You are here


การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์
สมัชชาครั้งที่: 
1
มติที่: 
13
ชื่อมติ: 
การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
เห็นด้วยกับการพัฒนานโยบายการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
ผลการปฏิบัติงาน: 

สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 ได้ให้การรับรองนโยบายการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551

ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
เห็นชอบสาระสำคัญข้อเสนอการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ ตามเอกสารแนบท้ายมตินี้
ผลการปฏิบัติงาน: 

สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 ได้ให้การรับรองนโยบายการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551

ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
รายละเอียด: 

3.1 นำสาระสำคัญข้อเสนอตามมติข้อ 2 ไปเสนอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการดำเนินการต่อไป

3.2 เผยแพร่ ประสาน สนับสนุนและผลักดันให้หน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศมีการดำเนินงานตามแนวทางการแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ที่วางไว้อย่างกว้างขวาง

3.3. ติดตามผลการดำเนินงานตามแนวทางการแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ในทางปฏิบัติเพื่อรายงานความคืบหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของทุกสองปี

 

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • สช. ได้นำนโยบายการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านฉันทมติจากสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ไปนำเสนอต่อคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติและ คสช. รวมทั้งเสนอต่อ ครม. ซึ่ง ครม. ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ให้ความเห็นชอบต่อนโยบายดังกล่าว และมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดผลด้วย
  • วันที่ 5 มิถุนายน 2552 ตัวแทนภาคประชาชนจากเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย ชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน และมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขต่อรัฐสภา โดยร่างนี้มีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการคือ 1) เพื่อชดเชยผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการสาธารณสุข 2) ลดการฟ้องร้องของผู้ป่วยต่อแพทย์และสถานพยาบาล และ 3) เพื่อสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานการรักษาและการบริการทางสาธารณสุขในประเทศไทย รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยในระยะยาว ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.นี้ได้ผ่านการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการตามข้อเสนอการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ได้พัฒนากลไกภาครัฐและสนับสนุนกลไกภาคประชาชนโดยการประชุมร่วมกันพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ.... เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับแก้จาก (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... ที่ประชุมมีความเห็นสรุปในประเด็นสำคัญ ดังนี้

           1. ยืนยันหลักการสำคัญในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... ฉบับเดิมที่ร่วมกันร่างโดยกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

           2. ให้กระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือถึงสำนักงานกฤษฎีกายืนยันหลักการสำคัญทั้งสามประเด็นข้างต้น

           3. ให้กระทรวงสาธารณสุขขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษถึงความจำเป็นในการจัดตั้งสำนักงานคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

           4. ในกรณีที่ไม่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งสำนักงานคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดประชุมโดยด่วนเพื่อหารือว่าจะใช้หน่วยงานใดเป็นสำนักงาน เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทั้งนี้ต้องให้ภาคประชาชนที่เคยร่วมกันร่าง พ.ร.บ.นี้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย

  • กระทรวงสาธารณสุขได้ข้อสรุปจากการประชุมร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ทั้ง 12 ประเด็น เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2553 มีสาระสำคัญดังนี้

           1) เรื่องชื่อร่างพระราชบัญญัติ มีการเสนอให้แก้ไขชื่อเป็น “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายและผู้ให้บริการที่ได้รับผลกระทบจากการรับบริการสาธารณสุข

           2) เรื่องของหลักการ แก้ไขเป็น ให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการรับบริการสาธารณสุข

           3) เรื่องของนิยาม ได้เพิ่มคำนิยามผู้เสียหาย นอกจากผู้ป่วยแล้ว ให้ครอบคลุมถึงผู้ให้บริการด้วย

           4) การคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เสนอให้แก้ไขมาตรา 6 โดยตัดคำว่ามาตรฐานวิชาชีพออกเพื่อให้เกิดการเดินหน้าในการดูแลผู้ป่วยได้

           5) เรื่องคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ ได้ขอให้ใช้องค์ประกอบคณะกรรมการในมาตรา 7 (2) ให้เพิ่มปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และปลัดกระทรวงกลาโหม เพิ่มจากคณะเดิม และขอให้เพิ่มคณะกรรมการในมาตรา 7 (3) โดยให้เพิ่มผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพอีก 4 คน และผู้แทนสถานพยาบาลอีก 2 คน และในมาตรา 7 (4) ให้มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านบริการสาธารณสุขจำนวน 6 คน และให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุขและด้านสังคมศาสตร์เพิ่มอีกด้านละ 3 คน

          6) ที่ตั้งของสำนักงานเลขานุการ ให้คงอยู่ที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

          7) กองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข ได้ข้อตกลงว่า ขอให้มีการจ่ายเงินสมทบกองทุนเท่าเทียมกันและเป็นธรรมระหว่างกองทุน สปสช. กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม สำหรับโรงพยาบาลเอกชนจะจ่ายเงินสมทบในอัตราใกล้เคียงทั้ง 3 กองทุน

          8) เรื่องการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย มีข้อสรุปว่า การพิจารณาจ่ายเงินจะไปร่วมกับประเด็นที่ 9 จะให้มีการจ่ายเงินเบื้องต้น หลังจากนั้นจะมีคณะอนุกรรมการพิจารณาเงินชดเชยทั้ง 3 ฝ่าย

          9) เรื่องการฟ้องคดีอาญาและบทกำหนดโทษ ได้เห็นชอบร่วมกันในมาตราดังกล่าว

        10) เรื่องการฟ้องคดีอาญาและบทกำหนดโทษ ได้เห็นชอบร่วมกันในมาตราดังกล่าว

        11) เรื่องการไกล่เกลี่ยและการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ ซึ่งมีในโรงพยาบาลทุกแห่งแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีมาตราใน พ.ร.บ.ฉบับนี้

        12) เรื่องการพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายแก่ผู้รับบริการ โดยขอให้มีการกำหนดการรายงานและมีการแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ

  • สำนักงานกฤษฎีกาได้พิจารณาและจัดทำบันทึกสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมความสัมพันธ์ในระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ..... เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2554 มีสาระสำคัญดังนี้

         1) หมวด 1 มีการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

         2) หมวด 2 ให้มีคณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข

         3) หมวด 3 ให้มีสำนักงานสร้างเสริมความสัมพันธ์ในระบบบริการสาธารณสุขที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นกลาง

         4) หมวด 4 ให้มีกองทุนเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข

         5) หมวด 5 ให้มีกระบวนการยื่นคำขอและการพิจารณาเงินเยียวยาความเสียหายที่เหมาะสมและรวดเร็ว

        6) หมวด 6 ให้มีการไกล่เกลี่ยและสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข

        7) หมวด 7 ให้มีการส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายเพื่อเป็นหลักประกันในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขให้ผู้รับบริการเกิดความเชื่อมั่นได้

        8) หมวด 8 มีการกำหนดเงื่อนไขเหตุผลต่างๆ ให้ศาลพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ หากผู้ให้บริการถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานกระทำการโดยประมาทและศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิด นอกจากนี้ยังมีบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการไว้ด้วย

  • การเผยแพร่ ประสานงานและผลักดันหน่วยงานและภาคีต่างๆ มีการดำเนินงานดังนี้

        1. การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ : ได้นำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามนโยบายการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 โดยมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา เป็นประธานอนุกรรมการ มีหน้าที่ในการ (1) ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ให้แก่คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง และ (2) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกระดับ เพื่อการดำเนินงานตามนโยบายการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์

        2. การสนับสนุนการดำเนินงาน : สช. ได้สนับสนุนงบประมาณและทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามนโยบายการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้อย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย อาทิ กับกระทรวงสาธารณสุขในการผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข กับศูนย์สันติวิธีสาธารณสุขในการประชุมวิชาการประจำปี เป็นต้น

        3. การเผยแพร่สู่สาธารณะ : ได้กระจายมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมตินี้ไปทั่วประเทศตามช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลาย และได้จัดทำหนังสือ “เส้นทางสู่สมานฉันท์ในระบบการดูแลสุขภาพ” แจกจ่ายไปยังภาคีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 10,000 เล่ม

  • การติดตามผลการดำเนินงาน

จากการประสานงานกับคณะอนุกรรมการติดตามนโยบายการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ ทราบว่ามีผลการปฏิบัติที่เกิดขึ้นและเชื่อมโยงกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้และแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ สรุปได้ดังนี้

1) กระทรวงสาธารณสุข :

      1.1 นำไปเป็นฐานในการผลักดันให้มีการออกกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข แต่เนื่องจากมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันของสังคม จึงทำให้ไม่สามารถบรรจุการพิจารณาในเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามกำหนดเวลาได้

      1.2 ได้มีการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อแก้ปัญหาการประสานการส่งต่อผู้ป่วยและการส่งผู้ป่วยแล้วไม่มีโรงพยาบาลปลายทางรับผู้ป่วย โดยในช่วงต้น ได้พัฒนาและเร่งรัดการจัดตั้งศูนย์ประสานการส่งต่อระดับจังหวัดและเขต ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาแนวทางการส่งต่อผู้ป่วย โดยพัฒนากรอบแนวทางในการพิจารณาศักยภาพการให้บริการสำหรับโรงพยาบาลระดับต่าง ๆ ควบคู่กับทรัพยากรของโรงพยาบาล

      1.3 ได้มีการพัฒนาระบบสนับสนุนให้มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะในระบบรายงานการแพ้ยาของผู้ป่วย (Adverse Drug Reaction : ADR) รวมทั้งการรายงานความคลาดเคลื่อนในการสั่งยาเพื่อการรักษาพยาบาล  ซึ่งเป็นการรายงานเพื่อการพัฒนาคุณภาพการจ่ายยาผู้ป่วย และเป็นมาตรฐานในการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลด้วย

      1.4 มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข โดยได้แต่งตั้งผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี และจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเป็นการประจำ

      1.5 ในการพัฒนาระบบให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ได้มีนโยบายในการจ้างนักกฎหมายเพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือในระดับเขต ๆ ละ 1 คน นอกเหนือจากการดำเนินงานขององค์กรวิชาชีพต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินงานในการให้คำแนะนำและช่วยเหลือบุคลากรอย่างจริงจัง

      1.6 ในเรื่องการผลักดันให้มีการปฏิรูประบบการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพภาคประชาชนของประเทศ รวมถึงเร่งรัดและผลักดันการแก้ปัญหาความขาดแคลน และการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขารวมทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเป็นระบบ และส่งเสริมระบบสวัสดิการ แรงจูงใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง นั้นกระทรวงสาธารณสุขได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและได้ผลดี  มีการดึงภาคประชาชนเข้ามาร่วมการดำเนินงานด้านสุขภาพมากขึ้น  สำหรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนและการกระจายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ไขการขาดแคลนเชิงปริมาณโดยมีแผนเพิ่มการผลิตอย่างชัดเจน และการปรับระบบการผลิตเพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระจาย รวมทั้งได้ใช้ระบบการกระจายบุคลากรตามระบบ GIS  การสนับสนุนการศึกษาต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และการพัฒนาระบบการสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ

      1.7 ในการพัฒนาระบบการศึกษาของบุคลากรทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมอุดมคติและจริยธรรมของวิชาชีพ จะมีการพัฒนาตามแนวทางของแพทยศาสตร์ศึกษา ซึ่งการพัฒนาระบบการสอนให้ตอบสนองต่อความต้องการของบริการระดับปฐมภูมิมากขึ้น  รวมทั้งมีการพัฒนาระบบการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การพัฒนาทักษะการสื่อสาร การเจรจาต่อรอง ได้มีการปรับหลักสูตรและการอบรมก่อนสำเร็จการศึกษาด้วย

      1.8 กระทรวงสาธารณสุข ได้สนับสนุนให้โรงพยาบาลต่าง ๆ นำเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์จากการให้บริการทางการแพทย์ มาประชุมปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางในการป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์เดิมเกิดขึ้นซ้ำซาก การถอดบทเรียนประสบการณ์การบริหารจัดการกรณีมีปัญหาจากการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่

      1.9 การผลักดันแนวทางการทำงานที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของกระบวนการเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมและพัฒนาสถานบริการสาธารณสุข ในรูปแบบต่างๆ นั้นกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ชุมชนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและพัฒนาสถานบริการ โดยมีตัวแทนชุมชนเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล แต่ยังไม่ได้ดำเนินงานในทุกแห่ง และความชัดเจนของบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ แต่ในกระบวนการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของโรงพยาบาลโดยกระบวนการจิตอาสา มีการดำเนินงานได้ดี ทั้งในรูปแบบของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เดิม  หรือการรวมกลุ่มของชมชนในการช่วยเหลืองานของโรงพยาบาลในรูปแบบจิตอาสา

      1.10 การให้ทุนการศึกษาบุคลากรด้านสาธารณสุข เดิมกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีข้อผูกพันปฏิบัติงานชดใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษา  เช่น หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ และหลักสูตรอื่นที่กระทรวงสาธารณสุขผลิตเอง ซึ่งทำให้สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนและการกระจายบุคลากรอย่างได้ผล ต่อมามีการยกเลิกการให้ทุนการศึกษาและข้อผูกพันดังกล่าว สำหรับแพทย์ และทันตแพทย์ได้มีเงื่อนไขการปฏิบัติงานชดใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษา แต่ไม่ได้มีการให้ทุนการศึกษาที่ชัดเจน   นอกจากนี้ยังมีการผลิตแพทย์ในโครงการพิเศษ เช่น โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท โครงการผลิตแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนแพทย์ ซึ่งเป็นการคัดเลือกนักเรียนจากระดับจังหวัดและอำเภอเข้าศึกษาแพทย์ มีการเรียนการสอนและฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา และให้กลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนา

2) มีการจัดตั้งสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล หรือ สพร. เป็นองค์การมหาชน โดยรัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล พ.ศ. 2552 (องค์การมหาชน) เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 กำหนดให้ สพร. มีหน้าที่ในการส่งเสริมให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่าง ๆ มีการพัฒนาคุณภาพโดยใช้มาตรฐาน การประเมินตนเองและการประเมินภายนอกเป็นเครื่องมือสำคัญ

3) สปสช. ได้ผลักดันนโยบายให้ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนในการรับบริการสาธารณสุขแทนบัตรทองได้สำเร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552

4) คณะอนุกรรมการติดตามนโยบายการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์  ได้ตั้งคณะทำงานถอดบทเรียนกรณีการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ จากกรณีการผ่าตัดต้อกระจกโรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งมีผู้สูญเสียการมองเห็น 11 ราย และไม่เกิดกรณีฟ้องร้อง โดยคณะทำงานประกอบด้วยพหุภาคีที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยสำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ได้ดำเนินการถอดบทเรียนและจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเผยแพร่ไปยังสถานบริการภาครัฐทุกแห่ง รวมทั้งผู้สนใจ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาความสัมพันธ์ และเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์

เอกสารหลัก: 
เอกสารมติ: