You are here


การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
สมัชชาครั้งที่: 
2
มติที่: 
8
ชื่อมติ: 
การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
รับรองยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ตามภาคผนวกท้ายมตินี้
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ได้มีมติรับรองยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน 
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาตินำเสนอยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ มอบหมายให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ จัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • วันที่ 28 ธันวาคม 2552 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2552 มีมติรับทราบผลการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 และเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในภาพรวม โดยให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
  • วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 คสช. เห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาภาวะนํ้าหนักเกินและโรคอ้วน และมติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๒ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยปรับแก้ไข มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๒ ข้อ ๒ จาก “คสช.และคณะกรรมการอาหารแห่งชาติจัดทำแผนปฏิบัติการ” เป็น “คณะกรรมการอาหารแห่งชาติจัดทำแผนปฏิบัติการ” เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป
  • วันที่ 23 มีนาคม 2553 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบผลการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 และมอบหมายให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไปด้วย
  • วันที่ 24 พฤษภาคม 2553 การประชุมปรึกษาหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการขับเคลื่อนและติดตามสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 มติ 8 การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เห็นชอบใน 3 เรื่องคือ (1) ใช้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนท้ายมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นจุดเชื่อมโยงในการทำงานเรื่องนี้ (2) เสนอให้มีกลไกทำงานเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้ เพราะคณะกรรมการอาหารเป็นกลไกระดับนโยบายและมุ่งเน้นที่ตัวอาหาร และ (3) รูปแบบกลไกควรมี 2 ระดับคือ ระดับกรรมการและระดับคณะทำงาน โดยอาจแต่งตั้งโดย สช.
  • คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนเพื่อการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 2.5 ในคำสั่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (ตามหนังสือเลขที่ 14/2553) ลงวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาความพร้อมสำหรับมาตรการฉลากสีสัญญาณจราจร ประกอบด้วย 

         - การศึกษาทบทวนองค์ความรู้ด้านสถานการณ์การบริโภคอาหาร พฤติกรรมการเลือกซื้ออาหาร 

         - การศึกษาทบทวนกลไกด้านกฎหมายในการควบคุมฉลากอาหาร

         - ทบทวนวรรณกรรมวิชาการ ประสิทธิผลของมาตรการฉลากอาหารในรูปแบบต่างๆ

         - การศึกษาช่องทางในการพัฒนามาตรการฉลากสีสัญญาณจราจรในประเทศไทย และเกณฑ์การแบ่งปริมาณสารอาหารที่จะสามารถสนับสนุนพฤติกรรมการบริโภค

  • วันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่สอง พ.ศ. 2552 (มติที่ 8) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย 
ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนให้ดำเนินการ ดังนี้
รายละเอียด: 

3.1 ยกร่างแผนปฏิบัติการที่ระบุหน้าที่รับผิดชอบชัดเจนภายใน 1 ปี

3.2 ใช้มาตรการลักษณะสีสัญญาณพร้อมคำเตือนในอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลหรือโซเดียม

3.3 ใช้มาตรการทางภาษีและราคาของอาหารเพื่อจัดการกับปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

3.4 จัดทำระเบียบว่าด้วยการตลาดเกี่ยวกับอาหารที่มุ่งเป้าหมายไปยังเด็ก และมีผลต่อความรุนแรงของภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

3.5 ติดตามความคืบหน้าในการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยเฉพาะการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ รวมถึงความเหมาะสม ระยะเวลา และกลไกในการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ฯ อย่างมีส่วนร่วม

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • วันที่ 16 สิงหาคม 2553 คณะกรรมการขับเคลื่อนมติฯ ว่าด้วยการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดย นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ประธานกรรมการ ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน และแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำร่างแผนปฏิบัติการ จำนวน 6 คณะ ได้แก่ (1) ประเด็นการควบคุมตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและสินค้าอาหารประเภทไขมันหรือน้ำตาลหรือโซเดียมสูง มี รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน (2) ประเด็นการรณรงค์สาธารณะ การให้ข้อมูล สร้างความรู้และความตระหนักถึงปัญหาผลกระทบจากปัญหาโรคอ้วนอย่างต่อเนื่อง มี ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ เป็นประธาน (3) ประเด็นส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอเหมาะสมต่อเนื่องสม่ำเสมอ มี รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก เป็นประธาน (4) ประเด็นพัฒนาและสนับสนุนความเข้มแข็งของระบบการจัดการบริการดูแลรักษาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน รวมถึงผลกระทบทางสุขภาพ มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน (5) ประเด็นการพัฒนาความเข้มแข็งของกระบวนการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน มี นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข เป็นประธาน และ (6) ประเด็นการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การผลิตและจำหน่ายอาหารชูสุขภาพ ขนมชูสุขภาพ เครื่องดื่มน้ำตาลต่ำ และผักผลไม้เพื่อเป็นทางเลือกทดแทน
  • วันที่ 9 กันยายน 2553 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำหนังสือเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อขอโอกาสมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในการจัดทำแผนปฏิบัติและแสดงความคิดเห็นต่อการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน (โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร บรรจุภัณฑ์และหีบห่อบรรจุ การส่งเสริมการขายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และอาหารประเภทไขมันหรือน้ำตาลหรือโซเดียมสูงกว่าปริมาณที่กำหนด) โดยอ้างอิงแนวทางของ WHO (เรื่อง Global Strategy on Diet, Physical Activity and Health) ข้อ 44 และ 61
  • วันที่ 14 กันยายน 2553 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีทำหนังสือส่งเรื่องที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเสนอขอมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญมายังเลขา คสช.
  • วันที่ 21 กันยายน 2553 สช. โดยนายวิสุทธิ บุญญะโสภิต ส่งเรื่องที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้งว่าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขอเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญให้กับ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ทางจดหมายอิเลคทรอนิกส์ และเรื่องการขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีของประธานบริษัทโคลาโคล่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงสมัชชาสหประชาชาติ ระหว่าง 23-25 กันยายน 2553
  • สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข/ได้วิเคราะห์ยุทธศาสตร์การจัดการภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 พบว่า เนื้อหาสาระหลักของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เน้นการจัดการปัญหาแบบตั้งรับโดยป้องกันในระดับปัจเจกสำคัญผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้ในประชาชนทุกวัย ขณะที่ ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเน้นแนวทางการจัดการปัญหาเชิงรุกร่วมด้วย เช่น การใช้มาตรการทางภาษีและราคา, การติดฉลากอาหารหรือโภชนาการ , การควบคุมการตลาดอาหาร นอกจากนี้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 บางยุทธศาสตร์เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เช่น การสนับสนุนการค้าเสรีที่เอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารที่เป็นอันตรายมากขึ้น แนวทางที่เน้นการเยียวยาภายหลังการเกิดปัญหา ซึ่งมีรายงานถึงความจำเป็นต่อการดำเนินยุทธศาสตร์ก้านสาธารณสุขควบคู่กันไปกับยุทธศาสตร์ทางการค้า
  • วันที่ 11 มีนาคม 2554 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยนายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แจ้งความคิดเห็นที่ไม่สนับสนุนการนำฉลากโภชนาการลักษณะสีสัญญาณมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นฉลากแบบสัญญาณไฟจราจรหรือฉลาก GDA โดยมีเหตุผลสำคัญว่าไม่สอดคล้องกับหลักการด้านฉลากโภชนาการของ CODEX
  • วันที่ 17 มีนาคม 2554 ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดย นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ทำเรื่องถึงประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแจ้งแผนการทำงานของคณะทำงานจัดทำร่างแผนปฏิบัติการ และกำหนดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
  • วันที่ 17 มีนาคม 2554 ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการโภชนาการและการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพ (อ.3) และที่ประชุมมีมติให้ อย.จัดประชุมคณะทำงานย่อยเพื่อพิจารณาเกณฑ์อาหาร ก่อนการพิจารณารูปแบบฉลาก โดยให้คณะทำงานย่อยร่างเกณฑ์และจัดทำ roadmap
  • วันที่ 22 มีนาคม 2554 เครือข่ายสนับสนุนมาตรการฉลากอาหารสีสัญญาณ ยื่นหนังสือนายกฯ และรมว.กระทรวงสาธารณสุข (รมว.ให้คนมารับแทน) หนุนจัดเรตติ้งฉลากขนมตามสัญญาณไฟจราจร พร้อมรายชื่อผู้สนับสนุนกว่า 1,100 ราย
  • วันที่ 23 มีนาคม 2554 ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนมติฯว่าด้วยการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ครั้งที่ 1 มีการพิจารณาในเรื่อง (1) การรับทราบกลไกการทำงาน (2) แนวทางการขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วน (3) การจัดทำร่างแผนปฏิบัติการ (4) การเตรียมการประชุมประชาพิจารณ์ (5) การขอเข้าร่วมของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
  • วันที่ 25 มีนาคม 2554 การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดคุณภาพ มาตรฐานและหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการควบคุมอาหาร เพื่อพิจารณาการใช้ GDA แบบมีสี ไม่มีสี หรือมีสีสัญญาณ และที่ประชุมมีมติให้บังคับใช้ GDA แบบมีสีเดียว หน้าบรรจุภัณฑ์ ที่ระบุปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในอาหาร 5 ประเภทตามประกาศฉบับ 305 (มันฝรั่งทอดกรอบหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้) (โดยไม่รอดำเนินการตามผลการประชุมของคณะอนุกรรมการอ.3 เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2554)
  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด (ฉบับที่ 2) กำหนดให้แสดงค่าพลังงาน น้าตาล ไขมัน และโซเดียมในรูปแบบ GDA กับอาหาร 5 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิตและเวเฟอร์สอดไส้ โดยประกาศฉบับนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2554
  • วันที่ 1 เมษายน 2554 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จัดประชุมชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด (ฉบับที่ 2) เพื่อให้มีการบังคับการแสดงสัญลักษณ์ทางโภชนาการในรูปแบบ monochrome GDA (Guideline Daily Amounts) หรือ GDA ที่มีสีเดียวกันทั้งหมด บนหน้าบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งขัดกับมติคณะรัฐมนตรีและมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 มติที่ 8 ข้อ 3.2 ที่ระบุให้ “ใช้มาตรการลักษณะสีสัญญาณพร้อมคำเตือนในอาหารที่มีไขมัน หรือน้ำตาล หรือโซเดียม”
  • เครือข่ายสนับสนุนมาตรการฉลากอาหารสีสัญญาณ ยื่นหนังสือถึงเลขาอย.ก่อนการประชุม ให้ยับยั้งการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด (ฉบับที่ ๒)
  • วันที่ 5 เมษายน 2554 เครือข่ายสนับสนุนมาตรการฉลากอาหารสีสัญญาณยื่นหนังสือให้เลขาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้นายกรัฐมนตรี-ประธานคสช. พิจารณายับยั้งการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด (ฉบับที่ ๒)
  • วันที่ 8 กรกฎาคม 2554 สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ร่วมกับ แผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและองค์กรภาคีเครือข่าย ได้จัดสัมมนาเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นเรื่อง “มาตรการทางภาษีและราคาของอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยเพื่อจัดการภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน” ผลจากเวทีแลกเปลี่ยน ดังนี้

          - ควรมีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลการศึกษาผลกระทบที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ เช่น พฤติกรรมการบริโภคของประชาชน การแบกรับภาระค่าใช้ของประชาชนบางกลุ่ม การเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบที่ให้ความหวาน นวัตกรรมการคิดค้นสารให้ความหวานชนิดอื่นๆ และด้านวัฒนธรรมของขนมไทย

          - ศึกษาข้อมูลทางเลือกแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนรวมทั้งสังคมยอมรับกับการดำเนินการใช้มาตรการนี้ ข้อมูลในการดำเนินงานเรื่องของมาตรการทางภาษีและราคาในอาหารที่มาจากต่างประเทศ

  • เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2555 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการแก้ปัญหาโรคอ้วนให้กับเด็กๆ ที่ชอบกินขนมขบเคี้ยวด้วยการจะจัดให้มีฉลากโภชนาการบนซองขนมของเด็ก ซึ่งทาง สช.ได้เสนอว่าจะทำฉลากเป็นสัญลักษณ์ GDA แบบสัญญาณไฟจราจรและเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ร่วมพิจารณา ซึ่ง อย.เห็นว่าสัญลักษณ์แบบดังกล่าวง่ายต่อความเข้าใจแต่ในเชิงธุรกิจทำได้ยาก ทาง อย.จึงได้เสนอรูปแบบสัญลักษณ์ GDA แบบสีขาวดำ กำหนดให้แสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ที่ได้มีการนำไปใช้แล้วในปัจจุบันโดยติดอยู่หน้าซองขนม อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์ที่ทาง อย.ออกมานั้นยังไม่ตรงกับความต้องการตามที่ภาคประชาชนเรียกร้อง เพราะจากผลการสำรวจที่ผ่านมาทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่า สัญลักษณ์ GDA แบบสัญญาณไฟจราจรให้ผลการรับรู้ดีกว่าแบบสัญลักษณ์สีเดียวถึง 5 เท่า ซึ่งทางนักวิชาการด้านอาหารยังยืนยันที่จะเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้ต่อไป 
  • วันที่ 3 กรกฎาคม 2555 สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยได้ออกหนังสือชี้แจง “กรณีข่าวจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO เกี่ยวกับการรีดภาษีน้ำอัดลม โดยอ้างถึงประเด็นคนไทยเสี่ยงโรคอ้วนเรื้อรัง เพราะการกินน้ำตาลสูงว่า ในทางวิทยาศาสตร์ปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเป็นปัญหาที่มีสาเหตุมาจากร่างกายได้รับพลังงานจากการบริโภคอาหารมากกว่าพลังงานที่ใช้ไปในชีวิตประจำวัน พลังงานส่วนเกินที่ร่างกายสะสมจึงถูกเปลี่ยนแปลงเป็นไขมันสะสมจนเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในที่สุด ซึ่งพลังงานส่วนเกินไม่ว่าจะมาจากอาหารประเภทใดก็ล้วนแต่ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้ทั้งสิ้น มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนนั้นจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงสมดุลในการบริโภคของอาหารทุกประเภทในภาพรวม มิใช่การจำกัดหรือการลดการบริโภคเฉพาะกับอาหารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยมีหลักฐานทางวิชาการและเชิงประจักษ์ที่สำคัญที่ไม่ได้ถูกเผยแพร่คือ

     1) รายงานการศึกษาของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใช้ข้อมูลจากการสำรวจการบริโภคอาหารทั่วประเทศเมื่อปี 2551 พบว่าประชากรไทยโดยเฉลี่ยได้รับพลังงานจากการบริโภคน้ำอัดลมในแต่ละวันน้อยมาก โดยคิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของพลังงานที่ได้รับจากอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในแต่ละวัน ในกลุ่มอายุ 6-19.9 ปี และเพียงร้อยละ 1.4 ในกลุ่มอายุ 20-64.9 ปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชากรไทยโดยทั่วไปได้พลังงานจากน้ำอัดลมในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับอาหารประเภทอื่นๆ การพุ่งเป้ามาที่น้ำอัดลมว่าเป็นสาเหตุของโรคอ้วนนั้น จึงเป็นข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนอคติมากกว่าหลักวิชาการ

     2) งานวิจัยโดย Barlay และ Brand-Miller ในประเทศออสเตรเลียระบุไว้อย่างชัดเจนว่าในระหว่างปี 1980-2003 ประเทศออสเตรเลียมีการบริโภคน้ำตาลน้อยลงถึงร้อยละ 23 แต่ในช่วงเวลาเดียวกันอัตราประชากรที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนกลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว ซึ่งชี้ให้เห็นว่าน้ำตาลไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

     3) งานวิจัยโดย Fletcher และคณะจากมหาวิทยาลัยเยล ที่สรุปว่าแม้การจัดเก็บภาษีน้ำอัดลมจะทำให้การบริโภคน้ำอัดลมลดลงเล็กน้อย แต่ไม่สามารถถอดน้ำหนักตัวหรือแนวโน้มที่บุคคลจะมีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนได้แต่อย่างใด เนื่องจากคนจะหันไปบริโภคผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนและพลังงานที่คนอเมริกันได้รับจากการบริโภคน้ำอัดลมคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากคือเพียงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับจำนวนพลังงานที่คนได้รับจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในแต่ละวัน

     4) แม้มลรัฐเวสต์เวอร์จิเนียและอาร์คันซอขงอประเทศสหรัฐอเมริกา จะจัดเก็บภาษีน้ำอัดลมมานานแล้ว แต่กลับมีประชากรที่มีน้ำหนักเกินในระดับสูงที่สุด 15 อันดับแรกของประเทศ แต่ในขณะที่มลรัฐโคโลราโดและเวอร์มอนต์ที่ไม่มีการจัดเก็บภาษีจากน้ำอัดลม ประชากรกลับมีปัญหาเรื่องน้ำหนักเกินและโรคอ้วนน้อยกว่ามาก

     5) การใช้ภาษีเพื่อควบคุมอาหารและเครื่องดื่มมีความแตกต่างจากยาสูบและสุรา เพราะอาหารและเครื่องดื่มเป็นสินค้าที่มีความหลากหลายในด้านประเภทผลิตภัณฑ์และช่องทางการจำหน่าย แต่มีอัตราการบริโภคทดแทนกัน (cross-substitution) ที่สูงมาก กล่าวคือ หากผู้บริโภคไม่เลือกทานอาหารหรือเครื่องดื่มประเภทหนึ่ง ก็สามารถเปลี่ยนไปบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มอีกประเภทหนึ่งทดแทนได้ และเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เกิดจากการสะสมของพลังงานส่วนเกิน ซึ่งพลังงานส่วนเกินนี้ไม่ว่าจะมาจากอาหารหรือเครื่องดื่มประเภทใดก็สามารถก่อให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้ทั้งสิ้น จึงไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมใดที่จะต้องเลือกปฎิบัติและจัดเก็บภาษีเฉพาะกับอาหารบางประเภท ซ้ำยังจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มอีกด้วย

     อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเป็นปัญหาที่มีความหลากหลายในมิติและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งพันธุกรรม การศึกษา พื้นฐานครอบครัว รูปแบบการบริโภคอาหาร และวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ไม่มีสาเหตุใดสาเหตุเดียว สารอาหารใดสารอาหารเดียว หรือผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์เดียว ที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และอาศัยความร่วมแรงร่วมมือกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างให้เกิดสมดุลการบริโภคของอาหารทุกประเภท มิใช่การกล่าวโทษด้วยอคติและเลือกปฏิบัติกับอาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง สมาคมฯ มีความพร้อมและยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะในประเด็นนี้ยังไม่ได้เปิดกว้างให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างมีนัยสำคัญ

  • เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2555 เทศบาลนครภูเก็ตได้มีแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กอ้วนในโรงเรียน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของ 6 ภาคีประกอบด้วย นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้ค้าแผงลอย สื่อมวลชน ครู/ผุ้บริหารโรงเรียนจาก 23 โรงเรียนในเขตเทศบาลนครภูเก็ต ผู้บริหารเทศบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากทุกภาคส่วน ร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะและจัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็ก พ.ศ.2555-2556 ประกอบด้วย 11 ยุทธศาสตร์ใน 4 กลุ่มยุทธศาสตร์โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย 1) ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ 2) ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและเหมาะสมต่อเนื่องสม่ำเสมอ 3) ยุทธศาสตร์พัฒนาและสนับสนุนความเข้มแข็งของระบบการจัดบริการดูแลรักษาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กรวมถึงผลกระทบทางสุขภาพ และ 4 ยุทธศาสตร์พัฒนาความเข้มแข็งของกระบวนการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักและโรคอ้วน
  • เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 เทศบาลนครภูเก็ตได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) สมัชชาสุขภาพนครภูเก็ตระหว่างเทศบาลนครภูเก็ตกับ บริษัท ซุปเปอร์ชีป จำกัด เพื่อจัดตั้งมุมอาหาร/ขนมสุขภาพให้กับคนภูเก็ต เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ควบคุมจำหน่ายอาหารประเภทไขมันหรือน้ำตาลหรือโซเดียมสูงบริเวณรอบๆ สถานศึกษาในรัศมีไม่น้อยกว่า 200 เมตร 
  • เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 กระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดจะควบคุมการเกิดโรคตั้งแต่ต้นทางด้วยการออกฉลากแนะนำปริมาณน้ำตาลและเกลือที่ผสมในอาหารทุกประเภท โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวที่มีปริมาณน้ำตาลและเกลือสูงที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย เพิ่มเติมจากฉลากแสดงส่วนประกอบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยฉลากใหม่นี้อาจจะทำให้เป็นภาพช้อน 1 ถัน แทนความหมายน้ำตาล 1 กรัม พร้อมระบุว่ารับประทานในปริมาณเท่าไรจะเสี่ยงให้เกิดโรคเบาหวาน ขณะนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการจัดทำฉลากตามแนวคิดดังกล่าว พร้อมทั้งไปหารือกับผู้ประกอบการเพื่อขอความร่วมมือในการติดฉลากเพิ่มเติมโดยไม่ให้เกิดผลกระทบกับกิจการ
  • เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 สำนักงานอาหารและยาได้จัดทำร่างการบังคับใช้สัญลักษณ์ทางโภชนาการแบบ GDA ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม ได้แก่ โดยร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่…พ.ศ. …เรื่องการแสดงฉลากอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป ที่เตรียมออกมาใหม่นั้น จะแบ่งออก 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 1. กลุ่มขนมขบเคี้ยว มันฝรั่ง ข้าวโพด ข้าวเกรียบ สาหร่ายทอดกรอบ ปลาเส้น และถั่ว 2. ช็อกโกแลต 3. กลุ่มขนมอบ คุกกี้ เค้ก ขนมปังกรอบ บิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้ 4. อาหารกึ่งสำเร็จรูปและ 5. อาหารแช่เย็นและอาหารแช่แข็ง ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากฟาร์มเฮ้าส์ในโครงการฟาร์มเฮ้าส์ สคูลทัวร์ ที่รณรงค์ให้อ่านฉลากเป็นตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และเข้าใจข้อมูลบนฉลากที่จะทำให้สามารถเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย
  • เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดเวทีเจาะประเด็น “เด็กอ้วน มหันตภัยสู่โรคอนาคต” เพื่อพูดถึงปัญหา และความสำคัญ ตลอดจนปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร้จอย่างเป็นรูปธรรม ที่ประชุมมีข้อเสนอดังนี้

          - การทำนโยบายในระดับโรงเรียนที่ส่งเสริมคุณภาพนั้นไม่เพียงพอ แต่เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรเข้ามาช่วยด้วย โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพอาหารกลางวัน หลังจากที่มีการผลักดันเพิ่มค่าอาหารกลางวันรายหัวของเด็กเพิ่มขึ้นจาก 13 บาท เป็น 20 บาทต่อคนต่อวัน นอกจากนี้ แม้จะมีหน่วยงานเข้าช่วยโรงเรียน แต่ถึงอย่างไรความร่วมมือ และผลลัพธ์ย่อมเกิดจากการร่วมมือจากภาคประชาชน และชุมชนด้วย

          - การแก้ไขนั้นควรเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย โดยเฉพาะการเพิ่มค่าอาหารกลางวัน ที่พบว่า มีบางโรงเรียนที่จัดการได้ดี เลือกวัตถุดิบเป็นไปตามที่กำหนด ขณะบางแห่งไม่ได้ใส่ใจ และไม่ได้จัดอาหารให้สอดคล้องกับเด็ก ดังนั้น การฝึกอบรมนักแม่ครัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะบางทีตักอาหารไม่เป็น บางคนได้ผักมาก บางคนไม่มีผัก มีแต่เนื้อสัตว์

         - ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันทำทุกทาง ทั้งแพทย์ พยาบาล โรงเรียน ครอบครัว นโยบาย ซึ่งเมื่ออยู่ในโรงเรียน ครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาสุขภาพ ซึ่งภายในสามารถช่วยกันได้  นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสนใจเด็กที่ไม่อ้วนด้วย เช่น ให้ความรู้ หรือเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการทำโทษว่าต้องไปออกกำลังกาย

        - การปรับสิ่งแวดล้อม ทั้งบ้าน โรงเรียน นอกรั้วโรงเรียน ร้านสะดวกซื้อ และวิถีชีวิตด้วย เด็กไทยใช้เวลานั่งเฉยๆ ไม่ได้ไปวิ่งเล่น และใช้แรงลดลง ราคาสินค้าที่มีประโยชน์ก็แพงกว่าน้ำอัดลม ฟาสต์ฟู้ด

  • วันที่ 24 เมษายน 2558 จากเอกสารแถลงผลการดำเนินงานโดย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานเรื่องการปรับปรุงฉลากโภชนาการ โดยคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ชุดที่ 3 คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ มีการประชุมเพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานโครงการสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย โดยพิจารณาเกณฑ์สารอาหาร 8 ชนิด ได้แก่ ไขมันทั้งหมด, ไขมันอิ่มตัว, โปรตีน, ใยอาหาร, น้ำตาล, โซเดียม, แคลเซียม และธาตุเหล็ก เพื่อใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการแสดงสัญลักษณ์ พร้อมทั้งได้จัดประชุมประชาพิจารณ์ (ร่าง) เกณฑ์มาตรฐานสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายสำหรับกลุ่มอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที และกลุ่มอาหารมื้อหลัก นอกจากนี้ยังได้ศึกษาแนวทางกำหนดเกณฑ์สำหรับกลุ่มอาหารอื่นๆ ได้แก่ อาหารกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม เป็นต้น รวมทั้งมีการประชุมหารือเพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานบริหารจัดการสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นเครื่องมือในการเลือกซื้อ เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่า
  • เดือนกุมภาพันธ์ 2559 นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงว่า เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง การแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหารฉบับใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยสัญลักษณ์บนฉลากอาหารใหม่นี้จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าจะได้อาหารที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคมากขึ้น แต่ไม่ได้บังคับผู้ประกอบการทุกรายต้องได้ฉลากนี้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจในการยื่นขอฉลาก โดยได้มอบหมายให้สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการวิเคราะห์อาหารที่ส่งเรื่องมาขอรับฉลากใหม่นี้กับ อย. เพื่อดูว่าอาหารเป็นไปตามเกณฑ์ที่ควรจะได้รับฉลากใหม่หรือไม่
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ได้รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 แล้ว
เอกสารหลัก: 
เอกสารมติ: