You are here


เกษตรและอาหารในยุควิกฤต
สมัชชาครั้งที่: 
1
มติที่: 
5
ชื่อมติ: 
เกษตรและอาหารในยุควิกฤต
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งรับผิดชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551 - 2554 สนับสนุนให้ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดทำและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับชุมชนและท้องถิ่นแบบครบวงจร หรือเกษตรไร้สารพิษ เพื่อการพึ่งตนเองและความมั่นคงทางด้านอาหารของเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งจัดให้มีกระบวนการประเมินผลแผนยุทธศาสตร์และการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องทุกปี
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • สช. ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 และวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ทราบว่ารัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เป็นกลไกรับผิดชอบการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551-2554 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์) เป็นประธานกรรมการ มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเลขานุการ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ คือ (1) คณะอนุกรรมการบริหารจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ และ (2) คณะอนุกรรมการพัฒนาการผลิต การตลาด และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์  
  • มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มีการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับชุมชนใน 4 พื้นที่นำร่อง
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติดำเนินการ
รายละเอียด: 

2.1 ประสานงานกับคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งนักวิชาการและภาคประชาชนให้พิจารณาดำเนินการสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ประชากรทุกกลุ่มวัย

  1. พัฒนาตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหารที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย และรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของประเทศอย่างน้อยทุก 3 ปี
  2. จัดให้มีระบบเฝ้าระวังเพื่อเตือนภัยวิกฤตทางอาหาร
  3. ส่งเสริมให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานจัดทำระบบรับรองด้านมาตรฐานและความปลอดภัยของอาหารและสินค้าเกษตร
  4. จัดให้มีระบบเฝ้าระวังภาวะเสี่ยงต่อการใช้สารเคมีในกลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภคพัฒนากลไกเพื่อการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น คนจนเมือง ผู้ใช้แรงงาน ประชากรในพื้นที่ห่างไกล เขตชายแดน ท้องถิ่นทุรกันดารและพื้นที่สูง

2.2 ประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักวิชาการและภาคประชาชนเพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยและสืบสานให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยยกระดับสถานภาพทางสังคมของเกษตรกรรายย่อย ตลอดจนพัฒนาและจัดให้มีระบบสวัสดิการและหลักประกันความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและความเป็นธรรม เช่น ระบบสุขภาพและการดูแลรักษาให้ครอบคลุมเกษตรกรรายย่อย แรงงานรับจ้างในภาคเกษตรและเกษตรกรภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญา หรือ เกษตรตกลงล่วงหน้า (Contract Farming) ขณะเดียวกันส่งเสริมศักยภาพการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อจัดสวัสดิการช่วยเหลือกันเอง

2.3 ดำเนินการให้มีเครือข่ายพัฒนานโยบายด้านเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและของภาคประชาชน ควบคู่กับการสนับสนุนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงติดตาม เฝ้าระวังและพัฒนานโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้อง และการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น

2.4 เห็นควรมีและใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมี

ผลการปฏิบัติงาน: 

1) การพัฒนาตัวชี้วัดความมั่นคงด้านอาหาร : พบว่า

1.1 มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ทำการศึกษาและพัฒนาพัฒนาดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางอาหาร โดยการทบทวนวรรณกรรมและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดความมั่นคงทางอาหารทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ และได้ลงไปศึกษาดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชนใน 26 พื้นที่ทั่วประเทศ (ภาคเหนือ 8 ชุมชน ภาคอีสาน 11 ชุมชน ภาคใต้ 5 ชุมชน และภาคกลาง 2 ชุมชน) โดยศึกษาถึงมุมมองของชุมชนในเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในเชิงนิเวศและวัฒนธรรม  รวมทั้งสถานภาพการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร  ความเสี่ยงความเปราะบางต่อความมั่นคงทางอาหาร และประเด็นในเรื่องสิทธิและโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร

1.2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะอนุกรรมการความมั่นคงด้านอาหารของไทย ที่มีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นองค์กรประสานงาน มีพันธกรณีต้องจัดทำรายงานความมั่นคงด้านอาหารให้คณะกรรมการความมั่นคงด้านอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ทุก 2 ปี ใน 2 ส่วนคือ (1) ข้อมูลตามตัวชี้วัดของ FAO รวม 34 ตัว และ (2) ข้อมูลผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับมติความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยที่ได้จากการรวบรวมผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย

2) การพัฒนาระบบการเฝ้าระวังเพื่อเตือนวิกฤตทางอาหาร : มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ทำการศึกษาระบบเฝ้าระวังเพื่อเตือนภัยวิกฤตทางอาหาร ซึ่งได้มีการนำเสนอผลเบื้องต้นไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2553 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมให้ข้อเสนอแนะและนำกลับไปปรับปรุงเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อการพัฒนาในระยะต่อไป

3) ระบบรับรองด้านมาตรฐานและความปลอดภัยของอาหารและสินค้าเกษตร : พบว่า

3.1 สำนักงานมาตรฐานสินค้าการเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกทช.) ได้มีการกำหนดมาตรฐานคิว (Q) สำหรับใช้ตรวจสอบและรับรองในสินค้าเกษตร และกำลังทำการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบการเฝ้าระวังสินค้าเกษตรที่มีความเสี่ยง เปรียบเทียบระหว่างสินค้าเกษตรของ เกษตรกรที่เข้าและไม่เข้าระบบมาตรฐาน ใน 3 ด้าน คือ (1) สารเคมี (2) เชื้อจุลินทรีย์ และ (3) อันตรายด้านกายภาพ โดยเก็บตัวอย่างจากพืช 10 ตัวอย่าง สัตว์ 10 ตัวอย่าง และสินค้าประมง 10 ตัวอย่าง โดยการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2554

3.2 กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการกำหนดมาตรฐานด้านอาหารปลอดภัยหลายมาตรฐาน อาทิ มาตรฐาน “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย” หรือ Clean Food Good Taste มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อ และมาตรฐานอาหารปลอดภัย เป็นต้น

4) การเฝ้าระวังภาวะเสี่ยงต่อการใช้สารเคมีในกลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภค : สช. ได้สนับสนุนผ่านเครือข่ายสมัชชาสุขภาพให้มีการเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารเคมีในอาหาร สินค้าเกษตรและในตัวเกษตรกร อาทิ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์ นครราชสีมา เป็นต้น

5) การเข้าถึงคุณค่าทางโภชนาการ : กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยได้มีการพัฒนา “ระบบความไม่มั่นคงทางอาหารและระบบแผนที่สารสนเทศของกลุ่มเสี่ยง” ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศที่รวบรวมและใช้ในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับประชากรที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารหรือกลุ่มเสี่ยง โดยสามารถที่จะบอกได้ว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นใคร ทำไมถึงมีความไม่มั่นคงทางอาหาร การมีปัญหาทางโภชนาการระดับต่างๆ และกลุ่มเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ใด

6) นอกจากการดำเนินงานข้างต้นแล้วพบว่าคณะกรรมการอาหารแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ปี 2555- 2559 และให้นำเสนอต่อ ครม. เพื่อขอความเห็นชอบและมอบหมายให้ สศช. และหน่วยงานต่างๆ ใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานรวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติต่อไป

7) การสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรรุ่นใหม่ : กรมส่งเสริมการเกษตร อยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ยุวเกษตรกรเพื่อสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เข้ามาเป็นกำลังหลักในการทำอาชีพเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพหลักของประเทศไทย รวมทั้งมีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เช่น เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ ฯลฯ ได้ให้ความสำคัญและมีกิจกรรมดำเนินการที่ต่อเนื่องในการเสริมสร้าง สนับสนุนคนรุ่นใหม่เพื่อสืบทอดและทำให้เห็นคุณค่าระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

8) ระบบสวัสดิการและหลักประกันความมั่นคงของเกษตรกร : พบว่า รัฐบาลได้ประกาศนโยบายรัฐสวัสดิการสังคมในปี ๒๕๖๐ ในขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างการผลักดันกฎหมายสวัสดิการชาวนา  นอกจากนั้นในการพัฒนาระบบสวัสดิการของเกษตรกรและชุมชนมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเครือข่ายองค์กรเอกชน รวมทั้งองค์กรชุมชนดำเนินการอยู่ อาทิ ในภาคประชาชนมีการพัฒนากองทุนต่าง ๆ ในชุมชนโดยองค์กรชุมชนเพื่อจัดสวัสดิการทั้งด้านการออม ด้านสุขภาพ และการลงทุนในอาชีพ

9) การจัดตั้งเครือข่ายพัฒนานโยบายด้านเกษตรและอาหาร : ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายพัฒนานโยบายด้านเกษตรและอาหาร ซึ่งมีมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เป็นแกนประสานงาน สนับสนุนโดย สช. เพื่อทำหน้าที่พัฒนานโยบายด้านเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ควบคู่กับการสนับสนุนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ติดตามเฝ้าระวังนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้อง และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่สำคัญ คือ

9.1  การติดตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหาร โดยในปี 2552 พบการปนเปื้อนทางพันธุกรรม 17 ตัวอย่างจากการสุ่มตรวจประมาณ 900 ตัวอย่างทั่วประเทศ จากข้อมูลดังกล่าวได้เข้าพบปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาที่จะกระทบต่อฐานทรัพยากรและความมั่นคงทางอาหารของประเทศและชุมชน

9.2 การขับเคลื่อนให้มีการทบทวนการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียนที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ โดยประสานกับภาคีองค์กรต่างๆ จำนวน 114 องค์กร และบุคคลที่สาธารณชนให้ความเชื่อถือ มีการจัดแถลงข่าว จัดประชุมร่วมกับกรรมาธิการการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จัดบรรยายทางวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดทำสนธิสัญญาและการลงทุนระหว่างประเทศ และเข้าร่วมให้ข้อมูลต่อที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์) ประธานผู้แทนการค้าไทย (นายเกียรติ สิทธิอมร)  รวมถึงการเผยแพร่ข่าวสารเพื่ออธิบายเรื่องนี้ผ่านสถานีโทรทัศน์หลายช่อง หนังสือพิมพ์รายวัน และหนังสือพิมพ์ด้านเศรษฐกิจ จนในที่สุดคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้มีการทบทวนการเปิดเสรีการลงทุนดังกล่าว และล่าสุดการขอสงวนการลงทุนทั้ง 3 สาขา ของไทยได้รับการยอมรับจากประเทศอาเซียนอื่น ๆ แล้ว

9.3 ขับเคลื่อนเพื่อให้มีการทบทวนประกาศให้พืชสมุนไพร 13 ชนิด เช่น สะเดา ข่า พริก ตะไคร้หอม เป็นต้น ซึ่งใช้เป็นควบคุมแมลงศัตรูพืชเป็นวัตถุอันตราย ผ่านการจัดประชุมของกรรมาธิการวุฒิสภา คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เวทีรับฟังความคิดเห็นของกระทรวงสาธารณสุข มีการจัดแถลงข่าว และเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อมวลชนหลายสาขา รวมถึงการยื่นฟ้องศาลปกครอง เป็นต้น ผลการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจัดประชุมขึ้นเป็นกรณีพิเศษเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552

9.4 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ในงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศได้รับรองมติการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 พ.ศ.2555 ที่ประชุมรับรองเรื่องการปฏิรูประบบเกษตรกรรม: เพื่อความเป็นธรรมและความมั่นคงทางอาหาร โดยมีสาระสำคัญคือให้เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติและขับเคลื่อนให้เกิดผลภายใน 3 ปี เพื่อการรับมือกับวิกฤติความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน คณะกรรมการบริหารการประกันราคาผลผลิตต้องมาจากเกษตรกรร้อยละ 60 ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร้อยละ 40 สนับสนุนทุนการศึกษาที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืนแบบเรียนฟรี โดยให้ศึกษาได้ทั้งในและต่างประเทศ แต่มีข้อแม้ว่า ต้องมาทำงานในท้องถิ่นของตัวเอง และยกเว้นภาษีเกษตรกรรุ่นใหม่ภายใน 7 ปี

10) วันที่ 20 พฤษภาคม 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาคาซานว่าด้วยความมั่นคงอาหารเอเปค (Kazan Declaration on APEC Food Security) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผู้แทนที่เข้าประชุมให้การรับรองเพื่อประกาศเจตนารมณ์ต่อปฏิญญาดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และให้ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

11) กรมอนามัย สช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมี อาทิ อบต.บ่อเงิน จังหวัดปทุมธานี เป็นต้น

12) วันที่ 6 กันยายน 2555 กรมวิชาการเกษตรได้จัด ประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดวัตถุอันตรายเข้าอยู่ในรายการเฝ้าระวัง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ผู้ประกอบการผลิตและนำเข้าวัตถุอันตราย นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนหน่วยงานราชการอื่นๆ กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าเกษตร กลุ่ม ผู้บริโภค และกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้และไม่ใช้วัตถุอันตราย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดวัตถุอันตรายเข้าอยู่ในรายการเฝ้าระวัง  ซึ่งเดิมมีหลักเกณฑ์ 12 ข้อ ได้แก่ สารที่มีพิษเรื้อรัง สารที่มีพิษตกค้างสะสมในสิ่งมีชีวิตและถ่ายทอดได้ในห่วงโซ่อาหาร สารที่สลายตัวยากมีความคงทนในสิ่งแวดล้อม สารที่มีพิษเฉียบพลันสูง สารที่พบพิษตกค้างในผลิตผลเกษตรสูงและบ่อยครั้งสารที่มีสิ่งเจือปนที่เป็นพิษ สารที่เป็นอันตรายอย่างรุนแรงต่อพืชหรือสัตว์ที่มีประโยชน์ สารที่ถูกห้ามใช้ในต่างประเทศ สารที่ใช้แล้วทำให้เกิดการระบาดของศัตรูพืชเพิ่มขึ้น สารที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศ ใช้ไม่ตรง ตามคำแนะนำ และมีสารอื่นทดแทน ทั้งนี้ จากความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เสนอให้มีการจัดกลุ่ม หลักเกณฑ์ที่มีความคล้ายกันให้อยู่รวมเป็นข้อเดียวกัน และจัดเรียงลำดับความสำคัญของหลักเกณฑ์การพิจารณาให้เป็นวัตถุอันตรายที่อยู่ในรายการเฝ้าระวัง ซึ่งผลจากการจัดกลุ่มได้รวมหลักเกณฑ์ในการพิจารณาวัตถุอันตรายเพื่อการ เฝ้าระวังเหลือ 7 ข้อ จากเดิมที่มี 12 ข้อ

     อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่มีการเรียกร้องไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ขณะนี้ มีความเป็นไปได้ว่าวัตถุอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ ไดโคโตรฟอส และอีพีเอ็น อาจถูกเปลี่ยนแปลงระดับการควบคุมเป็น วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง) เนื่องจากมีข้อมูลที่ค่อนข้างชัดเจนซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์เฝ้าระวัง โดยกรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลของ วัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิด เข้าสู่กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในทุก ภาคส่วน คาดว่าน่าจะดำเนินการจัดประชาพิจารณ์ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ เมื่อได้ข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว กรมวิชาการเกษตรจะสรุปผลการทำประชาพิจารณ์ดังกล่าว เสนอเข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้พิจารณาต่อไปว่าจะอนุญาตให้มีการใช้วัตถุอันตรายชนิดนั้นต่อไปหรือไม่

 

ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
รายละเอียด: 

3.1 สนับสนุนการเก็บรักษาอนุรักษ์ ส่งเสริมการเพาะขยายพันธุ์และพัฒนาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านในชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองบนฐานการผลิตที่คำนึงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพและปกป้ององค์ความรู้และพืชพันธุ์ของไทยไม่ให้ตกเป็นของต่างชาติ ให้มีการสนับสนุนการศึกษาและเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ในระบบชีวภาพประจำถิ่นสำหรับการผลิตระบบเกษตรพืช/สัตว์ในท้องถิ่น การวิจัยพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์ในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร

3.2 ส่งเสริมและสนับสนุนการลด ละ เลิกการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตร โดย

     1) สนับสนุนการเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ หรือเกษตรผสมผสาน ให้ความรู้ทางด้านวิชาการในการแก้ไขปัญหาอย่างทั่วถึงถูกต้องเหมาะสมกับพื้นที่ หรือมีและใช้มาตรการทางกฎหมายและข้อบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

     2) ศึกษาข้อมูลและประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมี ให้องค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับผลกระทบตลอดจนโทษที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมี

3.3 สนับสนุนการรวมกลุ่มและการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและองค์กรเกษตรในการพิทักษ์สิทธิของเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรในการผลิตทางการเกษตรให้ได้ผลผลิตและอาหารมาตรฐานปลอดภัยให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและจัดให้มีตลาดทางเลือกของท้องถิ่นเพื่อให้ผู้ขาย ผู้ผลิตและผู้บริโภคมาพบกันเพื่อเลือกซื้ออาหารที่ปลอดภัย

3.4 สนับสนุนการวิจัย การรวบรวมข้อมูล และจัดให้มีศูนย์ให้ความรู้และให้คำแนะนำปรึกษาการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย หรือเกษตรธรรมชาติที่เหมาะสมกับพื้นที่

3.5 ประสานและสนับสนุนการนำที่ดินว่างเปล่าของรัฐ หรือเอกชนมาใช้โดยสมัครใจ เพื่อให้เป็นพื้นที่การเกษตรอินทรีย์ ทำการผลิตทั้งเพื่อบริโภคและเพื่อจำหน่าย  โดยให้ลำดับความสำคัญแก่คนจนที่ขาดที่ดินทำกินทั้งในเมืองและชนบท

3.6 สนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ฃ

3.7 ส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนหรือศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • จากการจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ได้ทราบว่ามี อปท. หลายแห่ง ที่มีกิจกรรมอนุรักษ์และพัฒนาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน อาทิ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องข้าวหอมมะลิแดงที่มีผลต่อการลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โดยร่วมมือกับ อสม. สถานีอนามัยและ สปสช. นอกจากนั้นยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ดำเนินการโดยกลุ่มองค์กรเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชนและกรมการข้าว ซึ่งทำให้มีข้าวพื้นบ้านได้รับการอนุรักษ์กว่า 100 สายพันธุ์ ในทุกภูมิภาค
  • จากการจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ได้ทราบว่า  

           1) มีการส่งเสริมและสนับสนุนการลด ละ เลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ เช่น อบต.แม่ทา กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ อบต.สายนาวัง อำเภอ  นาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ และ อบต.หัวดง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร เป็นต้น

           2) กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนโดยร่วมมือกับ อปท. จำนวน 358 แห่ง และศูนย์จัดการศัตรูพืชเฉพาะกิจ (เพลี้ยแป้งและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล) จำนวน 572 แห่ง รวมทั้งสิ้นจำนวน  930 แห่ง

           3) กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนโดยร่วมมือกับ อปท. จำนวน 358 แห่ง และศูนย์จัดการศัตรูพืชเฉพาะกิจ (เพลี้ยแป้งและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล) จำนวน 572 แห่ง รวมทั้งสิ้นจำนวน  930 แห่ง

           4) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ โดยมี นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ข้อเรียกร้องมีดังนี้

               4.1 ให้มีการเปิดเผยข้อมูลการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน (ฟูราดาน) เมโทมิล (แลนเนท) ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ผลด้านประสิทธิภาพ พิษวิทยา พิษระยะยาว คำชี้แจงของบริษัทสารเคมีเกษตรในประเด็นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรายชื่อคณะอนุกรรมการและคณะทำงานในการพิจารณาขึ้นทะเบียน

              4.2 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งคณะทำงานโดยมีผู้แทนฝ่ายการเมืองร่วมพิจารณายกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีเหล่านี้ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน พร้อมเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

        5) กรมวิชาการเกษตรได้เชิญตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (หนังสือเลขที่ กษ 0913/1159 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555) เข้าร่วมปรึกษาหารือกรณีการพิจารณาระงับการขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลงในบัญชีเฝ้าระวัง ในวันที่ 6 มีนาคม 2555 ในการประชุม อธิบดีกรมวิชาการเกษตรชี้แจงว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลดังที่ได้รับปากไว้ เนื่องจากข้อมูลพิษวิทยา พิษตกค้าง ข้อมูลด้านประสิทธิภาพและการศึกษาเรื่องพิษระยะยาวบางส่วนเป็นผลศึกษาของบริษัทสารเคมีเกษตรซึ่งถือว่าเป็นความลับของบริษัท ทั้งนี้ในระหว่างการประชุมอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้เสนอว่า การห้ามนำเข้า จำหน่าย และครอบครองสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ดังนั้นหากประสงค์จะยกเลิกสารเคมีดังกล่าวต้องเสนอต่อคณะทำงานพิจารณาวัตถุอันตรายในบัญชีเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตรเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายตามขั้นตอนต่อไป 

  •  วันที่ 7 สิงหาคม 2555 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ แถลงผลการสุ่มตัวอย่างผักสดจากตลาดห้วยขวาง ตลาดประชานิเวศน์ และรถเร่ แห่งละ 7 ตัวอย่าง รวม 21 ตัวอย่าง พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน 8 ตัวอย่าง คิดเป็น 38.1% หรือ 1 ใน 3 ของผักทั้งหมด โดยผัก 3 ชนิดที่มีสารพิษตกค้างมากที่สุด ได้แก่ 1.ผักชี พบสารตกค้างเกินมาตรฐาน 5 ชนิด  2.ถั่วฝักยาว พบสารตกค้าง 6 ชนิด 3.ผักคะน้าและพริกจินดา ที่พบสารตกค้าง 2 ชนิด และหากเปรียบเทียบปริมาณสารที่พบในผัก พบว่าผักชีมีความรุนแรงและน่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากพบสารคาร์โบฟูรานเกินค่ามาตรฐานยุโรปถึง 37- 56 เท่า และสารอีพีเอ็นเกิน 102 เท่า ขณะที่ถั่วฝักยาว พบ คาร์โบฟูราน เมโทมิล และอีพีเอ็น เกินมาตรฐาน 3.5 เท่า 4 เท่า และ  34 เท่า ตามลำดับ ขณะที่ผักบุ้งจีนไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมตตกค้าง ส่วนกะหล่ำปลีและผักกาดขาว เดิมคาดว่าจะมีสารตกค้างมากแต่จากการสำรวจกลับพบการตกค้างน้อยกว่ามาตรฐานที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงมีเสนอ ได้แก่

            1.  กรมวิชาการเกษตร ต้องควบคุมการส่งเสริมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้เข้มงวดเท่าเทียมมาตรฐานการส่งออก

            2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องมีมาตรฐานสุ่มตรวจโดยทำงานเชิงรุก

            3. ผลักดันเกษตรกรรมอินทรีย์และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี

            4. ให้ผู้บริโภคควรล้างผักที่ซื้อมาหลายๆครั้งหรือล้างด้วยด่างทับทิม ก่อนนำไปบริโภค และควรหันมาสนับสนุนและรับประทานผักพื้นบ้าน เพราะปลอดสารเคมี สำหรับอันตรายจากสารเคมี 4 ชนิดร้ายแรง ได้แก่ 1.คาร์โบฟูราน 2.เมโทมิล 3.ไดโครโตฟอส 4.อีพีเอ็น คือจะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต และส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ได้แก่ โรคมะเร็ง และเป็นหมัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเรียกร้องให้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนหรือมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศ เนื่องจากหลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้ว

  • จากการจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ได้ทราบว่ามี อปท. หลายแห่งที่ได้สนับสนุนและร่วมมือกับกลุ่มองค์กรชุมชนในการพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์  โดยการประสานกับหน่วยงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมีจัดทำตลาดทางเลือกหรือตลาดสีเขียวในจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ หรือในกรุงเทพมหานครได้มีการจัดตลาดสีเขียวหน้าโรงพยาบาล และในจุดต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร
  • จากการจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ทราบว่า ยังไม่มี อปท. ที่สนับสนุนการวิจัย มีเพียงการจัดทำศูนย์เรียนรู้ หรือการจัดตั้งโรงเรียนชาวนา เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน และการให้บริการข้อมูลให้กับเกษตรกรผู้สนใจ
  • จากการจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 พบว่าไม่มีข้อมูลที่เป็นทางการว่า มี อปท. ใดได้นำที่ดินที่วางเปล่าของรัฐหรือเอกชนมาใช้โดยสมัครใจ มีเพียงปรากฏการณ์ในบางชุมชนที่ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อปท. ได้จัดสรรที่สาธารณะของชุมชนให้กับเกษตรกรทำการผลิต เช่น ปลูกผักในชุมชน เป็นต้น
  • จากการจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 เห็นตรงกันว่า อปท. ส่วนใหญ่มีนโยบายในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว แต่ดำเนินการที่เน้นการทำกิจกรรมมากกว่าเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของชุมชน
  • เมื่อวันที่ 15-16 สิงหาคม 2555 คณะอนุกรรมการวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติสู่การปฏิบัติ (คมส.) ได้ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในจังหวัดนครราชสีมา ในประเด็นเกษตรและอาหารในยุควิกฤติ โดยเลือกพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องอาหารปลอดภัยและเทคโนโลยีการปลูกผักไร้สารพิษที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการกลุ่มทั้งเรื่องการตลาดและรายได้ ส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตและได้รับประทานผักที่ไร้สารพิษ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งเรื่องกระบวนการรวมกลุ่ม ตั้งแต่กระบวนการกลั่นกรอง การเข้ามาเป็นสมาชิก (ที่เน้นการสร้างความดีด้วยหลักศาสนาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง) การพึ่งตนเอง การรวมกลุ่ม และการประสานหน่วยงานภายนอก รวมทั้งการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นกลไกในการทำงาน

  

ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ให้มีและใช้มาตรการทางการเงินและการคลังจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบธุรกรรมทางการเกษตรอินทรีย์ตลอดสายการผลิต
ผลการปฏิบัติงาน: 

          จากการจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ได้ทราบว่า รัฐบาลยังไม่มีการประกาศใช้นโยบายในการใช้มาตรการทางการเงินและการคลังของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิต และผู้ประกอบธุรกรรมทางการเกษตรอินทรีย์  เช่น การยกเว้นภาษี หรือ การให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ย เป็นต้น

  1. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาชำระหนี้โครงการจัดหาปุ๋ยเคมีนำเข้าจากต่างประเทศของกรมส่งเสริมสหกรณ์ออกไปจนกว่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณชดเชยผลขาดทุนเสร็จสิ้นตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ สรุปสาระสำคัญจากรายงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้
  • ในการประชุมคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกรครั้งที่ 6/2552 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ขยายระยะเวลาการดำเนินงาน โครงการจัดหาปุ๋ยเคมีนำเข้าจากต่างประเทศ จากวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ออกไปจนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 และให้เร่งจำหน่ายปุ๋ยที่เหลือทั้งหมด โดยให้ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ประสานกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จำหน่ายให้กับกลุ่มเกษตรกรโดยตรง
  • ในการประชุมคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกรครั้งที่ 6/2553 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ขยายระยะเวลาโครงการและชำระเงินคืนกองทุนฯ โครงการฯ จากสิ้นสุดวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2553 และให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 เห็นชอบด้วยแล้ว
  • ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีดังต่อไปนี้ (1) โครงการฯ ได้มีการนำเข้าปุ๋ยยูเรีย 2 ครั้งดังนี้ ครั้งที่ 1 จำนวน 10,000 ตัน ราคาตันละ 14,000 บาท และครั้งที่ 2 จำนวน 10,000 ตัน ราคาตันละ 12,600 บาท สรุปราคาเฉลี่ยตันละ 13,330 บาท (2) การจำหน่ายปุ๋ยรอบแรก จำหน่ายปุ๋ยรวม 8,814.25 ตัน ราคาตันละ 15,800 บาท มีรายได้จากการจำหน่าย รวม 19,265,150 บาท หักต้นทุนการจำหน่ายและค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการแล้ว ไม่มีผลกำไร/ขาดทุน การจำหน่ายปุ๋ยรอบที่สอง จำนวนปุ๋ยรวม 11,185.75 ตัน ราคาตันละ 10,000 บาท มีรายได้จากการจำหน่าย รวม 111,857,500 บาท หักต้นทุนการจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการแล้ว ประสบผลขาดทุน 54,713,776.09 บาท ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ตรวจสอบปิดบัญชีผลขาดทุนตามจำนวนดังกล่าวในปีงบประมาณ 2555 แล้ว

         2. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในระยะต่อไป และมอบ

            หมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการโดยบูรณาการร่วมกับ

            หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนเกษตรกรและเครือข่ายเกษตรกรต่อไป ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ

            เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

ข้อที่: 
5
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติติดตามผลการดำเนินงานตามมตินี้ และรายงานผลต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่สาม
รายละเอียด: 
  • ได้ดำเนินการแล้ว ดังมีรายละเอียดปรากฏตามเอกสารฉบับนี้
เอกสารหลัก: 
เอกสารมติ: