You are here


บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการจัดการสุขภาพและทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม
สมัชชาครั้งที่: 
1
มติที่: 
7
ชื่อมติ: 
บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการจัดการสุขภาพและทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ดำเนินการ
รายละเอียด: 

1.1 จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนอย่างสมานฉันท์ เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจร่วมกัน ในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นและเป็นแกนหลักในการจัดทำสมัชชาสุขภาพท้องถิ่นและเชิงประเด็นบนพื้นฐานของข้อมูลความเป็นจริงในพื้นที่ ในทุกระดับอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยมีกระบวนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยเฉพาะภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคการเมืองทุกระดับ และพัฒนาองค์กรส่วนท้องถิ่นให้มีความรู้ความเข้าใจและมีศักยภาพในการจัดกระบวนการสมัชชาพื้นที่ เพื่อนำเสนอนโยบายสุขภาพระดับพื้นที่ที่สอดคล้องกับท้องถิ่น และมีความเชื่อมโยงไปยังนโยบายระดับชาติได้

1.2 นำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพมาจัดทำแผน นโยบาย ยุทธศาสตร์ และโครงการเพื่อการจัดการด้านสุขภาพและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นและมีกระบวนการประเมินตนเองอย่างมีส่วนร่วม พร้อมทั้งมีการเผยแพร่รายงานผลประเมินต่อชุมชนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

1.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและรับเรื่องร้องเรียนและเฝ้าระวังด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างกว้างขวางทั่วถึงและเพียงพอ รวมทั้งจัดทำข้อมูลสุขภาพชุมชนและประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยร่วมมือกับองค์กรเอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1.4 พัฒนาบุคลากรสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขในตำบลและจัดตั้งกองทุนการศึกษาเฉพาะด้านเพื่อดำเนินการพัฒนาบุคลากรทุกภาคฝ่าย เช่น ส่งบุคลากรในท้องถิ่นไปศึกษาต่อในสาขาที่ท้องถิ่นต้องการบรรจุ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว หรือจัดการพัฒนาทั้งทางด้านวิชาการ จิตวิญญาณบริการด้วยคุณธรรม จริยธรรม และมนุษยสัมพันธ์ให้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข ตลอดจนให้โอกาสแก่บุคลากรในท้องถิ่นที่สำเร็จการศึกษาในสาขาที่ท้องถิ่นต้องการกลับมาปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมชนอย่างมีความมั่นคงในวิชาชีพ เป็นต้น

1.5 กำหนดข้อบังคับในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการออกกฎระเบียบข้อบังคับควบคู่กับสร้างจิตสำนึกและความตระหนักให้กับคนในชุมชนรักและหวงแหนในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนใช้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน

1.6 ส่งเสริมการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

1.7 เชื่อมโยงบูรณาการจัดระบบและแก้ไขปัญหาสุขภาพ และจัดการสิ่งแวดล้อมระหว่างท้องถิ่นที่มีพื้นที่ต่อเนื่องถึงกัน หรือมีลักษณะภูมินิเวศเดียวกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • วันที่ 31 สิงหาคม 2552 คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (คกถ.) มีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 มติ 1.7 บทบาท อปท. กับการจัดการสุขภาพและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม อาทิ ให้ อปท.ทุกระดับดำเนินการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ในชุมชนอย่างสมานฉันท์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง นำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพมาจัดทำแผน นโยบายยุทธศาสตร์ และโครงการอย่างน้อยปีละ1 ครั้ง พัฒนาบุคลากรสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขในตำบล และจัดตั้งกองทุนการศึกษาเฉพาะด้าน รวมทั้งกำหนดข้อบังคับในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่งเสริมสนับสนุนและติดตามการจัดทำพัฒนาหรือปรับปรุงร่างกฎหมาย ข้อบัญญัติ กฎกระทรวงระเบียบต่าง ๆ ร่วมกับ อปท.และภาคประชาสังคม เป็นต้น ส่วนการถ่ายโอนสถานีอนามัย อปท. สธ.ควรมีนโยบายแผนปฏิบัติการถ่ายโอนที่ชัดเจน โดยควรตั้งศูนย์ประสานงานการถ่ายโอนสถานีอนามัย เพื่อรองรับการถ่ายโอนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้การถ่ายโอนสถานีอนามัยให้แก่ อปท.ที่ผ่านมา สธ.ได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 28 แห่ง และมีเป้าหมายที่จะถ่ายโอนสถานีอนามัยให้ครบ 35 ภายในปี 2552 ดังนั้นจึงเห็นควรมอบให้กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแล อปท. รับไปดำเนินการ เพื่อให้ อปท. เป็นแกนหลักในการสนับสนุนให้เกิดกลไกความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในระดับท้องถิ่น และให้ สธ.เร่งรัดให้เกิดการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.ตามความพร้อม ให้แล้วเสร็จภายในปี 2551-2553 ต่อไป
  • สช. ได้สนับสนุนกลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัด รวม 30 จังหวัด เพื่อพัฒนากระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมและกระบวนการสมัชชาสุขภาพในพื้นที่ ในปีงบประมาณ 2552 และ สปสช. ได้รายงานว่า ขณะนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดตั้งกองทุนสุขภาพชุมชน โดยใช้งบประมาณร่วมกันระหว่างงบประมาณจาก สปสช. และ อปท. ไปแล้ว 3,190 แห่ง และมีแผนจะขยายให้ครอบคลุม อปท. ทุกแห่งแล้ว เป็นต้น
  • เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ในงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศได้รับรองมติการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 พ.ศ.2555 ที่ประชุมรับรองเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจสู่การปรับดุลอำนาจที่เหมาะสมระหว่างรัฐกับชุมชนท้องถิ่น โดยมีสาระสำคัญคือ ให้มีการออกกฎระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการโครงการนำร่องเรื่องการพัฒนาระบบลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เสนอคณะรัฐมนตรีจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อจัดทำร่างกฎหมายระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น และผลักดันมติสมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยที่ตั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ทุกระดับ
รายละเอียด: 

2.1 กระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมสนับสนุนและติดตามการจัดทำ พัฒนา หรือปรับปรุงร่างกฎหมาย ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบต่างๆ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมให้เอื้อต่อการพัฒนาสุขภาวะชุมชนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2.2 กำหนดนโยบายและงบประมาณในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีเป้าหมายและแนวทางปฏิบัติร่วมกันที่ชัดเจน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือกันและบูรณาการการทำงานร่วมกันในการจัดการสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

2.3 การถ่ายโอนสถานีอนามัยสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุขควรมีนโยบาย แผนปฏิบัติการถ่ายโอนที่ชัดเจนและกระบวนการที่เหมาะสมในการถ่ายโอนสถานีอนามัย ทั้งในเรื่องกรอบอัตรากำลัง บุคลากร แผนงาน งบประมาณ สวัสดิการ การเบิกจ่ายงบประมาณ และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการเตรียมการและดำเนินการอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นตอน ด้วยความสมัครใจและความพร้อม และสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานีอนามัย บนพื้นฐานประโยชน์องประชาชนเป็นหลัก กระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจัดตั้งศูนย์ประสานงานการถ่ายโอนสถานีอนามัยเพื่อรองรับการถ่ายโอนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

2.4 จัดให้มีองค์กรหลักหรือหน่วยงานในระดับชุมชน จังหวัดและประเทศ ประเมินผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ทั้งทางด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพในชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทุกภาคส่วน และให้หน่วยงานในระดับชุมชนเป็นฐานข้อมูลในการประเมินและเผยแพร่ข้อมูลการประเมินผ่านสื่อสาธารณะทุกครั้งที่มีการประเมิน ตลอดจนสิทธิรับรู้ข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้นๆ

2.5 สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมโดย

     1) สนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนสามารถจัดการทรัพยากรได้ เช่น จัดตั้งกองทุนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน

     2) พัฒนาศักยภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น ภายใต้กฎหมาย ข้อบัญญัติที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนนั้นๆ รวมทั้งสร้างและยกระดับกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาเครือข่าย และภาคีวิชาการ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ เช่น การห้ามเผาตอซังข้าว การเลี้ยงผีขุนน้ำ การบวชป่า การสืบชะตาแม่น้ำ การจัดการเหมืองฝายแบบดั้งเดิม เป็นต้น เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยชุมชนเองได้

     3) ให้มีมาตรการและกลไกกำกับ ตรวจสอบ พิจารณาต่อใบอนุญาตของภาคอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

     4) จัดให้มีหลักสูตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่นในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู  และดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เมื่อกันยายน 2554 กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ.2555-2559 ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า “กฎบัตรความร่วมมือด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก” รวมทั้งมีประกาศ “ปฎิญญาว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกมีแผนระดับชาติที่บูรณาการงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปกป้องสุขภาพประชาชน โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งร่างแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมฯ มีเป้าหมายมุ่งเน้นการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและประชาคมโลก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งนี้มีเป้าหมายหลักคือความเจ็บป่วยอันอาจเนื่องมาจากปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมลดลง 7 ด้าน ได้แก่ 1) คุณภาพอากาศ 2) น้ำ สุขาภิบาลและสุขอนามัย 3) ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย 4) สารเคมีเป็นพิษและสารอันตราย 5) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 6) การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัย และ 7) การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้หลักเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว  กรมอนามัยจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการอนามัยสิ่งแวดล้อมและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติติดตามผลการดำเนินการตามมตินี้ และเสนอต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในครั้งหน้า (ครั้งที่สอง)
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • วันที่ 9 มีนาคม 2552 สช. ได้จัดการประชุมเครือข่ายหน่วยงานที่ทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความเห็นร่วมกันว่ามติในเรื่องนี้มีเนื้อหาที่กว้างและเป็นนามธรรมไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงเสนอว่าควรกำหนดเป้าหมายในมติแต่ละข้อให้ชัดเจน และมีการจัดลำดับความสำคัญของงาน โดยควรมุ่งเน้นไปที่งานการจัดการสุขภาพก่อน ให้รวมทั้งควรมีเวทีพูดคุยกับเครือข่ายเป็นประจำ และขยายวงให้กว้างขึ้น มีการหาพื้นที่ที่มีผลการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับมติแต่ละข้อ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป และควรพัฒนามติบางข้อที่ต้องการรายละเอียดเพื่อนำเสนอขอความเห็นชอบต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งต่อไป และได้ประสานงานกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเป็นองค์กรประสานการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามมตินี้
เอกสารหลัก: 
เอกสารมติ: