You are here


กลไกและกระบวนการสมัชชาสุขภาพ
สมัชชาครั้งที่: 
5
มติที่: 
11
ชื่อมติ: 
กลไกและกระบวนการสมัชชาสุขภาพ
ผลการปฏิบัติงาน: 
ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  ครั้งที่ 1/2556 วันที่ 25 มกราคม 2556 ที่ประชุมมีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 และมอบหมายให้ 1) เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแจ้งมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควรต่อไป  และ 2) คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) พิจารณาแสวงหาวิธีการผลักดันและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 เพื่อให้บรรลุผลตามควรแก่กรณี หากเห็นว่ามติใดสมควรเสนอให้ คสช. พิจารณา ให้เสนอ คสช. พิจารณาต่อไป สช. ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติกลไกและกระบวนการสมัชชาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ดังนี้ การทบทวนและพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 โดยคำนึงถึงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 มติที่ 11 เรื่องกลไกและกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ขึ้น ประกอบด้วย 6 หมวด 13 ข้อ (โดยเฉพาะหมวดที่  5 ข้อ 7 การกำหนดระเบียบวาระการประชุม และข้อ 8 การประชุมพิจารณาหาฉันทมติต่อระเบียบวาระการประชุม) ดำเนินการพัฒนา ทบทวน วิเคราะห์ระดับการมีส่วนร่วมของกลุ่มเครือข่ายในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดกลุ่มเครือข่าย และยกระดับการมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะ รวมทั้งศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลสนับสนุนการทบทวนการจัดกลุ่ม เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพและยกระดับการมีส่วนร่วมของกลุ่มเครือข่ายต่อไป สนับสนุนการจัดกระบวนการเพื่อเสริมศักยภาพและยกระดับการมีส่วนร่วมของกลุ่มเครือข่าย  เช่น จัดให้มีการรับฟังและแสดงความคิดเห็นต่อร่างมติทั้งในภาพรวมและระดับพื้นที่ และสร้างความเข้าใจ รวมทั้งสื่อสารข้อมูลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตลอดจนกระบวนการตั้งแต่การพัฒนาข้อเสนอไปจนถึงการขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ การประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนการพัฒนาและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา เพื่อพัฒนากระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในระยะต่อไป และสร้างความเชื่อมโยงการทำงานระหว่างการพัฒนาข้อเสนอและการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติห้เกิดประสิทธิภาพและไปในทิศทางเดียวกัน ผลการประชุมได้ข้อเสนอที่สำคัญทั้งในเชิงหลักการ และแนวทางการยกระดับกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในด้านต่างๆ เพื่อให้กลไกที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการดำเนินงานต่อไป ภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองคณะอนุกรรมการบริหารภายใต้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจสช.) ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 ซึ่งได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุระเบียบวาระ “ข้อเสนอการปฏิรูปรระบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” เพิ่มเติมอีก 1 ระเบียบวาระ (ตามหลักเกณฑ์ข้อ 12 ของการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2556) เพื่อให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ร่วมกันพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายในระดับหลักคิด ทิศทาง และแนวทางสำคัญๆ สำหรับการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้เป็นไปตามหลักการและแนวคิดในเรื่องสมัชชาสุขภาพทึ่พึงประสงค์ และหลักการของการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม จึงเป็นรูปแบบสำคัญอันหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้สมัชชาสุขภาพมีชีวิตและมีการพัฒนาต่อไป  เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นประธานในที่ประชุม ที่ประชุมรับทราบสรุปผลการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2557 และมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) โดยมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธานกรรมการและเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ มีกรรมการไม่เกิน 30 คน มีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งโดยมีหน้าที่และอำนาจตามเสนอ สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ มอบหมายให้ประธานและเลขานุการพิจารณาเสนอประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้ง และมอบหมายฝ่ายเลขานุการพิจารณากลไกในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เหมาะสมกับแต่ละประเด็นมติโดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานให้สามารถเกิดผลรูปธรรมได้จริง  เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2560 ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ชุดใหม่ ดังนี้ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ และเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้มีกรรมการไม่เกิน 30 คน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ มอบหมายให้ประธานและเลขานุการพิจารณาเสนอประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้งต่อไป ให้คณะกรรมการฯ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยให้มีหน้าที่และอำนาจตามที่เสนอ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 มราประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ชุดใหม่ ซึ่งแต่งตั้งตามคำสั่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ 16/2560 ขึ้นมาทำหน้าที่แทนคณะกรรมการชุดเดิมที่หมดวาระลง โดยมี ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการ เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมสานใจ ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมาติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 2 เป็นประธานอนุกรรมการ และ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ มี ดร.วณี ปิ่นประทีป ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานอนุกรรมการ โดยให้ประธานทั้ง 2 คณะได้พิจารณาเพิ่มเติมกรรมการ เพื่อให้มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ มาช่วยสนับสนุนให้การขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ไปสู่ความสำเร็จ
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นและสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ ยึดหลักการและแนวคิดในเรื่องสมัชชาสุขภาพที่พึงประสงค์ และหลักการของการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยสร้างและสนับสนุน ขีดความสามารถของภาคีเครือข่ายในการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง มีการพัฒนาระบบการสนับสนุนข้อมูลเชิงประจักษ์ในการจัดทำเอกสารหลักและเอกสารร่างมติ ที่สำคัญที่สุดคือการจัดการอย่างเป็นระบบ พร้อมรับนวัตกรรม และเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง อันจะทำให้สมัชชาสุขภาพ มีชีวิต มีการพัฒนา และเป็นรูปแบบสำคัญอันหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ความก้าวหน้าการดำเนินงาน นอกจากการดำเนินการอย่างเข้มแข็งในการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับคณะกรรมการทั้งหมดและองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจแล้ว คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 ได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2556  ตามคำสั่งที่ 8/2556 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 มีนายสุรพงษ์ พรมเท้า  เป็นประธานคณะทำงาน มีหน้าที่และอำนาจ ในการทบทวนและให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 และนำเสนอผลการดำเนินงานต่อ คจ.สช.เพื่อดำเนินการต่อไป
  • คจ.สช. พ.ศ. 2556 ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2556  เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556  โดยคำนึงถึงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 มติ 11 เรื่องกลไกและกระบวนการสมัชชาสุขภาพขึ้น  ประกอบด้วย 6 หมวด 13 ข้อ  (โดยเฉพาะหมวดที่ 5 ข้อ 7 การกำหนดระเบียบวาระการประชุม และข้อ 8. การประชุมพิจารณาหาฉันทามติต่อระเบียบวาระการประชุม)
  • สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะฝ่ายเลขาฯ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ดำเนินงานตามมติอย่างต่อเนื่องในเรื่องต่าๆ ดังนี้

          1. พัฒนากระบวนการพัฒนาร่างข้อเสนอเชิงนโยบายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 เพื่อให้มีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สร้างความเป็นเจ้าของในประเด็นปัญหาร่วมกัน โดยเริ่มตั้งแต่

          เชิงรับ ได้แก่ 1) ประเด็นที่เสนอจากองค์กร หน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่างๆ 2) ประเด็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่เสนอจากคณะกรรมการ สุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ 3) ประเด็นที่เกิดจากการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งขาติที่ผ่านมา

          เชิงรุก ได้แก่ การชักชวน กระตุ้น หนุนเสริม และการพัฒนาวิธีการแก่กลุ่มเครือข่ายต่างๆ 

         2. กระบวนการพิจารณาร่างระเบียบวาระการประชุม คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) โดยอนุกรรมการวิชาการ จัดกระบวนการสนับสนุนให้มีการกำหนดขอบเขตการพัฒนาด้วยการให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเปิดเวทีร่วมพัฒนาข้อเสนอฯ ก่อนการจัดทำร่างระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้วยการทำความเข้าใจในสาระของประเด็นดังกล่าวให้กับกลุ่มเครือข่ายก่อนการเข้าร่วมประชุมในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

        3. กลุ่มเครือข่ายพื้นที่กำหนดจัดสัปดาห์รับฟังความคิดเห็นต่อร่างระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 

  • ในส่วนของการสื่อสารทำความเข้าใจกับคณะกรรมการและองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการพยายามดำเนินการอย่างเข้มแข็งในการสร้างความเข้าใจต่อหลักการและแนวคิดในเรื่อง สมัชชาสุขภาพที่พึงประสงค์ และหลักการของการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยนำความรู้เรื่องการอภิบาลใน 3 รูปแบบได้แก่ 1) การอภิบาลโดยรัฐ 2) การอภิบาลโดยตลาด 3) การอภิบาลแบบเครือข่าย ซึ่งแนวทางการอภิบาลจะเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับวิถีประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม กับการอภิบาลแบบเครือข่าย
  • เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สังคม และสุขภาวะ ที่มี รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อหากลยุทธ์ขับเคลื่อนมติต่อไป ที่ประชุมรับทราบว่า ขณะนี้ได้มีการเสนอให้ทบทวน (Revisit) มติฯ เช่น “การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” , “มาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน” , “นโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เนื่องจากมีข้อจำกัดในการขับเคลื่อนและสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น และได้ขอความร่วมมืออนุกรรมการแต่ละท่าน ช่วยติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานแต่ละมติ ด้วยการประสานงานและร่วมประชุมกับกลไกหลักๆ ถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติฯ รูปธรรมความสำเร็จ ปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดต่างๆ โดยขอให้นำมาเสนอในการประชุมอนุกรรมการฯครั้งถุดไป เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และวางแผนการขับเคลื่อนต่อไป
  • เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2558 ณ ห้องประชุมอาคารสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ที่มี รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน และ นางวณี ปิ่นประทีป เป็นรองประธาน มีคณะกรรมการจากองค์กร หน่วยงาน และผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้อำนวยการสำนักสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ  มีอำนาจและหน้าที่วิเคราะห์และวางแนวทางการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพฯ ไปสู่การปฏิบัติตามทิศทางแนวทางที่ คมส. กำหนด รวมถึงส่งเสริม สนับสนุนและแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานองค์กรและภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับกลไกหลักด้านการแพทย์และสาธารณสุขด้วยมาตรการเชิงรุก รายงานผลการดำเนินงาน ให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อ คมส. อย่างต่อเนื่อง และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็นนั้น ได้มีการประชุมจำนวน 2 ครั้ง และมีความก้าวหน้าดังนี้

          1. การวิเคราะห์มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนมติฯ โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กลไก/หน่วยงานขับเคลื่อนมติฯ ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนมติฯ ความต่อเนื่องการขับเคลื่อนมติฯ จำนวน ๓๔ มติ จึงนำมาสู่การกำหนดรูปแบบการขับเคลื่อนมติฯ 5 กลุ่ม  คือ Retire   Revisit   Regroup   Rearrange  Report 

          2. การทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา จากการติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนมติฯ พบว่า มีมติฯ ที่เสนอให้ทำการทบทวนเพื่อแก้ไขปรับปรุง จำนวน 2 มติ ได้แก่ มติ 3.1 มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน เสนอจากที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 และ มติ 5.4 การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เสนอโดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ และภาคีเครือข่าย ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบให้ดำเนินการ ดังนี้

            2.1 แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 มติ 1 มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน โดยมี ศ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล เป็นประธาน และให้คณะทำงานฯ ดำเนินการทบทวนปรับปรุงมติฯ นำข้อเสนอทางวิชาการจาก คสช. ไปพิจารณาและรายงานต่อคณะอนุกรรมการฯ เพื่อเสนอต่อ คมส. พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2558 

            2.2 ให้มีการพิจารณาทบทวนปรับปรุงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 มติ 4 การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และแต่งตั้งคณะทำงานทบทวนมติฯ ดังกล่าว

        3. จากการติดตามการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งขาติฯ ภายใต้แนวทางการพัฒนาระบบและกลไกขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่ขับเคลื่อนมติฯ พบว่ามีหน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น ได้ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 

  • เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ระหว่าง คณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็น และ คณะอนุกรรมการวิชาการ ครั้งที่ 2 โดยมี นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการ เป็นประธาน โดยที่ประชุมคณะทำงานฯ ได้รายงานความก้าวหน้า ของการดำเนินงานในแต่ละประเด็น และข้อคิดเห็นเพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง สำหรับการเสนอนโยบาย แผนงาน หรือยุทธศาสตร์ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น ต้องมีความชัดเจน 3 ประการ ประกอบด้วย 1). Roadmap ในการดำเนินงาน กำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือน , 6 เดือน , 9 เดือน ไปจนถึง 1 ปี 2) เป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ และตัวชี้วัดที่ชัดเจน สามารถติดตามประเมินผลได้ 3) แผนงบประมาณ ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติงาน ทางคณะอนุฯวิชาการ เห็นพ้องว่าจำเป็นต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกระดับ และการกำหนดนิยามระหว่างคำว่า ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง และระบบสุขภาพเขตเมือง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงานระยะต่อไป ที่ประชุมสรุปว่า หลังจากนี้ ทางคณะทำงานแต่ละประเด็น จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นย่อยร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ Stakeholder ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อพัฒนาเอกสาร(ร่าง)มติ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป
  • เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 น.พ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวในการประชุม เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า มติที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน ทุกฝ่ายต้องมาช่วยกันพิจารณาว่า ทำอย่างไร จึงจะขับเคลื่อนไปได้ ส่วนมติที่ขับเคลื่อนไปได้แล้ว ทางคณะอนุกรรมการฯ จะทำหน้าที่เพียงแค่ติดตามดูเท่านั้น  ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หยิบยกประเด็น “การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติ กับบุคลากรทางการแพทย์” ซึ่งเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑ ขึ้นมา เพราะแม้จะมีกระบวนการปรับปรุงการให้บริการในระบบสาธารณสุข และสร้างกลไกต่างๆ ที่เอื้อต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติ กับบุคลากรสาธารณสุขแล้ว....แต่ปัญหาระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ยังคงมีอยู่ อีกทั้งสถานการณ์รุนแรงขึ้น เนื่องจากเรื่องนี้ยังขาดเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการทำงาน ที่ประชุมมอบหมายให้ นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ตัวแทนภาคประชาชน เป็นเจ้าภาพหลักในการวิเคราะห์ปัญหาให้ชัดเจน เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนการทำงานต่อไป และนำมาหารือในที่ประชุมครั้งหน้า พร้อมกับดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาร่วมทำงานด้วย อาทิ ศูนย์สันติวิธี กระทรวงสาธารณสุข 

               อีกมติ คือ “เป้าหมายในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย” มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 ได้ถูกนำมารายงานความก้าวหน้าในที่ประชุมครั้งนี้ โดยศูนย์พัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ แผนงานโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ปัจจุบัน การแก้ไขป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ (NCDs) ได้รับความสนใจจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่กำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันโรค NCDs เพราะถือเป็นกลุ่มโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกและประเทศไทย แต่เนื่องจากการป้องกันโรคกลุ่มนี้ ไม่สามารถดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ต้องจัดการสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆด้วย ประเด็นนี้ จึงต้องบูรณการการทำงาน ระหว่างภาคส่วนต่างๆ โดยจะมีการรับฟังความเห็น ในวันที่ ๑๐ มี.ค.นี้ ต่อ ร่างแผนปฏิบัติการบูรณาการยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย ที่ตอบสนองต่อ 9 เป้าหมาย ซึ่งได้นำกรอบการติดตามและประเมินผลของ องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การสหประชาชาติ (UN) มาใช้ เพื่อผลักดันแผนไปสู่คณะรัฐมนตรีต่อไป 

                ทั้งนี้ ขอให้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่จะต้องขับเคลื่อนทุกมติ พยายามปรับโรดแมพการทำงานให้อยู่ในระยะไม่เกินปี 2560 เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการบริหารของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งจะทำให้มติมีเส้นทางที่ชัดเจน ก่อนจะส่งต่อไปยังรัฐบาลต่อไป” นพ.ศุภกิจ ย้ำแนวทางและทิศทางการทำงานต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข

  • เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” หรือ คมส. ที่มี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานได้มีการประชุม คมส. ครั้งที่ 2/2559 ซึ่งในที่ประชุม น.พ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประธาน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข รายงานความก้าวหน้า คมส. ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 เรื่อง “ระบบสุขภาพเขตเมือง : การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” ซึ่งขณะนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีคนหลั่งไหลเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองเพิ่มขึ้น และผู้ให้บริการสุขภาพมีมาก แต่การดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะบริการระดับปฐมภูมิยังไม่เพียงพอ ดังนั้น ทาง สธ. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำยุทธศาสตร์ว่าด้วยระบบสุขภาพเขตเมือง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ก่อนขับเคลื่อนสู่ภาคปฏิบัติต่อไป  

              ในส่วนของมติ “นโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs)” นพ.ศุภกิจ รายงานว่า จะจัดทำยุทธศาสตร์ให้เสร็จภายใน 1 ปี พร้อมทำแผนปฏิบัติการ สร้างมาตรฐานฉลาก รวมถึงเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 25 มีนาคม 2559 นี้ เพื่อให้นโยบายให้ลดบริโภคเกลือเป็นวาระแห่งชาติ 

              ประเด็น “วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับโลก ที่ขยายวงมาถึงประเทศไทยแล้ว โดยในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ ต้องการให้มีการจัดการปัญหาอย่างบูรณาการ มีกลไกหลักคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะประสาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันผลักดันประเด็น วิกฤติการณ์เชื้อดื้อยาฯ ให้เป็นวาระแห่งชาติ และจัดทำแผนยุทธศาสตร์ปี 2559-2561 โดยต้องเปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป 

              นอกจากนั้น นพ.ศุภกิจ ยังรายงานความก้าวหน้าของประเด็น “การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติ กับบุคลากรทางการแพทย์” มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ซึ่งมีการขับเคลื่อนมติสมัชชาฯสุขภาพ ไม่มากนัก และมอบให้ นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา อนุกรรมการฯ จากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ตัวแทนภาคประชาชน เป็นเจ้าภาพหลักในการวิเคราะห์ปัญหา และทบทวนว่าต้องดำเนินการเพิ่มเติมอย่างไร 

             สำหรับ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ที่มี รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน ได้รายงานความก้าวหน้าต่อ คมส. ใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ที่ขณะนี้มุ่งเน้นให้ชุมชนคนพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการลดปัญหาอุบัติเหตุมากขึ้น 2.กลุ่มมติเกษตร อาหาร และโภชนาการ มอบให้ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ เป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อน โดยโฟกัสไปที่อาหารที่ผลิตจากสินค้าเกษตร ซึ่งจะพิจารณาตั้งแต่ระดับ ต้นน้ำ คือมาตรฐานการผลิตและนำเข้าที่ปลอดภัย กลางน้ำ คือการบังคับใช้กฎระเบียบ มีปัญหาอะไรบ้าง และต้องปรับปรุงอย่างไร และปลายน้ำ คือพื้นที่ชุมชน ที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จ (Small Success) ในการลดใช้สารเคมีเกษตร 3. กลุ่มเด็กกับสื่อ ได้แก่ ผลกระทบจากสื่อต่อเด็กเยาวชนและครอบครัว และการจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ๒๔ ชม. : กรณีเด็กไทยกับไอที มอบให้ ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก เป็นประธาน และจะประสาน “ครูหยุย” วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. เข้าร่วมต่อไปด้วย 

ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการอย่างเข้มแข็งในการสื่อสารทำความเข้าใจกับคณะกรรมการทั้งหมดและองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจและนำมติในข้อ 1 ไปสู่การปฏิบัติให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทุกปี จนเป็นบรรทัดฐานและวัฒนธรรมในการจัดสมัชชาสุขภาพ หรือจนกว่าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะมีมติเป็นอย่างอื่น
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ทำการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานต่างๆ และกลุ่มเครือข่ายสมาชิกสมัชชสุขภาพทั้งในส่วนกลางและพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสื่อสารในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ
  • สำหรับการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเครือข่าย ได้มีการสร้างความเข้าใจในเรื่องบทบาทการมีส่วนร่วมของกลุ่มเครือข่ายในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ก่อนงาน ระหว่างงาน และหลังงาน เป็นต้น
  • ด้านการสื่อสาร เพื่อให้มีการสื่อสารอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องของกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทั้งการพัฒนาและขับเคลื่อนได้มีการจัดทำจดหมายข่าวอิเลคโทรนิกส์ “เกาะติด NHA 365 วัน” รายงานผ่านช่องทางอีเมล์ของกลุ่มเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพ คณะกรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงาน และผ่านทาง facebook เป็นต้น
  • จัดให้มีการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ผ่านมาที่ต้องรายงานอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 จำนวน 10 มติ คือ มตินโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้  มติการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ มติการจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (สุขใจ...ไม่คิดสั้น) มติการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง มติการบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีทุกภาคส่วน มติความปลอดภัยทางอาหาร : การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มติการปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) มติการพัฒนากลไกและกระบวนการที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตร มติการจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง : กรณีเด็กไทยกับไอที และมติกลไกกระบวนการสมัชชาสุขภาพ และครั้งที่ 7 จำนวน 10 มติคือ มตินโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มติการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน มติความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ มติการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน มติการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล มติการปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย มติการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ มติพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ มติเร่งรัดการเสริมสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการและมติกลไกกระบวนการสมัชชาสุขภาพ นอกจากนี้ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 ระหว่างวันที่ 24-26 ธันวาคม 2557 ยังได้จัดทำเอกสารรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ต้องรายงานฯ และจัดให้มีห้องประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนฯ ของหน่วยงานองค์กร และภาคีเครือข่ายต่างๆ รวมไปถึงการหาแนวทางการขับเคลื่อนในระยะต่อไป
  • เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 ในการประชุม “ผู้เชี่ยวชาญ” เพื่อพิจารณากลั่นกรองข้อมูลจังหวัด ที่เสนอเข้าร่วม การคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบการจัดการระบบเกษตรและระบบอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีทางการเกษตร ภายใต้ คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มประเด็นเกษตรและอาหารปลอดภัย ที่มี รศ.ภก.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ เป็นประธานฯ โดยผู้เชี่ยวชาญ ที่คณะทำงานฯ ได้เชิญมาจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานระดับพื้นที่ อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คณาจารย์จากสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สภาเกษตรกรแห่งชาติ มูลนิธิชีววิถี และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ร่วมกันวิเคราะห์และสังเคราะห์ กลุ่มเกษตรกร และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดต่างๆ ได้นำเสนอรายชื่อเข้ามา ประกอบไปด้วย พื้นที่ต้นแบบการจัดการระบบเกษตรที่ปลอดภัย มีผู้เสนอมาจำนวน 39 จังหวัด 63 พื้นที่ และ พื้นที่ต้นแบบการจัดการระบบอาหารที่ปลอดภัย มีผู้เสนอมา 34 จังหวัด 52 พื้นที่ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญ ได้วางเงื่อนไข หลักเกณฑ์ ในการพิจารณา ประกอบด้วย การเป็นพื้นที่ต้นแบบที่สามารถขยายผลดำเนินงานได้ในวงกว้าง มีความยั่งยืนในการทำเกษตรและอาหารปลอดภัย รวมทั้งมีความหลากหลายในเชิงพื้นที่ วัฒนธรรม ภูมินิเวศ ชนิดของพืช เป็นต้น สำหรับ พื้นที่ต้นแบบระบบเกษตรปลอดภัย ผู้เชี่ยวชาญได้โฟกัสไปยังพื้นที่ทำ “เกษตรอินทรีย์” มีระบบการผลิตผสมผสาน มีการจัดกิจกรรมที่โดดเด่น ซึ่งมีจำนวนสมาชิกเข้าร่วมมากพอสมควร ส่วนพื้นที่ต้นแบบระบบอาหารปลอดภัย เน้นพิจารณากลุ่มที่มีระบบอาหารปลอดภัย เชื่อมโยงตั้งแต่การผลิต ต้นทาง จนถึงผู้บริโภคปลายทาง มีจำนวนสมาชิกและเครือข่ายได้รับผลประโยชน์จากการผลิตอาหารปลอดภัยเหล่านี้ และมีความยั่งยืนในการทำงาน รวมถึงมีกระบวนการขับเคลื่อนงานไปสู่ชุมชนและผู้บริโภคในวงกว้าง ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้คัดเลือกพื้นที่ต้นแบบแล้วเสร็จ พร้อมนำเสนอต่อคณะทำงานฯ ที่มีรศ.ภก.ดร.จิราพร เป็นประธานในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ จากนั้น จะมีการประกาศต่อสาธารณชน นำไปสู่การถอดบทเรีย เพื่อขยายผลเป็นพิมพ์เขียวให้พื้นที่อื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่าง ปรับใช้ ภายใต้บริบทของตนเองได้ต่อไป โดยที่ประชุมมอบหมายให้ รองเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา “กฤษฎา บุญชัย” รับผิดชอบในการ ถอดบทเรียนพื้นที่ต้นแบบระบบเกษตรและอาหารปลอดภัย เพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในอนาคต
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการให้มีการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ให้มีระบบและแนวทางการปรับปรุงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ได้รับรองไปแล้ว เพื่อให้การปฏิบัติตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเหมาะสมกับสถานการณ์ คจ.สช. จึงได้มีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 3 ท่าน คือ 1) นางภารณี สวัสดิรักษ์ 2) ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี 3) นพ.กิจจา เรืองไทย ร่วมกับ สช. ดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2556 เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557
  • เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบการขอปรับเปลี่ยนมติการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รองประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) เป็นประธานกรรมการ มีรองประธานกรรมการ 2 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข 1 คน และด้านอื่นๆ อีก 1 คน มีเลขาธิการคระกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ มีกรรมการไม่เกิน 30 คน สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการมอบหมายให้ประธานและเลขานุการพิจารณาเสนอประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้งต่อไป โดยมีหน้าที่และอำนาจตามเสนอมา และขอให้เพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจอีก 2 ข้อ ได้แก่ 
    • พัฒนาระบบกลไกและวางยุทธศาสตร์แนวทางการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม
    • พัฒนาการสื่อสารข้อมูลข่าวสารความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อสาธารณะ
    • ทั้งนี้มีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง
  • เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 ในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สังคม และสุขภาวะ ที่มี รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อหากลยุทธ์ขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุมรับทราบว่า ขณะนี้ได้มีการเสนอให้ทบทวนมติฯ เช่น การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ มาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน นโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการขับเคลื่อนและสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น และได้ขอความร่วมมืออนุกรรมการช่วยติดตามความก้าวหน้ารดำเนินงานแต่ละมติ ด้วยการประสานงานและร่วมประชุมกับกลไกหลักๆ ถึงความก้าวหน้าการดำเนนิงานตามมติฯ รูปธรรมความสำเร็จ ปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดต่างๆ โดยขอให้นำมาเสนอในการประชุมอนุกรรมการครั้งต่อไป เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และวางแผนการขับเคลื่อนต่อไป
  • เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมสานใจ ๑/๒ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการ จากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมได้มีการเน้นย้ำการสนับสนุนการขับเคลื่อนมติ จำเป็นต้องผลักดันแบบบูรณาการ ตั้งแต่ระดับชาติ ไปยังระดับภูมิภาค และชุมชนด้วย เพราะในที่สุดแล้วผู้ที่ต้องปฏิบัติตามมติโดยตรงคือหน่วยงานในพื้นที่ และในการประชุมครั้งหน้าขอให้อนุกรรมการฯ เสนอข้อมูลต่อที่ประชุมว่าในจำนวน ๓๐ มตินี้ มีเรื่องใดบ้างที่ต้องปรับปรุงมติกันใหม่ ก่อนที่จะทำการ Revisit กัน โดยทาง สช.กำหนดจัดเวิร์คชอป เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาระดมสมองกันช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งนี้การ Revisit มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน วันที่ 22 กันยายน 2558 ซึ่งจะมีการประกาศระเบียบวาระของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 อย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ 2/2558 โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 21-23 ธันวาคม 2558 ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ซึ่งปีนี้จะให้ความสำคัญกับ การติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาแล้ว 7 ครั้ง รวม 64 มติมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้อนุกรรมการ คมส.ทั้ง 2 ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข (คณะอนุฯ คมส.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข) ที่มีนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน มีมติที่เกี่ยวข้องจำนวน 30 มติ และ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ(คณะอนุฯ คมส.ด้านสุขภาพสังคมและสุขภาวะ) ที่มี รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน มีมติที่เกี่ยวข้องจำนวน 34 มติ ได้รายงานความก้าวหน้าในการทำงาน ซึ่งคณะอนุฯ คมส.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข จึงต้องการสร้าง Road Map และกำหนดไทม์ไลน์ของแต่ละมติว่า จะดำเนินการเสร็จเมื่อไหร่ หรือมีความคืบหน้าอย่างไร อาทิ มติสมัชชาสุขภาพฯ เรื่องการจัดการสเตอรอยด์ที่คุกคามสุขภาพของคนไทย ที่มีการกำหนดกระบวนการทำงาน ผลผลิต ตัวชี้วัด ผลลัพธ์ที่ชัดเจน ขณะที่ยังมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านการแพทย์และสาธารณสุข อีกจำนวน 4 มติ ซึ่งยังไม่มีเจ้าภาพหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นแกนหลัก และมีข้อเสนอว่าเสนอว่า มีมติที่ควรทบทวนโดยนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาระเบียบวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติใหม่ (Revisit) เพื่อปรับปรุงเนื้อหามติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตรงกับความเป็นจริง นำไปสู่การขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม มีจำนวน ๒ มติ ได้แก่ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน และการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะเดียวกัน มีหลายมติที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมขับเคลื่อน เช่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่ง ให้ร่วมขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 เรื่อง การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน รวมทั้ง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 เรื่อง การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง เป็นต้น ดังนั้น การขับเคลื่อนของคณะอนุฯ คมส.ทั้ง 2 ชุดดังกล่าว ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก และขอสนับสนุนการทำ Road Mapแต่ละมติ จะช่วยให้กระบวนการทำงานเป็นระบบชัดเจน และต้องหาว่าจุด คานงัด ของมตินั้นอยู่ตรงไหน หน่วยงานใดเป็นแกนหลักในการมอนิเตอร์ความคืบหน้า ซึ่งจำนวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านๆมามีมาก จึงควรเลือกมติที่สำคัญหรือสังคมให้ความสนใจออกมาชัดๆ ให้เป็นกรณีตัวอย่างว่าทำแล้วเกิดความสำเร็จ เห็นพัฒนาการในการขับเคลื่อน (Success Development) นำไปสู่พลังในการขับเคลื่อนมติอื่นๆ ต่อไป

  • เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.)  ครั้งที่ 1/2559 ซึ่งมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้มอบหมายในทุกฝ่ายเร่งดำเนินอย่างเข้มข้นช่วง 18 เดือนนี้ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับแนวทาง “ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ” ไม่ว่าจะออกนโยบายใดก็ตาม ต้องคำนึงถึงสุขภาพ ทั้งการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่หรือเรื่องแร่ใยหินก็ตาม โดยกระทรวงสาธารณสุข พร้อมจะสนับสนุน นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพราะหลายประเด็นมีความสำคัญ ต้องขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กร และประชาชน

              ทางด้าน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ และสาธารณสุข ที่มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้คัดเลือกมติสมัชชาฯ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดสำเร็จเป็นรูปธรรม 3 กลุ่มมติ ประกอบด้วย 1) กลุ่มมติปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ประกอบด้วย มติยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ , ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ , มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ และการกำกับดูแลสื่อและการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2) กลุ่มมติ การใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง มี 3 มติ ประกอบด้วย การจัดการ “สเตอรอยด์” ที่คุกคามสุขภาพคนไทย , การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุกระจายเสียงสื่อโทรทัศน์อินเทอร์เน็ต , แผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ.2557-2561 และกลุ่ม 3 เรื่อง นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน

           ด้านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ที่มี รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน ได้คัดเลือกมติที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม 3 กลุ่มมติ ประกอบด้วย 1) การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน 2) กลุ่มมติเกษตร อาหาร และโภชนาการ มี 3 มติ ได้แก่ เกษตรและอาหารในยุควิกฤติ , ความปลอดภัยทางอาหาร: การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช , การพัฒนากลไกและกระบวนการที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร 3) กลุ่มเด็กกับสื่อ มี 2 มติ ประกอบด้วย ผลกระทบจากสื่อต่อเด็กเยาวชนและครอบครัว และการจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชม. : กรณีเด็กไทยกับไอที

มติฯ ดังกล่าวคณะอนุกรรมการฯ กำหนดเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลแต่ละส่วนภายใน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี และ 2 ปี เพื่อส่งมอบให้กับรัฐบาลถัดไป และประสานเจ้าภาพหลักให้มีกลไกขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม พร้อมติดตามความก้าวหน้าตามตัวชี้วัด

ขณะเดียวกัน สำหรับมติ การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน สช.รายงานว่า มีความคืบหน้าตามลำดับ โดย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และภาคีด้านความปลอดภัยทางถนน จะร่วมกับ สช.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำมาตรการทางสังคมและมาตรการท้องถิ่น เพื่อรณรงค์การขับขี่อย่างปลอดภัย และอาจปรับแก้กฎหมายหรือระเบียบ ที่เอื้ออำนวยให้ท้องถิ่นและภาคประชาสังคมมีบทบาทในการจัดการความปลอดภัยทางถนนมากขึ้น

            ขณะที่กลุ่มมติ เกษตร อาหาร และโภชนาการ กำลังจัดทำโครงการศึกษา ร่างกฎหมายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และการทำเกษตรที่ดี และการผลักดันระบบอาหารปลอดภัย โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

           โดยที่ประชุม คมส. ได้เห็นชอบ การตั้งคณะทำงานติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติขึ้น จำนวน 3 คณะ เพื่อรองรับการทำงานของ 3 กลุ่มมติดังกล่าว เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนมติแบบเข้มข้น เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

  • เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 ในการประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2559 ครั้งที่ 1/2559 โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ในฐานะประธาน คจ.สช.คนล่าสุด พร้อมด้วย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการทั้งจาก ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ ฯลฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมสานใจ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี  คจ.สช. รับทราบรายงานประเมินผล การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ที่ผ่านมา จากทีมนักวิชาการ นำโดย รศ.ลือชัย สีเงินยวง ซึ่งแบ่งเป็น 4 ด้าน ทั้งในด้านการพัฒนาระเบียบวาระ เชิงรับ-เชิงรุก รูปแบบการจัดประชุม กลุ่มเครือข่าย และการสื่อสาร ซึ่งถือเป็นประโยชน์กับการทำงานอย่างมาก การปรับปรุงการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ ได้มีการปรึกษาหารือ เพื่อพัฒนารูปแบบและกระบวนการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ไปเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ห้องประชุมเลอเบลแอร์ ชั้น 1 โรงแรมอมารี ดอนเมืองแอร์พอร์ต กทม. ซึ่งต่อมาได้มอบหมายให้มีการตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อย เพื่อทบทวนรูปแบบและกลไกการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ประกอบด้วย 5 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 การพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะ มี นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร เป็นประธาน กลุ่มที่ 2 การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของกลุ่มเครือข่าย มี นพ.กิจจา เรืองไทย เป็นประธาน กลุ่มที่ 3 การประสานภาคียุทธศาสตร์ ภาคีพื้นที่ และภาคีประเด็น มี นางปรีดา คงแป้น เป็นประธาน กลุ่มที่ 4 การพัฒนาศักยภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มี นางภารณี สวัสดิรักษ์ เป็นประธาน และกลุ่มที่ 5 การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และนโยบายสาธารณะอื่นๆ มีนพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ เป็นประธาน โดยประธานแต่ละกลุ่มย่อย ได้มารายงานผลการปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อ คจ.สช.ด้วย โดย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการ เพื่อผลักดันแนวทางเหล่านี้ต่อไปตลอดทั้งปี ขณะที่ คจ.สช.ชุดใหญ่ จะมีการประชุมกันแบบเดือนเว้นเดือน ยกเว้นมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องขออนุมัติก็จะมีการประสานคณะกรรมการต่อไป
  • เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ 3/2559 มี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบและภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนมาก  ที่ประชุม คมส. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการยกระดับความสำคัญของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 จำนวน 2 ประเด็น ได้แก่ มติ “นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs)” และ มติ “วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของคนไทยอย่างมาก ต้องมีกลไกระดับชาติขึ้นมารับผิดชอบบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน สำหรับประเด็น วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ คมส.เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการจัดการแบคทีเรียดื้อยาของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี นอกจากนั้นยังได้มีการประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำประเด็นเข้าสู่ความร่วมมือในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก ทั้งในกลุ่มประเทศจี ๗๗ องค์การสหประชาชาติ (UN) องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นต้น ซึ่งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีนโยบายให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวอยู่แล้ว

            นอกจากนี้ คมส. ยังรับทราบถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานของ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข ที่มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ การใช้ยาไม่ถูกต้อง อาทิ ยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ, การกำกับดูแลสื่อและการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การจัดการสเตอรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย, นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับคนไทย และการจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (สุขใจ...ไม่คิดสั้น) เป็นต้น รวมทั้งความก้าวหน้าการดำเนินงานของ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ที่มี รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน ประกอบด้วย กลุ่มมติเกษตรและอาหารปลอดภัย, เด็กกับสื่อ, การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ เป็นต้น

เอกสารหลัก: