You are here


การปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA)
สมัชชาครั้งที่: 
5
มติที่: 
6
ชื่อมติ: 
การปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA)
ผลการปฏิบัติงาน: 
ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  ครั้งที่ 1/2556 วันที่ 25 มกราคม 2556 ที่ประชุมมีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 และมอบหมายให้ 1) เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแจ้งมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควรต่อไป  และ 2) คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) พิจารณาแสวงหาวิธีการผลักดันและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 เพื่อให้บรรลุผลตามควรแก่กรณี หากเห็นว่ามติใดสมควรเสนอให้ คสช. พิจารณา ให้เสนอ คสช. พิจารณาต่อไป เมื่อเดือนธันวาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ระดมเครือข่ายจัดการประชุมวิชาการนานาชาติระดับอาเซียนเรื่อง การประเมินผลกระทบและการบรรเทาผลกระทบภายใต้แนวคิดความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียน ครั้งที่ 1 ได้มีการจัดประชุมคู่ขนานหัวข้อ “การประชุมปรึกษาหารือระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายหลังจากการมีวิสัยทัสน์ร่วมด้านการประเมินผลกระทบสุขภาพของอาเซียน ปี 2558 ณ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ประชุมมีการนำเสนอข้อมูลในประเด็นความต้องการด้านกำลังคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างสมรรถนะด้านการประเมินผลกระทบให้แก่บุคลากรจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งด้านภาครัฐ ภาคการลงทุน ภาควิชการ และภาคประชาสังคม เพื่อก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนบนหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส โดยมีใช่คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนควบคู่ไปด้วย รวมทั้งข้อเสนอของการดำเนินการจากหน่วยงานภาครัฐ วิชาการ เอกชน และหน่วยงานสนับสนุนเงินทุนต่อโรงการที่สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน  เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 มีการออกคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2559 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2559 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพวิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญให้กิจการด้านคมนาคม ชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล ที่อยู่อาศัยไม่ต้องรอให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ โครงการที่รอผลการพิจารณา EIA หน่วยงานสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชน ผู้รับดำเนินการไปพลางก่อนได้  เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559 องค์กร บุคคลและเครือข่ายด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน 46 องค์กรได้แสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องร่วมกัน ดังนี้ คำสั่งที่ 9/2559 เป็นการส่งสัญญาณทางนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นเป้าหมายเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องการคมนาคม เช่น ท่าเรือ ระบรถไฟ ทางด่วน ฯลฯ ชลประทาน เช่น เขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งมักประสบปัญหาการทำลายระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของชุมชนท้องถิ่นตลอดมา การเร่งรัดดังกล่าวเป๋นการลดความสำคัญด้านการดูแลคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การดำเนินการที่ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการ โดยที่มาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังมิได้รับความเห็นชอบ เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่บกพร่องในการละเว้นการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่ปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ สาระสำคัญและผลชองคำสั่งนี้จึงไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้กรอบขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยได้แสดงความผูกพันทางการเมืองในทางปฏิบัติ ไม่ลอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โครงการหรือกิจการเข้าข่าย คำสั่งที่ 9/2559 เป็นโครงการของหน่วยงานรัฐ จึงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวางและรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคุณภาพชีวิต แม้ว่าจะยังให้มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป แต่จะสร้างผลกระทบและความเชื่อมั่นต่อความเป็นอิสระในการจัดทำและพิจารณาของ EIA และจะยิ่งทำให้โครงการที่ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวมีปัญหาความขัดแย้ง ความไม่เชื่อถือยอมรับจากประชาชนและชุมชนในพื้นที่โครงการ รวมทั้งจากสาธารณะ แม้ว่าจะเป็นโครงการที่มีผลประโยชน์ต่อสังคมก็ตาม                   ข้อเรียกร้อง 4 ข้อดังนี้  ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 เพื่อป้องกันและระงับมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเพิ่มขึ้นในสังคมไทยและมิให้เป็นคำสั่งที่ขัดแย้งกับแนวนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาที่ยั่งยืน รัฐบาลควรเร่งผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับธรรมาภิบาล สร้างความเชื่อถือและเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งมิให้เกิดความล่าช้าเกินควร ข้อเสนอในการปฏิรูปโครงสร้างและระบบ EIA ได้มีการจัดทำและเสนอไว้แล้ว นับตั้งแต่มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2555 ข้อเสนอของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ (สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม) และข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพิ่มเติมเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิและเสรีภาพ (ด้านสิทธิชุมชฯ) และในหมวดการปฏิรูปเพื่อให้มีบทบัญญัติที่นำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างและระบบการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการนำการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์มาใช้ดำเนินการ ให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ทั้งฉบับเพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีการจัดทำข้อเสนอแนะการยกร่างปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวไว้แล้วโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย  เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2559 ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แต่ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ดังนี้ นายวิพุธ พูลเจริญ เป็นประธานกรรมการ และเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้มีกรรมการไม่เกิน 20 คน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการ มอบหมายให้ประธานและเลขานุการพิจารณา เสนอประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป ให้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่และอำนาจตามเสนอ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
รับรอง(ร่าง)แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามเอกสารภาคผนวกท้ายมตินี้ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติข้อ 2 และข้อ 3
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ประธาน คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.)  ได้มีหนังสือที่ สช 0086/2556 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556  ถึง ประธาน HIA Commission เพื่อโปรดพิจารณาตามที่เห็นสมควร
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอต่อประธานรัฐสภา คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาใช้แนวทางในข้อ 1 เพื่อผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และเป็นแนวทางในการปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • การประชุมเชิงปฏิบัติแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2556 สรุปสาระสำคัญที่เป็นความก้าวหน้าการขับเคลื่อนมติฯ  ดังนี้

         (1) สำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการการปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕  ส่วนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  รับผิดชอบปรับปรุงให้ระบบของ EIA มีความชัดเจนขึ้น และได้มีการนำมติไปเป็นแนวทางของการปรับระบบ EIA ในเรื่องของกรอบระยะเวลา การติดตาม แต่ก็ไม่ได้นำทุกข้อไปประกอบการพิจารณา เช่น กองทุนเนื่องจากหลักการเรื่องกองทุนยังไม่ชัดเจน

        (2) คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) มีคำสั่งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง คือ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ทำการศึกษา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535  และดำเนินการปรับปรุงแก้ไข โดยดูร่างทั้งหมด 3 ร่าง ประกอบกัน คือ 1) ร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกา 2) ร่างของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 3) ร่างของภาคประชาชน ซึ่งสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้เข้าชื่อเสนอ 1 หมื่นรายชื่อ เสนอไปที่สภาผู้แทนราษฎร 

        (3) คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่งตั้ง อนุกรรมการด้านวิชาการเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาปรับปรุงระบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มีรองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี)เป็นประธาน มีองค์ประกอบของภาคเอกชนมาร่วมเป็นอนุกรรมการซึ่งเดิมไม่มี

  • เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2560 ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายประเด็นการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 58 ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ต้องจัดทำกฎหมายรองรับภายใน 240 วัน ข้อเสนอนี้จัดทำคณะทำงานพัฒนาแนวทางการดำเนินงานด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... ที่มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน โดยมีสาระสำคัญ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1. ข้อเสนอต่อการกำหนดนิยามสำคัญในร่างกฎหมายรองรับมาตรา 58 ประกอบด้วย คำว่า “การดำเนินการใดของรัฐ หรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ” ที่เสนอให้ต้องกำหนดขอบเขตคำนี้ ให้ครอบคลุม ชัดเจนทั้งระดับนโยบายและระดับโครงการ กิจกรรม ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ที่มาตรา 67 ระบุเพียงระดับโครงการและกิจกรรมเท่านั้น และต้องให้ครอบคลุมการดำเนินงานของทั้งหน่วยงานของรัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง สอดคล้องตาม แนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (Health In All Policies) และคำว่า “การเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหาย” ที่เสนอให้กำหนดระบบ กลไก และมาตรการเยียวยาที่ชัดเจน และมีมาตรการการฟื้นฟูควบคู่กับการเยียวยาด้วย โดยใช้หลักการ “ผู้ก่อมลพิษ (ก่อความเสียหาย) เป็นผู้จ่าย” (Polluter Pays Principle : PPP)   ส่วนที่ 2. ข้อเสนอต่อการดำเนินงาน ประกอบด้วย 6 แนวทางหลัก คือ 1) เร่งจัดตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการจาก ๕ กระทรวงหลักที่ครม.มอบหมาย เพื่อศึกษาว่า ร่างกฎหมายตามมาตรา 58 นั้น ควรเป็นกฎหมายกลางที่พัฒนาขึ้นใหม่ในรูปแบบใด การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ควรอยู่แยก หรือรวมกับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เช่นปัจจุบันนี้ สิ่งสำคัญคือการพัฒนา (ร่าง) กฎหมายรองรับมาตรา 58 นี้ ควรใช้การพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา (4PW)   2) จัดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตลอดกระบวนการ โดยเสนอให้นำรูปแบบสมัชชาสุขภาพไปปรับใช้ 3) จัดทำระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ เพื่อสนับสนุนข้อมูลการประเมินผลกระทบที่มีความต่อเนื่อง เป็นปัจจุบัน และเพียงพอ ตามหลักการทำงานบนฐานความรู้และหลักฐาน (Evidence based) 4) ให้มีกลไกที่มีความเป็นอิสระที่มีองค์ประกอบทางวิชาการและภาคประชาสังคม เพื่อให้ข้อคิดเห็นประกอบการพิจารณาดำเนินการ หรืออนุมัติ อนุญาต 5) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพแก่หน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และ 6) สนับสนุนชุมชนและภาคประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบให้สามารถจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment : CHIA) ได้เอง เพื่อเป็นข้อมูลของชุมชน โดยชุมชน   โดยข้อเสนอเชิงนโยบายนี้ สช. จะรับไปส่งต่อและสื่อสารไปยังหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างกฎหมายตามมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญฯ ต่อไป
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาจัดตั้ง “คณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน เช่น องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคประชาชน ร่วมอยู่ในคณะอนุกรรมการฯ เพื่อนำแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในข้อ 1 ไปดำเนินการแปลงสู่การปฏิบัติ
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำแนวทางการปฏิรูปฯ ตามข้อ 1 ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสู่การปฏิบัติ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาสังคม
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีบทบาทหลัก 2 ข้อ คือ  1) นำผลการศึกษาไปประกอบการพิจารณา และในเรื่องที่ต้องอนุมัติ ต้องดูกฎหมายแม่ให้อำนาจแค่ไหน 2) สามารถประชาสัมพันธ์ให้ท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบ จึงขอรับการสนับสนุนเอกสารข้อมูลชุดความรู้เพื่อให้ท้องถิ่นได้ไปเผยแพร่
ข้อที่: 
5
ชื่อรายการ: 
ขอให้เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ องค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง หรือประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามแนวทางในข้อ 1 โดยอาจผ่านช่องทางการดำเนินงานของแต่ละเครือข่าย/องค์กร และขอให้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนการดำเนินงาน
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เครือข่ายภาคใต้ได้ทำงานสรุปบทเรียน ทำเอกสารวิชาการ ทำงานกับประชาชนในพื้นที่ที่เจอ EHIA กำลังดำเนินการการจัดพิมพ์เอกสารดังกล่าว
  • เครือข่ายภาคประชาชนได้ทำงานกับ สกว. คือ เรื่องมาตรา 67 วรรค 2 ศึกษากติกา ข้อพิจารณาปรับปรุง  เรื่อง กรอบของการประเมินระยะเวลา
  • เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2557 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการจัดตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ณ ห้องประชุมบุญสมมาร์ติน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนามโดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. และ รศ.นพ.วัฒนา นาวาเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • วันที่ 3 กรกฎาคม 2557 เครือข่ายนักวิชาการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) ได้จัดเวทีเสวนา “ผ่าตัด อีไอเอ ลดความแตกแยกสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ ห้องประชุม 202 (พระยาสุนทร) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ โดยมีตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของประเทศร่วมรับฟัง ที่ประชุมมีการเรียกร้องจากนักวิชาการ เอ็นจีโอ รวมตัวกันยื่นข้อเสนอให้คสช.พิจารณาปฏิรูปกฎหมายอีไอเอ และกฎหมายอีเอชไอของประเทศขึ้นใหม่ คือ การชี้ให้เห็นว่ากฎหมายอีไอเอ และอีเอชไอเอที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิชุมชนหลายด้าน นอกจากนี้ ทั้งกฎหมายอีไอเอ/อีเอชไอเอ ที่ใช้อยู่ยังเป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม อย่างไม่รู้จบ เสนอให้ คสช.พิจารณาปฏิรูปกฎหมายอีไอเอ/อีเอชไอเอ คือ
    • การเสนอให้มีการจัดตั้ง “กองทุน” เพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนเพื่อสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นองค์กรอิสระ ไม่อยู่ใต้อำนาจของนักการเมืองสำหรับกองทุนพิจารณาอีไอเอ/อีเอชไอเอนี้ มีสถานะกึ่งๆ องค์กรอิสระ จัดตั้งโดยรัฐ ตัวคณะกรรมการจะมาจากการสรรหา ขั้นตอนการดำเนินการ เมื่อมีโครงการมาให้ประเมิน

                    1.ทางกองทุนจะตั้งคณะทำงานกำกับการจัดทำรายงาน โดยมีผู้แทนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเจ้าของโครงการจะต้องส่งเงินสนับสนุนเข้ากองทุน

                    2.จัดกระบวนการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านกับชุมชน

                    3.การลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษาหาข้อมูล หรือที่เรียกว่าการทำ Public Scooping

                    4.นำข้อมูลที่ได้จากการทำ Public Scooping มาจัดทำเป็น TOR เพื่อเปิดคัดเลือกทีมที่ศึกษาอีไอเอ ซึ่งเป็นที่ทุกฝ่ายยอมรับ หรือให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษา หรือให้มีทีมศึกษาในประเด็นที่ชุมชนสนใจแยกต่างหากก็ได้

                    5.หลังจากได้ข้อมูลจากทีมที่ศึกษาแล้ว สผ.ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรอิสระหลังการปฏิรูปอีไอเอ/อีเอชไอเอ จะทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร และบรรจุวาระการประชุมให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาส่วนบทบาทของ คชก.จะแตกต่างจากเดิม

                   ที่การพิจารณาอีไอเอจะทำแค่การพิจารณาในห้อง ก็เปลี่ยนมาเป็นการลงพื้นที่จริงก่อนการประชุมรายงานอีไอเอดังกล่าว พร้อมทั้งต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนชี้แจงข้อมูลกับ คชก.โดยตรง รวมทั้งให้มีตัวแทนชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมเป็น คชก.ในการพิจารณาโครงการด้วยหลังจากผ่านขั้นตอนแรกในการตรวจสอบอีไอเอแล้ว หากมีการอนุมัติโครงการ ก็จะต้องมีการขั้นตอนหลังจากอีไอเอคือ การสนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการร่วมกำกับติดตามตรวจสอบ ผลกระทบที่มาจากโครงการ ที่สำคัญในขั้นตอนหลังนี้ก็คือ ผลจากการติดตามหากพบว่าโครงการมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชนจริง ก็สามารถให้ระงับหรือยุติโครงการได้

  • ในระดับกรอบแนวคิดของการปฏิรูป เครือข่ายอีไอเอ/อีเอชไอเอ ยังเสนอว่าการศึกษาอีไอเอยังควรทำการประเมินในระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Enviroment Assessment : SEA) เพิ่มการศึกษาความเหมาะสมและคุ้มประโยชน์ควบคู่การทำจัดอีไอเอ/อีเอชไอเอ และมีการวิเคราะห์ต้นทุนสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย พร้อมกับปรับปรุงกฎกติกาที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ เพิ่มที่ปรึกษาทางวิชาการของชุมชน และการศึกษาสามารถนำไปสู่การยกเลิกโครงการ หากข้อมูลอีไอเอ/อีเอชไอเอบ่งชี้ว่ามีผลกระทบที่รุนแรงเกิดขึ้น
  • มีข้อเสนอระยะสั้นว่าในธรรมนูญชั่วคราว ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติร่างขึ้นมานั้น ควรระบุสิทธิของชุมชนเอาไว้ด้วย มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 รวมถึงปฏิรูปกฎหมายทั้งหมดที่ล้าหล้ง เช่น พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ปี 2535
  • เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้มีข้อเสนอเร่งดำเนินการปฏิรูปการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนี้

            1) EIA หรือ EHIA ไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มเป็น SEA หรือการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ เช่นในกรณีเขื่อนแม่วงก์ ถ้ามี SEA ต้องมองทิศทางในการพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรัง ซึ่งมีลุ่มน้ำแม่วงก์รวมอยู่ในนั้นด้วย และทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำ มีกี่ทางเลือก แล้วนำแต่ละทางเลือกมาศึกษา ต้นทุนแต่ละทางเลือกอย่างละเอียด ไม่ลำเอียง และการยอมรับของประชาชน หากดำเนินการเช่นนี้ ก็ย่อมมีคำตอบมากกว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์

            2)  เจ้าของโครงการต้องไม่เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการทำรายงาน EIA และ EHIA โดยตรง เพราะจะทำให้ผู้ทำรายงานขาดอิสระ โดยควรมีกองทุน หรือระบบกองกลาง โดยให้หน่วยงานกลางทำหน้าที่จัดหาผู้ทำรายงาน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะผ่านหรือไม่ และได้ค่าจ้างเต็มตามจำนวน และหน่วยงานกลางต้องไม่ใช่ผู้ทำหน้าที่แค่ผู้ดูแลเงินงบประมาณและส่งรายงาน แต่ควรมีหน้าที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ มีอำนาจในการตัดสินใจว่าโครงการนี้มีความเป็นไปที่จะดำเนินการลงรายละเอียดต่อหรือไม่

            3) EIA และ EHIA ต้องมีอายุจำกัด ไม่ใช่ว่าอายุ ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็ยังกลับมาใช้ เพราะสภาพการณ์ในแต่ละช่วงเวลาของสังคมและสิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนไปแล้ว

            4) คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีตัวแทนนักวิชาการซึ่งเป็นตัวแทนจากองค์กรภายนอก ภาคประชาชน กลับเข้ามาทำหน้าที่อ่านรายงาน ร่วมพิจารณารายงานในฐานะคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯในด้านต่างๆ พร้อมทั้งเปิดที่นั่งให้ชุมชนผู้มีส่วนได้-เสีย เสนอรายชื่อเข้าไปร่วมรับฟัง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนหรือฝ่ายคัดค้าน

            5) รายงาน EIA และ EHIA ไม่ควรจะเสนอและแก้จนกว่าจะผ่าน แต่หากผู้จัดทำรายงานเป็นอิสระ ก็มีสิทธิที่จะเสนอได้ว่าควรยุติโครงการ เนื่องจากมีผลกระทบสูงและมาตรการที่จะป้องกันเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนสูงกว่าความเป็นไปได้ที่เจ้าของโครงการจะลงทุนหรือระบบทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้มีคุณค่าเกินกว่าจะทำลายด้วยโครงการก่อสร้างต่างๆ

  • เมื่อวันที่ 26-27 มกราคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมกับสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.มอ.) จัดเวทีวิชาการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA Conference) ประจำปี 2557 ผลการประชุมได้สะท้อนความเห็นมากมายถึงข้อจำกัดในการประเมิน EIA และ EHIA ที่ไปไม่ถึงเป้าหมาย และพยายามผลักดันให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพิ่มรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment: SEA) ครอบคลุมบริบทสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมในแต่ละพื้นที่โดยโครงการไม่ต้องเสียเวลาทำ EIA/EHIA หากรายงาน SEA พบว่าไม่เหมาะสม นอกจากนี้ เห็นควรให้มีคนกลางเข้ามา ทำหน้าที่ กำหนดขอบเขตการศึกษา ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งควรจัดตั้งคณะกรรมการในระดับพื้นที่ มาจากภาครัฐในส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในชุมชน ทำหน้าที่อนุมัติหรืออนุญาตโครงการ และติดตามผลกระทบต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เสียงของประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง และยังทำให้การแก้ไขปัญหามลพิษเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ข้อที่: 
6
ชื่อรายการ: 
ขอให้รัฐบาลเร่งรัดผลักดันให้มีการตรากฎหมายองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550) อย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
ข้อที่: 
7
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ได้รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 แล้ว
เอกสารหลัก: