You are here


นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs)
สมัชชาครั้งที่: 
8
มติที่: 
4
ชื่อมติ: 
นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs)
ผลการปฏิบัติงาน: 
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 โดยมี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม ได้มีมติ เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 จำนวน 5 มติ และให้เสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 “นโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs)” รายงานว่า จะจัดทำยุทธศาสตร์ให้เสร็จภายใน 1 ปี พร้อมทำแผนปฏิบัติการ สร้างมาตรฐานฉลาก รวมถึงเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 25 มีนาคม 2559 นี้ เพื่อให้นโยบายให้ลดบริโภคเกลือเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ 3/2559 มี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบและภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนมาก  ที่ประชุม คมส. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการยกระดับความสำคัญของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 จำนวน 2 ประเด็น ได้แก่ มติ “นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs)” และ มติ “วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของคนไทยอย่างมาก ต้องมีกลไกระดับชาติขึ้นมารับผิดชอบบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน สำหรับประเด็นวิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ คมส.เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการจัดการแบคทีเรียดื้อยาของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นอกจากนั้นยังได้มีการประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำประเด็นเข้าสู่ความร่วมมือในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก ทั้งในกลุ่มประเทศจี 77 องค์การสหประชาชาติ (UN) องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นต้น เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2559 ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุม มีมติรับทราบการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 เรื่องนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อโรคไม่ติดต่อ (NCDs) โดยมอบฝ่ายเลขานุการรายงานความก้าวหน้าให้ทราบต่อไป
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
๑. ขอให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกรมอนามัย สำนัก งานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังต่อไปนี้
รายละเอียด: 

1.1 ดำเนินการให้มีการจัดตั้งกลไกการดำเนินงานระดับชาติ ในการประสานงานและบูรณาการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลดบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ

1.2 จัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2559

1.3 จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในทุกระดับ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ

1.4 กำหนดมาตรฐานและออกกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหารประเภทต่าง ๆ ที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งการจัดทำฉลากแสดงข้อมูลปริมาณเกลือหรือโซเดียมในรูปแบบที่เหมาะสมและเข้าใจง่าย เช่น การใช้แถบสี เป็นต้น

1.5 รณรงค์ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการได้อย่างถูกต้อง

1.6 เฝ้าระวัง กำกับ ติดตาม และประเมินพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมและภาระโรค รวมทั้งติดตามปริมาณเกลือหรือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารที่ประชาชนบริโภค

1.7 ผลิตและกระจายชุดทดสอบอย่างง่ายในการวัดปริมาณโซเดียม

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2559 นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ (ฉบับที่ 373) พ.ศ.2559 เรื่องการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหารเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลโภชนาการในรูปแบบสัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier Logo) ต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการป้องกันปัญหาภาวะโภชนาการเกินและโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (Non-communicable disease, NCDs) สอดคล้องนโยบายรัฐที่เน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงมารักษา จึงได้จัดทำเกณฑ์สารอาหารหรือคุณค่าทางโภชนาการที่ใช้ประกอบการพิจารณารับรองการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการและกลุ่มอาหารที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว 3 กลุ่มดังนี้ อาหารมื้อหลัก เครื่องดื่ม อาทิ น้ำผักและน้ำผลไม้ น้ำอัดลมและน้ำหวานกลิ่นรสต่างๆ น้ำนมถั่วเหลือง น้ำธัญพืช และเครื่องปรุงรส ดังนั้นจึงมีการจัดประชุมผู้ประกอบการด้านอาหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบการใช้ตรารับรองสัญลักษณ์โภชนาการและร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นแนวทางการประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์โภชนาการออกสู่ท้องตลาดแล้ว สามารถเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้เหมาะสมต่อสุขภาพ รวมทั้งหวังให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ตราสัญลักษณ์นี้บนฉลากผลิตภัณฑ์และให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองสามารถผลิตสินค้าออกสู่ท้องตลาดได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
             การประกาศใช้สัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารนี้ ผู้ประกอบการให้ความสนใจและร่วมมือเป็นอย่างดีกับภาครัฐ พร้อมที่จะปรับสูตรอาหารให้เข้าตามหลักเกณฑ์ ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์ดังกล่าวจำนวน 24 ผลิตภัณฑ์จาก 9 บริษัท แยกเป็นกลุ่มเครื่องดื่ม 22 ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มเครื่องปรุงรส 2 ผลิตภัณฑ์ คาดว่าหลังจากมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้ และมีการประชาสัมพันธ์เต็มรูปแบบ จะมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองฉลากโภชนาการเพิ่มมากขึ้น
  • สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเกลือ (โซเดียม) แห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อ

            1. พิจารณาประกาศเรื่อง นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นวาระแห่งชาติ

            2. เสนอจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานและบูรณาการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลดบริโภคเกลือและโซเดียมระดับชาติ

            3. เสนอยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียมทุกระดับ

  • เมื่อวันที่ 20-21 ธันวาคม 2559 สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดชุดมาตรฐานการบริการป้องกันควบคุมโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง สำหรับสถานบริการสาธารณสุขและแนวทางการประเมินคุณภาพ NCD Clinic Plus ณ โรงแรมรามาการ์เดนท์ กรุงเทพฯ
  • เมื่อเดือนตุลาคม 2559 กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรค กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับเครือข่ายลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย เสนอกลไกการดำเนินงานระดับชาติในการประสานงานและบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ สนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงาตามนโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศทไทย ปี พ.ศ2559-2568 จำนวน 5,000 เล่ม
  • เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ได้จัดประชุมหารือรายละเอียดตัวชี้วัดโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ ประจำปีงบประมาณ 2561 โดยปรึกษาหารือตัวชี้วัดกระทรวงสาธารณสุขภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี
  • เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ที่เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารจากกรมควบคุมโรค ร่วมเปิดมหกรรมสุขภาพโรคไม่ติดต่อ (NCD Forum 2017) ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการเพื่อการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการป้องกันปัญหาโรคไม่ติดต่อในระดับชาติ และปีนี้ใช้ชื่องาน “มหกรรมสุขภาพโรคไม่ติดต่อ (NCD Forum 2017)” ภายใต้แนวคิด“ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์บูรณาการโรคไม่ติดต่อยุคไทยแลนด์ 4.0 (NCD Thailand 4.0 : Moving forward)” ซึ่งภายในงานยังมีพิธีมอบโล่และประกาศเกียรติคุณแก่โรงพยาบาลที่ได้รับรางวัล NCD Clinic Plus Award จำนวน 39 รางวัล และรางวัล BP Champion Award จำนวน 4 รางวัล โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 1,500 คน  ในการดำเนินงานเพื่อจัดการกับโรคไม่ติดต่อดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ในฐานะที่เป็นกรมวิชาการ มีบทบาทหน้าที่ในการนำวิชาการและเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมโรคไม่ติดต่อ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขในการดำเนินงานโรคไม่ติดต่อ ให้มีขีดความสามารถ มีโอกาสและได้รับความรู้เพิ่มขึ้นและกลับไปพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่ออย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ
  • เมื่อวันที่ 15-17 สิงหาคม 2560 สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานสร้างเสริมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพทีมสหวิชาชีพในการจัดบริการ NCD Clinic Plus ระดับ DHA รุ่นที่ 2 ณ โรงแรมรามาการ์เดนท์ กรุงเทพฯ
  •  
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้และสร้างความตระหนัก เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ดำเนินการดังต่อไปนี้
รายละเอียด: 

2.1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมอนามัย กรมประชาสัมพันธ์ สื่อมวลชนทุกแขนง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายลดบริโภคเค็ม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ สร้างความตระหนักรู้ในประชาชนทุกกลุ่มวัย และผู้ประกอบการทุกระดับอย่างต่อเนื่อง โดยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ในรูปแบบที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงและนำไปใช้ปฏิบัติได้ในการลดการบริโภคเกลือและโซเดียม โดยลดการปรุงหรือเติมเครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ปลาร้า บูดู กะปิ เป็นต้น

2.2 กระทรวงศึกษาธิการ ปรับปรุงหลักสูตร หรือจัดทำชุดเรียนรู้ รวมทั้งบูรณาการการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมการให้ความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในสถานศึกษาทุกระดับ

 

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร จัดเสวนาสาธารณะการขับเคลื่อนกิจกรรมทางกายสู่ปฎิญญากรุงเทพฯ และนโยบายสาธารณะ เนื่องในโอกาสที่ สสส. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจการทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 โดย สสส. มีพันธกิจหลักสำคัญในการเร่งผลักดันและรณรงค์ให้คนไทยปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพจากโรค NCDs โดยมียุทธศาสตร์การทำงานคือ ผลักดันให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ตั้งเป้าภายในปี 2564 คนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ต้องมีกิจกรมทางกายไม่น้อยกว่า 80% และภายในปี 2562 ลดความชุกของภาวะน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่า 10% โดยมุ่งส่งเสริมการสร้งพื้นที่สุขภาวะหรือปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมทุกช่วงวัย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง สนับสนุนและสื่อสารรณรงค์การมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันที่ปฏิบัติได้ง่ายให้เป็นค่านิยมและวิถีชีวิต รวมถึงพัฒนางานวิชาการ/งานวิจัยกิจกรรมทางกายสู่เวทีนานาชาติ สสส. ในฐานะเจ้าภาพหลักในการจัดการประชุม The 6th ISPAH ในระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย. 2559 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เป็นประธานคณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติฯ และมีกระทรวงสาธารณสุข และกทม.เป็นเจ้าภาพร่วม ภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจมากมาย มีการนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง Report Card ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดสถานการณ์กิจกรรมทางกายของเด็กเปรียบเทียบกับ 40 ประเทศทั่วโลก มีการจัดทำร่างปฏิญญาสากล(Bangkok Declaration) ที่จะนำไปสู่การผลักดันนโยบายสุขภาพโลก ขับเคลื่อนนโยบายระดับสากลด้านส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยที่ประเทศไทยได้แสดงบทบาทในการผลักดันนโยบายผ่านกลไกสมัชชาอนามัยโลกดำเนินการการจัดการประชุมคู่ขนาน (side meeting) เรื่องการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 69 ในเดือน พ.ค. 2559  และผลักดันการอภิบาลสุขภาพโลก (Global Health Governance) ว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ปี 2560
  • ในส่วนกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ได้จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติ เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทยทุกกลุ่มวัย ผ่านมิติต่างๆ ทั้งระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ระบบคมนาคม ระบบผังเมือง สถานประกอบการ ชุมชน การกีฬามวลชน การสื่อสารรณรงค์ ระบบฐานข้อมูลและการวิจัย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
  • กรุงเทพมหานคร มีนโยบายมหานครแห่งความสุข มหานครแห่งความปลอดภัยที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกับ สสส. และกระทรวงสาธารณสุข ผ่านการพัฒนาพื้นที่สุขภาวการณ์บริการสาธารณสุข และจัดกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาวะและกิจกรรมทางกายอย่างทั่วถึง รวมทั้งเตรียมต่อยอดโครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดีที่ร่วมดำเนินการกับ สสส. รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ให้เอื้อต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของชุมชนอย่างยั่งยืน
  • เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่คู่มือการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยยึดชุมชนเป็นฐาน: ชุมชนลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (CBI NDCs)

                      

ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพทุกระดับ ดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในหน่วยงานและชุมชน ตลอดจนสร้างเครือข่ายชุมชนและบุคคลต้นแบบในการลดการบริโภคเกลือและโซเดียม
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดมาตรการที่เอื้อต่อการส่งเสริมการผลิตอาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมบริโภค การปรุงอาหารในครัวเรือนและร้านค้า เพื่อให้มีอาหารที่มีเกลือและโซเดียมต่ำ
ข้อที่: 
5
ชื่อรายการ: 
ขอให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารและผู้ประกอบการด้านอาหาร สมาคมภัตตาคาร สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย นักวิจารณ์และนักชิมอาหาร เครือข่ายภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ผลิตอาหาร ทบทวน พัฒนา ส่งเสริมปรับปรุงตำรับและผลิตภัณฑ์อาหารที่ลดปริมาณเกลือและโซเดียม พร้อมทั้งส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือและโซเดียมต่ำอย่างเป็นรูปธรรม
ข้อที่: 
6
ชื่อรายการ: 
ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสถาบันการศึกษาสนับสนุนการ ดำเนินงานดังต่อไปนี้
รายละเอียด: 

6.1 ศึกษาวิจัยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลดเกลือและโซเดียมในอาหาร รวมถึงการจัดหาสารทดแทนเกลือ และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

6.2 พัฒนากฎหมายเพื่อส่งเสริมการลดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหารและเครื่องดื่ม  รวมทั้งกำหนดแนวทางการโฆษณาอาหารที่มีเกลือและโซเดียมสูง

ข้อที่: 
7
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10
เอกสารหลัก: