You are here


ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ
สมัชชาครั้งที่: 
2
มติที่: 
5
ชื่อมติ: 
ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
รับรองแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ตามภาคผนวกท้ายมตินี้
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ได้มีมติรับรองแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาและนำเสนอแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด ดำเนินการให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการทุกระดับที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • คสช. เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป
  • คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮฝฝใอล์ และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยงานราชการและภาคีเครือข่ายต่างๆ ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานและเข้ามามีส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการแก้ไขปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และติดตามผลตามแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ รวมถึงการพัฒนาแผนปฏิบัติการ
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด
รายละเอียด: 

3.1 ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการดำเนินงานและเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการกับปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และติดตามผลตามแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ รวมถึงการพัฒนาแผนปฏิบัติการ

3.2 ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาสังคมพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม หรือการจัดสรรงบประมาณจากภาษีสรรพสามิตสุรา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ สนับสนุนกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และสนับสนุนการรณรงค์เพื่อขจัดความรุนแรงในครอบครัว และใช้ในมาตรการเยียวยาผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว อันเป็นผลมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการจัดการประชุมเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนนโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติ จำนวน 2 ครั้ง และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนปฏิบัติการในแต่ละยุทธศาสตร์
  • กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโนบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์) เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าประชุมจัดทำแผนปฏิบัติการในเดือนธันวาคม 2553
  • ในที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานดังนี้
  1. กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 2 คือยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนค่านิยมและลดแรงสนับสนุนในการดื่ม โดยได้ดำเนินการ เช่น ได้นำเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปบูรณาการในแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา จัดให้มีการ RE-X-RAY สำรวจสภาพการใช้สารเสพติดในสถานศึกษาทุกแห่ง จัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยนำนักเรียน นักศึกษาที่ถูกจำแนกแล้วเข้าไปสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และจัดกิจกรรมเยี่ยมบ้าน กำหนดนโยบายให้สถานศึกษาเป็นเขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งจัดกิจกรรมการเรียนรู้และรณรงค์ให้นักเรียน นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจในพิษของการดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าวและสัมมนาความร่วมมือการจัดกิจกรรมรับน้องสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศในโครงการรับน้องปลอดเหล้า และสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามนโยบาย 3D ของกระทรวงศึกษาธิการ  
  2. กระทรวงมหาดไทย มีนโยบายในการจัดระเบียบสังคมสถานบริการสีขาว โดยได้มีหนังสือสั่งการยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะงานประเพณี งานประจำปี งานรื่นเริงต่างๆ ในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะงานกาชาดได้กำหนดให้เป็นงานที่ปลอดเหล้า และห้ามดื่มเหล้าในสถานที่ราชการต่างๆ อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งชุดเฉพาะกิจในการจัดระเบียบสังคม โดยการดำเนินการจะให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชนเพื่อไม่ให้เข้าถึงแอลกอฮอล์ในการจัดระเบียบสังคมในเรื่องของสถานบริการ รวมถึงสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ
  3. กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีและค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งเรื่องของการหางบประมาณสนับสนุนในส่วนส่วนของการดูแลปัญหานี้
  4. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีหน้าที่ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผู้ประสบความพิการในเรื่องนี้ ดังนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงได้เสนอกฎหมายเพื่อที่จะนำรายได้บางส่วนจากภาษีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาช่วยเหลือเยียวยาสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ
  • วันที่ 1 กันยายน 2554 คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ จากผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ
  • กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดสถานที่ราชการและสวนสาธารณะที่อยู่ในกำกับดูแลของทางราชการปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2554
  • วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี มีงานประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก (Global Alcohol Policy Conference : GAPC) ภายใต้หัวข้อ”จากแผนยุทธศาสตร์ระดับโลกสู่การปฏิบัติระดับชาติและท้องถิ่น” นักวิชาการทั้งภาคสาธารณสุขภาครัฐ นักรณรงค์ต่างๆ จาก 59 ประเทศ อาทิเกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย นิวซีแลนด์ สกอตแลนด์ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ต่างเห็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นภัยคุกคามของคนทั่วโลก ทั้งด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตต่างๆเพื่อผลักดันให้องค์การอนามัยโลกกำหนดวัน งดดื่มสุราโลกได้ เหมือนวันงดสูบบุหรี่โลก ที่ประชุมได้มีข้อสรุประดับประเทศให้มีการสนับสนุน สร้างความเข้มแข็ง ใช้มาตรการที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ โดยเฉพาะมาตรการที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่การวางแผนด้านสาธารณสุขและนโยบายการ พัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ และใช้มาตรการทางภาษีและการจัดเก็บรายได้เพื่อนำไปสู่การทำงานเพื่อลด อันตรายจากแอลกอฮอล์
  • เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ที่ประชุมได้พิจารณาร่างประกาศพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำนวน 4 ฉบับ แต่ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างประกาศเพียง 3 ฉบับคือ (1) ร่างประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากเห็นว่าอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้แรงงาน (2)  ร่างประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งเนื้อหาสาระเหมือนการห้ามขายเครื่องดื่มในหน่วยราชการ เพียงแต่ครอบคลุมไปยังหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐอื่นๆ เช่น องค์กรมหาชน โดยห้ามขายดังกล่าวจะยกเว้นในสโมสร หรืองานตามประเพณีต่างๆ  และ (3) ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถยนต์ทุกประเภท ทั้งผู้ขับและผู้โดยสาร รวมทั้งท้ายกระบะ โดยร่างประกาศ 3 ฉบับจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติในวันที่ 16 พฤษภาคม 2555 ก่อนจะประกาศใช้ต่อไป สำหรับร่างประกาศห้ามขายเครื่องดื่มในทางสาธารณะหรือไหล่ทาง ทางเท้านั้น ที่ประชุมมีข้อคิดเห็นว่า การห้ามขายบริเวณดังกล่าวมี พ.ร.บ.จราจรทางบกควบคุมอยู่แล้ว ส่วนเรื่องห้ามดื่มที่ประชุมมีมติว่า เรื่องนี้มีผลกระทบต่อประชาชน อาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดทำประชาพิจารณ์และนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
  • วันที่ 7 สิงหาคม 2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง ห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ.2555 โดยความเห็นชอบและคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ดังต่อไปนี้
  1. ห้ามผู้ใดขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
  2. การห้ามขายหรือห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามข้อ 1 ไม่ใช้บังคับกับโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังต่อไปนี้ (1) การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดำเนินการเป็นปกติธุระในทางการค้าของโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (2) การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นขั้นตอนของการผลิตหรือรักษามาตรฐานการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  3. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
  • วันที่ 21 สิงหาคม 2555 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบ โดยให้มีผลทันที ในส่วนของบุหรี่จะปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต 8 ยี่ห้อในอัตรา 6-8 บาท/ซอง ส่วนสุรา แบ่งเป็นสุราผสม ปรับภาษีสรรพสามิตเพิ่มเป็น 120 บาท/ลิตร และสุราต่างประเทศ เพิ่มเป็น 400 บาท/ลิตร โดยการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตในครั้งนี้ยังถือว่าไม่เต็มเพดานที่ได้กำหนดไว้ อย่างไรก็ดีกระทรวงการคลังให้เหตุผลในการปรับภาษีสุราและบุหรี่ในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการบริโภคสุราและยาสูบ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน
  • เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวง สาธารณสุข ลงนามความร่วมมือกับ พล.อ.อ.วินัย เปล่งวิทยา รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.ธัชชัย ถนัดใช้ปืน รองเสนาธิการทหาร ตัวแทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ พล.อ.อ.ทรงธรรม โชคคณาพิทักษ์ ผู้ช่วย ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก เพื่อกำหนดให้พื้นที่ในสถานที่ราชการของ 4 หน่วยงานดังกล่าวปลอดเหล้า เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 วัตถุประสงค์ในการลงนามครั้งนี้ เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยจากอันตรายที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่กำลังพลที่อยู่ในสังกัด รวมทั้งครอบครัวและประชาชนทั่วไปด้วย โดยทุกหน่วยงานจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย 4 ประการ ดังนี้
  1. จัดให้สถานที่ราชการและสวนสาธารณะที่อยู่ในกำกับดูแล ปลอดการขายและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
  2. ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ราชการและสวนสาธารณะที่อยู่ในกำกับดูแล
  3. ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในเฉพาะในร้านหรือสโมสรที่เปิดให้บริการเป็นประจำ หรือถาวร และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง จากสถานที่ราชการนั้นๆ เท่านั้น
  4. ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคล อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และให้ขายได้ เฉพาะเวลาที่กำหนดเท่านั้น คือ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น.

      ทั้งนี้ ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง ช่วยกันตรวจตราและเอาผิดผู้ที่ละเมิดกฎหมาย รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามร้านค้าในชุมชนหรือบริเวณใกล้เคียง และเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมาย

  • เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีมีการพิจารณาวาระลับเพื่อพิจารณากฎกระทรวงเพื่อกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีสุราใหม่ โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีสุราใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุรา พ.ศ. 2493 โดยอัตราภาษีสุราใหม่ จะมีผลตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันพุธที่ 4 ก.ย. 2556
  • วันที่ 11 สิงหาคม 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 1/2557 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานที่ประชุม การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมาตรการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและได้พิจารณาร่างกฎหมายลูก ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้งหมด 4 ฉบับ โดยจะนำเสนอที่ประชุมฝ่ายสังคมและจิตวิทยาเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของ คสช. ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ทั้งนี้มีแผนระยะสั้น คือ จะนำกฎหมายที่มีอยู่แล้วไปดำเนินการระยะยาว ได่ให้กรมสรรพสามิตแก้ไข พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 เรื่องการแปรรูปเหล้ากระทำได้เมื่อมีผู้ร้องขอเพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายรวดเร็วและง่ายขึ้นทั้งยังพิจารณาการให้สินบนนำจับผู้กระทำผิด เป็นแรงจูงใจ  นอกจากนี้กำหนดให้ผู้ผลิตสุราต้องพิมพ์ภาพและคำเตือนโทษและพิษภัยบนบรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย, กำหนดให้การโฆษณาทางโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ แสดงข้อความเสียงคำเตือนที่ชัดเจนทุกพยางค์ เข้าใจความหมาย 2 วินาที ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ให้แสดงคำเตือนในตำแหน่งบนสุดไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่โฆษณา, ห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟ,แก้ไขระเบียบเปรียบเทียบปรับ หากเป็นผู้กระทำผิดรายย่อยเริ่มจากน้อยไปหามากหากเป็นผู้ผลิตหรือนำเข้ารายใหญ่ รวมถึงบริษัทในเครือจะปรับเต็มเพดาน และให้ชำระค่าปรับภายใน 15 วัน
  • เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักนายกรัฐมนตรีออกประกาศราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำนวน 6 ฉบับ และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ดังนี้

           1. เรื่อง ห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ที่อยู่ในกํากับดูแลและใช้ประโยชน์ของราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ พ.ศ. 2558 โดยห้ามผู้ใดขายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ที่อยู่ในกํากับดูแลและใช้ประโยชน์ของราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร ที่พักส่วนบุคคล หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี

            2.  เรื่อง กําหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในท่าเรือโดยสารสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยห้ามผู้ใดขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณท่าเรือโดยสารสาธารณะหรือบนเรือโดยสารสาธารณะประจําทาง ทางน้ำทุกชนิดที่ใช้ขนส่งคนโดยสารตามเส้นทางที่หน่วยงานของรัฐกําหนด

            3.  เรื่อง กําหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ. 2558 โดยห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

            4.  เรื่อง กําหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีขนส่ง พ.ศ. 2558  โดยห้ามผู้ใดขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณสถานีขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก

            5.  เรื่อง กําหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 โดยห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ

            6.  เรื่อง กําหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ พ.ศ. 2558  โดยห้ามผู้ใดขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถ ที่อยู่บนทางรถไฟตามกฎหมายว่าด้วยจัดวางการรถไฟและทางหลวง

            ทั้งนี้ประกาศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

  • วันที่ 15 มิถุนายน 2558 กระทรวงการคลัง สั่งการให้กรมสรรพสามิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตรวจสอบการประกอบกิจการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้ฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด รวมถึงการพิจารณากำหนดมาตรการเพื่อห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณใกล้สถานศึกษา ตลอดจนการขายเหล้าปั่นโดยไม่ได้จดทะเบียนการค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างถูกต้องตามกฎหมายและขายเหล้าปั่นให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในแหล่งที่ใกล้สถานศึกษาหรือบนบาทวิถีอย่างแพร่หลาย ซึ่งที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการบูรณาการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจจากสำนักตรวจสอบ ป้องกันและปราบปราม และเจ้าหน้าที่สรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศ 
  • เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2558 นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองได้สั่งการให้ทุกจังหวัดวางมาตรการและกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสุราในบริเวณใกล้กับสถานศึกษา โดยให้ตรวจสอบการผลิตสุราพื้น บ้าน สถานที่จำหน่าย ระยะเวลาการจำหน่าย ข้อห้ามหรือเงื่อนไขการจำหน่ายสุราให้กับบุคคลบางประเภทให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายทั้งปรับและจำคุก รวมไปถึงการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ต้องห้าม
  • วันที่ 18 มิถุนายน 2558  ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 1/2558 ว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการกำหนดสถานที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา พ.ศ. ... เพื่อปกป้องเยาวชนจากการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดปัญหาที่มาจากการเมาสุรา เช่น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น และนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ไม่ต้องการให้เยาวชนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างประกาศฉบับดังกล่าว กำหนดให้ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะ 300 เมตร จากแนวเขตของสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยกเว้นโรงแรม และสถานบริการในเขตพื้นที่ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่ เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ โดยจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติในวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 และจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการในการดำเนินการ ทั้งนี้ ได้มอบให้สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประสานกับกรมสรรพสามิต กำหนดหลักเกณฑ์ในการวัดระยะ 300 เมตร เพื่อเป็นแนวทางให้มหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา สำรวจและแจ้งร้านค้าต่อไป
  • เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 กรมสรรพสามิตได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานสรรพสามิตภาคและสรรพสามิตพื้นที่ดำเนินการออกตรวจร้านขายสุราบริเวณรอบสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตขายสุรา เข้มงวดและใช้ความรอบคอบในการออกใบอนุญาตขายสุราให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายที่กำหนดไว้ กรมสรรพสามิตจะเพิกถอนใบอนุญาตทันที ทั้งนี้ ถือเป็นนโยบายสำคัญในการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการสำนักงานสรรพสามิตภาคและสรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศที่ต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตาม รวมถึงการตรวจสอบร้านขายสุราที่อาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามมติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เห็นชอบให้ออกประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวะศึกษาในระยะ 300 เมตร ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหากคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบก็จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ต่อไป
  • เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมพิจารณาปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กรุงเทพมหานคร และเพื่อพจารณาแนวทางการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การกำหนดวัน เวลา สถานที่และบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพและคุณลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์บนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมด้วยเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์รู้ทันแอลกอฮอล์ และนักเรียน/นักศึกษา กว่า 30 คน เข้าพบเพื่อยื่นข้อเสนอเรียกร้องให้บังคับใช้กฎหมายเอาผิดร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใต้หอพักนักศึกษา ซึ่งสำรวจพบหนาแน่นเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าร้อยละ 7 รวมถึงขอให้สนับสนุนการออกประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา ในระยะ 300 เมตร ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากสำรวจพบว่าร้านสุราและสถานบันเทิง ที่ตั้งอยู่รอบมหาวิทยาลัย มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14
  • เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ที่ ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาล กทม. ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2558 เพื่อติดตามความคืบหน้าและกำหนดนโยบายควบคุม ลดผลกระทบจากบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา พ.ศ. ... เพื่อปกป้องเยาวชนจากการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดปัญหาที่มาจากการเมาสุรา เช่น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น และนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ไม่ต้องการให้เยาวชนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งนี้ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 กำหนดให้เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามด้วยการลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เยาวชน ประชาชนทราบถึงกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโทษ พิษภัย ผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจะให้ประชาชนร่วมลงนามปฏิญญาตนงดดื่มสุรา ทำความดีถวายในหลวง
  • เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ที่ ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์  รองนายกรัฐมนตรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ทบทวนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาและและระดับอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ในรัศมี 300 เมตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 อยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องไปทางเดียวกันกับกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ 22/2558 ที่นอกจากจะมีเนื้อหาด้านการควบคุมสถานบริการ ได้แก่ ห้ามสถานบริการยินยอมให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เข้าใช้บริการ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ห้ามเปิดทำการและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินเวลาที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ยังมีการห้ามไม่ให้มีสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งอยู่ใกล้บริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาหรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาด้วย
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • คณะกรรมการประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ปคค.) ครั้งที่ 24/2553 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ที่มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมได้มีมติรับทราบรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ : ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ และให้กระทรวงศึกษาธิการรับข้อสังเกตของประธานในประเด็นการแก้ไขปัญหาเรื่องสถานบริการรับเด็กมาเป็นบริกรเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปพิจารณาดำเนินการ
  • วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากลับไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ที่ขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 เกี่ยวกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่องยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ที่ได้กำหนดและมาตรการปกป้องความเข้มแข็งของนโยบายแอลกอฮอล์จากผลกระทบของข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ไทย-ชิลีสามารถเปิดตลาดไวน์ได้ 9 รายการ หลังเห็นว่ายังมีประเด็นที่ต้องกลับไปพิจารณาให้รอบคอบก่อนแล้วค่อยนำกลับมาเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เนื่องจากในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ทางกฤษฎีกาได้แจ้งในที่ประชุมว่า ไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 สามารถแก้ไขได้ แต่เกรงว่าหากแก้ไปแล้วอาจจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองได้ จึงให้กฤษฎีกากลับไปดูอีกครั้ง
  • วันที่ 8 ธันวาคม 2557 จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมเสนอกฎหมายลูกหรืออนุบัญญัติ 5 ฉบับตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเรื่องการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ คือวันที่ 31 ธันวาคมและ 1 มกราคมของทุกปี และช่วงสงกรานต์คือวันที่ 13 -15 เมษายนของทุกปี ตามข้อเสนอของผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ซึ่งจากการสำรวจโดยสำนักโพลล์ระดับชาติเกือบทุกแห่งพบว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 80 เห็นชอบที่จะให้มีการงดขายในช่วงดังกล่าว เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุและการทะเลาะวิวาท ช่วยลดปัญหาความไม่ปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน และหากปล่อยให้มีการขายจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศ นอกจากนี้ จากรายงานสถานะของโลกเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสุขภาพ ปี 2557 ขององค์การอนามัยโลกพบว่า มากกว่า 50 ประเทศมีการกำหนดมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันหรือเทศกาลเฉพาะ และมากกว่า 90 ประเทศมีการห้ามขายในเทศกาลเฉพาะ เพื่อลดการเข้าถึงที่ง่ายเกินไป นั้น  ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นข้อเสนอที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน โดยในการพิจารณาจะคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็น ซึ่งขณะนี้มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายมาก พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นทั้งที่ต่อต้านและสนับสนุน เพื่อนำมาประมวลให้ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนส่วนรวม ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ได้ข้อสรุป ขั้นต่อไปจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาต่อไป
  • เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานการประชุมเพื่อรับทราบปัญหาความไม่ชอบธรรมและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.๒๕๕๑ และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งหารือร่วมกับผู้แทนจากกลุ่มผู้ผลิต ผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ประกอบการร้านอาหาร สถานบริการ และกลุ่มผู้ค้าปลีก เพื่อให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม ๒ ชั้น ๘ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ
  • เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558   รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นางคนึงจันทร์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจหอพัก ว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการดูแลสร้างเสริมสุขภาพและการแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชน ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ยาเสพติด การทะเลาะวิวาท การทำร้ายร่างกาย  ปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุนำมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขณะนี้หลายฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข เช่น การควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดอายุผู้ดื่ม ห้ามขายให้อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ วัน เวลา และสถานที่ห้ามขายหรือห้ามดื่ม 11 ประเภท เช่น สถานที่ราชการ สถานศึกษา หอพัก  สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีขนส่ง เป็นต้น ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข กำลังปรับปรุง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้ทันสมัยขึ้น เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน ครอบคลุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รูปแบบใหม่ๆ มีประเด็นสำคัญคือ การกำหนดคำนิยามของคำว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กำหนดมาตรการเรื่องวันเวลาห้ามขาย ห้ามดื่ม เพิ่มเติม กำหนดลักษณะหรือวิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ต้องห้ามตามกฎหมายเพิ่มเติม เช่น ขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ขายตรง เป็นต้น โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างฯ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 และเข้าสู่กระบวนการปรับปรุง พ.ร.บ. ต่อไป
  • เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559  ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 ว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบต่อ ร่าง และแผนปฏิบัติการในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ จำนวน 30 แผนปฏิบัติการ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการ (คกก.) โรคติดต่อจังหวัด และ คกก.โรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่ได้ประกาศใช้แทนฉบับเก่า พ.ศ.2523 ที่ใช้มานานกว่า 30 ปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2559 โดย พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ ได้ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดการแพร่กระจายของโรคติดต่อรุนแรงตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคอุบัติซ้ำ เช่น วัณโรค มาลาเรีย ไข้เลือดออก เป็นต้น โดยจะนำแผนปฏิบัติการดังกล่าวเสนอครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป นอกจากนี้ได้เห็นชอบอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกที่สำคัญ 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ  2.ร่างประกาศ คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของ คกก.โรคติดต่อจังหวัดและคกก.โรคติดต่อกรุงเทพมหานคร 3.ร่างประกาศ คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งจะทำให้มีคณะกรรมการเชื่อมโยงทั้งระดับชาติ จังหวัดและกรุงเทพมหานคร และหน่วยปฏิบัติงานที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในอำเภอและจังหวัด อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ4.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายอันเกิดจากการเฝ้าระวัง การป้องกันหรือควบคุมโรคติดต่อ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการและให้นำข้อสังเกตจากคกก.ไปปรับยกร่างเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ได้มอบให้กรมควบคุมโรคออกกฎหมายลูกร้อยละ 90 ภายใน 3 เดือน และเสร็จสิ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ภายใน 6 เดือน เพื่อให้การดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคติดต่ออันตรายและภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขตามพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อที่: 
5
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ได้รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 แล้ว
เอกสารหลัก: 
เอกสารมติ: