You are here


การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม
สมัชชาครั้งที่: 
9
มติที่: 
3
ชื่อมติ: 
การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม
ผลการปฏิบัติงาน: 
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้            1. เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 เรื่อง การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ และมอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) พิจารณาดำเนินการ โดยนำข้อเสนอแนะจากกรรมการไปพิจารณาร่วมด้วย และนำมารายงานให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรับทราบความคืบหน้าต่อไป            2. เห็นชอบให้เสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 จำนวน 4 มติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป            3. มอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แจ้งมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 ให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนของมติที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานปัญญา เพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ภาคกลาง-ตะวันตก ณ ห้องประชุมทวารวดี 1 โรงแรมไมด้าทวารวดีแกรนด์ จังหวัดนครปฐม มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกว่า 100 คน ที่ประชุมมีการนำเสนอรายละเอียดของแต่ละมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั้ง 4 ประเด็นได้แก่ น้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชน การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม และสานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน โดยเน้นหนุนเสริมการทำงานของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ซึ่งขับเคลื่อนมติอยู่ปัจจุบันให้เกิดพลังอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยกลไกประชารัฐ ตัวแทนภาครัฐ วิชาการ ประชาสังคม ทำงานอย่างสอดคล้องเป็นทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเข้าใจให้ภาคีเครือข่าย และแลกเปลี่ยนสถานการณ์ และความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด มีการประเมินสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ แผนงาน กิจกรรม และงบประมาณของแต่ละหน่วยงานที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้เห็นต้นทุนของจังหวัด ก่อนร่วมกันออกแบบกิจกรรมการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม โดยจะมีการติดตามความก้าวหน้าและนำมาสรุปเป็นความรู้ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะกันต่อไป
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ดำเนินการ
รายละเอียด: 

1.1 ส่งเสริมและกำกับติดตาม ให้หญิงตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัย ได้รับสิทธิประโยชน์ ตามนโยบายและแนวทางที่ ร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... (ฉบับผ่านการลงประชามติ ปี พ.ศ. 2559) กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิประโยชน์ด้านสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย

1.2 กำหนดให้เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดร่วมเป็นคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานคร

1.3 หาแนวทาง สนับสนุนการมีส่วนร่วมภาคเอกชน ในการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กปฐมวัย โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (กลุ่มเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุ) โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีลงนาม ระหว่างผู้ลงนาม รมว.พม. รมว.มท. รมว.ศธ. รมว.สธ. และมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง และพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย ร่วมเป็นสักขีพยาน
  • สรุปการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2559 – 30 มิถุนายน 2560 โดยโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีการดำเนินงานประชุมหารือเพื่อจัดทำแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมคุณภาพชิวิตเด็กแรกเกิดแบบบูรณาการ มีผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย พมจ. บพด. บุคลากร ดย. จำนวน 30 คน ณ ห้องประชุมเด็กดรุณวิถี บ้านราชวิถี และได้ตัดการประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปี 2560 โดยมีเจ้าหน้าที่ บพด. และพมจ. จำนวน 160 คน ร่วมกันทบทวนผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการดำเนินงานตามโครงการฯ และเกิดความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินงานตามโครงการฯ ประจำปี 2560
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด ดำเนินการ
รายละเอียด: 

2.1 ร่วมกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย ระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานคร สนับสนุนการทำงาน ในพื้นที่เป้าหมายร่วมกันในการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย

2.2 ประสานและผลักดัน ให้ประเด็นการสร้างเสริม สุขภาวะเด็กปฐมวัยกำหนดไว้ในธรรมนูญสุขภาพพื้นที่

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2560 กรมการเด็กและกิจการสังคม ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37 จังหวัด) ณ โรงแรมแกรนด์ ฮาว์เวิร์ด กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยเลขานุการร่วม 4 หน่วยงานของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 150 คน
  • สรุปการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2559 – 30 มิถุนายน 2560 โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีการดำเนินงานจัดการประชุมคณะอนุกรรมกมรประสานและส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ครั้งที่ 4/3559 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 6 ชั้น กรมกิจการเด็กและเยาวชน เพื่อพิจารณาการปรับลดตัวชี้วัดโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เพื่อพิจารณาร่างระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชนว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (ฉบับที่..) พ.ศ.... การรับลงทะเบียนกลุ่มเป้าหมายที่มาขอรับลงทะเบียนภายหลังปี 2559 เพิ่มเติมและการปรับองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
รายละเอียด: 

3.1 จัดทำแนวทางปฏิบัติ ใน การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย โดยครอบคลุมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สถานบริการ องค์ความรู้ ฯลฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

3.2 พัฒนาเครื่องมือ เพื่อรวบรวมข้อมูลเด็กปฐมวัยรายบุคคลแบบบูรณาการด้านสุขภาพ การเจริญเติบโต และพัฒนาการ สำหรับนำไปใช้ และส่งต่อข้อมูลระหว่างครอบครัว สถานบริการสาธารณสุข และสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย อย่างต่อเนื่อง และส่งต่อข้อมูลไปสู่การพัฒนาเด็กวัยเรียน

3.3 นำแนวปฏิบัติดังกล่าวในข้อ 3.1-3.2 ไปขับเคลื่อน ติดตามและประเมินผล ให้เกิดเป็นรูปธรรม

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย  และกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (กลุ่มเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุ) โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ร่วมกันผลักดันในระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างกลไกการดำเนินงานให้เอื้อต่อการดูแลกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่ที่เชื่อมโยงสอดรับแนวนโยบายรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการดำเนินงานแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างยั่งยืนทุกหน่วยงานในบันทึกความร่วมมือ
  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน มีการดำเนินงานสนับสนุนงบประมาณให้จังหวัดในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด โดยให้จังหวัดเลือก 1 โครงการ 1 กิจกรรมที่บูรณาการเรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัย สำหรับประเด็นในการขับเคลื่อนตามกรอบบูรณาการความร่วมมือกลุ่มเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย 6 ประเด็น ได้แก่ 1. ส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ 2. ส่งเสริมการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพ 3. ส่งเสริมพัฒนาการเด็กสมวัย 4. ส่งเสริมครอบครัวอบอุ่นและชุมชนเข้มแข็ง 5. พัฒนาศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลคุณภาพ และ 6. เตรียมความพร้อมก่อนเข้าประถมศึกษา ทั้งนี้ พม. รับผิดชอบในข้อ 3-5
  • กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานการศึกษาของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และอยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) นโยบายและแผนยุทธศาสร์ด้านเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 7 กระบวนการมีส่วร่วมของการบริหารจัดการ ที่น่าจะเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ
  • กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย เป็นเจ้าภาพในเรื่อง Health และ Heart ที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมาย 6 ข้อ ได้แก่ 1. ส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ 2. ส่งเสริมการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพ 3. ส่งเสริมพัฒนาเด็กสมวัยร่วมกับ พม. 4. พัฒนาศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลคุณภาพ 5. ส่งเสริมครอบครัวอบอุ่นและชุมชนเข้มแข็ง และ 6. เตรียมความพร้อมก่อนเข้าประถมศึกษา ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 6 ข้อ สธ.จึงได้มุ่งเน้นการดำเนินการใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบบริการอนามัยแม่และเด็ก 2. การเสริมสร้างสมรรถนะของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในเรื่องเด็กปฐมวัย 3. ความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ 4. การวิจัยที่สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อก้าวไปสู่ Thailand 4.0 และ 5. การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย
  • กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการด้านเด็กปฐมวัยตามกรอบ 4S อาทิ การสนับสนุนการจัดทำแผน สนับสนุนการดำเนินงานของ อปท. ตามโครงการอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานเชิงบูรณาการกับหน่วยงานอื่นระดับพื้นที่ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย สนับสนุนให้ อปท. ที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัยทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลต้องมีการประกันคุณภาพภายในเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอก ให้คำปรึกษาและแนะนำ อปท.เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่ รวมถึงกำหนดมาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2560 นพ.พนิต โล่เสถียรกิจ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี กรมอนามัย ในฐานะผู้วิจัยสถานการณ์พัฒนาเด็กปฐมวัยไทย พ.ศ.2557 อนาคต ที่น่าห่วง ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยยอดเยี่ยม กล่าวว่าการสำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัย อายุ 0-5 ปี กรมอนามัยจะดำเนินการทุก 3-5 ปี โดยจากการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2557 ซึ่งเก็บข้อมูลจากเด็กปฐมวัยทุกเขตสุขภาพรวมมากกว่า 10,000 คน พบว่า ภาพรวมพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทยอยู่ที่ 70% แต่เมื่อแยกเป็นรายเขตสุขภาพจะพบว่า พัฒนาการสมวัยนั้นมีความแตกต่างกัน โดยพื้นที่ภาคเหนือมีพัฒนาการสมวัยสูงสุดประมาณ 85% ส่วนที่น่าเป็นห่วง คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ พัฒนาการสมวัยอยู่ที่ประมาณ 50-60%  เท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของการให้เด็กดูสื่อไอที ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ ซึ่งพบมากถึง 80% ทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องพัฒนาการด้านภาษา ขณะที่พ่อแม่ที่เล่นกับเด็กอย่างมีคุณภาพ คือ เล่นกับลูก 5 วันต่อสัปดาห์ นานวันละ 30 นาที มีเพียง 50% และพ่อแม่ ที่เล่านิทานให้เด็กฟังอย่างมีคุณภาพมีเพียง 20% เท่านั้น ทั้งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ทั้งนี้ จากการทำวิจัยดังกล่าวทำให้ ผู้บริหาร สธ.เข้าใจภาพรวมของพัฒนาการเด็กมากขึ้น และเป็นข้อมูลให้ผู้ตรวจราชการ สธ.ในแต่ละเขตสุขภาพใช้ในการผลักดันนโยบายแก้ปัญหาพัฒนาการเด็ก ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีความจำเพาะแตกต่างกัน เช่น เขตสุขภาพที่ 6 พบว่า มีการให้ยาน้ำเสริม ธาตุเหล็กน้อยเพียง 20% ก็ทำให้เกิดนโยบายที่ส่งเสริมให้ใช้ยาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น จึงทำให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งประเทศ และทุกเขตสุขภาพ ซึ่งในปี 2560 นี้ อยู่ระหว่างการสำรวจพัฒนาการเด็ก ปฐมวัยครั้งใหม่
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุน นโยบาย แผนงาน มาตรการ ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน โดยใช้งบประมาณและทรัพยากร ที่มีอยู่ในท้องถิ่นหนุนเสริม เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่และกองทุนอื่น ๆ เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยในระดับพื้นที่ รวมถึงการจัดการปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือที่ มท 0211.3/ว2405 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 เรื่อง การดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (กลุ่มเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุ) ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญและร่วมผลักดันการขับเคลื่อนการดำเนินการระดับพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดกลไกที่ครอบคลุมและเอื้อต่อการทำงานดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
ข้อที่: 
5
ชื่อรายการ: 
ขอให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับสื่อกระแสหลัก สื่อสารสาธารณะและสื่อสารระดับท้องถิ่น สื่อสาร สร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณะ เพื่อเห็นความสำคัญและการมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านราชคราม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านราชคราม ในโครงการกำกับและติดตามการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย โดยมีผู้แทนจากโรงพยาบาลบางไทร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล กว่า 100 คนเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านราชคราม เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนา เด็กปฐมวัย ในโครงการกำกับและติดตามการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสุขภาวะเด็ก ปฐมวัย ของ สสส. และผ่านการประเมิน 5 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการ การจัดการ สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยเอื้อต่อการเรียนรู้ หลักสูตรและการจัดประสบการณ์ การเรียนรู้ การดูแลสุขภาพ และการมีส่วนร่วมของครอบครัวชุมชน และยังขยายเครือข่ายไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อีก 5 ศูนย์ โดยได้มีการพัฒนาองค์ความรู้มาอย่างต่อเนื่องเรียกว่า “ราชครามโมเดล”
  • เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเลย ได้รายงานผลการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 มติที่ 3 การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม โดยได้ดำเนินกิจกรรมผลิตและเผยแพร่รายการ “สร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย” จำนวน 1 ครั้ง/เดือน ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559-2560 เป็นการนำเสนอสาระความรู้ด้านสุขภาวะเด็กและประชาชนทั่วไป
ข้อที่: 
6
ชื่อรายการ: 
ขอให้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ หน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย ด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม เพื่อนำองค์ความรู้ไปสู่การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย
ข้อที่: 
7
ชื่อรายการ: 
ขอให้ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11
เอกสารหลัก: