You are here


การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายการเจรจาการค้าเสรี
สมัชชาครั้งที่: 
1
มติที่: 
4
ชื่อมติ: 
การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายการเจรจาการค้าเสรี
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติดำเนินการ
รายละเอียด: 

1.1 จัดตั้งกลไกคณะกรรมการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศและตรวจสอบผลกระทบทั้งด้านบวกและลบที่เกิดจากความตกลงที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว สำหรับนำไปสู่การเสนอแนะเพื่อพัฒนา ปรับปรุงและเยียวยา ทั้งนี้ให้กลไกนี้มีอิสระจากกลไกที่ทำหน้าที่ในการเจรจาการค้า

1.2 ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 190 วรรค 5 โดยให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและนำข้อเสนอของภาคประชาสังคมไปพิจารณา

 

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • วันที่ 23 มีนาคม 2552 คสช.เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ที่มีนายปรีดา เตียสุวรรณ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ มีกรรมการประมาณ ๑๕–๒๐ คน สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการมอบหมายให้ประธานและเลขานุการพิจารณาเสนอประธาน คสช. แต่งตั้งต่อไป ภายหลังคุณปรีดา ขอลาออกจากการเป็นประธาน
  • คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 มีนางศิรินา ปวโรฬารวิทยา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ (ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน) เป็นประธานกรรมการ โดยคณะกรรมการฯ มีองค์ประกอบจากทั้งภาครัฐ ภาควิชาการวิชาชีพ และภาคประชาชน/เอกชน มีเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ และ รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการฯ มีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งด้านบวกและลบทั้งก่อนการเจรจา การทำความตกลง และหลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้แล้ว โดยการประสานสนับสนุนการทำงานกับกลไกเจรจาการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาล รวมทั้งพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายหรือให้ข้อเสนอแนะหรือคำปรึกษาต่อ คสช. และกลไกเจรจาการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาล เพื่อให้มีแนวทางป้องกัน ลด หรือเยียวยาผลกระทบด้านลบ
  • กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สช. จัดเวทีรับฟังความเห็นเรื่อง กฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 วรรค 5 ขึ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ หลักสี่ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 73 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาคราชการ สถาบันวิชาการ และองค์กรภาคประชาชน รวมถึงหน่วยงานที่เป็นเจ้าของร่างพระราชบัญญัติจัดทำความตกลงหรือหนังสือสัญญาระหว่างประเทศทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนหรือฉบับภาคประชาชน ผลสรุปจากเวทีรับฟังความเห็นรวมได้ 4 ประเด็น ดังนี้

           1) ประเภทของหนังสือสัญญาที่เข้าข่ายมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ  ให้กำหนดนิยามและประเภทของหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่เข้าข่ายมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ ให้ชัดเจนไว้ในกฎหมายเพื่อก่อให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ปฏิบัติ และให้มีกลไกเฉพาะเพื่อวินิจฉัยว่าเอกสารใดที่เข้าข่ายมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ และควรเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เช่น กลไกคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภา

           2) หน่วยงานที่ควรมีหน้าที่ศึกษาวิจัย และช่วงเวลาที่ควรทำการศึกษาวิจัย ให้หน่วยงานกลางที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำการศึกษาวิจัย เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มาบริหารงานวิจัย โดยจะต้องมีการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบทั้งก่อนเสนอกรอบการเจรจา, หลังลงนาม, หลังหนังสือสัญญามีผลบังคับใช้ เพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐบาลและรัฐสภาต่อไป

           3) รูปแบบและช่วงเวลาของกระบวนการรับฟังความคิดเห็น กระบวนการรับฟังความคิดเห็นควรเปิดกว้างและโปร่งใสให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วม และเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน หลากหลายรูปแบบ โดยเสนอให้รับฟังความคิดเห็นทั้งก่อนการเจรจาและหลังการเจรจาเพื่อประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลและรัฐสภา

           4) ผลกระทบที่เกิดจากข้อตกลงที่ได้ทำไปแล้วก่อนร่าง พระราชบัญญัติฯฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบและมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนและอย่างบูรณาการ โดยให้มาตรการเยียวยาผลกระทบและแผนการปรับตัวของภาคส่วนต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งในเอกสารประกอบการพิจารณาของรัฐสภา และให้มีการติดตามผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยควรมีคณะกรรมการกลางประสานงานหน่วยงานต่างๆ เพื่อบูรณาการการเยียวยา และกำหนดนโยบายป้องกันการกำหนดนโยบายที่จะยิ่งซ้ำเติมปัญหา

        

ทั้งนี้ ที่ประชุมเสนอให้มีการพิจารณารวมร่างหรือปรับร่างของรัฐบาล โดยใช้ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ซึ่ง สช.ได้สรุปผลจากการประชุมส่งไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งของรัฐบาล รัฐสภา เอกชนและผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนเพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว คณะอนุกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมในเรื่องการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาสังคม 4 ภาค ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็น รวบรวมข้อมูลของหน่วยงานภาคประชาสังคมทั้งในด้านประโยชน์ที่จะได้รับและข้อกังวลต่างๆ เหตุผลและหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป และประมวลความเห็นที่ได้รับรายงานต่อคณะกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นฯ ทั้งนี้คณะอนุฯ ภาคประชาสังคมได้แจ้งต่อคณะกรรมการที่มีนายวินิจฉัย แจ่มแจ้งเป็นประธานรับทราบแล้ว ซึ่งกระบวนการที่กำลังดำเนินไปในขณะนี้จะเป็นข้อพิสูจน์ว่า การรับฟังความคิดเห็นและการเตรียมการก่อนการเจรจาทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 สำหรับข้อห่วงใยในเบื้องต้นต่อการเจรจากับสหภาพยุโรป อาทิ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดเสรีการบริการ การเปิดเสรีสินค้าภาคเกษตร การลดภาษีเหล้า และผลกระทบที่จะมีต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะในอนาคต

 

ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรวิชาการ องค์กรวิชาชีพ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในทุกภาคส่วน ทุกระดับ และภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการ
รายละเอียด: 

2.1 เข้าร่วมอย่างแข็งขันในการร่างกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 190 วรรค 5 โดยมุ่งเน้นให้เกิดกลไกที่จะรับฟังความเห็นจากผู้ส่วนได้ส่วนเสียอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และผลักดันให้หน่วยงานของรัฐ นำร่างการจัดทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐบาลมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวงกว้างอย่างเร่งด่วนที่สุด

2.2 สนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการศึกษาและติดตามฯ ที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ตั้งขึ้นตามมติข้อ 1.1

2.3 สนับสนุนให้มีผู้แทนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยการเสนอชื่อจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้สังเกตการณ์ ติดตามและรายงานผลการเจรจา

2.4 สนับสนุนให้มีการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงข้อมูลการเจรจาการค้าเสรี ตั้งแต่การกำหนดกรอบเจรจา ผลการเจรจา จนถึงขั้นตอนการให้สัตยาบันเพื่อผลการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จะเป็นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ผลการปฏิบัติงาน: 

1. การสนับสนุนกลไกที่ คสช. จัดตั้งขึ้น : ในการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ได้มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ มีการประชุมไปแล้ว ๒ ครั้ง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญกับผลกระทบจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศและได้ความร่วมมือเป็นอย่างดีต่อการดำเนินงาน โดยคณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาเรื่อง

1.1 การศึกษาผลกระทบและมาตรการรองรับ กรณีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศกลุ่มประเด็นการค้าบริการ และการลงทุน: การเปิดตลาดบริการภายใต้อาเซียนสาขาสุขภาพ ได้มีมติว่า การดำเนินการใดๆ ให้ยึดหลักการตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 หมวด 6 ข้อ 43 วรรค 2 ที่บัญญัติว่า “การบริการสาธารณสุขต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ และรัฐควรสนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่มุ่งเน้นประโยชน์สาธารณะเป็นหลักโดยไม่สนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจ” และมีมติให้มีการศึกษาวิจัยผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศภายใต้กรอบอาเซียน ในประเด็นการค้าบริการ และการลงทุนอย่างรอบด้าน รวมทั้งการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องแนวทางหรือมาตรการที่เหมาะสมในการกระจายผลประโยชน์ที่ได้จากนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติสู่ประชาชนไทยอย่างเป็นธรรม

1.2 การจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป โดยเฉพาะกรณีสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ คณะกรรมการฯ เห็นว่า สินค้าสุราและบุหรี่เป็นสินค้าไม่ธรรมดา และจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย จึงเห็นว่าไม่ควรนำเอาสินค้าทั้งสองประเภทเข้าไปอยู่ในความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป และมีมติให้เสนอความเห็นของคณะกรรมการฯ ดังกล่าวต่อ คสช. อย่างเป็นทางการเพื่อให้ คสช. ในการประชุมวันที่ 22 ตุลาคม 2553 พิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป ซึ่งที่ประชุม คสช. เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2553 ได้พิจารณาในประเด็นดังกล่าวแล้ว มีมติ 1) ให้ความเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ที่ให้ละเว้นการบรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เข้าเป็นรายชื่อสินค้าภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป และ 2) เสนอมติดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการเจรจาความตกลงการค้าเสรีเพื่อทราบมติและความห่วงกังวล ของ คสช.ในประเด็นการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ และพิจารณาให้ละเว้นการบรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เข้าเป็นรายชื่อสินค้าภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ

1.3 การศึกษาวิจัยในประเด็นเร่งด่วน คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ดำเนินการศึกษาวิจัยใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1) ประเด็น Border measures และ Counterfeit medical products และ 2) ประเด็น Patent Law Treaty โดยให้มีผู้แทนจากคณะกรรมการฯ เข้าไปมีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นและแลกเปลี่ยนในกระบวนการศึกษาวิจัยผลกระทบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเข้าถึงยาและการบริการด้านสุขภาพ และเรื่องการเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ และ ที่จะมีการดำเนินการในอนาคต

1.4 การจัดทำแผนสนับสนุนในเรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ทำข้อเสนอแนะผ่าน คสช. เพื่อเสนอให้ สกว. ดำเนินการจัดทำแผนสนับสนุนฯ ดังกล่าว

1.5 นอกจากผลการดำเนินการข้างต้น ยังได้สร้างช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลภายในคณะกรรมการฯ ผ่านทางอีเมล์กรุ๊ปและเว๊ปไซด์ พร้อมทั้งได้วางระบบการทำงานเพื่อเชื่อมโยงการทำงานด้านวิชาการอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายเลขานุการของโครงการการค้าระหว่างประเทศกับสุขภาพ (International Trade and Health Programme) อีกทั้งยังได้เห็นชอบในการเสนอให้มีผู้แทนจากคณะกรรมการฯ เข้าไปเป็นผู้ทำงานในคณะทำงานดูแลการเยียวยากรณีได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการเจรจาความตกลงการค้า เพื่อการประสานเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด อีกด้วย

2. การสร้างช่องทางการสื่อสาร : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำเว๊ปไซต์เผยแพร่ข้อมูลการเจรจาการค้าเป็นการเฉพาะที่  www.thaifta.com

3. คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพได้มีมติดังนี้ 1) กำหนดท่าทีในประเด็นการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป โดยเฉพาะกรณีสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ว่า เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ไม่ใช่สินค้าทั่วไปและมีผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่าให้ละเว้นการบรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เข้าเป็นรายชื่อสินค้าภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป และ 2) ให้เสนอมติของคณะกรรมการฯ ตามข้อ 1 ต่อคณะกรรมกรสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้ คสช.พิจารณาให้ความเห็นชอบและดำเนินการเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการเจรจาการค้าโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ สถาบันการศึกษาพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ที่มีความเกี่ยวข้องดำเนินการ
รายละเอียด: 

3.1 จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านอย่างน้อย 2 ครั้งคือ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อจัดทำกรอบการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศ และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อศึกษาผลกระทบ ก่อนการพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยรัฐสภาก่อนรัฐบาลให้สัตยาบัน หรือก่อนหน้าความตกลงมีความผูกพัน ทั้งนี้โดยมอบหมายให้องค์กรอิสระเช่น คณะกรรมการศึกษาและติดตามฯ ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตามข้อ 1.1 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น เป็นผู้จัดรับฟังความคิดเห็น และรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและข้อมูลผลกระทบต่อประเทศและประชาชน เผยแพร่ต่อสาธารณะก่อนให้ความเห็นชอบการจัดทำหนังสือสัญญา

3.2 กำหนดหลักการและมาตรการ ป้องกัน หลีกเลี่ยง และรองรับผลกระทบทั้งทางด้านบวกและด้านลบจากการบังคับใช้ข้อตกลงที่ระบุกรอบเวลาและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนเสนอต่อรัฐสภาทั้งก่อนเริ่มเจรจา และก่อนการลงนาม โดยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผลกระทบด้านลบได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย

ผลการปฏิบัติงาน: 

1. ปัจจุบันรัฐบาล โดยคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการเจรจาความตกลงการค้าเสรี มีรองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ซึ่งในประเด็นที่มีผลกระทบทางสุขภาพได้เชิญ สช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง และปัจจุบันได้แต่งตั้ง ผู้แทนจากคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพเป็นกรรมการในผู้ทำงานในคณะทำงานดูแลการเยียวยากรณีได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนซึ่งเป็นทิศทางของการทำงานร่วมกันของคณะผู้แทนเจรจาหลักของรัฐบาล และคณะกรรมการคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ  ทั้งนี้ ในส่วนของกรอบ วิธีการเจรจาต่างๆตามมติข้อ 3 อยู่ในขั้นตอนการทำงานร่วมกันรวมทั้งสัมพันธ์กับร่างกฎหมายตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯด้วย

2. เรื่องการเปิดเสรีด้านยาและเวชภัณฑ์ซึ่งเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาด้านยาและเวชภัณฑ์แล้ว ยังมีประเด็นข้อห่วงกังวลในเรื่องของการเปิดเสรีในเรื่องสินค้าบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสินค้าทำลายสุขภาพด้วย เนื่องจากมีความกังวลว่าการลดภาษีศุลกากรของสินค้าทั้งสองกลุ่มนี้จะทำให้เพิ่มอุปทานของสินค้า และการลดราคาสินค้าจะเป็นผลให้การเข้าถึงสินค้าสูงขึ้น ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายการควบคุมการบริโภคสินค้าทั้งสองกลุ่มของประเทศไทย โดยประเด็นสินค้าบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นประเด็นที่ถูกนำขึ้นมาพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ที่มีรองนายกรัฐมนตรี(นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เป็นประธาน ในการประชุมครั้งที่ 1/2553 วันที่ 6 สิงหาคม 2553 โดยคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวเห็นด้วยในหลักการสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เป็นสินค้าพิเศษ และได้มอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) ไปศึกษาทบทวนให้ชัดเจนถึงข้อดีข้อเสียจากการบรรจุสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เข้าไปในทำความตกลงการค้าเสรีที่ผ่านมาในอดีต รวมถึงให้ศึกษาคาดการณ์ถึงผลกระทบจากการบรรจุหรือไม่บรรจุสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เข้าในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป หากจะมีขึ้นในอนาคต และรายงานให้คณะอนุกรรมการฯ ทราบประกอบการพิจารณาต่อไป

3. วันที่ 15 ธันวาคม 2553 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ซึ่งมี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการเจรจาความตกลงการค้าเสรี มีมติเห็นชอบกรอบการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป โดยมอบหมายให้นายเกียรติ สิทธิอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย ไปศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา จากนั้นต้องเสนอให้สภาฯ เห็นชอบตามมาตรา 190 ด้วย

            สำหรับประเด็นเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ประชุมเห็นชอบให้รวมเอาไว้ด้วย แม้จะมีการคัดค้านโดยจะมีการพิจารณาถึงผลกระทบทางสังคมด้วย

4. วันที่ 24 กรกฎาคม 2555 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดทำโครงการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ: กรณีศึกษาผลกระทบจากข้อตกลงการค้า Thai-EU ต่อการเข้าถึงยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนได้รับรู้และเข้าใจข้อตกลงการค้าเสรีและเกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อห่วงกังวลจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการจัดทำกรอบการเจรจา ทางเลือก และเป้าหมายในการทำความตกลงการค้าเสรีรวมทั้งการเตรียมแผนรองรับผลกระทบในอนาคตต่อไป การจัดทำโครงการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อมาประกอบข้อห่วงกังวลในประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้สรุปการคาดการณ์ผลกระทบไว้ดังนี้

      1) การยืดเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรมีความต้องการให้คุ้มครองเพิ่มเติมให้แก่ผู้ทรงสิทธิ เพื่อชดเชยความล่าช้า ในการยื่นขอรับสิทธิบัตรและรออนุญาตทะเบียนตำรับ ยา จนสามารถยืดเวลาการขยายอายุสิทธิบัตรของบริษัทยาออกไปตั้งแต่ 0-19 ปี

     ผลทางลบ – ทำให้เกิดการผูกขาดตลาดยาและขัดขวางไม่ให้มีการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา(Compulsory Licensing) ทำให้การได้ใช้ยาใหม่ในราคาที่ถูกลงนานขึ้น คือการเข้าถึงยาได้ยากขึ้น

     2) การคุ้มครองข้อมูลยาที่ใช้เพื่อขออนุญาตให้วางตลาดให้บริษัทยามีโอกาสผูกขาดตลาดนานขึ้นด้วยการไม่ให้อ้างอิงข้อมูลยาของบริษัทที่ใช้ในการยื่นขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยเฉพาะข้อมูลการทดลองทางคลินิก มาใช้กับยาของบริษัทอื่นที่ขอขึ้นทะเบียนตามมา ไม่ว่ายานั้นจะเป็นยาที่จดสิทธิบัตรไว้ในไทยหรือไม่

     ผลทางลบ  - ผูกขาดข้อมูลยา และเพิ่มต้นทุนของบริษัทผลิตยาชื่อสามัญที่จะสามารถผลิตยาได้เมื่อสิทธิบัตรยาต้นแบบหมดอายุลง เพราะต้องศึกษาความปลอดภัยและการศึกษาทางคลินิกซ้ำอีกครั้ง ทำให้ไม่มี หรือมียาสามัญมาแข่งขันในตลาดช้าออกไป

     3) เป็นการกำหนดกติกาใหม่ของการขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญเพื่อกีดกันไม่ให้บริษัทยาสามัญขอขึ้นทะเบียนตำรับยาเพื่อแข่งขันได้

     4) ไม่สามารถใช้ข้อตกลงทริปในกรณีใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาได้จนกว่าอายุการผูกขาดข้อมูลจะหมดลง เพราะผู้ผลิตยาชื่อสามัญจะไม่สามารถขอขึ้นทะเบียนตำรับยาได้ในช่วงเวลาการผูกขาดข้อมูลยา

     5) การขยายอายุสิทธิบัตรเพิ่มเติมเนื่องจากข้อบ่งใช้ใหม่ทำให้ยาเดิมที่จำหน่ายแล้วและถูกค้นพบว่ามีข้อบ่งใช้หรือประโยชน์ในการรักษาใหม่ สามารถขยายระยะเวลาการผูกขาดตลาดออกไปได้

     6) การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิบัตรระหว่างประเทศ หากบริษัทยาไปจดสิทธิบัตรในประเทศอื่นได้สำเร็จ ไทยก็ต้องปฏิบัติตามภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยกฎหมายสิทธิบัตรระหว่างประเทศอาจจะทำให้เกิดปัญหาการจดสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้รับความคุ้มครอง เพราะในบางประเทศอาจจะมีมาตรฐานที่ด้อยกว่าในการตรวจสอบก่อนการให้สิทธิบัตร

     7) การใช้มาตรการ ณ จุดผ่านแดนมาตรการเพิ่มเติมที่จะเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการขนส่งยาข้ามประเทศโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะได้รับมอบอำนาจให้สามารถตรวจจับและยึดยาที่เพียงต้องสงสัยว่าจะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ อาจส่งผลให้ยาชื่อสามัญที่ถูกกฎหมายต้องถูกยึดและเสียเวลาอยู่ที่คลังสินค้าแทนที่จะขนส่งไปถึงปลายทางเพื่อช่วยชีวิตประชาชน

           ข้อห่วงกังวลคือมาตรการดังกล่าวอาจไปมีผลกระทบต่อข้อตกลงการค้าเสรีในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการระงับการขนส่งสินค้าโดยไม่มีเหตุอันควร โดยมิได้มีมาตรการให้ผู้ทรงสิทธิซึ่งเป็นผู้ร้องแสดงสาระสำคัญของเหตุอันควรสงสัย หรือวางหลักประกันในความเสียหายนั้นต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา

            ข้อเรียกร้องต่อสหภาพยุโรป ที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ฝ่ายไทย 1.ข้อเรียกร้องของไทยต่อสหภาพยุโรปในการผลักดันให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นจริงผ่านระบบสิทธิบัตร โดยการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนของการถ่ายทอดเทคโนโลยี 2.การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพจะต้องมีการให้ความยินยอมล่วงหน้า ประเทศเจ้าของทรัพยากรก่อน และจะต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ภายใต้หลักความตกลงร่วมกันและกฎหมายของไทย

            จึงมีการเปิดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ “FTA ไทย-อียู มีกระทบต่อการเข้าถึงยา” เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทราบและร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ FTA ไทย-อียู มีกระทบต่อการเข้าถึงยา โดยมีการเชิญชวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งนี้กำหนดรวบรวมข้อคิดเห็นถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2555

ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติติดตามผลการดำเนินการตามมตินี้ และรายงานต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่สาม ในปี พ.ศ.2553
เอกสารหลัก: 
เอกสารมติ: