You are here


มิติใหม่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
สรุปเนื้อหา: 
มิติใหม่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สะท้อนแนวทาง สร้างสมดุล D1 x D2 มีผู้เปรียบเทียบว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเหมือนขบวนรถไฟขบวนใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ถึง ๖๔ โบกี้ การจะขับเคลื่อนรถไฟขบวนใหญ่ทั้งขบวนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
รูปภาพหน้าแรก: 
เนื้อหา: 

คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงวางแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติโดย วิเคราะห์และจัดแบ่งมติออกเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ มติด้านการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน ๓๐ มติเช่น มติ ยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีกรมควบคุมโรคเป็นกลไกหลัก มติ นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ซึ่งมีกรมการแพทย์เป็นกลไกหลัก มติ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย ที่มีกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าของเรื่อง และมติด้านสุขภาพสังคมและสุขภาวะ มีจำนวน ๓๔ มติ โดยมีอนุกรรมการฯ ดำเนินการขับเคลื่อนติดตามมติทั้ง ๒ ด้าน เช่น มติ ผลกระทบจากสื่อต่อเด็กเยาวชนและครอบครัว ที่มีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงวัฒนธรรม กสทช. และภาคี เครือข่ายด้านเด็กเยาวชนร่วมกันขับเคลื่อน มติ เกษตรและอาหารในยุควิกฤต ที่มีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และภาคธุรกิจเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อน มติ การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ที่มีชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรขับเคลื่อนมติ และ มติ การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ที่มีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม ศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ร่วมขับเคลื่อนงาน ซึ่งโดยภาพรวมอนุกรรมการฯ มีวิธีการทำงานดังนี้

๑) มีการจัดทำเส้นทางเดินมติ (Road Map) เพื่อใช้เป็นแผนที่นำทางการขับเคลื่อนมติและทำให้เห็นผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนมติในแต่ละช่วง
๒) การติดตามความก้าวหน้ามติ โดยการจัดประชุมภาคี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมติ เพื่อติดตามความก้าวหน้าและร่วมกันวางแนวทางขับเคลื่อนมติอย่างต่อเนื่อง
๓) การเลือกมติสมัชชาสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยจัดลำดับความสำคัญ (priority) ของมติสมัชชาสุขภาพ พิจารณาจากปัจจัยด้าน ๑) ความสำคัญของประเด็นปัญหา (ขนาดของปัญหา / จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ / ความร้ายแรงเร่งด่วน) ๒) โอกาสความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนประเด็นนโยบายให้เป็นผลสำเร็จสูง (มีองค์ความรู้ /เทคนิค /เครื่องมือ/ การยอมรับและความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย/สอดคล้องนโยบายของรัฐ) และ ๓) กลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความสำเร็จของนโยบายสาธารณะนั้นๆ
๔) การสนับสนุนให้ภาคี เครือข่ายขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพตามหลักการสนับสนุนของ คมส.
๕) การทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หลังจากการติดตามและร่วมกันวิเคราะห์แนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ แล้ว หากเห็นว่าไม่สามารถขับเคลื่อนมติได้เนื่องจากเนื้อหามติไม่สอดรับกับสถานการณ์ปัญหา บทบาทภารกิจของหน่วยงาน องค์กรที่ระบุในมติ จะทำการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพฯ เพื่อปรับปรุงเนื้อหามติให้นำไปสู่การขับเคลื่อนได้จริง

การปรับแนวทางและกลไกการขับเคลื่อนต่างๆ ดังที่กล่าวมา ส่วนหนึ่งจะสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมในการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ ๒๑ – ๒๓ ธันวาคม นี้ นับเป็นการปรับรูปแบบครั้งใหญ่ของการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (Drive :D2) อย่างเท่าเทียมกับการพัฒนาระเบียบวาระ (Develop : D1) ด้วยรูปแบบการจัดงานที่ให้ความสำคัญและให้เวลากับการนำเสนอการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมากขึ้น เพื่อต้องการให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้รับทราบความก้าวหน้าและความเคลื่อนไหวของการขับเคลื่อนมติได้อย่างเต็มที่

นอกเหนือจาก การเปิดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้วยการนำเสนอการขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ ในวันแรกของงาน ทั้งรูปแบบการรายงานมติสมัชชาสุขภาพฯ การเสวนากลไกและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ แล้ว ยังมีการนำเสนอการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพในรูปแบบอื่นๆ ของงาน ได้แก่ การจัดนิทรรศการนำเสนอการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพ การจัดทำสรุปการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพโดยภาพรวมทั้ง ๖๔ มติ และ การจัดห้องเสวนานโยบายสาธารณะ ซึ่งมีการนำเสนอการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพบางมติ และที่สำคัญ ยังมีการบรรจุระเบียบวาระ ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เข้าสู่การประชุมพิจารณารับรองร่างมติในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ด้วย

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะเห็นในงานครั้งนี้ คือ ความร่วมมือของหน่วยงาน องค์กร ภาคีที่เป็นผู้ขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ที่จะมานำเสนอความก้าวหน้าด้วยตนเอง แสดงถึงความรู้สึกเป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของความสำเร็จในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และทำให้เห็นได้ว่า การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ จะมีความต่อเนื่องต่อไป