบวาระการประชุม โดยพิจารณาประเด็นที่มาจากการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา เพื่อทบทวนและพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในภาวะสังคมปัจจุบัน
  • ข้อสรุปจากที่ประชุมติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓ มติ ๙  การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖  ว่า...ถึงแม้การดำเนินงานตามมตินี้ จะมีความคืบหน้าไปแล้วบางส่วนก็ตาม แต่เนื่องจากสถานการณ์การดำเนินการเกี่ยวกับการค้าเสรีระหว่างประเทศมีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มติดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันของผู้เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว จึงเห็นสมควรเสนอต่อ คจ.สช. ให้มีการพิจารณาทบทวนและพัฒนามตินี้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมต่อไป
  • มติที่ประชุม คจ.สช. เมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๖ เห็นชอบให้บรรจุระเบียบวาระการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ เป็นระเบียบวาระทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๕๖  และมอบหมายให้มีกลไกทำงานทบทวนร่างมติ โดยให้อนุกรรมการวิชาการดำเนินการต่อไป
  • คณะอนุกรรมการวิชาการ ได้แต่งตั้งคณะทำงานวิชาการพัฒนาประเด็นการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  สำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน และนักวิชาการ  โดยมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานคณะทำงาน  รศ.นุศราพร เกษสมบูรณ์  และนางสิตานันท์ พูนผลทรัพย์ เป็นผู้ทำงานและเลขานุการ มีหน้าที่ศึกษาผล และปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๓  มติ ๙ การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ  ซึ่งการประชุมคณะทำงานฯ ที่ผ่าน พบว่า ยังมีปัญหาในการปฏิบัติ และมีข้อห่วงใยจากทุกฝ่าย จึงเห็นสมควรที่จะต้องมีการทบทวน และพัฒนามตินี้  คณะทำงานฯได้จัดทำร่างเอกสารหลักและร่างมติสมัชชาสุขภาพ เรื่อง ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ เพื่อนำเข้าสู่ระเบียบวาระที่ ๘ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๕๖  ต่อไป
  • เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2557 นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะทำงานวิชาการพัฒนาประเด็นการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ ชี้แจงถึงข้อเสนอของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่อง การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้การเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ และ FTA ต้องมีการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ (HIA) ก่อน เพราะการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศถือเป็นนโยบายสาธารณะอย่างหนึ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน จึงควรมีการศึกษาอย่างรอบด้าน 
  • เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการสุชภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2559 ที่มี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมได้มีมติต่อข้อเสนอจากการประชุมวิชาการ การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ปี 2558 ดังนี้ 1) เห็นชอบต่อข้อเสนอแนะจากการประชุมวิชาการ การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพปี 2558  และ 2) เห็นชอบให้เสนอข้อเสนอแนะจากการประชุมวิชาการ การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ปี 2558 ต่อคณะรัฐมนตรีรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 
  • เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (คจคส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และแผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศกับสุขภาพ ซึ่งเป็นแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ร่วมเป็นเจ้าภาพพร้อมด้วยกระทรวงสาธารณสุข, สปสช. และ สสส. จัดเวที การประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ประจำปี 2559 ภายใต้หัวข้อ “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP): ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม การสาธารณสุขและระบบสุขภาพ” ระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ กรุงเทพฯ สีลม โดยมีวิทยากรทั้งในและต่างประเทศ และผู้เข้าประชุมจากภาครัฐ นักวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้แทนจากสถานทูต และองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมกว่า 170 คน ในวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการ UNCTAD ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก: ความท้าทายหรือโอกาสสำหรับประเทศไทย” ว่า ระบบการค้าโลกที่ดี ต้องมีทิศทางให้ทุกประเทศสมาชิกปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เป็นสากล เปิดโอกาสให้กับทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ และไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศอื่นๆ ด้วย รวมทั้งควรยึดหลักการ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะใน 3 ข้อหลัก ได้แก่ การขจัดความยากจน สร้างความอยู่ดีกินดี และสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับมวลมนุษยชาติ สำหรับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership: TPP) นั้น ดร.ศุภชัย มองว่า เป็นเกมการค้ารูปแบบใหม่ของขั้วมหาอำนาจ เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมีอำนาจการต่อรองในเวทีโลก จนประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถเจรจาความตกลงการค้าในกรอบ WTO ให้ได้ตามที่ประเทศมหาอำนาจต้องการอีกต่อไป จึงต้องจัดตั้งข้อตกลงการค้ารูปแบบใหม่ เช่น TPP และ T-TIP (Transatlantic Trade and Investment Partnership) ขึ้นมาเพื่อลดความสำคัญของ WTO ลง ดร. ศุภชัย ได้ให้คำแนะนำประเทศไทยในการพิจารณาที่จะเข้าร่วมข้อตกลง TPP ไว้ว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องรีบร้อนลงนามเข้าร่วม TPP เพราะกลัวตกขบวนเท่านั้น โดยมีข้อสังเกตสำคัญที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องควรคำนึงถึง 5 ประการคือ 1)ขณะนี้การศึกษาผลได้ผลเสียจาก TPP ยังไม่ชัดเจน 2)ต้องศึกษาเรื่องมาตรการที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีอย่างรอบคอบเพราะมีการใช้มากในTPP 3)มีเพียง 3 ประเทศใน TPP ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีข้อตกลง FTA ด้วย 4)ต้องศึกษาว่าเหตุใดภาคเอกชนไทยจึงยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลง FTA ที่มีอยู่แล้วให้ได้ประโยชน์มากเท่าที่ควร และ 5)เชื่อว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศสมาชิก TPP ยังไม่สามารถลงนามให้สัตยาบันได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอน ด้าน นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษา คจ.คส. ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพปี 2559 กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความคิดเห็นในเวทีประชุมวิชาการฯ ตลอด 3 วันที่ผ่านมา ถือว่าได้แนวทางที่เป็นประโยชน์ โดยสรุปได้ว่า ความตกลง TPP มีความซับซ้อนมาก เพราะมีถึง 30 ข้อบทที่ประเทศภาคีสมาชิกต้องดำเนินการตามนั้น และยังมีจดหมายแนบท้าย ภาคผนวก รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาผลได้ผลเสียจึงไม่สามารถพิจารณาเฉพาะข้อตกลง TPP อย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาโดยรวมทั้งหมด

 

  

ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
รายละเอียด: 

4.1 จัดทำกรอบการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ขัดแย้งกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงนโยบายและยุทธศาสตร์แห่งชาติที่เกี่ยวข้อง

4.2 ประสานกับหน่วยงานของรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะและสังคมเพื่อรวบรวมรายการสินค้า การบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อการประเมินตามมติข้อ 2

4.3 ใช้หลักการระมัดระวังไว้ก่อน (Precautionary principle) ในการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศ เมื่อข้อมูลวิชาการโดยเฉพาะผลกระทบในด้านลบต่อสุขภาวะและสังคมยังมีจำกัด และไม่สร้างข้อผูกพัน (Commitment) กับประเทศคู่เจรจาจนกว่าจะมีข้อมูลวิชาการจากการศึกษาตามข้อ 2 ยืนยันว่าการเจรจาในประเด็นนั้นๆ ไม่ก่อผลกระทบ

ข้อที่: 
5
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
รายละเอียด: 

5.1 จัดให้มีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นทันที เพื่อพิจารณา กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการของการใช้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA) ประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดประเภทสินค้า การบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญาและอื่นๆ ในกระบวนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

5.2 ติดตามผลการดำเนินการตามมตินี้ และรายงานต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2554 และต่อไปทุก 2 ปี

เอกสารหลัก: