You are here


ระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในสังคมไทย
สมัชชาครั้งที่: 
1
มติที่: 
11
ชื่อมติ: 
ระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในสังคมไทย
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
เสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติให้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ โดยให้มีองค์ประกอบและสัดส่วนที่เป็นธรรมสำหรับทุกภาคส่วน โดยให้มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
รายละเอียด: 

1.1 ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบ กลไก รูปแบบ องค์กร หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และแนวทางการป้องกันผลกระทบโดยครอบคลุมทั้งก่อน ระหว่างและหลังดำเนินโครงการในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น และระดับชุมชนอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ให้มีการถอดบทเรียนจากการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนากระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาหนึ่งปี โดยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ

1.2 ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในทุกระดับ โดยทำงานประสานเชื่อมโยงกับเครือข่ายและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วและจะจัดให้มีขึ้น โดยให้มีหน่วยงานในการประสานงานที่ชัดเจน

1.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความรู้ การจัดการความรู้ การพัฒนาศักยภาพ การสื่อสารสาธารณะและระบบข้อมูล HIA

1.4 ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนา การใช้ การติดตาม และการเผยแพร่ผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ทั้งผ่านสมัชชาสุขภาพและช่องทางอื่นๆ

1.5 ให้ตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

1.6 ปฏิบัติหน้าที่อื่นใด ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมอบหมาย

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • วันที่ 23 มีนาคม 2552 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2552 คสช. เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่มีนายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ ประธานมูลนิธินโยบายสุขภาวะ เป็นประธาน และเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ มีกรรมการประมาณ ๑๐-๑๕ คน สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการมอบหมายให้ประธานและเลขานุการพิจารณาเสนอประธาน คสช. แต่งตั้งต่อไป
  • สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดตั้งศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Coordinating Unit: HIA Co-Unit) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
  • ศูนย์ประสานงานฯ ได้ทำการยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ โดยมีการทบทวนข้อมูลทางวิชาการและการศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศประกอบ จัดประชุมปรึกษากับหุ้นส่วนการทำงานที่สำคัญ ได้ แก่ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค สำ นักงานสำ นักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมูลนิธินโยบายสุขภาวะ และได้มีการปรับปรุงร่างฯ ตามข้อเสนอแนะ และนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ บริษัทที่ปรึกษา เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาและนโยบายสาธารณะ นักวิชาการ รวมถึงนักพัฒนาเอกชน ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วทั้งหมด 5 เวทีดังนี้

           - วันที่ 17 กรกฎาคม 2552 รับฟังความเห็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

           - วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 เวทีรับฟังความเห็นจากเครือข่ายภาคเหนือ ณ โรงแรมเดอะปาร์ค จังหวัดเชียงใหม่

           - วันที่ 3 สิงหาคม 2552 เวทีรับฟังความเห็นจากเครือข่ายภาคอีสาน ณ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

           - วันที่ 8 สิงหาคม 2552 เวทีรับฟังความเห็นจากเครือข่ายภาคใต้ ณ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

           - วันที่ 17 สิงหาคม 2552 เวทีรับฟังความเห็นจากเครือข่ายภาคกลาง ณ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

  • จัดประชุมปรึกษาหารือกับเครือข่ายเฉพาะประเด็นที่ยังมีข้อห่วงกังวล ประกอบกับนำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้จากการจัดเวทีรับฟังฯ ทั้ง 5 เวที รวมถึงข้อเสนอแนะที่ส่งมาทาง Email มาปรับปรุงเป็นร่างฯ ฉบับที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในครั้งสุดท้ายวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร ในการนี้ได้เชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมาร่วมให้ความเห็น โดยแบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภา องค์กรอิสระ นักธุรกิจ บริษัทที่ปรึกษา นักวิชาการ ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ และสื่อมวลชน ทั้งนี้ได้มีการถ่ายทอดสดการรับฟังความเห็นผ่านทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์สุขภาพแห่งชาติ www.healthstation.in.th อีกด้วย หลังจากนั้นได้ปรับปรุงเป็นร่างสุดท้าย และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
  • วันที่ 19 ตุลาคม 2552 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2552 มีมติต่อหลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตามและประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ดังนี้

           -   เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตามและประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะโดยมอบให้ เลขาธิการ คสช. นำข้อสังเกตของ คสช. ไปพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดต่อไป

           - เห็นชอบให้ออกประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตามและประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ

  • เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2556 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการจัดตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ณ ห้องประชุมบุญสมมาร์ติน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันจะเป็นประโยชน์แก้ประชาชนในวงกว้างในการติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสุขภาพอันอาจเกิดจากโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ได้ด้วยตนเองต่อไป
  • เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 กลุ่มผู้ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีการเรียนรู้เรื่องการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพโดยชุมชนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินขยาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ของภาคเอกชนรายหนึ่งที่เตรียมก่อตั้งขึ้นใน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ตามมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยมีการนำนักวิชาการ นำโดย นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดเวทีการเสวนา และมีดร.วิสาข์ สุวรรณไพบูรณ์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ม.นเรศวร บรรยายให้ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหิน และมลพิษสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาบนเวที ประกอบด้วย นายกัญจน์ ทัตติยกุล ตัวแทนนักอนุรักษ์ระบบนิเวศลุ่มน้ำคลองท่าลาด ในโครงการคุ้มครองวิถีชีวิตบนพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี อ.บางคล้า และคลองเขื่อน เภสัชกรหญิงศิริพร จิตรประสิทธิศิริ จาก รพ.สนามชัยเขต อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นผู้มาชี้แนะถึงผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย นางพลูเพ็ชร สีเหลืองอ่อน จากมูลนิธิส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาชุมชน เป็นผู้บรรยายถึงผลกระทบจากถ่านหินที่มีต่ออาชีพเกษตร การเพาะเห็ดฟางของเกษตรกร ดร.ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยด้านนโยบายพลังงาน จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ และกรรมการองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) มาวิเคราะห์ถึงปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าและปริมาณสำรอง และความต้องการที่แท้จริงในการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย และทิศทางนโยบายพลังงาน ซึ่งการจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้มีประชาชนเดินทางเข้ามาร่วมรับฟังถึงกว่า 400 คน
  • เมื่อวันที่ 22 กันยาย 2557 นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และรักษาการ ผอ.ศูนย์ประสานงาน การพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “ร่างแผนการปฏิบัติการการประเมินผลกระทบ ด้านสุขภาพ” ที่โรงแรมไมด้า ซิตี้ รีสอร์ท แจ้งวัฒนะ
  • วันที่ 27 มกราคม 2558 ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดแถลงข่าว “การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในกระแสปฏิรูป” และความสำเร็จของการประชุมวิชาการ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA Conference) ประจำปี ๒๕๕๗ ณ ห้องราชเทวี โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร ที่ประชุมได้มีการนำเสนอการดำเนินงานที่ผ่านมาได้แก่ แนวทางและความเห็นในการขับเคลื่อน HIA ที่ได้จากการประชุมวิชาการHIA Conference พ.ศ.๒๕๕๗ นี้ ควรจะถูกนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมต่อ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และผลักดันไปสู่ร่างในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิชุมชน เพื่อเป็นการให้อำนาจกับชุมชนอย่างแท้จริง และควรเพิ่มเครื่องมือใหม่ในการดูแลผลกระทบ เช่น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ที่เป็นการประเมินก่อนการมีนโยบายที่ครอบคลุมไปถึงศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมในเชิงพื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงานวิชาการร่วมกับประเทศสมาชิกภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างฐานความรู้ในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่บางโครงการ เชื่อมโยงพื้นที่หลายประเทศ เช่น การทำเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง หรือการผลิตไฟฟ้าจากลาว เพื่อส่งมาขายยังประเทศไทย เป็นต้น โดยเรื่องนี้จะมีการจัดประชุมวิชาการอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๘ นี้  ข้อเสนอดังนี้ ใน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEAเพื่อให้ครอบคลุมไปถึงแผนงาน ศักยภาพ และข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ด้วย รวมถึงให้มีการกำหนดสิทธิพลเมืองมีส่วนร่วมแสดงความเห็น และตัดสินใจอย่างแท้จริง
  • เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2559 มี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ ร่างประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 2 พ.ศ.... ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 25 (5) ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยเป็นการปรับปรุงจากหลักเกณฑ์ฉบับแรกที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2551 เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และเหมาะสมกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลังจากนี้ สช.จะเร่งดำเนินการเพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้สาธารณะได้รับทราบต่อไป ในระหว่างนึ้คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้ประกาศหลักเกณฑ์ฯ ฉบับ พ.ศ.2551 ไปก่อนจนกว่าประกาศฯ ฉบับที่ 2 จะมีผลบังคับใช้ต่อไป
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติสนับสนุนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในระดับท้องถิ่นและชุมชน ก่อนมีการพัฒนานโยบายสาธารณะของท้องถิ่นหรือก่อนมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • วันที่ 14 ตุลาคม 2557 สถาบันการจัดการระบบสุขภ่พ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรสใ ม.อ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้กำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง วิทยาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ  ในวันที่ 10-14 พ.ย. 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการได้
  • เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2559 มี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกรรมการสุขภาพแห่งชาติจากหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบ ร่าง ประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 2 พ.ศ.... ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ตามมาตรา 25 (5) ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยเป็นการปรับปรุงจากหลักเกณฑ์ฉบับแรกที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และเหมาะสมกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและลดความขัดแย้งของสังคม หวังลดผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนและชุมชนจากการดำเนินงานโครงการ แผนงาน และนโยบายทุกระดับ ย้ำต้องนำหลักเกณฑ์ไปใช้จริงโดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ของสังคมวงกว้าง
เอกสารหลัก: 
เอกสารมติ: