You are here


ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม
สมัชชาครั้งที่: 
8
มติที่: 
3
ชื่อมติ: 
ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม
ผลการปฏิบัติงาน: 
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 โดยมี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม ได้มีมติ เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 จำนวน 5 มติ และให้เสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูปเพิ่มเติม (โครงการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบบริการสุขภาพ : การพัฒนารูปแบบการจัดบริการเครือข่ายปฐมภูมิเขตเมือง (PCC) ดังนี้            1. อนุมัติงบกลางรายการค่าใช้จ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูปเพิ่มเติม (โครงการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบบริการสุขภาพ : การพัฒนารูปแบบการจัดบริการเครือข่ายปฐมภูมิเขตเมือง (PCC) จำนวน 356,945,600 บาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างศูนย์สุขภาพชุมชน 4 ขั้นในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ กำแพงเพชร ขอนแก่น เพชรบูรณ์ ตรัง เชียงใหม่ และน่าน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ            2. ให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นชอบของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเกี่ยวกับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ขอให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส และถูกต้อง มีการแข่งขันการประมูลอย่างเป็นธรรม ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ชุดใหม่ ซึ่งแต่งตั้งตามคำสั่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ 16/2560 ขึ้นมาทำหน้าที่แทนคณะกรรมการชุดเดิมที่หมดวาระลง โดยมี ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการ เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมสานใจ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุม คมส. ยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานมติ “ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2558 ที่นับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความซับซ้อนด้านประชากรที่มีแนวโน้มการเคลื่อนย้ายแรงงานสู่เมืองเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่าง กรุงเทพมหานครที่มีผู้คนอาศัยอยู่นับสิบล้านคน ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบการดูแลสุขภาพที่เฉพาะเจาะจง โดยผลการดำเนินงานสำคัญในช่วงที่ผ่านมา คือ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติจัดทำยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง โดยที่ประชุมมีมติให้ทำหนังสือไปยังปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เพื่อติดตามความคืบหน้าการยกร่างแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีตัวแทนจากกรุงเทพมหานครเข้ามาเป็นที่ปรึกษา คมส. และร่วมเป็นคณะทำงานในชุดต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะต่อเรื่องระบบบริการสุขภาพในเขตเมือง และนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมือง ที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มาเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้บุคลากรรุ่นใหม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพเขตเมือง จากปัจจุบันที่มีเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการสุขภาพในชนบทเป็นหลักอีกด้วย
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันการศึกษาทางสุขภาพ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และภาคประชาสังคม ดำเนินการดังต่อไปนี้
รายละเอียด: 

1.1 เสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ให้แล้วเสร็จภายใน 6  เดือน

1.2 ให้การสนับสนุนคณะกรรมการระดับชาติจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง ที่มุ่งเน้นบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม  และคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ ดังนี้ 1) การให้บริการสุขภาพ 2) บุคลากรสุขภาพ 3) สารสนเทศสุขภาพ 4) ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ วัคซีน และเทคโนโลยี 5) การเงินการคลังสุขภาพ  6) ภาวะผู้นำและการอภิบาล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง ครอบคลุม เป็นธรรมและสามารถปกป้องการล้มละลายทางการเงินจากการเจ็บป่วย  ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ตามข้อ 1.1 และนำเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี

1.3 สนับสนุนให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองในระดับชาติ และระดับเขตสุขภาพ 12 เขต เขตกรุงเทพมหานคร และระดับจังหวัด ที่มีองค์ประกอบทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และขับเคลื่อนโดยผ่านกลไกต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” หรือ คมส. ที่มี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานได้มีการประชุม คมส. ครั้งที่ 2/2559 ซึ่งในที่ประชุม น.พ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประธาน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข รายงานความก้าวหน้า คมส. ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 เรื่อง “ระบบสุขภาพเขตเมือง : การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” ซึ่งขณะนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีคนหลั่งไหลเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองเพิ่มขึ้น และผู้ให้บริการสุขภาพมีมาก แต่การดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะบริการระดับปฐมภูมิยังไม่เพียงพอ ดังนั้น ทาง สธ. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำยุทธศาสตร์ว่าด้วยระบบสุขภาพเขตเมือง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ก่อนขับเคลื่อนสู่ภาคปฏิบัติต่อไป
  • เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ในการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประเด็น “ระบบสุขภาพเขตเมือง : การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” ที่มี นพ.ชวินทร์ ศิรินาค เป็นประธาน โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเข้าร่วม เพื่อขับเคลื่อนการทำงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 ที่ประชุมมอบหมาย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหลักในการยกร่าง จากนั้นนำร่างยุทธศาสตร์ มาหารือในที่ประชุมอีกครั้ง วันที่ 22 เมษายนนี้ เพื่อไปสู่การวางแผน และหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงจัดตั้ง “คณะกรรมการระดับชาติ” จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิถุนายน 2559 สำหรับการส่งเสริมให้เกิดงานวิจัย เพื่อนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางยุทธศาสตร์ และพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิเขตเมืองแบบมีส่วนร่วมนั้น ผู้แทนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รายงานว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าตามลำดับ โดยมอบให้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นกรณีศึกษา ทั้งนี้ ทาง คณะทำงานฯ เสนอให้มีการขยายขอบเขตการศึกษาออกไปในเขตเมืองของพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปด้วย
  • เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม พร้อมด้วย พญ.มยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกรรมการทุกภาคส่วน โดยมี นพ.พลเดช ปิ่นประทืป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นเลขานุการที่ประชุม ที่ประชุมเห็นความสำคัญของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 เรื่อง “ระบบสุขภาพเมือง : การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” ซึ่งได้รายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบพร้อมกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอื่นๆ แล้ว เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 เพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติจัดทำยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีหน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เลขานุการร่วมกัน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับหลายหน่วยงานมาก  ซึ่งคณะกรรมการระดับชาติดังกล่าวมีหน้าที่จัดทำ “ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง” โดยสร้างการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง บูรณาการทำงานของทุกภาคส่วนให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางสุขภาพ อาทิ โรคระบาด โรคอุบัติใหม่ ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองใหญ่ที่มีประชากรหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานเป็นจำนวนมาก รวมถึงประชากรแฝงและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อระบบการให้บริการสุขภาพที่มีอยู่ในขณะนี้  สำหรับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการระดับชาติจัดทำยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง ประกอบด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่มุ่งเน้นบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็งโดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ โดยให้ประสานความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง เมื่อเสร็จสิ้นก็มีหน้าที่นำเสนอยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อพิจารณา และให้ความเห็นชอบเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพร่วมดำเนินการในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมือง โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการสร้างและพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมือง รวมทั้งสร้างความตระหนักเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพทุกกลุ่มวัย เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัวและชุมชน โดยผ่านกลไกต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา โดยมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันการศึกษา สนับสนุนการดำเนินงานการวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมืองอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมในทุกมิติของการพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมือง
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สำนักงบประมาณ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนให้มีการศึกษากลไกด้านการเงินการคลังสุขภาพ เพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพเขตเมือง อย่างมีประสิทธิภาพและให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทั้งผู้ให้บริการ ผู้ซื้อบริการ และผู้รับบริการ
ข้อที่: 
5
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10
เอกสารหลัก: 
เอกสารมติ: