You are here


การจัดการสเตอรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย
สมัชชาครั้งที่: 
7
มติที่: 
4
ชื่อมติ: 
การจัดการสเตอรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย
ผลการปฏิบัติงาน: 
เครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีฉันทามติเรื่อง การจัดการสเตอรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย  ในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 เมื่อวันที่ 24-26 ธันวาคม 2557 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นประธานที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2557 จำนวน 5 มติ และให้เสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงสาธารณสุขจัดให้มีคณะกรรมการระดับชาติเพื่อจัดการปัญหาสเตอรอยด์ โดยมีองค์ประกอบที่มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน เพื่อดำเนินการประสาน กำหนดนโยบาย มาตรการและกฎหมาย ติดตาม และประเมินผลการจัดการปัญหาสเตอรอยด์ในภาพรวมอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ดำเนินการพัฒนากฎหมายให้ สเตอรอยด์ (ทั้งวัตถุดิบและยาสำเร็จรูป) เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้าและส่งออกจากกระทรวงพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 เพื่อเข้มงวดการตรวจปล่อยสเตอรอยด์ ณ ด่านศุลกากร และเพิ่มบทลงโทษทางแพ่งและอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืน
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้กรมศุลกากรร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จัดทำแผนการดำเนินงานร่วมกันโดยกำหนดมาตรการและตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกสเตอรอยด์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การนำติดตัวเข้ามา การไม่แจ้งในใบรายการสินค้า เป็นต้น
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
รายละเอียด: 

4.1 เร่งดำเนินการจัดทำกฎหมายระดับรองจากกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อจำกัดช่องทางการจำหน่าย จำกัดปริมาณการผลิต นำเข้าและจำหน่ายยาสเตอรอยด์ (ทั้งวัตถุดิบและยาสำเร็จรูป) และทบทวนทะเบียนตำรับสเตอรอยด์ เช่น ลักษณะยา รูปแบบของยา หรือสัญลักษณ์ รวมทั้งยกเลิกทะเบียนตำรับยาเม็ดเบต้าเมทาโซน ให้เอื้อต่อการนำไปใช้อย่างถูกต้องตามความจำเป็นด้านสุขภาพ

4.2 ออกกฎหมายให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า และขายยา ต้องรายงานการผลิต นำเข้า และขายยาสเตอรอยด์ (ทั้งวัตถุดิบและยาสำเร็จรูป)

4.3 ดำเนินการร่วมกับกรมศุลกากร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้ประกอบการผลิต นำเข้าและจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน และสมาคมภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีการพัฒนาการจัดการฐานข้อมูลการกระจาย สเตอรอยด์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เชื่อมโยงกันและเป็นปัจจุบัน ตรวจสอบย้อนกลับได้ ตั้งแต่การนำเข้าวัตถุดิบ การผลิตยาสำเร็จรูป และการจำหน่ายของแหล่งกระจายยา เช่น ร้านยา สถานบริการสุขภาพ

4.4 เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาระบบรายงานและประเมินผลมาตรการการจัดการสเตอรอยด์ในภาพรวมของประเทศเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ การศึกษาวิจัย เพื่อรองรับการรายงาน โดยมีการร่วมมือกับภาคประชาชนและเผยแพร่รายงานสู่สาธารณะเป็นระยะ

4.5 ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสถานพยาบาล ร่วมกันพัฒนาระบบการรายงานอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาสเตอรอยด์และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีส่วนผสมของสเตอรอยด์ให้มีประสิทธิภาพ ที่สามารถรวบรวม วิเคราะห์ ค้นข้อมูล เพื่อประเมินสถานการณ์ในภาพรวมและนำมาประกอบการวางแผนแก้ไขปัญหาได้

4.6 เป็นศูนย์จัดการปัญหาสเตอรอยด์ในการเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการปลอมปน สเตอรอยด์ การโฆษณา และการส่งเสริมการขาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการปลอมปนสเตอรอยด์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนรับแจ้งเรื่องร้องเรียน ข้อมูลเบาะแส และการกระจาย สเตอรอยด์ที่ไม่เหมาะสม หรือการปลอมปนสเตอรอยด์ในผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคณะทำงานภาคประชาชน อาทิ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย และสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ เป็นต้น ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นประมาณ 40 ท่าน เข้ารับฟังผลการดำเนินโครงการในพื้นที่ พร้อมทั้งรับฟังบรรยายในหัวข้อ “นโยบาย สภาพปัญหาเกี่ยวกับสเตียรอยด์ และแนวทางการดำเนินงานในพื้นที่” และชมนิทรรศการงานคุ้มครองผู้บริโภค ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดขอนแก่น จากนั้นเดินทางเยี่ยมชม “หมู่บ้านต้นแบบปลอดยาสเตียรอยด์” ณ หมู่บ้านเลิงแสง ต.กุดขอนแก่น อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ที่มีการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพในร้านขายของชำ และการใช้ยาสเตียรอยด์ ในชุมชน เพื่อทราบถึงแนวทางการบริหารจัดการ แนวทางการดำเนินงาน และการพัฒนาชุมชนในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา และผลเสียที่ตามมาจากการ ใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี
ข้อที่: 
5
ชื่อรายการ: 
ขอให้สภาเภสัชกรรมและสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องดำเนินการรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหายาสเตอรอยด์ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบวิชาชีพในการป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้งกำกับดูแล และดำเนินการด้านจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด กับผู้ประกอบวิชาชีพที่กระทำผิดเกี่ยวกับการใช้ยาสเตอรอยด์
ข้อที่: 
6
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับปัญหาสเตอรอยด์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ดำเนินกิจการสถานพยาบาล ผู้ประกอบการด้านยา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม./อสส.) และประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักถึงอันตรายในการใช้สเตอรอยด์
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการลงพื้นที่ ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน โดยมีกิจกรรมให้ความรู้กับเครือข่ายดำเนินงานและอาสาสมัครในพื้นที่ จัดกิจกรรมรณรงค์ร่วมกับเทศบาล ต.แม่เมาะ และทีมงานหน่วยเคลื่อนที่ ตรวจเยี่ยมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพในร้านขายของชำ รถเร่ ตลาดนัด และแผงลอย ให้ปลอดจากการจำหน่ายยาสเตียรอยด์ จัดอบรมให้ความรู้ผู้สูงอายุ สำรวจการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่อาจมีการปนเปื้อนสารสเตียรอยด์ของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในงานพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่
  • เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ณ หอประชุมทองกวาว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการ “ชั่งใจก่อนใช้ยา...สเตียรอยด์" ภายใต้ชื่องาน “ใช้ผิด ชีวิตจบ” ว่า จากนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน) ต่อการสร้างความเข้มแข็งของระบบการติดตามเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายภายหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด รวมทั้งการจัดการปัญหาการโฆษณานั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สนองนโยบายดังกล่าว ประกอบกับมีความห่วงใยสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมและหลงเชื่อโฆษณาโอ้อวดเกินจริงจากสถิติการผลิต-นำเข้า สารสเตียรอยด์ มาใช้ในประเทศไทยในแต่ละปี เทียบกับความจำเป็นในการใช้ยาของผู้ป่วย บ่งบอกถึงมีการรั่วไหลของสารสเตียรอยด์จำนวนหนึ่งออกนอกระบบการบริการสาธารณสุข ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม โดยจัดเป็นยาชุดหรือผสมเข้าไปในยาลูกกลอน ยาแผนโบราณ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา รวมถึงเครื่องดื่มสมุนไพรที่ผลิตอย่างผิดกฎหมาย เป็นต้น เนื่องจากสารสเตียรอยด์เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยให้อาการของโรค รู้สึกดีขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีพ่อค้าหัวใสลักลอบนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยนำสารสเตียรอยด์ โดยเฉพาะ เดกซาเมทาโซนและเพรดนิโซโลน มาลักลอบผสม ร่วมกับการโฆษณาชวนเชื่อหรือขายตรง ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากในทุกภาคของประเทศได้รับสารสเตียรอยด์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เกิดปัญหาร้ายแรงต่อสุขภาพจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น เกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้รุนแรงอาจถึงขั้นทะลุ กระดูกพรุนแตกหักง่าย กดภูมิคุ้มกันของร่างกายและติดเชื้อรุนแรง เป็นต้น ซึ่งการหยุดยาทันทีโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร อาจทำให้มีอาการขาดยา ความดันเลือดต่ำ หมดสติ และเสียชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อย. จึงได้พัฒนาระบบและกลไกในการควบคุมดูแล สารสเตียรอยด์ตั้งแต่การนำเข้า ผลิต และการจำหน่าย แต่สิ่งสำคัญเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบจากการใช้สเตียรอยด์ หรือเกิดเพิ่มขึ้นอีก ในปี 2558 นี้ อย. จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์โครงการ “ชั่งใจก่อนใช้ยา...สเตียรอยด์” ขึ้น โดยนำร่องจัดครั้งแรกที่ภาคเหนือ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ อสม. และบุคลากรสาธารณสุขระดับปฐมภูมิเพื่อเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ผู้บริโภคในชุมชนให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาร สเตียรอยด์ โดยไม่ซื้อสเตียรอยด์หรือผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าลักลอบผสมสารสเตียรอยด์มาใช้เอง และตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นหากใช้อย่างไม่เหมาะสม ภายในงานประกอบด้วยการเสวนาในหัวข้อ “ผลกระทบและพฤติกรรมการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบใส่สารสเตียรอยด์” มีการเจาะใจประสบการณ์ตรงจากกรณี (เคส) ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่รวมทั้งแพทย์เจ้าของกรณี (เคส) ในพื้นที่มาบอกเล่าถึงข้อดีข้อเสียและโรคที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบใส่สารสเตียรอยด์ พร้อมกับการเสวนาในหัวข้อ “นโยบายและมาตรการในการควบคุมการใช้ยาสเตียรอยด์และทางเลือกในการใช้ยา สเตียรอยด์” นอกจากนั้นยังมีการบริการตรวจหาสารสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์ยาและอาหารจากชุดทดสอบ บอร์ดนิทรรศการให้ความรู้ การแสดงละครสั้น การเล่นเกมรับของที่ระลึกจากโครงการ
  • เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค “หมู่บ้านต้นแบบปลอดยาสเตียรอยด์” เพื่อสร้างเครือข่ายหมู่บ้าน ปลอดยาสเตียรอยด์ โดยการเผยแพร่ความรู้และเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ เริ่มดำเนินการในพื้นที่หมู่บ้านต้นแบบ 4 ภาค ภาคละ 1 จังหวัด จังหวัดละ 1 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดลำปาง ลพบุรี ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี ได้มีการลงพื้นที่ หมู่บ้านชอนสมบูรณ์ อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้กับเครือข่ายดำเนินงานอาสาสมัคร และประชาชนในพื้นที่ โดยกิจกรรมประกอบด้วย การตรวจสุขภาพทั่วไปให้กับคนในชุมชน การตรวจสารสเตียรอยด์เบื้องต้น โดยทีมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัย การแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของยาสเตียรอยด์ พร้อมกับแนะนำวิธีการเลือกซื้อและการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสมกับการบรรเทารักษาโรค กิจกรรมการร่วมสนุกกับซุ้มเกมต่างๆ รวมถึงกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ยาสเตียรอยด์ จากตัวแทนหมู่บ้าน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในงานพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่
  • เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการลงพื้นที่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้กับเครือข่ายดำเนินงานอาสาสมัคร และประชาชนในพื้นที่ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 400 คน ภายในงานประกอบด้วย กิจกรรมการตรวจสุขภาพทั่วไปให้กับคนในชุมชนการตรวจสารสเตียรอยด์เบื้องต้น โดยทีมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัย การแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของยาสเตียรอยด์ พร้อมกับแนะนำวิธีการเลือกซื้อ และการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสมกับการบรรเทารักษาโรค กิจกรรมการร่วมสนุกกับซุ้มเกมต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ยาสเตียรอยด์จากตัวแทนหมู่บ้าน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในงานพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่
  • เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้จัดกิจกรรมรณรงค์อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เป็นครั้งที่ 2 ณ โรงแรมเซ็นทารา แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น เพื่อหวังผลให้ประชาชนในทุกภาค ทุกพื้นที่ ได้รับความรู้ความเข้าใจถึงอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ลักลอบผสมสารสเตียรอยด์ โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจเฝ้าระวังการใช้ยาในพื้นที่ ให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้แก่ชุมชนในพื้นที่ ได้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ สเตียรอยด์ ที่สำคัญสามารถหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มักพบปัญหาหรือคาดว่าลักลอบใส่สารสเตียรอยด์ได้ด้วยตนเอง ตลอดจนสามารถเลือกซื้อ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
ข้อที่: 
6
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งผลิตชุดตรวจการปลอมปนสารสเตอรอยด์ ออกจำหน่ายแก่หน่วยงาน และประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลาย โดยมีราคาที่เหมาะสม
ข้อที่: 
7
ชื่อรายการ: 
ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และองค์กรทางศาสนาที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด สำนักจุฬาราชมนตรี ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายผู้นำทางศาสนา ร่วมกันสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายด้านการผลิต จำหน่ายและใช้ยารวมทั้งอันตรายจากการใช้สเตอรอยด์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย
ข้อที่: 
8
ชื่อรายการ: 
ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกันจัดทำแผนบูรณาการเพื่อป้องกัน เฝ้าระวังและปราบปรามผู้ฝ่าฝืนกฎหมายหรือปลอมปนสเตอรอยด์ ให้สามารถสืบสวน สอบสวนเชิงลึกและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ครอบคลุมแหล่งกระจายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่มีความเสี่ยง
ข้อที่: 
9
ชื่อรายการ: 
ขอให้ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เครือข่ายสื่อมวลชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม./อสส.) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรและหน่วยงานด้านสาธารณสุขและด้านการเกษตร ในการเป็นกลไกพื้นที่ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังและจัดการปัญหาสเตอรอยด์ และแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
ข้อที่: 
10
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีนโยบายและให้การสนับสนุนการดำเนินงานวัสดุอุปกรณ์และงบประมาณให้หน่วยงานหรือเครือข่ายในพื้นที่ เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น ในการดำเนินการจัดการปัญหาสเตอรอยด์ นำไปสู่การยกระดับระบบการตรวจเฝ้าระวังและจัดการปัญหาในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสเตอรอยด์
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 ในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ครั้งที่ 2/2558 ณ ห้องประชุมอาคารสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมได้รายงานการทำงานร่วมกับหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 หนังสือที่ มท 0891.3/ว 4798 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2558  ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 โดยมีมติที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 มติ ได้แก่  มติ 7.1 การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง   มติ 7.3 การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน มติ 7.4 การจัดการสเตอรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย  โดยให้จังหวัดรวบรวมรายงานการผลการดำเนินการจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทราบ ภายในวันที่ 30  ตุลาตม 2558    
ข้อที่: 
11
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับสภาวิชาชีพ สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการด้านยา
รายละเอียด: 

11.1 ร่วมกับภาคประชาชน พัฒนาระบบค้นหา ดูแล คัดกรอง และส่งต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาจากสเตอรอยด์

11.2 พัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและบุคลากรทางการแพทย์ในการค้นหา คัดกรองและรักษาผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากสเตอรอยด์

ข้อที่: 
12
ชื่อรายการ: 
ขอให้ผู้ประกอบการด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้ประกอบการสถานพยาบาล และสมาคม ชมรม เครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการ (สถานพยาบาล ผลิตยา ขายยา และนำเข้ายา)
รายละเอียด: 

12.1 รณรงค์และขอความร่วมมือกับสมาชิกให้ปฏิบัติตามกฎหมาย

12.2 ให้ความร่วมมือในการรายงานและสอบสวนสาเหตุผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากสเตอรอยด์ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ/หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

ข้อที่: 
13
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้มีหลักสูตรการสอนทุกระดับเรื่องอันตรายจากการใช้สเตอรอยด์และสถานการณ์ปัญหายาสเตอรอยด์
ข้อที่: 
14
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐ ต้องรายงานการขาย จำหน่าย และการใช้ยาสเตอรอยด์รวมทั้งดำเนินการ จัดการลงโทษ กับผู้ที่มิได้รายงาน หรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้สเตอรอยด์
ข้อที่: 
15
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9
เอกสารหลัก: