You are here


การจัดการปัญหาหมอกควัน
สมัชชาครั้งที่: 
5
มติที่: 
4
ชื่อมติ: 
การจัดการปัญหาหมอกควัน
ผลการปฏิบัติงาน: 
เมื่อวันที่ 21-22 ตุลาคม 2558 ในการประชุมคณะทำงานวิชาการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ประเด็นการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ มี นายไพสิฐ พาณิชย์กุล เป็นประธาน ได้ชูประเด็นสำคัญที่ทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง สามารถแก้ปัญหาได้ แม้งบประมาณจำกัด รวมถึงการดึงหน่วยงาน ภาคี หรือองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจนี้เพิ่มเติม ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ มีชุมชนและเครือข่ายกว่า 300 ชุมชนที่รวมกลุ่มร่วมจัดการไฟป่าและหมอกควันอย่างจริงจังแต่ยังขาดการผนึกกำลังกับหน่วยงานราชการที่มีบุคลากรและงบประมาณ ที่ประชุมได้เสนอให้ดึงองค์กรธุรกิจและคนเมืองเข้ามาร่วมแก้ไขเพื่อเปลี่ยนจากผู้โวยวายมามีส่วนร่วม เป็นลักษณะโครงการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดการสนับสนุนงบประมาณอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการใช้งบประมาณภาครัฐและกองทุนสิ่งแวดล้อมที่มีข้อจำกัด ทั้งนี้ตัวแทนกรมป่าไม้และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นต่างระบุว่า ภารกิจป้องกันไฟป่าเป็นภารกิจหลักของกรมป่าไม้ แต่ยังติดปัญหาความล่าช้าในการโอนกำลังคนและงบประมาณ ไม่สอดคล้องกัน ทำให้การโอนภารกิจยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ปัจจุบันจะมีหลายท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการปัญหาไฟป่า แต่ยังไม่สามารถขยายผลได้เต็มที่นักเพราะยังมีท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ เกรงจะเป็นเรื่องผิดระเบียบซึ่งตัวแทนกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ยืนยันแล้วว่าสามารถทำได้ อย่างไรก็ตามจะมีการนำร่างทบทวนมติฯ ไปรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ต่อไป เพื่อสรุปเนื้อหาที่จะทบทวนเสนอสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 อันเป็นช่องทางให้เกิดการแก้ไขป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควันได้อย่างแท้จริงในระดับพื้นที่ต่อไป 
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปดำเนินการดังนี้
รายละเอียด: 

1.1 สำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และภาคเอกชน เป็นภาคีร่วมดำเนินงาน สนับสนุนภาคประชาชนและองค์กรชุมชน ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน โดยจัดตั้งคณะทำงานความร่วมมือภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน เพื่อทำหน้าที่

1.1.1 สนับสนุนให้องค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดทำแผนการบริหารจัดการ การสร้างสำนึก สร้างความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อขยายผล

1.1.2 สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน

1.1.3 สนับสนุนให้มีงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเรื่องลุ่มน้ำ สภาพป่า และประเภทป่า รวมทั้งนำข้อมูลและผลการวิจัยไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงให้มีการพัฒนาระบบการ บูรณาการข้อมูลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

1.1.4 สนับสนุนงบประมาณให้องค์กรชุมชนในการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมมากขึ้น ทั้งนี้ให้คณะทำงานความร่วมมือภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชน สภาเกษตรกรแห่งชาติ  สภาองค์กรชุมชนและสถาบันทางการศึกษา  

1.1.5 สนับสนุนการลดการเผาในพื้นที่เกษตร โดยสนับสนุนให้ทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษวัสดุพืช โดยกรมพัฒนาที่ดิน

1.1.6 ส่งเสริมให้ความรู้และทักษะแก่ประชาชน และเยาวชนในโรงเรียนในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันในพื้นที่อย่างเหมาะสม

1.2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลัก

1.2.1 ปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจของคณะกรรมการจัดการไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ ในประเด็นต่อไปนี้

(1) ให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานเลขานุการ

(2) เพิ่มคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของประชาชน และภาคเอกชน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในสัดส่วนที่เหมาะสมและให้มีตัวแทนครบทุกภาคของประเทศ

(3) ให้มีอำนาจในการพิจารณา และให้ความเห็นต่อแผนงาน แผนงบประมาณที่องค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำขึ้น เพื่อประกอบการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

(4) แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชุมชนจัดการไฟป่าและหมอกควันระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด และระดับภาค

       ให้คณะกรรมการตามข้อ 1.2.1 ดำเนินการจัดการปัญหาไฟป่า และหมอกควันในลักษณะเป็นการถาวรและประจำจนกว่าปัญหาจะคลี่คลาย

(5) แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามผลและตรวจสอบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน รวมทั้งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทุกระดับตั้งแต่ ระดับหมู่ บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และภูมิภาค

1.2.2 ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สนับสนุนให้คณะทำงานตาม 1.2.1 (4) เป็นองค์กรหลักประสานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่าในทุกระดับโดยมีคณะทำงานตาม 1.1  ให้การช่วยเหลือและสนับสนุน และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่รวบรวมแผนและงบประมาณ  เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการจัดการไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ

1.2.3 การทำข้อตกลงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันร่วมกัน

1.3 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นกลไกหลักร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะทำงานตาม 1.1 ศึกษา ยกร่างและปรับปรุงแก้ไข ระเบียบกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและพัฒนาให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งสาระการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า  การจัดการทรัพยากรป่าไม้ การแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์จากที่ดินและการเกษตร รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ค่าชดเชยต่อระบบนิเวศน์ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายใน 2 ปี

 

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2556 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2556 มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 เรื่อง “การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” โดยให้นำมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือตอนบนปี 2556 และการดำเนินการตามมาตรการป้องกันไฟป่าและหมอกควันประจำปี 2556 เพิ่มเติม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 และ 21 มกราคม 2556 พิจารณาประกอบเพื่อให้สอดคล้องกัน และให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป และเพื่อให้การจัดการปัญหาหมอกควันที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เห็นควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบว่า รองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายประดิษฐ์ สินธวณรงค์) จะดำเนินการประสานงานกับสำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
  • เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ ดังนี้

            1) เห็นชอบต่อมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555 เรื่อง การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรั้บไปดำเนินการต่อไป

            2) รับทราบการประสานความร่วมมือด้านงบประมาณของรองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อมและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในการจัดการปัญหาหมอกควันที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

          สาระสำคัญของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 เรื่องการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นการหนุนเสริม มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือตอนบนปี 2556 ของรัฐบาล โดยเฉพาะ (1) ในมาตรการที่ 3 สนับสนุน “ชุมชนมาตรฐาน หมู่บ้านปลอดการเผา” (2) มาตรการที่ 4 ส่งเสริมส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควัน (3) มาตรการที่ 5 สื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกสู่กลุ่มเป้าหมาย และ (4) มาตรการที่ 7 ขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556

         จากข้อเสนอตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเรื่องนี้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นฝ่ายอำนวยการและควบคุมการสั่งการระดับประเทศ ในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันไฟป่าและหมอกควันประจำปี 2556 เพิ่มเติม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556

         มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เรื่อง การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นมาตรการในระยะยาวที่มีขอบเขตครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

  • เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด ปี พ.ศ. 2556
  • เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินโครงการรวมพลัง หนุนชุมชน ลดไฟป่า ลดหมอกควันขึ้นเพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) องค์กรเอกชน ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรประชาชนและภาคีเครือข่ายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการรวมพลัง หนุนชุมชน ลดไฟป่า ลดหมอกควัน ที่มี อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน โดยมีวัตถุประสงค์

          1) เพื่อกำหนดแนวทาง ขั้นตอน ลักษณะกิจกรรมของโครงการรวมพลัง หนุนชุมชน ลดไฟป่า ลดหมอกควัน

          2) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคีภาคธุรกิจในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ให้กับชุมชนเป้าหมาย เพื่อให้การจัดกิจกรรมบรรลุตามวัตถุประสงค์และเกิดความยั่งยืน

          3) ประสานและบูรณาการข้อมูลและองค์ความรู้ในการจัดการหมอกควัน ไฟป่า

          4) ติดตามผลการดำเนินงานและส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีร่วมพัฒนาต่างๆ ในการจัดการหมอกควัน ไฟป่า ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม

          5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานได้ตามความเหมาะสม

          6) ดำเนินการอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

  • วันที่ 1 เมษายน 2556 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมป่าไม้ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ร่วมประชุมมอบนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ โดยเนื้อหาการประชุมเน้นหนักในสองเรื่องคือ มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควัน และมาตรการแก้ปัญหายาเสพติด โดยรองนายกรัฐมนตรีขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการทำงานกับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ทำงานร่วมกันแก้ปัญหาโดยให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือและนำมาตรการทางกฎหมายมาบังคับใช้ ทั้งนี้จากปัญหามลพิษหมอกควันที่เกินค่ามาตรฐานหลายจังหวัด หากมีการบุกรุกพื้นที่ป่าจะต้องจับกุมดำเนินคดีทุกรายโดยให้เน้นการเจรจาชี้ให้เห็นประโยชน์และโทษจากการเผา ไม่เน้นการใช้กฎหมายลงโทษโดยให้ดำเนินมาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยมีข้อสั่งการทุกหน่วยงานนำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 และ 21 มกราคม 2556 มาดำเนินการ ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มความเข้มข้นดำเนินการ ให้ประชาสัมพันธ์และบูรณาการการทำงานให้เป็นหนึ่งเดียว โดยขอทราบผลภายใน 7 วัน เพื่อจะได้ทราบว่าหน่วยงานไหนยังไม่เข้มแข็ง หน่วยงานใดต้องการสิ่งใดเพิ่มเติมให้แจ้งเพื่อปรับปรุงแก้ไข   ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดไปรายงานตัวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อร่วมแก้ปัญหามลพิษหมอกควันภาคเหนือ ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 1 เดือนจะต้องเร่งแก้ปัญหาให้คลี่คลายโดยรองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้จับกุมผู้ที่ตัดไม้ทำลายป่าและผู้ที่แอบอ้างว่ามีนักการเมืองหนุนหลังทุกราย
  • เมื่อวันที่ 22-23 กันยายน 2556 เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรฯ เครือข่ายทรัพยากรฯ สิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ภาคเหนือ) จึงได้จัดสรุปบทเรียนสภาพปัญหา ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ปัจจัย เงื่อนไข ความสำเร็จขององค์กรชุมชน องค์กรท้องถิ่นที่ขับเคลื่อนการจัดการไฟป่า ลดหมอกควันที่ผ่านมา อันจะเป็นแนวทางที่จะพัฒนากลไกคณะทำงานที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมของภาคพลเมืองในการจัดการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน ที่สามารถระบุปัญหา ศักยภาพองค์กร ความสำเร็จที่จะต้องรักษาและพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่องในระดับต่างๆ ได้อย่างชัดเจนขึ้น ผลจากการแลกเปลี่ยนพบว่า มีความแตกต่างด้านทัศนคติ ความเข้าใจ และผลประโยชน์ของคนในชุมชน เช่น ความเข้าใจ เรื่อง การชิงเผาว่าเป็นเรื่องไม่ไม่ดี ไม่เข้าใจการชิงเผาอย่างเป็นระบบ  คนเลี้ยงสัตว์ที่ได้ใช้ประโยชน์จากไฟป่า รวมถึงการใช้ประโยชน์จากคนภายนอก ทำให้มีการแอบเผา แกล้งเผา ลักลอบเผา รวมถึงการเกิดไฟป่าในเขตพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่รอยต่อ ที่ไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน ในขณะที่ส่วนราชการมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้น้อย แต่พื้นที่รับผิดชอบมีเป็นจำนวนมากทำให้ไม่สามารถจัดการได้ อีกทั้งยังมีอุปสรรคเรื่องงบประมาณ มีเฉพาะงบจัดจ้าง ไม่มีงบสนับสนุนชุมชน เป็นต้น ซึ่งมีข้อเสนอแนวทางในการจัดการในอนาคตเสนอผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ดังนี้

          (1) ข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด  สนับสนุนให้มีกระบวนการจัดทำแผนการจัดการไฟป่าและหมอกควันในระดับอำเภอทุกอำเภอ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจังรวมถึงจัดสรรงบประมาณให้กับชุมชนหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ชิดในพื้นที่เสี่ยง

          (2) ข้อเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนให้มีการแต่งบุคคล คณะบุคคลที่ติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพ เรื่องการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ สนับสนุนให้มีแผนและงบประมาณการดำเนินงาน ที่จะเอื้ออำนวยให้มีการดำเนินการ ตามมติสมัชชาสุขภาพ เรื่องการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556

          (3) ข้อเสนอต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขอให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งศึกษาทำความเข้าใจและเร่งดำเนินการให้การจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่น เทศบัญญัติท้องถิ่น ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ให้เป็นผลสำเร็จและสามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา โดยได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

          (4) ข้อเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมเป็นกลไกคณะกรรมการและเลขานุการ การจัดทำแผนและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับอำเภอ และนำประสบการณ์การแก้ไขปัญหา ที่ดินและป่าไม้ ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง ขยายผลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอื่นๆ ตามความเหมาะสม รวมถึงสนับสนุนงบประมาณและเจ้าหน้าที่ ให้เพียงพอและเหมาะสมในการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันการบุกรุกป่า ร่วมกับคณะกรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำและอุทยานแห่งชาติ

          (5) ข้อเสนอต่อองค์กรภาคธุรกิจ ให้องค์กรภาคการธุรกิจ กำหนดยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาธุรกิจในเขตป่าต้นน้ำลำธารแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นเป็นกิจการที่เหมาะสมต่อการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ มากกว่าการส่งเสริมให้เกิดการทำลายระบบนิเวศน์ป่า เช่น การปลูกสร้างสวนป่าผสมผสาน ระบบเกษตรอินทรีย์ รวมถึงสร้างรูปธรรมของการประสานความร่วมมือในการสนับสนุนชุมชนให้มีความสามารถในการจัดการปัญหาไฟป่าหมอกควัน เช่น การตั้งกล่องรับบริจาค หนึ่งเซเว่น หนึ่งชุมชน / หนึ่งธุรกิจ หนึ่งชุมชน เป็นต้น

  • เมื่อวันที่  3 ธันวาคม 2556 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับ 9 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือจัดกิจกรรม “โครงการวันรณรงค์ไม่เผาป่า ลดหมอกควัน” เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การเกิดไฟป่าและหมอกควันในปี 2557 รวมทั้งเพื่อสร้างจิตสำนึกและกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนเกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน นอกจากนี้ยังได้ประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อการสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ด้วย ภายหลังเสร็จสิ้นภาระกิจการมอบนโยบายและพิธีการลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ “รวมพลัง 9 จังหวัด ลดไฟป่า ลดหมอกควัน” แล้ว ในภาคบ่าย ยังได้มีการจัดงานวันรณรงค์ ไม่เผาป่า ลดหมอกควัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบอุปกรณ์ดับไฟป่าให้แก่ผู้แทนหมู่บ้านที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มอบเตาเผาขยะชีวมวลไร้ควัน ซึ่งเป็นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ลดมลพิษ ลดหมอกควันให้กับเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเพื่อใช้ในการกำจัดขยะในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
  • เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการรองรับผลกระทบจากภาวะหมอกควัน รวมทั้งขอความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลสุขภาพจากปัญหาหมอกควันไฟในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
  • เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ได้มีการเปิดเวทีบันทึกความร่วมมือการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่แกรนด์วิว 3 โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่ โดยมีองค์กรร่วมจัด ได้แก่ กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สภาเกษตรกรแห่งชาติโดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน โดยในงานครั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนในการจัดการทรัพยากรภาคเหนือได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อพลตรีธนา จารุวัต เสนาธิการกองทัพภาคที่ 1 ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อเสนอกระบวนการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมให้เกิดความต่อเนื่อง โดยได้เสนอการแก้ไข 3 ระยะคือ

            ระยะเร่งด่วน ให้นำหลักการมีส่วนร่วมและหลักสิทธิชุมชนตามความในมาตรา 66 และ 67 ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 มาประกาศใช้ให้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับรัฐอย่างเป็นระบบและแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่าจะไม่กระทบต่อผู้ยากไร้

            ระยะกลาง ทางเครือข่ายฯ มีข้อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้นำร่างกฎหมายที่สำคัญอย่างน้อย 5 ฉบับซึ่งภาคประชาชนได้ร่วมกันจัดทำมาได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาตราให้เป็นกฎหมาย ดังต่อไปนี้

  1. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
  2. ร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชนกับการร่มจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติ
  3. ร่าง พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ
  4. ร่าง พ.ร.บ. องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
  5. ร่าง พ.ร.บ.เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม 

               ระยะยาว ขอให้สถานภาพด้านสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ด้อยลงไปกว่ารัฐธรรมนูญปีพ.ศ.2550 ทั้งนี้โดยให้คงไว้ซึ่งบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในหมวดเรื่อง สิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชนและการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรสู่ท้องถิ่นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการทรัพยากรขององค์กรชุมชน

            และการลงนามบันทึกความร่วมมือ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกฝ่ายนำจุดเด่นของแต่ละองค์กรมาบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยให้ความสำคัญในเรื่อง สิทธิชุมชนสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรอย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งสนับสนุนให้ทุกภาคีมีการวางแผนมีการปฏิบัติสอดคล้องกับแนวทางการจัดการร่วมอันถือเป็นเจตนารมณ์ที่ตกลงร่วมกัน โดยมีองค์กรร่วมลงนาม จำนวน 21 องค์กร อันได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาองค์กรชุมชน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) (เชียงใหม่และลำพูน) เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน เครือข่ายลุ่มน้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

  • เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 พลเอกอนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่ารกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 65 จังหวัด เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวนโยบายตามแผนในภาพรวมของประเทศโดยให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันขึ้นทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้มีผู้แทนชุมชน ภาคประชาชน องค์กร มูลนิธิเข้าร่วมดำเนินการ และให้จังหวัดเร่งสำรวจ ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย ตลอดจนทรัพยากรกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน และจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน รวมทั้งแผนระดมพลดับไฟป่าให้เป็นปัจจุบันสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการบูรณาการด้านการควบคุมป้องกัน และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนการฝึกซ้อม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด ควบคุมการเผาขยะมูลฝอยในเขตชุมชน และห้ามเผาหญ้าในบริเวณริมทางโดยเด็ดขาด สำหรับในพื้นที่เกษตรกรรมให้การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์แทนการเผา การใช้เทคโนโลยีการเกษตรปลอดการเผา ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การเผาในที่โล่ง การใช้วัตถุไวไฟ การปล่อยโคมในช่วงเทศกาล เป็นต้น ด้านการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ให้ใช้มาตรการควบคุม ป้องกัน แจ้งเตือนสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมในการระงับเหตุไฟป่า โดยประสานและสนธิกำลังในพื้นที่ ร่วมกับ ท้องถิ่น อาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (อปพร.) ตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยทหารในพื้นที่ ในการปฏิบัติการ กรณีเกิดวิกฤติไฟป่า ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้อย่างจริงจัง กำชับให้เจ้าหน้าที่ กวดขัน ตรวจตรา ลาดตระเวน ดูแล ไม่ให้มีการบุกรุกแผ้วถางทำลายป่าและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด และให้เตรียมพร้อมเครื่องมือ ยานพาหนะ อุปกรณ์ดับเพลิง กู้ภัย ให้พร้อมปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อเกิดไฟป่า จัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ อาจร่วมสนธิกำลังกับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และอาสาสมัครอื่นเข้าร่วมปฏิบัติงาน และขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ งดเว้นการจุดไฟใกล้บริเวณแนวป่าโดยเด็ดขาด รณรงค์ให้ประชาชนทราบแนวทางการป้องกัน การปฏิบัติตนเมื่อเกิดไฟป่ารวมทั้งผลกระทบจากไฟป่าและหมอกควันที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยรวม
  • กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เร่งตรวจสอบสภาพค่ามลพิษในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงทั้งภาคเหนือตอนบนและภาคใต้ตอนล่าง ขณะนี้ได้ยกร่างแผนปฏิบัติงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีการขอความเห็นชอบจาก ครม.ภายในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งจะดำเนินงานภายใต้หลักการ “120 วัน คืนฟ้าใสอากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชน” มุ่งเน้นให้จังหวัดเป็นศูนย์กลางแก้ปัญหา และให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมเพื่อลดต้นเหตุของปัญหา มีกำหนดห้ามเผาเด็ดขาด 60 วัน กำหนดพื้นที่เสี่ยงกับการเผา และจัดงบประมาณให้ชุมชนหมู่บ้านเฝ้าระวัง
  • กรมป่าไม้ได้ดำเนินการจัดประชุมร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้รับทราบบทบาท จัดตั้งงบประมาณอบรมชาวบ้านและหาอุปกรณ์ดับไฟแล้ว โดยปัจจุบันมีเครือข่ายความร่วมมือควบคุมไฟป่าอยู่ 300 เครือข่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด มี 170 เครือข่าย สนับสนุนงบประมาณให้หมู่บ้านละ 1 แสนบาท เพื่ออบรมอาสาสมัครและอุปกรณ์ดับไฟ คาดว่าทุกเครือข่ายจะได้รับงบประมาณภายในต้นปีนี้ นอกจากนี้กรมป่าไม้ยังมีแผนการจัดแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยงไฟป่า 1,700 กิโลเมตร พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจดับไฟในรูปแบบหน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าภาคเหนือ 113 หน่วย
  • กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอให้คณะกรรมการหมู่บ้านเร่งสร้างจิตสำนึกให้แก่ชาวบ้านและสร้างกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมเรื่องการเผาในพื้นที่เกษตรด้านเงินทุนสนับสนุนการดับไฟ ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติ และของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม โดยกรมการปกครองขอความร่วมมือจากกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งอยู่ใกล้ชิดปัญหาช่วยกันดูแลซึ่งมีเพียงแรงงานคน ขาดงบประมาณจึงไม่มีความก้าวหน้า
  • วันที่ 23 มกราคม 2558 รัฐบาลได้มอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือ 10 จังหวัด โดยในโอกาสนี้ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย กระทรวงมหาดไทย  โดยนายไมตรี อินทุสุต  รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายสุจริต  อินทรชิต  ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมมอบแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ 10 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน ลำพูน พะเยา ตาก แม่ฮ่องสอน)  ตลอดจน ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ องค์กร และประชาชนในท้องถิ่น โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังต่อไปนี้

          1) 120 วันคืนฟ้าใส อากาศบริสุทธิ์ ให้ชุมชน โดยตั้งเป้าให้ฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตลอดช่วงเวลา 120 วัน (1 มกราคม – 30 เมษายน)

          2) ให้จังหวัดบริหารจัดการเบ็ดเสร็จ (Single Command) 

          3) ห้ามการเผาอย่างเด็ดขาดในช่วง 60 วันที่จังหวัดกำหนดเป็นช่วงวิกฤต ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักลอบเผาอย่างเฉียบขาด 

          4) ป้องกันไฟป่าอย่างเข้มข้น ลาดตระเวน ป้องปราม หาข่าว อย่างเข้มข้นเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการบุกรุกพื้นที่ การลักลอบเผา และควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่า 

          5) ควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร ส่งเสริมเกษตรปลอดการเผา 

          6) จูงใจสร้างแนวร่วมเครือข่ายชุมชน อุดหนุนงบประมาณสร้างขวัญกำลังใจให้เครือข่ายหมู่บ้านปลอดการเผา ฝึกอบรมสร้างเครือข่าย บ้าน วัด โรงเรียน 

          7) ส่งเสริมภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา สร้างแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนดำเนินโครงการ CSR ด้านการลดการเผาและหมอกควัน

          8) ข่าวสารทันสถานการณ์ ประชาสัมพันธ์เชิงรุกสู่เป้าหมาย แจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควัน ก่อนเวลา 10.00 น. ทุกวัน สื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึก ใช้กลยุทธ์เคาะประตูบ้าน และขอความร่วมมือกลุ่มเป้าหมายในการลดการเผา

          9) ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน ตามเป้ามายลดจุดความร้อนในอนุภูมิภาคแม่โขงให้เหลือไม่เกิน 75,000 จุด ภายในปี 2560 

        10) ขยายผลโครงการพระราชดำริ เพื่ออนุรักษ์ป่าและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน 

  • เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดงานโครงการรณรงค์ “ไม่เผาป่า รักษาธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์” จากสถานการณ์ปัญหาหมอกควันที่เกิดจากไฟป่าใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ ลำปาง แพร่ น่าน ลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา เชียงราย และเชียงใหม่ ซึ่งในส่วนของกรมป่าไม้ได้ประชุมหารือเพื่อวางแผนมาตรการในการป้องกันและควบคุมไฟป่า ปีงบประมาณ 2558 โดยกรมป่าไม้ได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ แยกเป็น

          1) การเตรียมความพร้อมในการควบคุมไฟป่าให้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่า 5 ศูนย์ ศูนย์ฝึกอบรมการป้องกันและควบคุมไฟป่า 4 ศูนย์ และหน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่า 52 ศูนย์ ในการจัดชุดเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ไฟป่า ร่วมถึงชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า (ชุดเหยี่ยวไฟ) ที่ได้รับการฝึกอบรมพิเศษในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันไฟป่าโดยเฉพาะ นอกจากด้านบุคลากรที่กรมป่าไม้ได้เพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว กรมป่าไม้ยังได้เตรียมในเรื่องของยานพาหนะและอุปกรณ์ดับไฟป่า เช่น รถดับเพลิง มอเตอร์ไซด์วิบาก วิทยุสื่อสารติดรถยนต์ เครื่องมือหาพิกัดดาวเทียม (GPS) วิทยุมือถือติดตามตัว เพื่อสะดวกต่อการเข้าพื้นที่ในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้แล้ว กรมป่าไม้ได้ออกประกาศกรมป่าไม้ เรื่อง กำหนดมาตรการในการป้องกันไฟป่าและควบคุมหมอกควัน และการห้ามเข้าบุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าที่เสียหายจากการเกิดไฟป่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ยึดถือและปฏิบัติโดยเคร่งครัด

          2) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า ในปี 2558 กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายฯ จำนวน 100 ข่าย ได้มอบเงินอุดหนุนให้กับหมู่บ้านเครือข่ายในการป้องกันไฟป่า จำนวน 100 โดยเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า มีภารกิจหลักประกอบด้วย การจัดทำข้อมูลพื้นฐาน การประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ การจัดซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่า การจัดหาอาสาสมัครควบคุมไฟป่า การฝึกอบรมอาสาสมัครควบคุมไฟป่า และการดำเนินการควบคุมไฟป่า โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าของกรมป่าไม้ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการให้ความรู้และฝึกทักษะในการปฏิบัติงานป้องกันและควบคุมไฟป่า ทั้งนี้กรมป่าไม้ได้ประสานงานกับเครือข่ายฯ ที่สร้างแล้วในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2557 จำนวน 200 เครือข่าย ให้ดำเนินการช่วยสอดส่องดูแลในพื้นที่ของตนเองอย่างต่อเนื่องต่อไป

          3) การจัดทำแนวกันไฟ มีการจัดทำแนวกันไฟ ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าหรือเกิดไฟป่าซ้ำซ้อนทั่วประเทศ จำนวน 3,500 กิโลเมตร ทั้งนี้ยังเปิดอบรมให้กับเครือข่ายฯ ในการให้ความรู้ในการจัดทำกล่องลดปริมาณเชื้อเพลิง ที่ได้จากเศษใบไม้แห้ง กิ่งไม้แห้ง ดิน และน้ำ เพื่อเก็บไว้ใช้เป็นปุ๋ยต่อไป

          4) ดำเนินการประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ

          4.1 โครงการรณรงค์ "ไม่เผาป่า รักษาธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์” โดยจัดขบวนรณรงค์ประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ไปใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตลอดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยเริ่มปล่อยขบวนรณรงค์ที่ จังหวัดลำปาง และเคลื่อนขบวนต่อไปยังจังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก จังหวัดพะเยา จังหวัดเชียงราย และไปสิ้นสุดโครงการที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ข้าราชการ พนักงาน ประชาชนทั่วไป ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการทั้งในระดับจังหวัด และอำเภอ เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ ทุกสังกัด ผู้นำชุมชน นักเรียน นิสิตและนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

          4.2 การจัดกิจกรรม "วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า” (24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี)

          4.3 การประชาสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน ป้ายประชาสัมพันธ์เอกสารเผยแพร่ การจัดนิทรรศการ การให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน

          5) การใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าโดยการใช้ข้อมูลจุดพิกัดความร้อน (Hotspot) ในการติดตามการเกิดไฟป่า และการใช้เครื่องมือหาค่าพิกัด GPS รวมถึงการรายงานและติดตามผลการปฏิบัติงานผ่านช่องทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่นไลน์

          นอกจากแผนมาตรการในการดำเนินงานที่กรมป่าไม้ได้กล่าวมา ข้างต้นแล้ว กรมป่าไม้ ยังได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันสอดส่องดูแลมิให้มีการเข้าบุกรุกยึดถือ ครอบครองพื้นที่ป่าที่เสียหายจากการเกิดไฟป่า รวมถึงการจุดเผาวัชพืชทางการเกษตร/ต่อซังข้าว ซึ่งอาจจะเป็นต้นเหตุของการเกิดไฟป่าได้ โดยกรมป่าไม้เองได้ประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทหาร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า และ อปท. ในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมไฟป่าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการเกิดไฟป่าบริเวณใด สามารถแจ้งกลับมาที่สายด่วนกรมป่าไม้ หมายเลข 1310 กด 3 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะรับเรื่องและประสานงานไปยังหน่วยงานที่ใกล้กับจุดเกิดเหตุ และเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ทันเวลา

  • เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการดูแลสุขภาพประชาชนจากผลกระทบปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งดำเนินป้องกันปัญหาไฟป่าอย่างเต็มที่ โดยในส่วนของการดูแลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 9 จังหวัด (จว.) ภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน ตาก และให้โรงพยาบาลทุกระดับที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จัดเตรียมเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ ยาประจำห้องฉุกเฉินต่างๆ เพื่อให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยได้อย่างทันท่วงที มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา ให้แต่ละพื้นที่เตรียมทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่ทันทีเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับหมอกควัน เพื่อดำเนินการควบคุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดผลกระทบเร็วที่สุด และขอความร่วมมือ อสม.รณรงค์ประชาชนในหมู่บ้านงดเผาป่า เผาหญ้า/วัชพืช หรือขยะ เพื่อลดมลพิษในอากาศ ทั้งนี้ ได้ให้กรมควบคุมโรคสำรองหน้ากากอนามัยจำนวน 270,000 ชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้พื้นที่ป้องกันการสูดฝุ่นละอองฝุ่นเข้าปอด หากคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัย และได้แจกให้ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนแล้ว 150,000 ชิ้น 
  • เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
  • เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแผนการบรรเทาปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือขณะนี้ว่า  ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ จํานวน 2 หน่วย คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.พิษณุโลก เนื่องจากค่าฝุ่นละอองขนาด ไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ในพื้นที่ภาคเหนือ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเกินกว่าค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเริ่มต้นเร็วกว่าปี 2557 ที่แนวโน้มเริ่มสูงขึ้น ขณะที่การพบจุด Hotspot ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศพม่า ประเทศไทยพบจํานวน 58 จุด โดยส่วนใหญ่พบในพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือ พบจุด hotspot จํานวน 5 จุด โดยมีค่าสูงสุดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จํานวน 5 จุด อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีการติดตามและวิเคราะห์สภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากสภาพอากาศเหมาะสมจะปฏิบัติการช่วยเหลือทันที โดยการดัดแปรสภาพอากาศแก้ปัญหาหมอกควัน และการทําฝนหลวง  ทั้งนี้ จากการรายงานผลดำเนินงานล่าสุดขณะนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และจ.พิษณุโลกไม่สามารถปฏิบัติการได้ เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60 % เมฆไม่ก่อตัว
  • เมื่อเดือนเมษายน 2558 พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมหารือ แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันจากการเผาเศษวัสดุภาคการเกษตร ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพืชพันธุ์ไทย และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในอนาคต ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันหาแนวทางในการควบคุมการเผาเศษวัสดุภาคการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาหมอกควัน โดยภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือ และเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ดังนี้

         1. ให้ผู้ประกอบธุรกิจ จัดทำทะเบียนแหล่งที่มาของพืชเกษตรที่รับซื้อมานั้น ว่ามาจากที่ใดบ้าง เพื่อสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้และใช้เป็นข้อมูลในการเตรียมการแก้ปัญหาต่อไป โดยจะเริ่มเก็บข้อมูลจากข้าวโพดเป็นลำดับแรก เนื่องจากพบว่า กว่า 50% ของ Hotspot ที่เกิดขึ้นและเกิดหมอกควันตามมา เกิดจากการเผาข้าวโพด

         2. ขอความร่วมมือจากพ่อค้าคนกลาง (Dealer) ในการเข้าไปช่วยชี้แจ้งและสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร ในการลดการเผาซังข้าวโพดและให้ปฏิบัติตามที่รัฐกำหนด

          นอกจากนี้ภาคเอกชนยังรับเรื่องการขอสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือในการทำลายเศษวัสดุภาคการเกษตรโดยไม่ใช้การเผา ไว้พิจารณาให้ความร่วมมือต่อไปด้วย

  • เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2558 พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2558 (After Action Review: ARR) และให้เกียรติเป็นประธานและ สักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันจากการเผาเศษวัสดุภาคเกษตรในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ ภาคเอกชน ณ ห้องแกรนด์คอนเวนชัน โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน

           การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวจัดขึ้นโดยกรมควบคุมมลพิษ เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการเตรียมการรับมือกับปัญหาไฟป่า การเผา และมลพิษหมอกควัน ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมและวางแนวทางการแก้ไขอย่างถูกต้องเพื่อบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และลดมลพิษปัญหาหมอกควัน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ ภายในงาน พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขอให้ทุกคนใช้เวลาในการประชุมให้เกิดประโยชน์มากที่สุดและคาดหวังว่าสิ่งที่จะได้หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม คือ นำข้อมูลที่ได้ในวันนี้แปลงเป็นแผนปฏิบัติการลดหมอกควันไฟป่าภาคเหนือ และโครงสร้างการจัดหน่วยดับไฟป่าของชาติ อีกทั้งได้ให้เกียรติเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันจากการเผาเศษวัสดุภาคเกษตรในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพืชพันธุ์ไทย และ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ร่วมแสดงเจตจำนงร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนืออย่างยั่งยืนโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลดและควบคุมการเผาเศษวัสดุภาคการเกษตรในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 9 จังหวัดภาคเหนือ

  • เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 ในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ครั้งที่ 2/2558 ณ ห้องประชุมอาคารสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมมีมติให้มีการพิจารณาทบทวนปรับปรุงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 มติ 4 การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 มติ 4 การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
  • เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ประชุมหารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ และการป้องกันรักษาพื้นที่ป่า การแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินป่าไม้ (กรณีการตัดไม้ยางพาราและเขาหัวโล้น) โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

    1) แบ่งการดำเนินงาน เป็น 4 ขั้นตอน คือ

    - เตรียมการ

    - ก่อนวิกฤต (เริ่มมีไฟ /ควบคุมสถานการณ์ และแจ้งเตือน)

    - ช่วงวิกฤต (เกิดภาวะไฟป่าหมอกควัน ระดมสรรพกำลังดับไฟ)

    - ฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืน

    2) ให้รักษาจุดแข็งของการดำเนินงานของปีที่ผ่านมา

    3) กรณีเกิดไฟป่าพื้นที่ใดให้พื้นที่นั้น ๆ ดำเนินการทันที

    4) วิเคราะห์พื้นที่ วิเคราะห์สถานการณ์ และสาเหตุของการเกิดไฟ บริเวณที่เคยเกิดปัญหา และให้วางมาตรการป้องกันไว้ตั้งแต่เริ่มต้น

    5) การสร้างเครือข่าย เพื่อเฝ้าระวังป้องกันมิให้เกิดไฟ พร้อมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจทั้งในด้านกฎหมายและผลกระทบแก่ชุมชน

    6) นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเต็มที่ เช่น การใช้ประโยชน์จากแอพลิเคชั่น Air4Thai ในการตรวจเช็คคุณภาพอากาศ จุด Hot Spot

    7) ให้มีการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา

    8) จัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือ และยุทโธปกรณ์ ให้พร้อมเพียง ทันต่อสถานการณ์

    9) เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ในการปฏิบัติงาน เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ เช่น การดับไฟ

    10) การเผยแพร่ข้อมูลและประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนตระหนักถึงโทษของหมอกควัน แต่ต้องไม่สร้างความตื่นตระหนก จนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์

    11) ให้ ทสจ. ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงาน ระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ จังหวัด และส่วนกลาง

    ในโอกาสนี้ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุม โดยมีพลตรี ธนา จารุวัต รองแม่ทัพภาคที่ 3 ให้การต้อนรับ และนายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารในสังกัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องประชุม 101 สโมสรบันเทิงทัพ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

    15. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 นายกฤษฎา  บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ด้วยในห้วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี พื้นที่ 9จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และตาก มักประสบกับปัญหาไฟป่าและวิกฤตหมอกควัน ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากสภาพภูมิประเทศ และสภาพอากาศที่เกิดความแห้งแล้ง ประกอบกับพฤติกรรมการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกพืช และการเผาตอซังจากการเกษตร รวมทั้งหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน รวมทั้งบดบังทัศนวิสัย ก่อให้เกิดปัญหาต่อการคมนาคมทั้งทางบกและทางอากาศ และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีระบบ และมีการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีหนังสือสั่งการด่วนที่สุดไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ให้ดำเนินการดังนี้

                1) การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน รวมทั้งแผนระดมพลดับไฟป่าของจังหวัดให้เป็นปัจจุบันสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และให้เร่งสำรวจ ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย ตลอดจนทรัพยากรกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งรณรงค์ขอความร่วมมือ และควบคุมการเผาขยะมูลฝอยในเขตชุมชน และห้ามเผาหญ้าในบริเวณริมทางโดยเด็ดขาด สำหรับในเขตพื้นที่เกษตรกรรมให้มอบหมายนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่องค์ความรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบและเข้าใจมาตรการลดการเผาในเขตพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งส่งเสริมการไถกลบเศษวัสดุภาคการเกษตรแทนการเผา โดยจัดแปลงสาธิตฯ ประจำตำบล เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการให้กับกลุ่มเกษตรกร พร้อมทั้งสนับสนุนความรู้ทางวิชาการ

                2) การควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ให้ใช้มาตรการควบคุม ป้องกัน แจ้งเตือนสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมในการระงับเหตุไฟป่า โดยประสานและสนธิกำลังในพื้นที่ ร่วมกับ ท้องถิ่น อาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (อปพร.) ตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยทหารในพื้นที่ ในการปฏิบัติการ กรณีเกิดวิกฤติไฟป่า ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้อย่างจริงจัง พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ กวดขัน ตรวจตรา ลาดตระเวน ดูแล ไม่ให้มีการบุกรุกแผ้วถางทำลายป่าและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด และให้เตรียมพร้อมเครื่องมือ ยานพาหนะ อุปกรณ์ดับเพลิง กู้ภัย ให้พร้อมปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อเกิดไฟป่า และจัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

                3) เมื่อเกิดสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันขึ้นในพื้นที่ ให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด เพื่ออำนวยการ สั่งการ และระดมสรรพกำลัง พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรสาธารณกุศลในพื้นที่ เพื่อให้การสนับสนุนและร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่เกิดขึ้น โดยขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ งดเว้นการจุดไฟใกล้บริเวณแนวป่าโดยเด็ดขาด และรณรงค์ให้ประชาชนทราบแนวทางการป้องกัน การปฏิบัติตนเมื่อเกิดไฟป่า ผลกระทบจากไฟป่าและหมอกควันที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายและการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิด

                ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้กำชับให้จังหวัดดำเนินการตามแผนและมาตรการต่างๆ โดยบูรณาการประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานภายในจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันเฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพและเป็นระบบ รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่จะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินทั้งของประชาชน ราชการ รวมถึงผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

- เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการะทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุม "การเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขมลพิษหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ณ ห้องประชุมศูนย์ประชุมฯ เชียงใหม่ สรุปสาระการประชุมติดตามผลการดำเนินงานเตรียมความพร้อมรับมือสถานณ์ ดังนี้

1)  เน้นปฏิบัติในพื้นที่จริง สร้างจิตสำนึก ปรับพฤติกรรม ก่อนเกิดไฟ ถ้าไม่ได้ผลบังคับใช้กฎหมาย เมื่อไฟเกิดให้รีบดับ

2)  ฐานข้อมูล ทสจ. ให้เน้นดำเนินการในพื้นที่เสี่ยง ประสานข้อมูลกับ GISDA

3)  การเตรียมความพร้อม ณ ปัจจุบันมีแผนที่ดี ขอให้ ทสจ. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานกับหน่วยงานรับผิดชอบอื่นๆ โดยเฉพาะหน่วยงาน ทส. ในพื้นที่

4)  นับจากการประชุมวันนี้เป็นต้นไปให้ดำเนินการตามแผนอย่างเข้มข้น

5)  เน้นการป้องกัน โดย อส. ปม. ในฐานะเจ้าของพื้นที่ป่าสงวนและอุทยาน ที่มี hot spot จำนวนมากให้ความสำคัญในเรื่องนี้

6)  ให้ส่งแผน/ผลการระดมพลและการป้องกัน/ทำความเข้าใจกับพื้นที่ ให้ฝ่ายเลขา (คพ) ภายในวันที่ 15 มกราคม 2559

- เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2559 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือสั่งการให้จังหวัดเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน โดยเฉพาะในพื้นที่ 65 จังหวัด เน้นหนัก 9 จังหวัดในภาคเหนือที่มักเกิดปัญหาวิกฤติหมอกควันไฟป่าทุกปี ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยาแม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และตาก ซึ่งภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แอ่งกระทะ โดยสาเหตุของปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการเผาวัชพืชและวัสดุการเกษตร เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกหรือการเผาเพื่อประกอบอาชีพ การเผาวัชพืชริมทาง ไฟป่า และการเผาในชุมชน ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน

- เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 นายกฤษฎา  บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมศูนย์เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และประสานการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ปี 2559 และได้มีการประชุมผ่านระบบ Video Conference ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 9 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และจังหวัดตาก เพื่อซักซ้อมและสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการบูรณาการการปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีระบบ รวมทั้งติดตามสถานการณ์และการเตรียมความพร้อมของจังหวัดในพื้นที่และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

- เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เปิดการประชุมคณะทำงานอาเซียนเพื่อยกร่างโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควัน (ASEAN Haze-Free Roadmap) โดยมี พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งกรมควบคุมมลพิษกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 7 – 9 มีนาคม 2559 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมระดับปลัดกระทรวง /อธิบดี และระดับปฏิบัติงานจาก 10 ประเทศอาเซียน ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของประเทศไทย ได้ร่วมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเกิดหมอกควันในแต่ละประเทศ เพื่อนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัด มาตรการ แนวทางการดำเนินงาน และยกร่างเป็นโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควัน เพื่อเปลี่ยนให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคปลอดหมอกควันภายในปี 2563 ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการร่างโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควัน เสร็จแล้วประเทศไทยจะเป็นผู้นำเสนอร่างโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควันดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อขอความเห็นชอบและนำไปสู่การปฏิบัติภายในปี 2559 ต่อไป สำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มีดังนี้ 1) ขั้นเตรียมการ 2) ขั้นปฏิบัติการรับมือ มีดังนี้ ก่อนวิกฤต ช่วงวิกฤต และ 3) ฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืน

- เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

     1. เห็นชอบแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือปี 2559 เพื่อกำหนดให้เป็นนโยบายรัฐบาล และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป

     2. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินรวม 93.8180 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขหมอกควันภาคเหนือ ปี 2559 ในส่วนของการดำเนินงานของ 9 จังหวัด

     แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2559

     เน้นการป้องกันก่อนเกิดเหตุไม่ให้เกิดการเผาและการลุกลามของไฟจนยากที่จะควบคุม เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด เน้นการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร อุปกรณ์เครื่องมือ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการเผาและไฟป่าในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงให้ความรู้และเข้าถึงชุมชนเพื่อสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการลดการเผาตลอดช่วงวิกฤต ปี 2559 และในช่วงวิกฤตหมอกควันที่จังหวัดกำหนด จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ลักลอบเผา โดยบูรณาการและสั่งการจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command)

     พื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก

     หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) และ 12 กระทรวง ประกอบด้วย (1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ทส. (2) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) (3) กระทรวงการคลัง (กค.)  (4) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) (5) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) (6) กระทรวงกลาโหม (กห.) (7) กระทรวงคมนาคม (คค.)  (8) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) (9) กระทรวงพลังงาน (พน.) (10) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) (11) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ (12) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

     กลไกกำกับดูแล กำกับและติดตามผลการดำเนินงานโดยศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ศอ.ปกป)

  • เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ออกปฏิบัติการทำฝนหลวงอย่างต่อเนื่องโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเติมน้ำในเขื่อนหลัก แก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งและการบรรเทาปัญหาหมอกควันโดยเฉพาะในบริเวณภาคเหนือทั้ว 10 จังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้เปิดปฎิบัติการฝนหลวงอย่างเต็มรูปแบบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 และในส่วนกรมพัฒนาที่ดินได้เดินหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควัน 4 มาตรการคือ 1) การไถกลบตอซัง 2) การรณรงค์ลดการเผาตอซัง 3) การปลูกไม้โตเร็ว และ 4) ธนาคารปุ๋ยหมัก โดยดำเนินการใช้งบประมาณปี 2559 ในพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ ผ่านเครือข่ายหมอดินอาสาในพื้นที่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วพบว่าสามารถลดปัญหาหมอกควันได้ถึง 81%
  • เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ/ถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) เพื่อวิเคราะห์การดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ และพิจารณา (ร่าง) กรอบแผนการดำเนินงานป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควัน ปี 2560 โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกล่าวเปิดงานและมอบแนวทางการสรุปผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ/ถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) และการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควัน ปี 2560 โดยมีผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้แทนจาก 9 จังหวัดภาคเหนือ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย ณ โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ได้จัดให้มีการรายงานต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 ในระหว่างวันที่ 24-26 ธันวาคม 2557 
เอกสารหลัก: