You are here


5.1การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
สมัชชาครั้งที่: 
5
มติที่: 
1
ชื่อมติ: 
5.1 การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องพิจารณาเร่งรัดดำเนินการดังนี้
รายละเอียด: 

1.1 สำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดเป็นนโยบายหลักให้การเดินและการใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางระยะสั้นที่สำคัญ และทำหน้าที่ประสานงานหน่วยงานภาครัฐในการนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติ

1.2  กระทรวงคมนาคม ส่งเสริมการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะด้วยการเดินเท้าและการใช้จักรยาน ให้ความรู้ที่เน้นให้ความสำคัญต่อผู้เดินเท้าและผู้ใช้จักรยานทุกกลุ่มคนในการสอบเพื่อขอใบอนุญาตขับขี่ยานยนต์ทุกชนิด

1.3  กระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร และข้อบัญญัติท้องถิ่นให้ผู้เป็นเจ้าของอาคารขนาดใหญ่และอาคารสาธารณะรวมทั้งสถานีขนส่งสาธารณะ  ต้องจัดให้มีที่จอดจักรยานที่สะดวก ปลอดภัย และเพียงพอ รวมถึงกำหนดให้จังหวัดมีหน้าที่สนับสนุนการเดินเท้าและใช้จักรยานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

1.4  กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กำหนดให้การเดินและการใช้จักรยานเป็นระเบียบวาระขององค์กรปกครองท้องถิ่น จัดทำโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อการเดินเท้า การใช้ทางเท้าและ การสัญจร ของคนพิการและการใช้จักรยาน กำหนดพื้นที่จำกัดความเร็วของยานยนต์ และช่องทางการเดิน การใช้จักรยาน มีสัญลักษณ์และป้ายบอกชัดเจนในเขตชุมชน และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้และรณรงค์อย่างต่อเนื่อง สร้างความตื่นตัวและสนับสนุนกิจกรรม ด้านการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันแก่สาธารณชน

1.5 กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้สถานศึกษามีหลักสูตรให้ความรู้และพัฒนาทักษะเกี่ยวกับการเดิน และการใช้จักรยาน อาทิเช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะการใช้สัญญาณมือ และไฟจักรยานกับผู้ขับขี่ให้ถูกต้อง ปลอดภัยและสนับสนุนให้ใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่องแก่นักเรียนนักศึกษา  รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุน ให้เดินหรือใช้จักรยานในการเดินทางมาเรียน ด้วยการมีส่วนร่วมของนักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชน และจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินและการใช้จักรยานภายในสถานศึกษา

1.6  กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและให้บริการที่เกี่ยวกับการเดินและการใช้จักรยาน และการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการในการเดินทาง ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และราคาที่เป็นธรรม

1.7 กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการเดินและใช้จักรยานอย่างต่อเนื่อง

1.8 กระทรวงพลังงาน มีนโยบายและมาตรการส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ ได้แก่ การเดินและการใช้จักรยาน และการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการในการเดินทาง

1.9 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนับสนุนการท่องเที่ยวด้วยจักรยานและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่พักมีจักรยานให้บริการนักท่องเที่ยว

1.10 กระทรวงการคลัง มีมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

1.11 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รณรงค์ และสร้างองค์ความรู้เพื่อผลักดันนโยบาย และเพื่อสร้างพฤติกรรมสุขภาพด้วยการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในข้อ 1.1 – 1.11 ปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในปี 2558

 

 

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • คณะทำงานขับเคลื่อนการจัดระบบและโครงสร้างสำหรับการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ได้เข้าพบและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่
  1. กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ยินดีดำเนินการตามมติฯ ที่ว่ากระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2550 และข้อบัญญัติท้องถิ่นให้ผู้เป็นเจ้าของอาคารขนาดใหญ่และอาคารสาธารณะ การจัดให้มีจุดจอดจักรยานที่ปลอดภัยและเพียงพอในที่สาธารณะ เช่น สถานีขนส่ง เป็นต้น
  2. กระทรวงอุตสาหกรรม ผลการหารือ 1) มาตรฐานจักรยาน ควรเอาประเด็น “ความปลอดภัย” เป็นหลัก 2) สนับสนุนสินค้าที่ได้มาตรฐาน แต่ต้องรับฟังความเห็นทุกฝ่าย 3) การกำหนดมาตรฐานต้องไม่ทำให้เกิดการกีดกันผู้ประกอบการรายย่อย 4) ปัจจุบันไทยมีมาตรฐานทั่วไป แต่ยังไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) 5) การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการขอ มอก. เป็นเรื่องต้องสร้างแรงจูงใจ และต้องให้การศึกษาต่อสาธารณะ
  3. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ผลการหารือ (1) การจัดทำระบบเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ เช่น เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า 10 สายเป็นหลัก เป็นต้น (2) การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกคือทางเดินเท้า ทางจักรยาน ที่จอดจักรยาน เบื้องต้น อาจจะเริ่มที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิ้งก์ (3) การจัดทำแผนดำเนินงานเพื่อการพัฒนาระบบจักรยานในการเดินทางในชีวิตประจำวัน เป็นการเฉพาะและจัดตั้งคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการเชื่อมต่อระบบขนส่งเพื่อร่วมทำแผนปฏิบัติการ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สนข. เสนอหี้การหารือกับคณะกรรมการที่กระทรวงคมนาคมดำเนินงานร่วมกับ กทม. ร่วมด้วย
  4. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (มอบหมายรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น) และผู้อำนวยการสำนักเป็นตัวแทนทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานของชมรมฯ ผลการหารือและแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ (1) การสร้างความร่วมมือในการให้ความรู้ประเด็นการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันต่อผู้บริหารและบุคลากรท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยการนำประเด็น “เดิน-จักรยาน” เป็นหัวข้อในหลักสูตรอบรมของสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพถ.) (2) การค้นหาพื้นที่นำร่องที่มีความพร้อมและเหมาะสมที่ส่งเสริมเพื่อให้เกิดตัวอย่างเมือง ชุมชนจักรยาน (เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายร 2557)
  5. สำนักนายกรัฐมนตรี การเข้าพบผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้แทนของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 สรุปการเข้าพบ สปน. เห็นด้วยร่วมกันในหลักการที่จะขับเคลื่อนเรื่องการเดินและจักรยาน เห็นควรมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการระดับนโยบยและปฏิบัติที่ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งโดยให้อ้างอิมติคณะรัฐมนตรีปี 2556 และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที 5 พ.ศ.2555 เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานระหว่างหน่วยงาน สร้างความเป็นเจ้าของร่วมและนำภารกิจที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจของแต่ละหน่วยงานไปดำเนินงานภายใต้แผนงาน
  6. กระทรวงมหาดไทย ในการเข้าพบนายจรินทร์ จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 และหน่วยงานภายใต้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผลการหารือสรุปได้ดังนี้ (1) กระทรวงมหาดไทย เห็นด้วยกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 โดยมอบให้ 1.1 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ 1) ค้นหาและคัดเลือกพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันให้เป็นเมืองต้นแบบ 2) บรรจุประเด็นการเดินและการใช้จักรยานในหลักสูตรอบรมผู้บริหารของสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น 1.2 กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการ 1) ออกแบบและแนะนำที่จอดจักรยานเพื่อให้ท้องถิ่นนำไปใช้ในการจัดการพื้นที่ 2) ออกข้อแนะนำสำหรับอาคารในการจัดให้มีที่จอดจักรยานเพื่อเอื้อและสนับสนุนให้มีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น และ 3) สนับสนุนและให้คำปรึกษากับท้องถิ่นในการกำหนดเขตทางให้เพียงพอต่อทางเดินเท้าและทางจักรยาน
  7. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุน ส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นตัวอย่างในการใช้จักรยาน โดยจัดให้มีกิจกรรมรณรงค์ให้มีการขี่จักรยานในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุขที่จังหวัดนนทบุรี จัดให้มีช่องทางจักรยานซึ่งเชื่อมต่อมาจากสถานีรถไฟฟ้า MRT เข้าไปที่กระทรวง ส่งเสริมให้บุคลากรสาธารณสุขขี่จักรยานในโรงพยาบาลต่างๆ จัดตั้งชมรมจักรยานในโรงพยาบาลขึ้น ฯลฯ 
  • เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายณัชพล เกิดเกษม ประธานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพคน กทม. และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพมหานคร ได้นำสมาชิกจากทุกเขตทั่วกรุงเทพมหานครเข้ายื่นหนังสือพร้อมอ่านแถลงการณ์ต่อผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้สนับสนุนนโยบาย “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” พร้อมเรียกร้องให้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญในลำดับต้นๆ ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ หลังการเลือกตั้งวันที่ 3 มีนาคม 2556
  • เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2556 ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2556 ณ ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุม ที่ประชุมได้เห็นชอบเสนอเรื่องการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอหลัก 2 ข้อ คือ (1) ให้ คสช.เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ ดังกล่าว และ (2) เสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ นี้ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป   พร้อมทั้งสนับสนุนกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยาน โดยให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย สำหรับแนวทางการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน จะช่วยส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้พื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งตะต้องเร่งปรับปรุงระเบียบและมาตรการต่างๆ ให้ทันสมัยสอดคล้องกับแนวโน้มของการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้น
  • เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) เสนอขอความเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เรื่อง การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน พร้อมข้อสังเกตของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องพิจารณาเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558
  • เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เรื่อง การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เสนอ 
  • เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กระทรวงอุตสาหกรรม และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อสร้างความร่วมมือในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้กรอบความร่วมมือประกอบด้วย 1) ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาระบบการส่งเสริม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมจักรยานและอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ 2) การประสานด้านการประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำต่อคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันตลอดจนคนพิการ และ 3) การส่งเสริมอุตสาหกรรมตามแผนงานสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์การเดินและจักรยาน รวมทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่คนพิการ
  • เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง หรือ Traffic and Transport Development and Research Center (TDRC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้นำเสนอผลการศึกษาและสำรวจ “โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจการเงิน เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายถนนสำหรับรถจักรยานในเขตทางพิเศษ” และออกแบบเบื้องต้นเส้นทางรถจักรยานโครงการนำร่อง (Pilot Project) ในเขตทางพิเศษ โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พบเส้นทางเหมาะสม 2 เส้นทางคือ (1) เส้นทางจากถนนรามอินทรา–ถนนพระราม 9 ระยะทางรวม 13 กิโลเมตร และ (2) เส้นทางจากถนนพระราม 9 – ถนนรัชดาภิเษก ระยะทางรวม 4.45 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ที่สถานีมักกะสัน และเส้นทางเชื่อมต่อไปยังท่าเรือโดยสารคลองแสนแสบที่ท่าเรือชาญอิสสระ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 17.45 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 1,039.5 ล้านบาท และผลการวิเคราะห์ พบว่าโครงการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ หรือมีค่า EIRR เท่ากับ 8.8% นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบช่องทางสำหรับการข้ามถนนแบบลอดอุโมงค์ใต้ดินเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายกับชุมชนที่มีอยู่หนาแน่นตลอดทั้งสองฝั่ง ซึ่งมีการสัญจรและมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเส้นทางจักรยานที่จะทำให้เกิดการสัญจรของคนเมือง
  • เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช. เจาะประเด็น ครั้งที่ 5/2557 เรื่อง สุขภาวะบนหลังอาน จักรยานคนเมือง โดยมีผู้เข้าร่วมสัมนาได้แก่ ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย, นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย, นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, นายสุรพันธุ์ ไตรรัตน์ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญด้านก่อสร้างทาง กรมทางหลวงชนบท และนายชัยยุทธ โล่ธุวาชัย ผู้ก่อตั้งชมรมจักรยาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ทราบว่าหน่วยงานต่างๆ มีการดำเนินงานดังต่อไปนี้

          - สำนักงานวิศวกรรมจราจร สำนักการจราจร และขนส่ง กรุงเทพมหานคร  : กทม.ขยายเส้นสร้างทางจักรยานมาโดยตลอด ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 31  เส้นทาง และกำลังขยายเพิ่มเติม โดยเฉพาะบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดระบบการจราจรและการจอดรถ ไม่ให้เป็นอุปสรรคบนเส้นทางจักรยาน 12 เส้นทาง ระยะทาง 8 กิโลเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการขี่จักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ไปพร้อมกับการรักษาความงดงามของโบราณสถานและทัศนียภาพรอบเกาะฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับผู้ประกอบการบริษัททัวร์เพื่อให้จอดรถในบริเวณอื่นเทน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนทั่วไปและคนกรุงเทพฯ ส่วนการคืนพื้นที่ทางเท้าจากหาบเร่แผงลอยและการจัดการจราจรในกทม.ทั้งหมด เป็นอีกแนวทางที่จะอำนวยความสะดวกให้กับคนเดินและขับขี่จักรยานไปพร้อมกันด้วย รวมถึงยังมีแผนจะจัดที่จอดรถจักรยานเพิ่มเติมบริเวณสถานีรถไฟฟ้าและขยายโครงการปันปั่นหรือสถานีให้เช่าจักรยานกระจายในพื้นที่ต่างๆมากขึ้น

 

          - กรมทางหลวงชนบท (ทช.) : มีการสนับสนุนโครงสร้างเส้นทางใช้จักรยานอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.เส้นทางจักรยานที่เชื่อมโยงในชุมชน ซึ่งส่วนมากจะใช้ไหล่ทางของถนนที่มีอยู่เดิม และปรับปรุงให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้จักรยาน เพื่อให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ซึ่งมีถนนตัดผ่านระหว่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอต่างๆ สามารถไปมาหาสู่กันได้ตามปกติ และ 2.เส้นทางจักรยานเพื่อสันทนาการ สนับสนุนการท่องเที่ยว การออกกำลังกาย แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ชื่นชมทัศนียภาพสองข้างทาง เช่น บริเวณหาดคุ้งวิมาน จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น ที่ผ่านมา ทช. ได้ดำเนินการเส้นทางจักรยานไปแล้วจำนวนมาก ได้แก่ ในพื้นที่ภาคใต้ระยะทาง 48 กิโลเมตร, ภาคกลาง 91 กิโลเมตร และภาคตะวันออก 100 กิโลเมตร ขณะที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 26 กิโลเมตร รวมแล้วคิดเป็นระยะทางทั้งสิ้น 265 กิโลเมตร 

  • ​​​เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาเส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ศจ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์) และคณะรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงต่างๆ ร่วมปั่นจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ณ ลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์ เขตพระนคร
  • วันที่ 23 มกราคม 2558 นายจรินทร์  จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานจักรยาน โดยมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้รถจักรยานมากขึ้น ทั้งเพื่อการออกกำลังกาย หรือใช้เดินทางในชีวิตประจำวันเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร รวมทั้งเพื่อการท่องเที่ยว โดยพร้อมให้การสนับสนุนการจัดทำเส้นทางจักรยาน หรือเลนจักรยานในทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้มีเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัย มีผู้ใช้บริการมากขึ้น ตลอดจนมีการเชื่อมโยงให้เกิดเส้นทางจักรยานในทุกภูมิภาค และเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลดังกล่าวกระทรวงมหาดไทย จึงได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ขึ้น โดยมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมที่ดิน และผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นคณะทำงาน โดยมีหน้าที่จัดทำแนวทางและกรอบในการทำงาน และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน รวมทั้งกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีความพร้อม เพื่อนำร่องเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ และผลักดันให้มีการขยายไปทั่วประเทศ สำหรับแนวทางการดำเนินงาน คณะทำงานฯ ได้มีการจัดทำโครงการสนับสนุนการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ภายใต้ชื่อโครงการ “เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” โดยมียุทธศาสตร์ 3 ส. “1 สวน 1 เส้นทาง 1 สนาม” ได้แก่ สวนสาธารณะ เส้นทางสัญจร และสนามกีฬา เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ประสบผลสำเร็จ และเป็นแนวทางกำหนดพื้นที่เป้าหมายให้จังหวัดในการจัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งในระยะแรกจะมีการคัดเลือกพื้นที่นำร่อง จำนวน 9 แห่ง โดยพิจารณาคัดเลือกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความพร้อมมากที่สุดที่จะดำเนินการ ได้แก่ 1) เทศบาลตำบลตลาดเขต อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี 2) เทศบาลเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี 3) เทศบาลเมืองน่าน จังหวัดน่าน 4) เทศบาลนครเชียงราย จังหวัดเชียงราย 5) เทศบาลตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง 6) เทศบาลนครพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก 7) เทศบาลตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 8) องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี และ 9) เทศบาลนครอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยการดำเนินการจะเริ่มจากจังหวัดนำร่อง ในแต่ละจังหวัดพัฒนาตามหลัก 3 ส. “1 สวน 1 เส้นทาง 1 สนาม” และมีการขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ เช่น การกำหนดวันสำคัญเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ เป็นต้น
  • เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ ภาคเอกชน และประชาสังคมในพื้นที่ต่างๆ ที่มาร่วมกันแสดงความเห็นต่อ “แผนยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (พ.ศ.2558-2564)” ณ ห้องแซฟไฟร์ ศูนย์การประชุมอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการขับเคลื่อนประเด็นนี้ ที่จะมี สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักตาม “โรดแมป” ร่วมกับ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย แผนยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (พ.ศ.2558-2564) เป็นการขับเคลื่อนตาม มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เรื่อง “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วตั้งแต่ปี 2556 ที่ผ่านมา โดยยุทธศาสตร์ 7 ปีดังกล่าว ได้ผ่านการรับรองจาก “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อ.เจษฎา มิ่งสมร ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 ระบุว่า หลังจากแผนยุทธศาสตร์ฯ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นแล้ว จะมีการนำเสนอเข้า ครม. เพื่อให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
  • เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 จากนโยบายของรัฐบาลที่ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรุงเทพมหานคร ดำเนินการร่วมกันในลักษณะบูรณาการ เพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานโดยให้มีเส้นทางจักรยานในทุกจังหวัดและทุกพื้นที่ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย และการท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงมาตรฐานและความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยานเป็นหลัก ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทช.ได้ดำเนินการก่อสร้างทางจักรยานแล้วเสร็จ จำนวน 33 โครงการ เช่น ถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด , ถนนสายเลี่ยงเมือง บ้านทุ่งเสี้ยว-บ้านสันป่าตอง-หางดง (ตอนที่ 2) อ.หางดง,สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ , ถนนพุทธสาคร อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร , ถนนทางหลวงชนบทสาย พท.5050 ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อ.ควนขนุน จ.พัทลุง (ช่วง กม.ที่ 6+965-10+243) , ถนนต่อเชื่อมถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก (แนวตะวันออก-ตะวันตก) จ.นนทบุรี เป็นต้น รวมทั้ง โครงการที่จะดำเนินการในอนาคต จำนวน 42 โครงการ เช่น สายบ้านใต้-หาดริ้น อำเภอเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 3.615 กิโลเมตร ซึ่งมีแผนจะดำเนินการในปี 2560 ,  สาย ปข.2052 แยกทางหลวงหมายเลข 37-โครงการพระราชดำริอ่างเก็บน้ำห้วยมงคล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 10.500 กิโลเมตร ,  ทางหลวงชนบทสายบ้านคลองโคน-บ้านบางตะบูน อ.เมือง,บ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม,เพชรบุรี ระยะทาง 14.386 กิโลเมตร ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ ปัจจุบันได้บรรจุอยู่ในร่าง พรบ.งบประมาณปี 2559 ซึ่งจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและก่อสร้างต่อไป อกจากนี้ ยังมีโครงการทางจักรยานตอนศูนย์บริการการกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี – เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ระยะทางรวม 184.8 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการสำรวจและออกแบบเส้นทางจักรยานแล้ว
  • เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 ในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ครั้งที่ 2/2558 ณ ห้องประชุมอาคารสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมได้รายงานการทำงานร่วมกับหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 มติ 1 การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินละการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด กระทรวงมหาดไทย หนังสือที่ มท 0891.3/ว 741  ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง ขอความร่วมมือในการดำเนินงานการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล จึงขอความร่วมมือจังหวัดแจ้งส่วนราชการ พิจารณาดำเนินการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนร่วมกันของผู้ใช้รถยนต์และรถจักรยาน  โดยให้รายงานการดำเนินการให้กระทรวงมหาดไทยทราบตามแบบรายงานการดำเนินงานที่แนบให้ไปด้วย พร้อมสำเนาให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทราบภายในวันที่ 22 เมษายน 2558
  • เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558 กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างทางจักรยานตามนโยบายรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนการจัดทำเส้นทางจักรยานทั่วไทย เพื่อเป็นการคืนความสุขให้กับประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เพื่อการออกกำลังกาย และส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรุงเทพมหานคร บูรณาการการทำงานร่วมกัน ในการจัดให้มีเส้นทางจักรยานในทุกจังหวัดและทุกพื้นที่ โดยคำนึงถึงมาตรฐานและความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยานเป็นหลัก 33
  • เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2558 กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย โดย พญ.มยุรา กุสุมม์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรในกระทรวง ผู้ใช้รถ ชุมชนโดยรอบ และหน่วยงานตามเส้นทางจักรยาน ในการผลักดันการสร้างกระทรวงสาธารณสุขให้เป็น ‘สังคมจักรยาน (Bike Society)’ เพื่อเป็นต้นแบบในการสนับสนุนการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2556 โดยมอบหมายกระทรวงสาธารณสุขรณรงค์และสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง แต่การออกแบบก่อสร้าง จำเป็นต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของชาวสาธารณสุขและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้ทางจักรยาน (Bike Lane) สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง โดยนำ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ HIA มาประยุกต์ใช้ 
  • เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเรื่องการกำหนดมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างทางจักรยานในประเทศไทย ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

                 1. เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานการออกแบบ และการก่อสร้างทางจักรยานในประเทศไทย  เพื่อให้ทุกหน่วยงานนำไปอ้างอิงในการก่อสร้างเส้นทางจักรยานให้มีรูปแบบและมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

                 2. เห็นชอบให้ คค. กระทรวงมหาดไทย (มท.)  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.)  สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.)  กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  กระทรวงการคลัง (กค.)  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.)  และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ให้ความร่วมมือและสนับสนุนในการพัฒนาและส่งเสริมการเดินทางของประชาชนด้วยจักรยานตามภารกิจ หน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยให้นำคู่มือมาตรฐานการออกแบบและการก่อสร้างทางจักรยานสำหรับประเทศไทยเพื่อสำหรับอ้างอิงการก่อสร้างช่องทางจักรยานให้เป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

              3. เห็นชอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีในการดำเนินมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการเดินทางของประชาชนด้วยจักรยานตามขั้นตอนของกฎหมาย  และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

                    คู่มือมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างทางจักรยานในประเทศไทย  มีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานการแบ่งประเภทของทางจักรยาน การออกแบบทางกายภาพ การออกแบบชั้นผิวทาง การออกแบบป้ายจราจร สัญลักษณ์บนผิวทางและระบบอำนวยความปลอดภัยของทางจักรยาน ระบบอำนวยความปลอดภัยทางจราจร และ หลักเกณฑ์ของการกำหนดที่จอดจักรยาน โดยพัฒนามาจากมาตรฐานทางจักรยานขององค์กร The American Association of State Highway and Transportation Official (AASHTO) ที่ทั่วโลกยอมรับ และ Manual on Uniform Traffic Control Devices (MUTCD) มีรายละเอียด ดังนี้

                 1. มาตรฐานการแบ่งประเภทของทางจักรยาน (Bike Way Classification) ใช้หลักการกำหนดความเร็วและปริมาณจราจรเป็นปัจจัยควบคุมการแบ่งประเภทของทางจักรยาน (ปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย) ดังนี้

                        1)   เส้นทางที่ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ต่ำกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.) และมีปริมาณการจราจรเฉลี่ยน้อยกว่า 3,000 คันต่อวันต่อปี รถจักรยานสามารถใช้ช่องทางจราจรร่วมกันกับยานพาหนะอื่น ๆ ในช่องจราจรปกติ ซึ่งหากมีปริมาณจราจร มากกว่า 3,000 แต่ไม่เกิน 5,000 คันต่อวันต่อปี รถจักรยานสามารถใช้ช่องทางจราจรร่วมกันกับยานพาหนะอื่น ๆ เช่น ช่องจราจรติดคันขอบถนนหรือที่จอดรถริมทาง และในกรณีที่มีปริมาณจราจร มากกว่า 5,000 คันต่อวันต่อปีจะไม่สามารถดำเนินการทำช่องทางจักรยานได้ 

                       2)  เส้นทางที่ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ระหว่าง 30 - 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.) และมีปริมาณการจราจรเฉลี่ยน้อยกว่า 3,000 คันต่อวันต่อปี  รถจักรยานสามารถใช้ช่องทางจราจรร่วมกันกับยานพาหนะอื่น ๆ เช่น ช่องจราจรติดคันขอบถนน หรือที่จอดรถริมทาง ซึ่งหากมีปริมาณจราจรมากกว่า 3,000 แต่ไม่เกิน 5,000 คันต่อวันต่อปีให้จัดช่องทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ โดยมีการตีเส้นจราจรแบ่งช่องทางจักรยานให้ชัดเจน รวมทั้งมีอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยบนไหล่ทางและทางหลัก โดยในกรณีที่มีปริมาณจราจรมากกว่า 5,000 คันต่อวันต่อปี ให้มีทางจักรยานโดยเฉพาะโดยการตีเส้นจราจรแบ่งช่องทางจักรยานให้ชัดเจน

                       3)  เส้นทางที่ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ระหว่าง 50 - 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.)  ให้จัดช่องทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ โดยมีการตีเส้นจราจรแบ่งช่องทางจักรยานให้ชัดเจน รวมทั้งมีอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยบนไหล่ทางและทางหลัก หรือแยกทางจักรยานออกจากช่องจราจรทั่วไป เช่น ก่อสร้างทางจักรยานขึ้นใหม่โดยมีขอบคันคอนกรีต เพื่อแบ่งช่องจราจรหลักกับทางเดินเท้าและทางจักรยาน    

                       4)  เส้นทางที่ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์สูงกว่า 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.  ให้จัดทำทางจักรยานแบบเฉพาะ เช่น ไหล่ทางที่มีแนวหรืออุปกรณ์กั้น

                       5)  กรณีที่มีปริมาณจราจร 10,000 คันต่อวันหรือมากกว่า และมีความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์เท่ากับ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.) หรือมากกว่า การก่อสร้างทางจักรยานจะต้องอยู่นอกพื้นที่กันเพื่อความปลอดภัย (Clear Zone) ของถนน

                       6)  กรณีที่มีปริมาณรถขนาดใหญ่มากกว่า 30 คันต่อชั่วโมงในช่องจราจรริมควรพิจารณาแยกคันทางหรือหากใช้ทางจักรยานประเภทอื่นและมีความเร็วของการจราจรสูง (80 กม./ชม.   หรือมากกว่า) ควรจะมีพื้นที่ว่างคั่นระหว่างจักรยานกับรถยนต์ (buffer)

                       7)  บริเวณที่คาดว่ามีผู้ขับขี่จักรยานที่เป็นเด็กหรือผู้มีประสบการณ์ขี่จักรยานน้อย เช่น ทางจักรยานบริเวณโรงเรียน ชุมชน หรือสวนสาธารณะ เป็นต้น จะต้องใช้การจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับจักรยานเพื่อแยกทางจักรยานออกจากถนน

                2. การออกแบบทางกายภาพของทางจักรยาน (Geometric Design of Bike Way)ประกอบด้วยมาตรฐานการออกแบบ ดังนี้ 1) ความเร็ว และระยะการหยุดที่ปลอดภัย  2) ระบบป้ายจราจร               3) การออกแบบโค้งราบ Horizontal Curve 4) การออกแบบโค้งดิ่ง Vertical Curve   5) การออกแบบ Lateral Clearance ภายใต้เงื่อนไขระยะการหยุดรถจักรยานที่ปลอดภัย 6) การออกแบบทางแยก

                3.  การออกแบบชั้นผิวทางของทางจักรยาน

                         การออกแบบโครงสร้างทางจักรยาน ตามมาตรฐานของ AASHTO กำหนดไว้ว่า  

                  1) บนผิวจราจรที่ใช้ไหล่ทางทำเป็นช่องทางจักรยานให้ใช้ผิวจราจรของเส้นทางนั้น ๆ

                       2) ส่วนการออกแบบช่องจราจรประเภท MP – Multi Use Path หรือการแยกทางจักรยานออกจากช่องจราจรทั่วไป เช่น ก่อสร้างทางจักรยานใหม่ โดยมีคันขอบคอนกรีต หรือเกาะกลางถนนแบ่งช่องจราจร ซึ่งโครงสร้างผิวทางได้กำหนดไว้ ดังนี้

                       2.1) ผิวแอสฟัลท์ 5 ซม. ชั้นพื้นทาง 15 ซม. รองพื้นทาง 15 - 30 ซม.

                       2.2) ผิว Double Surface Treatment ชั้นพื้นทาง 15 ซม. รองพื้นทาง 15 - 30 ซม.

                       2.3) ผิวทางคอนกรีต 10 ซม. ชั้นทรายพื้นทาง 5 ซม. ชั้นรองพื้นทาง 10 ซม.

                4. การออกแบบป้ายจราจร สัญลักษณ์บนผิวทาง และระบบอำนวยความปลอดภัยของทางจักรยาน ประกอบด้วย การออกแบบสัญลักษณ์บนแผ่นป้ายจราจรและการติดตั้งป้าย การออกแบบสัญลักษณ์บนผิวจราจร 

                5. ระบบอำนวยความปลอดภัยทางจราจร ประกอบด้วย ระบบไฟกระพริบเตือนบนป้ายทางจักรยาน และระบบไฟฟ้าแสงสว่าง

                6. หลักเกณฑ์ของการกำหนดที่จอดรถจักรยาน

                      การกำหนดที่จอดรถสำหรับทางจักรยาน  U.S. Department of Transportation, Federal Highway Administration (2006) ให้คำแนะนำว่า การกำหนดมาตรฐานที่จอดรถจะต้องคำนึงถึงรายละเอียดตารางแสดง ดังนี้ 

    พื้นที่สำหรับการพิจารณา

    มาตรฐานที่จอดรถจักรยาน

    1. อาคารที่พักอาศัย

    2. อาคารสโมสร หรือ Club House (ใช้ทำกิจกรรม  เช่น เล่นกีฬา หรือ Sport Club เป็นต้น)

    3.  อาคารสโมสร หรือ สถานที่ที่ ใช้ในการพบปะสังสรรค์ ของคณะต่างๆ 

    4.  โรงแรม หรือ อพาร์ทเม้นท์  

    5.  ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ห้องแสดงงาน Galleries

    6.  โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย

    7.  โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนชั้นประถม

    8.  สถานที่พักฟื้น คลีนิค และสถาบันฯ

    9.  โรงพยาบาล

    10. ช้อปปิ้งมอลล์ โรงภาพยนต์ - คอมเพล็กซ์

    และอะเวนิว

    11. ย่านธุรกิจ และย่านนิคมอุตสาหกรรม

    12. พื้นที่อื่นๆ

     

    1 คัน ต่อ 3 ห้อง-ที่พัก

    1 คัน ต่อ ห้องกิจกรรม (บวก 3 %   ของจำนวนคน ที่จุได้สูงสุด)

     

    1 คัน ต่อ ห้องสังสรรค์

    1 คัน ต่อ พนักงาน 20 คน

    1 คัน ต่อ ที่จอดรถยนต์ 10 คัน

    1 คัน ต่อ พนักงาน 4 คน

    1 คัน ต่อ นักศึกษา 4 คน   

    1 คัน ต่อ พนักงาน 10 คน

    1 คัน ต่อ พนักงาน 20 คน

    1 คัน ต่อ พนักงาน 20 คน

     

    1 คัน ต่อ ที่จอดรถยนต์ 10 คัน

    1 คัน ต่อ ที่จอดรถยนต์ 10 คัน

    จะต้องอยู่ในดุลพินิจของผู้ออกแบบและผู้ใช้ว่าพื้นที่ ที่ใช้จะ

    เข้าเกณฑ์ต่างในข้อใด (ดังได้กล่าวแล้ว)        

ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้สำนักนายกรัฐมนตรี สนับสนุนการมีส่วนร่วมเพื่อการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ดังนี้
รายละเอียด: 

2.1 สนับสนุน กระบวนการ จัดทำยุทธศาสตร์ “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน”  ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาร่างข้อเสนอยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ตามภาคผนวก ท้ายเอกสารหลัก เป็นเอกสารตั้งต้น

2.2 สนับสนุนให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ดังกล่าว และเสนอต่อสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเพื่อรับรองร่างยุทธศาสตร์ให้เสร็จสิ้นภายใน ปี 2557

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • คณะทำงานขับเคลื่อนการจัดระบบและโครงสร้างสำหรับการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ได้กำหนดแผนดำเนินการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นระดับภูมิภาค เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์ตามมติการจัดระบบและโครงสร้างสำหรับการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน วัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุง (ร่าง) ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดระบบและโครงสร้างสำหรับการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน พ.ศ.2557 โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย 3 ภาคส่วนคือ ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม/ภาควิชาการ เนื้อหา (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลักคือ (1) การบริหารจัดการให้เอื้อต่อคนเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (2) การสร้างระบบและพัฒนาระบบโครงสร้างเพื่อคนเดินและใช้จักรยาน (3) การกำหนดมาตรการทางกฎหมาย ข้อบังคับ และการเงินส่งเสริมคนเดินและผู้ใช้จักรยาน (4) การสื่อสารเพื่อสังคมเดิน-จักรยาน ทั้งนี้มีการกำหนดจัดประชุมฯ ระดับภูมิภาค จำนวน 4 ครั้ง (6 ภูมิภาค)หลังจากนี้ จะนำผลจากทั้ง 4 เวที สรุปและปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์เพื่อนำเสนอต่อผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเวที ครั้งที่ 5 ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นช่วงเดือนมีนาคม 2558 จัดเวทีสรุปประเด็นรับฟัง (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ และรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดกลุ่มเป้าหมายและผลลัพธ์ในการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ให้สอดคล้องและเหมาะสม
  • เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ที่ประชุมแสดงความคิดเห็นค่อ “แผนยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (พ.ศ.2558-2564)” ณ ห้องแซฟไฟร์ ศูนย์การประชุมอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวเป็นการชับเคลื่อนตามมิตสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 เรื่อง “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ที่ผ่านความเห็นอชบจากคณะรัฐมนตรีแล้วตั้งแต่ปี 2556 ที่ผ่านมา ทั้งนี้แผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้เปรียบได้กับแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและต้องเข้ามาร่วมชับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยยุทธศาสตร์ 7 ปีดังกล่าวได้ผ่านการรับรองจาก “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” เป้นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ทุกภาคส่วนดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน 
  • เมื่อเดือนตุลาคม 2558 นายเจษฎา มิ่งสมร กรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “แผนยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (พ.ศ.2558-2564) 
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเป็นแกนนำ ประสานกับภาคีที่เกี่ยวข้องด้านการเดินและการใช้จักรยานและภาคีสมัชชาสุขภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ร่วมในกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ตามข้อ 2.1 รวมทั้งการให้คำปรึกษา คำแนะนำ การสนับสนุนทางวิชาการ การศึกษาดูงานเรียนรู้จากพื้นที่ที่ดำเนินงาน
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายณัชพล เกิดเกษม ประธานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพคน กทม. และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพมหานคร ได้นำสมาชิกจากทุกเขตทั่วกรุงเทพมหานครเข้ายื่นหนังสือพร้อมอ่านแถลงการณ์ต่อผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้สนับสนุนนโยบาย “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” พร้อมเรียกร้องให้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญในลำดับต้นๆ ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ หลังการเลือกตั้งวันที่ 3 มีนาคม 2556
  • เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2556 สช. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาหารือเพื่อติดตามความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนมติ “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” โดยพบว่าหลายแห่งมีแนวทางทำงานที่สอดคล้องกันและต่างก็เห็นประโยชน์ในการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายด้วยการเดินและใช้จักรยานอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดเจนของความสำเร็จในการส่งเสริมให้สังคมไทยหันมาใช้จักรยานอย่างเป็นรูปธรรมคือ ชุมชนหน้าวัดโคนอน ย่านภาษีเจริญซึ่งทางชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้เข้าไปสนับสนุน แลกเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้และสร้างความร่วมมือจากชาวชุมชนตั้งแต่ปี 2554 จนในที่สุด ณ วันนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างมีจักรยานของตัวเองใช้เกือบทุกหลังคาเรือน ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “กลุ่มออมทรัพย์เพื่อจักรยานชุมชน” ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม 60 คน
  • เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2556 ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมปันต้านโกงรอบ 3 เพื่อขับเคลื่อนงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 
  • เมื่อวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2557 ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับโครงการเทศบาลไทยมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 84 พรรษา ในหัวข้อเรื่อง “พี่น้องพบกัน...สานสัมพันธ์เทศบาลคาร์บอนต่ำ 5 ภูมิภาค” 
  • เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2557 ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดประชุมวิชาการ “การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 2”
  • ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการจัดโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย โดยการเข้าพบหน่วยงานราชการต่างๆ และมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการประชุมเครือข่ายผู้ใช้จักรยานและรักการเดิน ซึ่งได้จัดไปแล้ว 6 ครั้ง
  • เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557  สช. และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ปรึกษาหารือสถานการณ์และการดำเนินงานตามมติ โดยใช้เนื้อหาของมติเป็นตัวตั้ง ทบทวนสถานการณ์และความคืบหน้า ได้ข้อสรุปในทางปฏิบัติคือ ให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นอย่างเป็นทางการภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเป็นกองเลขานุการ คณะทำงานชุดนี้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนมติ 5.1 ข้อ 1 ซึ่งขอให้หน่วยงานราชการใน 10 กระทรวงกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินงาน สำหรับข้อ 2 ขอให้ สช. เป็นผู้เข้ามาดำเนินงานตามมติ 5.1 ข้อที่ 2 ในการจัดกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และข้อ 3 ได้ขอให้ชมรมฯ ดำเนินการต่างๆ โดยขอให้ สช. เข้ามาช่วยเหลือประสานงานและการสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ มาให้ชมรมฯ 
  • เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 มูลนิธิโลกสีเขียว ได้ยื่นจตหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่องการส่งเสริมจักรยาน โดยเสนอเรื่องแนวทางการส่งเสริมจักรยานของรัฐ ดังนี้

            1) มองเห็นและยอมรับว่าจักรยานเป็นพาหนะสัญจรประเภทหนึ่ง จึงควรเริ่มเก็บสถิติจำนวนผู้ใช้จักรยานในเมืองต่างๆ

            2) ยอมรับว่าหากจะส่งเสริมให้คนใช้จักรยานเดินทางได้มากกว่านี้ รัฐต้องทำให้การใช้จักรยานสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น เริ่มต้นด้วยการปรับพื้นผิวถนนด้านซ้ายให้ราบเรียบ ไม่มีร่องฝาท่อและหลุมบ่อ และบังคับใช้กฎหมายไม่ให้รถยนต์และมอเตอร์ไซด์รุกล้ำทางเท้าและทางจักรยาน

            3) ให้ความสำคัญแก่ขนส่งมวลชนมากกว่ารถยนต์ส่วนตัว ทำให้ระบบรถประจำทาง รถไฟ รถไฟฟ้า และเรือโดยสาร เป็นโครงข่ายการสัญจรระบบใหญ่และกลางเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ลำเลียงคนจำนวนมากไปยังส่วนหลักๆ ของเมือง โดยต้องแบ่งพื้นที่การสัญจรคืนมาจากรถยนต์เพื่อให้ระบบขนส่งมวลชนมีความคล่องตัวสูง และสะดวกสบายกว่ารถยนต์ส่วนตัว

            4) การใช้จักรยานและการเดินเป็นโครงข่ายการสัญจรละเอียดเสมือนเป็นเส้นเลือดฝอยเชื่อมต่อเส้นเลือดใหญ่ และเชื่อมต่อกันเอง เพื่อลำเลียงคนไปสู่ทุกส่วนย่อยๆ ของเมือง โดยต้องแบ่งพื้นที่การสัญจรคืนมาจากรถยนต์ ปลูกต้นไม้ใหญ่ริมทางเพื่อให้ร่มเงาแก่คนเดินและผู้ใช้จักรยาน

            5) ศึกษาความต้องการของกลุ่มผู้ใช้มอเตอร์ไซด์ และออกแบบถนนโดยคำนึงถึงการใช้มอเตอร์ไซค์ร่วมกับรถยนต์ พาหนะทั้งสองประเภทเป็นพาหนะที่มึความเร็ว แต่ถนนในเมืองออกแบบเพื่อสนองความต้องการของรถยนต์มากกว่ามอเตอร์ไซค์ ซึ่งมีผู้ใช้จำนวนมาก

            ที่ผ่านมา รัฐส่งเสิรมขนส่งมวลชนและการสัญจรทางเลือกอื่นๆ รวมทั้งจักรยาน โดยหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อรถยนต์ การส่งเสริมจักรยานจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง รัฐควรปฏิรูประบบการสัญจรใหม่ ให้ความสำคัญแก่การใช้รถยนต์ส่วนตัวในย่านกลางเมืองน้อยที่สุดและควรพิจารณาว่า หากจะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดรัฐต้องกล้าที่จะเรียกพื้นที่ถนนอันเป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคนคืนมาจากรถยนต์

ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ได้จัดให้มีการรายงานต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 ในระหว่างวันที่ 24-26 ธันวาคม 2557 
เอกสารหลัก: