You are here


ยกเครื่องสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
สรุปเนื้อหา: 
ต้องถือว่ากระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในช่วงปี ๒๕๕๘ นี้มีการปรับตัวเพื่อการยกระดับการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ทั้งช่วง “ขาขึ้น” (Develop : D1) (ขั้นการพัฒนาประเด็นนโยบายจนถึงการมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ)
รูปภาพหน้าแรก: 
รูปภาพประกอบ: 
เนื้อหา: 

และช่วง “ขาเคลื่อน” (Drive : D2) (ขั้นการนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไปสู่การปฏิบัติ จนถึงขั้นการประเมินผล)เหตุผลสำคัญนั้นมาจากผลการประเมินขององค์กรภายนอก และเสียงสะท้อนจากภาคีเครือข่าย ที่ต่างเห็นตรงกันว่า “สมัชชาสุขภาพ” ได้สร้างคุณค่าใหม่ให้กับสังคมไทยโดยการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมกันช่วยคิดช่วยทำในกระบวนการนโยบายสาธารณะในประเด็นต่าง ๆ ทั้ง ๖๔ มติ ที่ผ่านมา

แต่เพื่อให้เครื่องมือชิ้นนี้สอดรับกับปรัชญาพื้นฐานที่ต้องการให้เป็นเครื่องมือพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพทั้งช่วงขาขึ้นและขาเคลื่อน จึงได้มีการยกเครื่องสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มุ่งสู่การทำงานที่สมดุลกัน

ช่วงขาขึ้นมีการปรับกระบวนการให้ “ยืดหยุ่น แต่ เนียน” มากขึ้น ตั้งแต่การชักชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคีเครือข่าย ๓ ภาคส่วนมาเข้าร่วมพัฒนาประเด็น ให้ได้ “ตัวจริง” มาร่วมในกระบวนการตั้งแต่ต้น ให้มาร่วมกันระบุประเด็น (naming issue) และกำหนดขอบเขตประเด็น (framing issue) โดยจัดหารือกันหลายครั้งเพื่อให้ชัดเจน เข้าใจตรงกันและมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป็นข้อเสนอนโยบายมากที่สุด กล่าวง่าย ๆ ก็คือ “ไม่เร่งทำให้เสร็จ ๆ หากประเด็นใดทำไม่ทันเสนอปีนี้ก็จะทำต่อและไปเสนอปีหน้า”

ในช่วงขาเคลื่อน ก็เน้นการยกระดับการขับเคลื่อนมติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยยังคงยึดยุทธศาสตร์ “การสานพลังความร่วมมือ (Synergy)” เป็นหัวใจ โดยได้ปรับแนวทางและกลไกการทำงานใหม่ เรียกกันย่อๆ ว่า DENMarKSII (ย่อมาจาก Demonstrate (การสร้างตัวอย่าง) Encouragement (การหนุนเสริม) Networking (การสร้างเครือข่าย) Motivation : appreciation : recognition (การสร้างแรงจูงใจ) Knowledge management (การจัดการความรู้) Social communication (การสื่อสารสังคม) Information system (การใช้ระบบข้อมูล) และ Integration (การบูรณาการการทำงานข้ามหน่วยงาน))

ปรับกลไกขับเคลื่อน ด้วยการเชื่อมพลังการนำของภาครัฐเข้ากับภาควิชาการและภาคสังคม มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน “คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.)” และมีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนขึ้นมา ๒ ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน และ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ มี รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน

ขณะนี้อนุกรรมการทั้ง 2 คณะ ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วหลายส่วน ทั้งการวิเคราะห์เนื้อหา กลไกที่เกี่ยวข้องกับมติ การทำเส้นทางเดินมติ (Road Map) การจัดประชุมหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมติสมัชชาสุขภาพฯ เพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อนมติ

ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร ประธาน คมส. ได้เน้นย้ำในการประชุมครั้งล่าสุดไว้ว่า ต้องทำให้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยให้จัดลำดับความสำคัญของมติและเลือกมติมาขับเคลื่อนให้เห็นผลภายใน ๒ ปี

ถือว่าเป็นความพยายามที่จะทำให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นกระบวนการนโยบายสาธารณะที่ดีมีส่วนร่วม เกิดผลทั้งช่วงขาขึ้นและขาเคลื่อนที่สมดุล สิ่งเหล่านี้คือแนวทางในการทำงานในระยะต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องการก็คือ การที่ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” นี้ให้เป็นเครื่องมือปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยที่ทรงคุณค่าร่วมกัน

สำนักสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9061