You are here


นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน
สมัชชาครั้งที่: 
6
มติที่: 
1
ชื่อมติ: 
นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน
ผลการปฏิบัติงาน: 
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 จำนวน 6 มติ โดยมอบหมายให้ :- เลขาธิการตณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแจ้งมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 ให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องในมติที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควรต่อไป คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) พิจารณาแสวงหาวิธีการผลักดันและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 เพื่อให้บรรลุผลตามควรแก่กรณี หากเห็นว่า มติใดสมควรเสนอให้ คสช.พิจารณาก็ให้เสนอ คสช.พิจารณาต่อไป เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2557  ณ ห้องประชุมสุชน ๒ อาคารสุขภาพแห่งชาติ (สส.) ได้จัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือเรื่องแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน” มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือองค์กร หน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนมติดังกล่าว โดยในระยะเริ่มต้น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จะรับเป็นแกนสำคัญในการศึกษาการจัดตั้งกลไกหรือหน่วยงานระดับชาติที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาระบบบริการที่เหมาะสมในการตรวจสุขภาพ โดยจะจัดให้มีการประชุมองค์กร หน่วยงาน เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการขับเคลื่อนต่อไป เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นประธานที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2556 จำนวน 8 มติ และให้เสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยสำนักส่งเสริมสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ 
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมการแพทย์ เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับแพทยสภา สภาวิชาชีพ สถาบันวิชาการและหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการประกันสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน กำหนดนโยบาย หรือแนวทางดังนี้
รายละเอียด: 

1.1 ส่งเสริมการตรวจสุขภาพที่จำเป็น เหมาะสม เป็นเหตุเป็นผล และมีคุณภาพ สอดคล้องกับความเสี่ยงโดยใช้กระบวนการในการดำเนินการที่ใช้หลักวิชาการ และการตัดสินใจร่วมกันของผู้รับบริการและให้บริการ 

1.2 สนับสนุนการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม รวมถึงการติดตามและประเมินผลและส่งเสริมการนำไปใช้กำหนดนโยบาย

1.3 พัฒนาแนวทางปฏิบัติในการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชนตามกลุ่มอายุ เพศ และความเสี่ยง และจัดให้มีสมุดบันทึกสุขภาพประจำตัว

1.4 ส่งเสริมการทำความเข้าใจร่วมกับภาคประชาชนในการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมรวมถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการตรวจสุขภาพที่เกินจำเป็นและไม่สมเหตุสมผล

1.5 พัฒนาหน่วยบริการให้สามารถตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมให้สอดคล้องกับพื้นที่ ประชากรกลุ่มเป้าหมายและกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรค/ผลกระทบต่อสุขภาพ สิทธิประโยชน์ สถานการณ์ปัญหา และส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการโดยง่าย

 

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2557  ณ ห้องประชุมสุวิชา ชั้น 4 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้จัดให้มีการประชุมพัฒนาโจทย์วิจัยเรื่อง ข้อเสนอรูปแบบองค์กร  โครงสร้าง  บทบาทหน้าที่ และกลไกความเชื่อมโยง เพื่อการจัดตั้งหน่วยงานพัฒนาระบบบริการตรวจสุขภาพ มี ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล เป็นประธาน วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการมติสมัชชาสุขภาพเรื่อง “นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน” ที่ระบุในข้อ 6 ว่า ขอให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศึกษาการจัดตั้งกลไกหรือหน่วยงานระดับชาติที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาระบบบริการที่เหมาะสมในการตรวจสุขภาพใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การกำหนดนโยบายและแนวทางที่จะได้มาซึ่งข้อกำหนดในการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม โดยใช้กระบวนการที่สามารถอธิบายเหตุผลได้อย่างชัดเจน (2) การกำหนด ตรวจสอบ และควบคุมมาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนาและรับรองระบบคุณภาพภายในห้องปฏิบัติการ รวมถึงการติดตามการดำเนินงานในการตรวจสุขภาพของทั้งภาครัฐและเอกชน และ (3) การให้ความรู้หรือคำปรึกษาแก่ประชาชน หรือข้อมูลในการกำหนดนโยบาย โดยมีการนำเสนอกรอบความคิด (concept paper) การพัฒนาข้อเสนอรูปแบบองค์กร โครงสร้าง บทบาท/หน้าที่ และกลไกความเชื่อมโยงเพื่อการจัดตั้งหน่วยงานพัฒนาระบบบริการตรวจสุขภาพ
  • เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558   สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 ได้มีมติเรื่อง “นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน” โดยทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชนตามกลุ่มต่างๆ โดยได้ตั้ง “คณะ กรรมการพัฒนาการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน” และได้จัดทำโครงการพัฒนาแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน เพื่อสร้าง แนวทางมาตรฐานการตรวจสุขภาพของคนไทยขึ้น ในการพัฒนามาตรฐานการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับคนไทย มีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กรมการแพทย์, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานประกันสังคม, กรมบัญชีกลาง พร้อมด้วยนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา เรียกได้ว่าทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางมาตรฐานการตรวจสุขภาพเพื่อคนไทยครั้งนี้ สำหรับแนวทางการตรวจสุขภาพที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน น่าจะร่างเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลต่างๆ เช่น สปสช. ประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ที่ดูแลสวัสดิการข้าราชการอยู่ ได้ร่วมกันพิจารณาอีกครั้ง และจะเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนั้นก็จะได้รายงานความ ก้าวหน้าในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ในเดือนธันวาคมนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบร่วมกันแล้วก็จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้ต่อไป สำหรับร่างแนวทางมาตรฐานการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชนไทยนี้ จะบอกถึงแนวทางในการตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงวัย ได้แก่ กลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น (แรกเกิด-18 ปี), กลุ่มวัยผู้ใหญ่ (18-59 ปี) และกลุ่มวัยผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)
  • เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาการตรวจสุขภาพได้ชี้แจงว่า คณะกรรมการได้ศึกษาวิจัยโดยนำแนวทางการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมและไม่เกินจำเป็น ซึ่งมีการรวบรวมความรู้จากทั้งคณะผู้เชี่ยวชาญราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่างๆ ซึ่งใช้เวลาในการศึกษาเกือบ 2 ปี จนได้แนวทางการตรวจสุขภาพที่เหมาะสม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้นำมารับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ในเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น หลังจากนั้นจะกลับไปปรับปรุงอีกครั้งเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ และจะจัดทำเป็นคู่มือเพื่อสื่อสารไปยังประชาชนทุกช่องทางและขับเคลื่อนเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะได้มีการนำแนวทางดังกล่าวมาใช้โดยเริ่มต้นจากโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ปและกระทรวงสาธารณสุข สำหรับแนวทางด้งกล่าวจะนำไปพิจารณาเพื่อการวางระบบการตรวจสุขภาพสำหรับทั้ง 3 กองทุนสุขภาพหลัก ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ หรือสวัสดิการของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป ทั้งนี้ไม่ได้เป็นภาคบังคับแต่เป็นการวางมาตรฐานที่เหมาะสมกับประเทศไทย และเป็นแนวทางให้ทุกภาคส่วนและประชาชนได้นำไปใช้ต่อไป 
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
รายละเอียด: 

2.1 สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้มีการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมโดยไม่ใช้เทคโนโลยีที่เกินจำเป็นอันนำไปสู่ความตระหนักและการพัฒนาทักษะในการดูแลสุขภาพตนเอง  รวมถึงการส่งเสริมการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีของประชาชน

2.2 ร่วมรณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุน ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการตรวจสุขภาพที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรครวมถึงการตรวจสุขภาพด้วยตนเอง

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2557 รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นเรื่อง นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน สช. ได้ริเริ่มโครงการ “ตั้งหลัก ก่อนตรวจ” ร่วมกับนิตยสารชีวจิต เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในการตรวจสุขภาพอย่างถูกต้อง ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและคนในครอบครัวให้มากที่สุด พร้อมสานต่อมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 ให้เกิดการขับเคลื่อน “นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน” ได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งนี้ สำหรับการรณรงค์ สช.มุ่งเน้นการส่งเสริม  5 ข้อควรรู้ก่อนตรวจสำหรับประชาชน ประกอบด้วย 1. การตรวจสุขภาพจำเป็นเหรือไม่  2. ตรวจสุขภาพอย่างไรจึงเรียกว่าตรวจเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม  3. ควรตรวจสุขภาพตามแพ็กเกจ หรือไม่ 4. การตรวจแล็บจำเป็นสำหรับการตรวจสุขภาพหรือไม่ และ 5. ประโยชน์และโทษของ การตรวจสุขภาพ
  • เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 คมส.แต่งตั้ง คทง.ติดตามการขับเคลื่อนฯ มีนพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากรเป็นประธาน และ สช.โดย สส./สสช.เป็นเลขาฯ ซึ่งได้จัดประชุมแล้ว 1 ครั้ง (เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557)
  • เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 มีการประชุมคณะทำงานติดตามการชับเคลื่อนฯ ซึ่งมีผลการประชุมนำไปสู่การดำเนินงานของหน่วยงานหลักตามมติ ดังนี้
    • กรมการแพทย์กำหนดให้เรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญของกรม โดยมอบหมายให้สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ มีผลการดำเนินงานสำคัญ ได้แก่ การจัดทำโครงการพัฒนาแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ซึ่งแนวทางดังกล่าวใช้สำหรับประชากรกลุ่มสำคัญ ได้แก่ กลุ่มเด็กและวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยจะได้ร่างแนวทางภายในเดือนกันยายน 2558  และหลังจากนั้นจะมีกระบวนการรับฟังความเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน เดือนมิถุนายน  2559
    • กรมบัญชีกลาง ได้จัดทำโครงการบูรณาการชุดสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อให้มีหลักเกณฑ์การกำหนดรายการและอัตราค่ารักษาพยาบาล โดยเริ่มดำเนินโครงการในปี 2558 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในราวเดือนมีนาคม 2559
    • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เตรียมนัดหมายประชุมร่วมกับกับ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคมเพื่อพิจารณาในส่วนของชุดสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสุขภาพ
    • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพอยู่ในระหว่างดำเนินการนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสื่อสารเรื่องนี้ให้สาธารณะรับทราบ
    • สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สนับสนุนการวิจัยในเรื่องของกลไกในระดับชาติที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาระบบบริการที่เหมาะสมในการตรวจสุขภาพ

           ​ในวันที่ 8 ตุลาคม 2558 จะมีการประชุมคณะทำงานฯ อีกครั้ง เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน รวมทั้งเป็นการเตรียมรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม 2558 ต่อไป

  • เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 , สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานประกันสังคม, กรมบัญชีกลาง พร้อมด้วยนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา เรียกได้ว่าทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางมาตรฐานการตรวจสุขภาพเพื่อคนไทยครั้งนี้ ซึ่งแนวทางการตรวจสุขภาพที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน น่าจะร่างเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลต่างๆ เช่น สปสช. ประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ที่ดูแลสวัสดิการข้าราชการอยู่ ได้ร่วมกันพิจารณาอีกครั้ง และจะเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนั้นก็จะได้รายงานความ ก้าวหน้าในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ ในเดือนธันวาคมนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบร่วมกันแล้วก็จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้ต่อไป
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นเจ้าภาพร่วมกับ สำนักงานประกันสังคม และกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางสนับสนุนให้มีการศึกษาทบทวน กำหนดและพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมอย่างต่อเนื่องรวมทั้งศึกษาถึงความเป็นธรรม และความเท่าเทียมของหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยทั้ง 3 ระบบ
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสุขภาพ (ทั้งหน่วยจัดบริการ หน่วยที่จัดสวัสดิการ และหน่วยประกันชีวิตและสุขภาพ) สนับสนุนการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม โดยถือประโยชน์และความปลอดภัยของผู้รับบริการเป็นหลัก และหลีกเลี่ยงการตรวจสุขภาพที่ไม่สมเหตุผลตามหลักวิชาการ
ข้อที่: 
5
ชื่อรายการ: 
ขอให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาลของรัฐ แพทยสภา สภา/สมาคมวิชาชีพ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารซึ่งอยู่ในรูปแบบที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ รณรงค์เพื่อให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม
ข้อที่: 
6
ชื่อรายการ: 
ขอชื่นชมที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขรับที่จะศึกษาการจัดตั้งกลไกหรือหน่วยงานระดับชาติ ที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาระบบบริการที่เหมาะสมในการตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (1) การกำหนดนโยบายและแนวทางที่จะได้มาซึ่งข้อกำหนดในการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม โดยใช้กระบวนการที่สามารถอธิบายเหตุผลได้อย่างชัดเจน (2) การกำหนด ตรวจสอบ และควบคุมมาตรฐานรวมทั้งการพัฒนาและรับรองระบบคุณภาพภายในห้องปฏิบัติการ รวมถึงการติดตามการดำเนินงานในการตรวจสุขภาพของทั้งภาครัฐและเอกชนและ (3) การให้ความรู้หรือคำปรึกษาแก่ประชาชน หรือข้อมูลในการกำหนดนโยบาย
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • สวรส.เป็นแกนสำคัญในการศึกษาจัดตั้งกลไกหรือหน่วยงานระดับชาติที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาระบบบริการที่เหมาะสมในการตรวจสุขภาพ โดยจัดให้มีการประชุมองค์กร หน่วยงาน เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการขับเคลื่อนต่อไปและมีการตั้งคณะอนุกรรมการหลายชุด เพื่อดำเนินการแต่ละเรื่อง
ข้อที่: 
7
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8
เอกสารหลัก: