You are here


ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ
สมัชชาครั้งที่: 
3
มติที่: 
2
ชื่อมติ: 
ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญของความแตกต่างเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ และกลไกการจ่ายค่าบริการในการดูแลสุขภาพคนพิการของหลักประกันสุขภาพต่างๆ ที่ทำให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ตามความจำเป็น โดยให้จัดทำข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบการคลังเพื่อการดูแลสุขภาพคนพิการให้มีความเสมอภาค โดยมีแนวคิดและการบริหารจัดการที่สอดคล้องกัน ซึ่งมีข้อเสนอเบื้องต้นดังนี้
รายละเอียด: 

1.1 ร่วมกันพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ได้แก่ บริการ รายการอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ยา และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ให้เป็นระบบที่มีมาตรฐานเดียวกัน และให้มีการพิจารณาทบทวน ปรับปรุง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมบริการสุขภาพและอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับคนพิการแต่ละประเภทอย่างเพียงพอและครอบคลุม

1.2 ออกหรือปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ที่มีอยู่ให้เอื้อต่อการสนับสนุนให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรด้านคนพิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าเป็นหน่วยร่วมจัดบริการสุขภาพสำหรับคนพิการ

1.3 พัฒนาให้เกิดการจัดตั้งกองทุนดูแลคนพิการในระดับพื้นที่ เช่น ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมจากกองทุนสุขภาพระดับตำบล โดยขอให้มีตัวแทนคนพิการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ เสมอภาคและเป็นธรรม

 

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสุขภาพคนพิการ เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 โดยมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริญ ผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการสุขภาพคนพิการ ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ เครือสถาบันของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเป็นกรรมการและเลขานุการร่วม มีกรรมการไม่เกิน 30 คน มีอำนาจและหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคนพิการ ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินานตามมติสมัชชาสุขภาพในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคนพิการและบูรณาการนโยบาย แผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคพิการ สู่การปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง สนับสนุนและเชื่อมประสานองค์กรภาคีเครือข่ายในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาพคนพิการผ่านช่องทางตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได่แก่ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพ และช่องทางอื่นๆ ที่เหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนการสร้างและจัดการความรู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นสุขภาพคนพิการ ซึ่งได้มีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพคนพิการและมีการประชุมหารือระหว่างทีมเลขานุการกับประธาน จำนวน 2 ครั้ง โดยมีการรวบรวมมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับคนพิการพร้อมผลการดำเนินงาน โดยมีการจัดทำ mapping ประเด็นและจัดลำดับความสำคัญ
  • มีการจัดประชุมคณะกรรมการสุขภาพคนพิการ จำนวน 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2555 

- คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ มีการดำเนินงานดังนี้

  • ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2554 ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (คพคส.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด คือ 1) คณะอนุกรรมการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ โดยมีนายอัมมาร สยามวาลา ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นรองประธาน มีอำนาจพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพในภาพรวม และ 2) คณะอนุกรรมการพัฒนากลไกทางสังคม และการสื่อสารสาธารณะ มอบหมายให้ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทำการพัฒนาระบบกลไก การสื่อสารทางสังคมในรูปแบบต่างๆ
  • ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) เป้าหมาย ขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่มีเป้าหมายการพัฒนา : ประเทศไทยมีระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพที่สนับสนุนการพัฒนาสุขภาพ และมีระบบการเงินการคลังด้านบริการสุขภาพที่มีความเสมอภาค มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส มีส่วนร่วม และมีความยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขผสมผสาน ที่มีคุณภาพ มีความเสมอภาค มีความต่อเนื่อง มีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาดังกล่าว จึงต้องการการดำเนินงานใน 5 ส่วนคือ 1. การออกแบบระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ เช่น ระบบปฐมภูมิ ระบบฉุกเฉิน ระบบการดูแลโรคเรื้อรัง ฯลฯ 2. การออกแบบระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพที่พึงประสงค์ เช่น ทรัพยากร (งบประมาณ) และแหล่งที่มาของงบประมาณ การกระจายและการจัดสรร ระบบการซื้อบริการ ฯลฯ 3. การสนับสนุนระบบสุขภาพ เช่น ระบบข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ การประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยี ฯลฯ 4. ชุดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ประเภทบริการ เงื่อนไขการใช้บริการ สิทธิเลือกรับบริการการจ่ายร่วม การสาธารณสุข มาตรการทางสังคม ฯลฯ 5. การกำกับ ดูแล อภิบาลระบบภาพรวม กลไกการกำกับการบริการการเงิน การบริการการจ่ายเงิน การตรวจสอบ

           พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) โครงการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่มีสาระสำคัญคือ การออกแบบระบบการบริการสุขภาพ และระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพที่พึงประสงค์ ต้องการระยะเวลาในการดำเนินงาน จึงได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานระยะ 3 ปี ซึ่งระหว่างที่มีกระบวนการพัฒนาและออกแบบระบบที่เกี่ยวข้องดังกล่าวนั้น เพื่อให้การพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบประกันสุขภาพต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยลดความเหลื่อมล้ำ มีความเป็นธรรมในระยะเวลา 3 ปี บนเงื่อนไขที่แต่ละกองทุนมีกฎหมายของตนเอง ในการบริหารจัดการกองทุนของตนเอง การมีกลไกกลางในการให้แต่ละกองทุนได้ใช้ร่วมกันจะช่วยทำให้ลดความเหลื่อมล้ำและมีประสิทธิภาพ กลไกกลางดังกล่าวประกอบด้วย ระบบข้อมูลสารสนเทศทางการบริการสุขภาพ ระบบกลไกกลางการจ่ายเงินคืนย้อนกลับให้แก่หน่วยบริการ ระบบการตรวจสอบการแจ้งเรียกเก็บและจ่ายเงินคืนย้อนกลับ ดังนั้น เพื่อให้สำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติสามารถดำเนินไปได้ตามแผนการดำเนินการดังกล่าว และตามบทบาทหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2553 จึงเสนอโครงการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่มีแผนงบประมาณเพื่อดำเนินงาน พ.ศ. 2554-2556 รวม 3 แผน ประกอบด้วย 1. แผนงานสนับสนุนการพัฒนาระบบกลไกกลางในการบริหารจัดการร่วม 2. แผนงานการพัฒนาการสร้างภาพระบบฯ ที่พึงประสงค์ 3. แผนงานบริหารจัดการ

        นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนากลไกด้านสังคมและการสื่อสารสาธารณะ ที่มีนายณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหาร ในคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมการฯ เพื่อเป็นกลไกช่วยดำเนินการพัฒนาข้อเสนอต่อ คพคส. โดยมีสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (สพคส.) เป็นเลขานุการ

  • วันที่ 26 เมษายน 2554 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 มติ 2 เกี่ยวกับเรื่อง ความเป็นธรรมการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เสนอ
  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำร่องจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในระดับจังหวัดตั้งแต่ปี 2552-2553 ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และหนองบัวลำภู เพื่อดูแลช่วยเหลือคนพิการได้อย่างครบวงจร กับการใช้กลไกท้องถิ่นในพื้นที่ในการดูแลคนพิการ ทำให้คนพิการเข้าถึงบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นเพื่อให้สามารถดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพได้อย่างครอบคลุม สปสช. จึงเห็นควรให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด โดย สปสช. สนับสนุนงบประมาณและมีการสมทบงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดและท้องถิ่นอื่น เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวเข้าถึงบริการได้ทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาระบบ รูปแบบการดูแล และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงมีมติออกเป็นประกาศเพื่อการดำเนินการในระดับจังหวัดทั่วประเทศ
  • วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
  • วันที่ 7 สิงหาคม 2555 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมได้มีการพิจารณา “การปรับปรุงประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัดพ.ศ. 2554” โดยเพิ่มการสนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างอิสระ  สปสช.ได้นำร่องจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับจังหวัดตั้งแต่ปี 2552-2553  ในพื้นที่ 3 จังหวัดคืออำนาจเจริญ อุบลราชธานี และหนองบัวลำภู เพื่อดูแลช่วยเหลือคนพิการได้อย่างครบวงจรซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากในการใช้กลไกท้องถิ่นในพื้นที่ดูแลคนพิการให้เข้าถึงบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นดังนั้นจึงจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัดขึ้น โดย สปสช. สนับสนุนงบประมาณ และมีการสมทบร่วมจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่ากัน และ อปท. กองทุนชุมชนหรือประชาชนอื่นๆร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อให้คนพิการผู้สูงอายุและผู้ที่จำเป็นต้องฟื้นฟูฯ ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและครอบคลุมมีการสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูและรูปแบบการดูแลช่วยเหลือให้ตอบสนองต่อความจำเป็นในท้องถิ่นชุมชนเชื่อมโยงกับหน่วยบริการพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรคนพิการและองค์กรผู้สูงอายุ ผลการดำเนินงานปี 2555 ว่า สปสช. ประสาน อบจ. เข้าร่วมดำเนินการจัดตั้งกองทุนทั้งสิ้น 25 จังหวัดสมทบงบประมาณแล้ว 9 จังหวัดอยู่ระหว่างการหารือและออกประกาศคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน 16 จังหวัดรวมเป็นงบประมาณที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสมทบ 30 ล้านบาทซึ่งเท่ากันกับงบที่ อบจ. ร่วมสมทบ 30 ล้านบาท ในส่วนของการปรับปรุงประกาศนั้นเพื่อเพิ่มวัตถุประสงค์ของกองทุนให้ครอบคลุมมากขึ้นสำหรับคนพิการผู้สูงอายุผู้ที่อยู่ในระยะที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพได้รับบริการฟื้นฟูขั้นพื้นฐานให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างอิสระ
  • เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ จ.พิษณุโลก ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 เป็นประธานในพิธีมอบรถสำหรับทำแขน-ขาเทียม และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการแก่คนพิการ มูลค่า 12.5 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก เพื่อให้บริการผู้พิการ 5 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 2 สำหรับปี 2559 ได้มอบให้กรมการแพทย์  จัดทำโครงการมอบแขนขาเทียมให้ผู้พิการทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้พิการแขนขาขาดทั้งรายเก่าและรายใหม่ เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการจัดหาและซ่อมอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการฟรี 1,500 ราย พร้อมพัฒนาทักษะบุคลากรในการจดทะเบียนและดูแลคนพิการ 1,000 คน ซึ่งนำร่องดำเนินการให้ครบถ้วนทุกจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 2 ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัยและอุตรดิตถ์ โดยมอบรถทำแขน-ขาเทียมจำนวน 1 คัน ภายในรถประกอบด้วยอุปกรณ์สำหรับทำแขน-ขาเทียม เช่น หัวขุดเบ้าขาเทียม ตู้อบความร้อน เครื่องขัดกระดาษทราย ระบบดูดฝุ่น เป็นต้น พร้อมอุปกรณ์มูลค่าคันละ 12.5 ล้านบาท ขณะนี้โรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ มีหน่วยงานกายอุปกรณ์ให้บริการผู้พิการครอบคลุมกว่า 200 แห่ง และในปีงบประมาณ 2559 นี้ กรมการแพทย์ได้สนับสนุนรถผลิตกายอุปกรณ์เคลื่อนที่มูลค่า 12.5 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จำนวน 1 คัน และอีก 1 คันให้ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติพิจารณามอบหมายให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัดและคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการดังนี้
รายละเอียด: 

2.1 บูรณาการประเด็นการพัฒนาสุขภาพคนพิการเข้ากับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัด โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ให้บรรจุในแผนพัฒนายุทธศาสตร์ระดับจังหวัด โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพจากทุกภาคส่วน โดยมีหลักการสำคัญดังนี้

2.1.1  มุ่งเน้นความเป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมายด้านบริการสุขภาพของคนพิการ ทั้งระหว่างประเภทความพิการ พื้นที่อยู่อาศัย สถานภาพทางเศรษฐกิจและสิทธิประกันสุขภาพ ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายหรือพาหนะในการเดินทางปรับปรุงอาคารและสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ ให้คนพิการทุกประเภทเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง จัดบริการผู้ดูแล/ผู้ช่วยคนพิการ อาสาสมัครพาเข้ารับบริการ ล่ามภาษามือ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสุขภาพรวมทั้งการมีช่องทางด่วนสำหรับการเข้ารับบริการ จัดหน่วยบริการเชิงรุกลงพื้นที่ เป็นต้น

2.1.2  มุ่งตอบสนองปัญหาความจำเป็นด้านสุขภาพเฉพาะที่ได้มาตรฐานและครอบคลุมตามแต่ละประเภทความพิการ โดยจัดให้มีบริการที่เพียงพอ ในด้านการสร้างเสริมสุขภาพโดยเฉพาะการตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งการตรวจในส่วนที่เกี่ยวกับความพิการและการตรวจสุขภาพทั่วไป การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่จำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งการส่งต่อเพื่อการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพตามแต่กรณี

2.1.3  เชื่อมต่อฐานข้อมูลคนพิการระหว่างหน่วยงานหลัก โดยมีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเป็นหน่วยประสานงานหลัก

2.1.4  เชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.2 พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนและดำเนินการพัฒนาสุขภาพคนพิการระดับจังหวัดอย่างเป็นระบบ ตามแผนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัด

2.3 สนับสนุนให้กลไกวิชาการและเครือข่ายองค์กรด้านคนพิการ ศึกษาสาเหตุความพิการและร่วมกันกำกับติดตามการปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายของรัฐ ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิคนพิการของหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก การบริการและความช่วยเหลืออื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับคนพิการ

 

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี กับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติและการระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจังหวัดชลบุรี พ.ศ.2554 – 2559 สำนักงานส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติได้ริเริ่ม โครงการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการส่งเสริมแอละพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระหว่างสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการจัดทำบันทึกความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตรนพิการระหว่าง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีในพื้นที่เป้าหมาย ผลจากการบันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนทรัพยากร องค์ความรู้ บุคลากร รวมถึงงบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของคนพิการ รวมถึงประสานความร่วมมือเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ด้านองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีจะส่งเสริมและผลักดันให้มีหน่วยบริหารพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จัดทำข้อบัญญัติ ข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กรคนพิการและเครือข่าย รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนพิการในแผนงาน โครงการ และกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนประสานและบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
  • กองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ทำพิธีลงนามความร่วมมือ(MOU) ระหว่าง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขึ้น ในวันที่ 5 กันยายน 2554 โดยมี นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานในพิธีเปิด และ ลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมกัน การทำ MOU มุ่งเน้นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและขับเคลื่อนภารกิจอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมและนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนพิการใน จ.นครราชสีมา ในส่วนของท้องถิ่นนั้น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้พิจารณาจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพของคนพิการและผู้สูงอายุ และมอบให้ อบจ.ดำเนินการ โดยกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ ระดับจังหวัดนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนพิการ ผู้สูงอายุได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในพื้นที่จังหวัด สอดคล้องกับการดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หลังจากได้ทำ MOU ร่วมกันแล้ว ในส่วนของ อบจ.นั้น จะเดินหน้าส่งเสริมและผลักดันให้มีหน่วยบริการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการโดยมีหน้าที่ในการจัดสวัสดิการและบริการ ด้านการส่งเสริมศักยภาพ การคุ้มครองสิทธิคนพิการ ในประเด็นต่างๆ เช่น การจัดบริการผู้ช่วยคนพิการ การส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรคสำหรับคนพิการ การพัฒนาศักยภาพ การส่งเสริมอาชีพคนพิการ ดำเนินการจัดทำข้อบัญญัติ ข้อกำหนด ระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กรด้านคนพิการและเครือข่ายให้สามารถมีส่วนร่วมในการดูแลและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ของคนพิการในแผนงาน โครงการและกิจกรรมต่างๆ อันจะนำไปสู่การประสานและบูรณาการร่วมมือกับ สนง.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นอกจากนี้ในส่วนของสนง.ส่งเสริมฯ จะดำเนินการในด้านการบูรณาการและประสานความร่วมมือกับ อบจ.นครราชสีมา ในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายรวมถึงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนทรัพยากรในด้านต่างๆ อาทิ ข้อมูลสถานการณ์คนพิการ องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ บุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญแต่ละสาขาวิชาชีพ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของ อบจ.และสมทบ เงินงบประมาณ ประสานความร่วมมือในด้านอื่นๆ ที่พิจารณาว่าจำเป็นและเกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามความจำเป็น ทั้งนี้ อบจ.นครราชสีมา ได้ร่วมกับ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ดำเนินการร่วมกันในการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัดโดยสนับสนุนงบประมาณ จำนวนเงิน 10 ล้านบาท รวมกับ อบจ. อีก 10 ล้านบาทต่อปีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและผู้สูงอายุของหน่วยบริการ สถานบริการ องค์กรและชุมชน จ.นครราชสีมา
  • วันที่ 22 มกราคม 2556 องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยาและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการจัดการกองทุนฟื้นฟูดูแลผู้พิการและคนชราในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยา ที่มีจำนวนกว่า 30,000 คน ให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนเพื่อเป็นการป้องกันและลดความพิการ การสูญเสียอวัยวะ ความเจ็บป่วยตลอดจนการสนับสนุนให้เกิดการบริการเชิงรุกแก่หน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่และองค์กรคนพิการ อีกทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดำรงชีวิตของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในระยะที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับชุมชนและครอบครัวให้มีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นผู้ดำเนินงานร่วมกับตัวแทนผู้พิการและผู้สูงอายุบริหารจัดการกองทุนดังกล่าวด้วย สำหรับการดำเนินการครั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยาได้จัดตั้งงบประมาณสมทบประจำปีงบประมาณ 2556 เป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาท และได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกจำนวน 3 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ร่วมจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัดประจำปี 2556 จำนวนทั้งสิ้น 6 ล้านบาท 
  • เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ในการประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่มี นายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ประชุม ได้เสนอให้เร่งขับเคลื่อนงานด้านคนพิการ 4 ประเด็น ประกอบด้วย ด้านการศึกษาให้คนพิการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ด้านสาธารณสุขให้ศึกษาวิจัยถึงการป้องกันความพิการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและนำงานวิจัยของหน่วยงานต่างๆ มาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ด้านอาชีพให้ศึกษารูปแบบอาชีพที่เหมาะสมกับคนพิการให้ศึกษารูปแบบอาชีพที่เหมาะสมกับคนพิการ และด้านการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวโดยสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับคนพิการ 
  • เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2556 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) ได้จัดการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมความคิดเห็นหาแนวทางขับเคลื่อน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ด้านการศึกษา 2) ด้านสาธารณสุข 3) ด้านอาชีพ 4) ด้านการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว  และเร่งนำเสนอนายกรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน 2556 นี้ ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะดังนี้ ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการได้ให้ข้อเสนอแนะด้านการศึกษาว่าควรเร่งให้มีศูนย์การเรียนเฉพาะคนพิการให้โรงเรียนเรียนร่วมและมหาวิทยาลัยทุกแห่งมีศูนย์ช่วยเหลือดูแลนักเรียน นักศึกษาที่พิการ คูปองสนับสนุนการศึกษาพิเศษอย่างทั่วถึง พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ในการกลั่นกรองและมีทักษะสอนเด็กพิการ มีแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความพิการ มีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้พิการก่อนเข้าสู่อาชีพและยกระดับสำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีฐานะเทียบเท่ากรม
  • เมื่อวันที่ 4 พฤศจืกายน 2557 ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2557 ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร ดำเนินการประชุมหารือและวางแผนดำเนินงานในการปรับสภาพแวดล้อม บริการขนส่งสาธารณะให้คนพิการสามารถเดินทางออกสู่สังคมเพื่อการดำรงชีวิตอิสระได้ และเพื่อรองรับรถประจำทางใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) ชานต่ำ จำนวน 3,183 คัน ที่กระทรวงคมนาคมจะนำเข้ามาให้บริการประชาชนในเขตพื้นที่ ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในถนนหลัก จำนวน 34 เส้นทาง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมดำเนินการในการรองรับรถประจำทางดังกล่าว ซึ่งจะเข้าประจำการในงวดที่ 1 เป็นรถปรับอากาศจำนวน 489 คัน ให้บริการประชาชนในถนนหลัก จำนวน 20 เส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 507 กิโลเมตร ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และ การผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำโครงการศึกษาสำรวจเส้นทาง Universal Design พื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ในถนนหลัก จำนวน 2 เส้นทาง คือ ถนนราชดำเนินและถนนเจริญกรุง เพื่อเป็นพื้นที่ศึกษาต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ทั้งนี้ ผลการศึกษาจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนมีนาคม 2558 และ พก. จะได้นำผลการศึกษาดังกล่าวเสนอต่อกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจในการกำหนดทิศทางหรือแนวทางในการปรับสภาพแวดล้อม รวมทั้งเตรียมความพร้อมดำเนินการในการปรับทางเดินทางเท้า ถนน ระบบการบริการขนส่งอื่นๆ และรองรับรถประจำทางใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) ชานต่ำต่อไป
  • เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยนางนภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.)นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการ พร้อมมอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวคนพิการ จำนวน ๑๐ ราย รถโยกและรถเข็น คนพิการ จำนวน ๖ คัน และเยี่ยมบ้านผู้พิการที่ได้รับงบประมาณปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งชี้แจงการดำเนินงานของศูนย์บริการคนพิการจังหวัด ตลอดปี 2557 ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.)ได้เตรียมความพร้อมและซักซ้อมแนวทางการดำเนินงานในการจัดตั้งและจัดบริการของศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด ให้มีการดำเนินงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งปลูกจิตสำนึกให้เจ้าหน้าที่มีความตระหนักรู้และตื่นตัวต่อการดำเนินงานสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในปลายปี 2558 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 มาตรา 20/3 กำหนดให้จัดตั้งศูนย์บริการคนพิการ
  • เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมอนุกรรมการขับเคลื่อนการปรับสภาพแวดล้อมและระบบขนส่งมวลชนที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ ครั้งที่ 1/2558 เพื่อพิจารณาการเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและระบบขนส่งมวลชน เพื่อรองรับรถประจำทางใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) ชานต่ำ และการขับเคลื่อนการปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ ที่ประชุมได้นำเสนอให้จัดทำจังหวัดต้นแบบนำร่องที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการดำรงชีวิตของทุกคน โดยเบื้องต้นจะคัดเลือกจังหวัดที่มีความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว อาทิ จังหวัดน่าน พิษณุโลก นครพนม ขอนแก่น และกระบี่ เป็นต้น
  • เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำรายงานสรุปการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลรอบ 1 ปี ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2557 – 12 กันยายน 2558 มีผลการดำเนินงานดังนี้

           

          - กองส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการคนพิการ ได้ดำเนินการโครงการสนับสนุนการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและทุกคนเข้าถึงใช้ประโยชน์ได้ ผลการดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามการปรับปรุงหรือจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในอาคารสถานที่สาธารณะและทักษะ ความรู้ เกี่ยวกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานของคนพิการ โดยได้มีการสนับสนุนงบประมาณให้ 76 จังหวัดๆ ละ 20,000 บาท ในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการและทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ การอบรมการออกแบบเพื่อการใช้งานได้ทุกกลุ่มในสังคมตามแนวทางการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ และการพัฒนาระบบ Thai Accessible Place

  • เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 กองส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการคนพิการได้รายงานสรุปการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลรอบ 1 ปี ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2557 – 12 กันยายน 2558 ในโครงการส่งเสริมและคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิคนพิการ ชุดโครงการย่อย “โครงการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ” ผลการดำเนินงานมีดังนี้

            1) การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เตรียมความพร้อมการประเมินล่ามภาษา มือไทย” วันที่ 3-6 เมษายน 2558 ณ โรงแรมริเวอร์ไรน์ เพลส เซอร์วิสอพาร์ท เม้นท์ จ.นนทบุรี จากการประชุมผู้เข้าร่วมประชุมได้รับความรู้ความเข้าใจด้านการ ตรวจข้อสอบการเมินล่าม ทักษะการแปลล่ามภาษามือ เป็นภาษาพูด และทักษะการ แปลพูด เป็นภาษามือ

            2) การประชุมสัมมนานานาชาติ เรื่อง ข้อปฏิบัติสู่ความเป็นเลิศของอาเซียน ด้าน ภาษา การแปล ล่าม ล่ามภาษามือและเทคโนโลยีสารสนเทศ วันที่ 28 เม.ย.-1 พ.ค. 58 ณ โรงเรียนเอเชีย กรุงเทพฯ สมาคมคนหูหนวกแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยจัดบริการล่ามภาษามือ

            3) การประชุมเชิงปฎิบัติการเรื่อง “กำหนดกรอบตัวชี้วัดมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ล่ามภาษามือ ระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมไมด้าโอเทล งามวงศ์ วาน จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้มาตรฐานล่ามภาษามือมีความสมบูรณ์ ครบถ้วนและมีแนวทางในการปกิบัติหน้าที่เป็นล่ามภาษามือได้ครบถ้วนตามมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ล่ามภาษามือ 5 มาตรฐาน

            4) มีล่ามภาษามือจดแจ้งจำนวน 584 คน ให้บริการคนพิการทางการได้ยิน จำนวน 3,850 คน (ข้อมูล ณ กันยายน 2558) โดยขอรับบริการล่ามภาษามือในการเข้าร่วม ประชุม สัมมนา สมัครงาน บริการทางการแพทย์ 

  • เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 กองกองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ ได้ดำเนินการกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผลการดำเนินการมีดังนี้

         1) เป้าหมายคนพิการได้รับการกู้ยืมเงินประกอบอาชีพ 10,000 คน ดำเนินการแล้ว ร้อยละ 114.60 (11,460 คน)

         2) ปรับเพิ่มเงินกู้ยืมกองทุนฯ จากเดิม 40,000 บาท เป็น 60,000 บาท และให้มีการพิจารณาเป็นรายๆ โดยไม่เกิน 120,000 บาท

         3) ปรับเพิ่มอ านาจการพิจารณาอนุมัติแผนงาน/โครงการของคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฯ จากเดิมไม่เกิน 10 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 30 ล้านบาท

- กลไกวิชาการและเครือข่ายองค์กรด้านคนพิการ 

     มีการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยและมีการนำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปปรับปรุงการบริการสำหรับคนพิการ ดังนี้

  1. สำนักส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนางานวิจัย
  2. จัดตั้งมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อเพิ่ม Capacity building ให้องค์กรคนพิการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำวิจัย พัฒนากลไกการบริหารจัดการงานวิจัยและนำเสนอผลการวิจัยเข้าไปในระดับนโยบายด้านความพิการระดับชาติ
  3. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขได้ลงนามบันทึกความร่วมมือบริหารทุนวิจัยด้านสุขภาพและชีวเวชศาสตร์แบบมุ่งเป้า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ร่วมกับสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานและบางโครงการมีผลการวิจัยแล้ว เช่น ได้นำเอาองค์ความรู้ไทเก็กไปใช้ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนตาบอด
  4. สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในฐานะเป็นกลไกวิชาการหนึ่ง เดิมเป็นหน่วยงานภายในสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ทำหน้าที่สนับสนุนงานวิชาการ/วิจัย ด้านคนพิการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อตั้งมูลนิธิฯ เพื่อรองรับบทบาทการทำงานวิจัยกับคนพิการ
  5. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขได้ทำ MOU บริหารทุนวิจัยด้านสุขภาพและชีวเวชศาสตร์แบบมุ่งเป้าประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ร่วมกับสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ แต่ไม่มีการสนับสนุนงบประมาณนี้ในปีต่อๆ ไป
  6. มีองค์ความรู้ที่เกิดจากการทำโครงการประเมินผลแผนปฏิบัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนตาบอดด้านการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว พ.ศ.2553-2558 โดยนำผลที่ได้นำไปใช้ปรับปรุงและวางแผนการดำเนินงานการบริการด้านนี้สำหรับคนตาบอดให้มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย
  7. โครงการบริการนำร่องเครื่องช่วยฟังไทยมีการนำผลการวิจัยไปพัฒนาเป็นข้อเสนอต่อ สปสช. เพื่อพัฒนานโยบายการสนับสนุนเครื่องช่วยฟัง
  8. ประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัดในเขต 8 เพื่อสังเคราะห์และนำเสนอยุทธศาสตร์การดำเนินงานฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์
  9. พัฒนาเครือข่ายการจัดเตรียมความพร้อมและการจัดการศึกษาเรียนรู้เด็กพิการ เช่น โครงการพัฒนาตัวแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมทักษะชีวิตของวัยรุ่นตอนต้นที่มีความบกพร่องด้านการได้ยิน โครงการศึกษาการใช้โปรแกรม 1 to 5 piono โครงการวิจัยอุปสงค์ อุปทาน และรูปแบบกำลังคนทางเลือกเพื่อตอบสนองการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับเด็กพิการ
  10. มีข้อเสนอแนะเรื่องความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์สำหรับคนพิการจากโครงการวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ เรื่องการทบทวนชุดสิทธิประโยชน์และการเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ
  11. ศูนย์สิรินธรฯ ร่วมพัฒนาโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ประสบภัยจากรถ โดยเป็นการทำตั้งแต่ประสบอุบัติเหตุไปจนถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ ศูนย์สิรินธรฯ รับผิดชอบตั้งแต่เริ่มต้นประสบอุบัติเหตุไปจนถึงเมื่อผู้ป่วยกลับไปอยู่ที่บ้าน ผลที่ได้คือ มีการพัฒนา Clinic Practice Guideline เกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์และมีการกำหนดตัวชี้วัดตามรายวิชาชีพอย่างชัดเจน มีแผนจะเผยแพร่ CPG ให้กับเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต
  12. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้แปลคู่มือการดำเนินงาน CBR ของ WHO โดยให้ศูนย์สิรินธรฯ แปลด้านการฟื้นฟูฯ ด้านการแพทย์ และได้นำไปเผยแพร่ สัมมนาอบรม และจัดทำคู่มือการดำเนินการของ อพมก. ในการให้บริการกับคนพิการในชุมชน
  13. ศูนย์สิรินธรฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาคู่มือการตรวจประเมินความพิการทั้ง 7 ประเภท โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก พก. ผลที่ได้คือ คู่มือตรวจประเมินและวินิจฉัยความพิการ
  14. ศูนย์สิรินธรฯ อยู่ระหว่างการวิเคราะห์และจัดทำแผนการผลิตและกระจายกำลังคนด้านการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์อย่างเหมาะสม
  • เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ดังนี้

                1. ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยความพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2553 เพื่อให้คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการมีสิทธิได้รับเบี้ยความพิการทันที โดยไม่ต้องรอลงทะเบียนเพื่อขอรับเบี้ยความพิการในปีถัดไป

                2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงบประมาณ (สงป.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ดำเนินการตามหน้าที่และภารกิจเพื่อให้คนพิการทุกคนที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ได้รับเบี้ยความพิการทันที ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นไป

  • มีนาคม 2559 จากรายงานสรุปการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนนิงานตามนโยบายรัฐบาลรอบ 18 เดือน ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2558 – 31 มีนาคม 2559 โดย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีผลการดำเนินงานดังนี้
    • โครงการสนับสนุนการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและทุกคนเข้าถึงใช้ประโยชน์ได้ ผลการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปรับสภาพแวดล้อมและระบบขนส่งมวลชนที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 โดย ปพม. เป็นประธาน

      (1) รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานชุมชนต้นแบบเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี และพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่องและเห็นชอบให้ขยายผลการพัฒนาชุมชนต้นแบบ จ.นนทบุรีและพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัดให้มีการเชื่อมโยงการเดินทางครอบคลุมทุกรูปแบบ

      (2) ให้ พก. ดำเนินการจัดประชุมถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี และพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด

      (3) รับทราบผลการขับเคลื่อนระบบขนส่งมวลชนที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ
      (4) มอบหมายให้ พก. แจ้งมติที่ประชุมให้รับทราบถึงกระทรวงคมนาคม ขสมก. และหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป 

 โครงการสร้างชุมชนต้นแบบที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของทุกคน โดยการขยายพื้นที่นำร่องการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ นครพนม ตาก ขอนแก่น พิษณุโลก กาญจนบุรี น่าน กระบี่ พังงา ภูเก็ต และ ชลบุรี ผลการดำเนินงาน ได้จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในพื้นที่นำร่อง 2 จังหวัด คือ ตาก นครพนม และดำเนินการการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการเสร็จแล้ว 8 จังหวัด คงเหลืออีก 2 จังหวัดคือ น่าน และพังงา อยู่ระหว่างดำเนินการ

ข้อที่: 
3
ชื่อรายการ: 
ขอให้สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและสถาบันการศึกษา ดำเนินการพัฒนาศักยภาพการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้มากขึ้น
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • แผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย (สสพ.) บริหารโดยสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ซึ่งเป็นเครือสถาบันของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ดำเนินงานดังนี้
  1. การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ” โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐบริการ วิชาการ เอกชนและประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีรับฟังความเห็นคนพิการ 4 ภาค สนับสนุนการพัฒนาเอกสารทางวิชาการและร่างมติที่จะนำเสนอเป็นนโยบายระดับชาติผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตลอดจนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมติฯ ดังกล่าว จนได้ร่างสุดท้ายไปนำเสนอในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ซึ่งมีการจัดประชุมที่ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 – 17 ธันวาคม 2553 จนได้รับฉันทามติในที่สุด หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เครือข่ายฯ ที่ร่วมพัฒนานโยบายนี้ได้จัดประชุมหารือการขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติ โดยได้มีการเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสุขภาพคนพิการ และกำหนดแนวทางการดำเนินงาน การทำแผนและติดตามประเมินการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพในประเด็นดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ
  2. การพัฒนานโยบายการจัดบริการล่ามภาษามือให้แก่คนหูหนวก ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต สมาคมล่ามภาษามือไทย สมาคมคนหูหนวก โดยเริ่มที่การพัฒนารูปแบบการจัดบริการล่ามภาษามือในชุมชนที่ดำเนินการโดยสมาคมคนหูหนวกจังหวัดนครพนม แล้วนำบทเรียนมาขยายผลเป็นการจัดทำประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ซึ่งแผนดังกล่าวผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้ว โดยแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย 1) ยุทธศาสตร์การกำหนดนโยบายและกลไกการบริหารจัดการระบบบริการล่ามภาษามือ 2) ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาล่ามภาษามือให้มีคุณภาพและเพียงพอ 3) ยุทธศาสตร์การสร้างและพัฒนาระบบการประเมินการให้บริการล่ามภาษามือ 4) ยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรที่จัดบริการล่ามภาษามือ และ 5) ยุทธศาสตร์การจัดสร้างสังคมให้มีส่วนร่วมในการสื่อสารด้วยภาษามือและบริการล่ามภาษามือ ซึ่งในขั้นต่อไปจะเป็นการนำลงสู่การปฏิบัติด้วยการทำแผนปฏิบัติการและงบประมาณ การพัฒนากลไกเสริมพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการ และการผลิตล่ามภาษามือ เพื่อนำเสนอต่อไป
  3. การพัฒนาระบบฐานข้อมูลคนพิการ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรคนพิการ ร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูลคนพิการเพื่อสะท้อนความสามารถ และความจำเป็นขั้นพื้นฐาน เพื่อการจัดบริการทางสังคม-สุขภาพ-สวัสดิการที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายสำคัญ อาทิ 1) การสนับสนุนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลคนพิการในพื้นที่ปฏิบัติการ (ระดับจังหวัด / ระดับอำเภอ) ผ่านแนวคิดและการใช้รหัส ICF ในการสำรวจความพิการ 2) การเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรด้านคนพิการในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และ 3) การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบที่สามารถพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยได้ดำเนินการใน 4 พื้นที่ ประกอบด้วย จ.นครพนม จ.มหาสารคาม จ.นครสวรรค์ และ จ.หนองบัวลำภู และงานร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดำเนิน “โครงการทบทวนวรรณกรรมและพัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ในการประเมินความพิการในชุมชน โดยใช้รหัส ICF” โดยใช้กรอบความคิดและรหัสของ The International Classification of Functioning Disability and Health (ICF) เป็นฐาน ซึ่งการสำรวจความพิการโดยใช้รหัส ICF นี้ นอกจากจะให้ข้อมูลจำนวนคนพิการจำแนกตามประเภทของความบกพร่องแล้ว จะให้ข้อมูลความยากลำบากในการทำกิจกรรมและการเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม (activity and participation restrictions) พร้อมสาเหตุหรือสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่สังคม ทั้งนี้สามารถแสดงข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อการกำกับติดตามผลลัพธ์ได้ทั้งระดับปัจเจก และระดับภาพรวม
  • สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำหนังสือ “บทบาทภาครัฐเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” เผยแพร่แก่สาธารณชน โดยจัดพิมพ์เผยแพร่จำนวน 500 เล่ม เพื่อเป็นการเผยแพร่นโยบายด้านสังคมสำหรับคนพิการของรัฐบาล เพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับคนพิการให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้สนใจทั่วไป ได้รับทราบองค์ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและการดำเนินงานสำหรับคนพิการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข้อที่: 
4
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการแพทย์เพื่อพัฒนาศักยภาพของสถานบริการในทุกสังกัด เร่งผลิตและกระจายกำลังคนให้เหมาะสม
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ปีงบประมาณพ.ศ.2556 กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพคนพิการและป้องกันความพิการ และคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพคนพิการและการป้องกันความพิการ จัดทำ “แผนพัฒนาการดูแลสุขภาพคนพิการ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2558-2559” โดยศูนย์สิรินธรฯ ได้นำเสนอแผนฯ ต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและผู้ตรวจราชการเพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินงาน
  • กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพผ่าน Service plan และมอบหมายกรมวิชาการที่เกี่ยวข้องในการดูแลสุขภาพตามกลุ่มวัย โดยกรมการแพทย์ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในกลุ่มวัยผู้สูงอายุและผู้พิการ และมอบหมายให้ศูนย์สิริรธรฯ เป็นหน่วยวิชาการรับผิดชอบด้านคนพิการ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการพัฒนาแผนการดูแลสุขภาพคนพิการเพื่อต่อยอดเป็น Service plan ด้านสุขภาพคนพิการร่วมกับเขตบริการสุขภาพ
ข้อที่: 
5
ชื่อรายการ: 
ขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา พิจารณากำหนดตัวชี้วัดระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • วันที่ 4 ตุลาคม 2554 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2555 - 2559 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังปรากฏในแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2555 - 2559 ได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2555 - 2559 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2555 – 2559 ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ยุทธศาสตร์ 32 แนวทางและมาตรการ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระยะ 5 ปี 
  • กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดตัวชี้วัดที่ 27 ผู้รับผิดชอบตัวชี้วัด : ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ฯ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จึงได้จัดทำตัวชี้วัดเกี่ยวกับคนพิการขึ้น และได้กำหนดร้อยละของคนพิการที่ได้รับสวัสดิการในด้านต่าง ๆ ดังนี้

          - ตัวชี้วัด : ร้อยละของคนพิการที่ได้รับสวัสดิการในด้านต่างๆ เป้าหมาย ร้อยละ 80 ของจำนวนคนพิการที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งหมดของแต่ละจังหวัด โดยรายงานข้อมูลจากการเก็บรวบรวมข้อมูลตามคู่มือและแบบบันทึกข้อมูลคนพิการรายบุคคลของศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ กรมการแพทย์ หน่วยงานที่รายงานคือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และรายงานปีละ 1 ครั้ง

  • สำนักส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินการโครงการพัฒนามาตรฐานคุณภาพชีวิตคนพิการ สำหรับเป็นเครื่องมือในการตรวจประเมินคุณภาพชีวิตคนพิการและกระบวนการจัดสวัสดิการสำหรับคนพิการในระดับพื้นที่ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติได้คัดเลือกจังหวัดนำร่อง จำนวน 10 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ ขอนแก่น ชลบุรี เชียงราย ตรัง นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นนทบุรี น่าน และพิษณุโลก โดยได้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพชีวิตคนพิการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่ ผู้แทนคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระดับจังหวัด เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลจาก 10 จังหวัดนำร่อง เมื่อวันที่ 28-29 มีนาคม 2554
  • กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท. 0891.3/ว 1364 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2554 เรื่อง การดำเนินการนำตัวชี้วัดมาตรฐานคุณภาพชีวิตคนพิการไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ขอนแก่น ชลบุรี เชียงราย ตรัง นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นนทบุรี น่าน และพิษณุโลก แจ้งประสานองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานการนำตัวชี้วัดมาตรฐานคุณภาพชีวิตคนพิการไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ตามโครงการพัฒนามาตรฐานคุณภาพชีวิตคนพิการ ของสำนักส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

 

ข้อที่: 
6
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสุขภาพคนพิการเพื่อทำหน้าที่เชื่อมประสานหน่วยงานและองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยสุขภาพคนพิการ ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนพิการสู่การปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมถึงการสนับสนุนการสร้างและจัดการความรู้ที่เกี่ยวข้อง
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสุขภาพคนพิการ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2555 โดยมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริญ ผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการสุขภาพคนพิการ ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ เครือสถาบันของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเป็นกรรมการและเลขานุการร่วม มีกรรมการไม่เกิน 30 คน มีอำนาจและหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคนพิการ ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินานตามมติสมัชชาสุขภาพในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคนพิการและบูรณาการนโยบาย แผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคพิการ สู่การปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง สนับสนุนและเชื่อมประสานองค์กรภาคีเครือข่ายในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาพคนพิการผ่านช่องทางตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได่แก่ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพ และช่องทางอื่นๆ ที่เหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนการสร้างและจัดการความรู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นสุขภาพคนพิการ ซึ่งได้มีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพคนพิการและมีการประชุมหารือระหว่างทีมเลขานุการกับประธาน จำนวน 2 ครั้ง โดยมีการรวบรวมมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับคนพิการพร้อมผลการดำเนินงาน โดยมีการจัดทำ mapping ประเด็นและจัดลำดับความสำคัญ
  • มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ได้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการสุขภาพด้านคนพิการ เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการสุขภาพของคนพิการ โดยการศึกษาข้อมูล และมีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการสุขภาพคนพิการ วันที่ 29 พฤษภาคม 2554   ดังนี้
  1. ข้อมูลในการดำเนินงานของคณะกรรมการสุขภาพคนพิการ
  2. พันธกิจของคณะกรรมการสุขภาพคนพิการ
  3. แนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการสุขภาพคนพิการ
  4. ประเด็นปัญหาด้านบริการสุขภาพของคนพิการ
  5. ตารางเวลาดำเนินงานของคณะกรรมการสุขภาพคนพิการ
ข้อที่: 
7
ชื่อรายการ: 
ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ครั้งที่ 7 และครั้งที่ 9
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • ได้จัดให้มีการรายงานต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ในระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555
  • ได้จัดให้มีการรายงานต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 ในระหว่างวันที่ 24-26 ธันวาคม 2555
เอกสารหลัก: