You are here


ปัจจัยชี้วัดความสำเร็จ
สรุปเนื้อหา: 
ปัจจัยชี้วัดความสำเร็จ การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ...คำถามสำคัญของภาคี เครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพที่มีต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คือ “ทำไมมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงยังไม่สามารถขับเคลื่อนสร้างผลกระทบต่อสังคมได้อย่างชัดเจน?”
รูปภาพหน้าแรก: 
เนื้อหา: 

ทั้งที่เป็นข้อเสนอนโยบายสาธารณะที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคี เครือข่ายทุกภาคส่วน ใช้ยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” เป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนกระบวนการ และกลไกการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์การทำความเข้าใจต่อเรื่องนี้ อาจต้องดูใน ๒ มิติ คือ หนึ่ง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ไปสู่ความสำเร็จ และ สอง การรับรู้ของคนในสังคมต่อผลการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ
๑. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ไปสู่ความสำเร็จ จากการศึกษาเรื่องปัจจัยชี้วัดความสำเร็จในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติสู่การปฏิบัติ โดยคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าโดยสรุปมีปัจจัยสำคัญ ๓ ประการ คือ
๑) ลักษณะของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ว่า ที่มาของมติเกิดจากการสร้างการมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด ได้รับการยอมรับจากหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ สิ่งนี้เป็นตัวกำหนดว่าจะมีผู้ร่วมขับเคลื่อนภายหลังจากที่ออกเป็นมติสมัชชาสุขภาพฯ หรือไม่ อีกประเด็นสำคัญคือ เรื่องความถูกต้องชัดเจนของเนื้อหามติ ซึ่งกำหนดความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนว่าจะทำให้บรรลุผลลัพธ์ได้มากน้อยเพียงใด เพราะจากประสบการณ์ พบว่า เมื่อไม่มีความชัดเจนในเนื้อหาที่ต้องปฏิบัติ หรือ ไม่ชัดเจนว่าสิ่งที่ต้องปฏิบัติเป็นบทบาท ภารกิจของหน่วยงาน องค์กรใด การจะนำนโยบายไปปฏิบัติก็ทำได้ยาก หรือทำไปแล้วอาจไม่ได้ผลลัพธ์ดังที่ตั้งไว้
๒) หน่วยงานที่เป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ มีความเข้าใจ ยอมรับในมติสมัชชาสุขภาพฯ และนำไปเป็นภารกิจของหน่วยงานหรือไม่ และแม้จะยอมรับนำไปปฏิบัติ แต่หน่วยงานดังกล่าวมีศักยภาพที่จะทำให้บรรลุผลตามมติหรือไม่ เพราะโดยภาพรวม ลักษณะของมติสมัชชาสุขภาพฯ มักมีความซับซ้อน ต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทำให้หลายหน่วยงานซึ่งไม่มีความสันทัดในการทำงานแนวราบหรือการประสานความร่วมมือข้ามหน่วยงาน องค์กร จึงยังขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
๓) ปัจจัยสภาพแวดล้อมนโยบาย ได้แก่ สภาพเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม การสนับสนุนหรือคัดค้านนโยบายจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม หรือ บางครั้งอาจต้องการเทคโนโลยี ความรู้ใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุผล ตัวอย่างสำคัญของประเด็นนี้ ได้แก่ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓ มติ ๙ การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ ที่ยังมีข้อติดขัดในการขับเคลื่อนหลายประการ เนื่องจากการที่ภาคีที่เกี่ยวข้องมีความเห็นแย้งในบางข้อมติ แม้จะมีความพยายามในการทบทวนมติสมัชชา แต่ก็ยังไม่บรรลุผล หรือ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓ มติ ๑ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ที่เกี่ยวโยงถึงการค้าระหว่างประเทศ ทำให้มีแรงกดดันจากบางประเทศคู่ค้าที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนบางส่วน จึงส่งผลให้เกิดความไม่ชัดเจนของระดับนโยบายต่อเรื่องดังกล่าว หรือ นโยบายสนับสนุนการขี่จักรยาน ที่ส่งผลให้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ มติ ๑ การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน มีความก้าวหน้าอย่างมาก
๒. การรับรู้ของคนในสังคมต่อการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ที่ผ่านมา พบว่า แม้จะมีการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ หลายมติ ของหลายหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง แต่ การรับรู้ของสมาชิกสมัชชาสุขภาพและของสังคมโดยรวมยังมีน้อย อาจเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น การสื่อสารผลการขับเคลื่อนมติมีน้อยและอยู่ในวงจำกัด ทั้งช่องทางการสื่อสารต่างๆ ที่ใช้สื่อสารกับสมาชิกสมัชชาสุขภาพ หรือการที่กำหนดให้มีการรายงานความก้าวหน้าในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจัดเพียงปีละครั้ง นับว่าไม่เพียงพอให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพได้ทราบความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ โดยลักษณะของการขับเคลื่อนนโยบายที่ไปเป็นภารกิจของหน่วยงาน การสื่อสารผลการดำเนินงานจะเป็นผลของหน่วยงานนั้นๆ หากไม่มีการสรุปรวบรวมเป็นภาพรวมของมติและสื่อสารออกสู่สาธารณะ ก็อาจทำให้ไม่เห็นถึงความก้าวหน้าของมติได้
การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ ในระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ จึงได้ให้ความสำคัญกับ “ขาเคลื่อน” มากยิ่งขึ้น มีการนำเสนอวิธีการ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนและผลการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ โดยหน่วยงาน องค์กรที่ร่วมขับเคลื่อนมติ ทั้งรูปแบบการรายงานความก้าวหน้า เวทีเสวนา การจัดนิทรรศการ และ การเปิดให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพได้แลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ในระดับต่างๆ กันอย่างพร้อมเพรียง เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการปรับกระบวนการสื่อสารของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจต่อแนวทางและผลการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ต่อสาธารณะ
สมาชิกสมัชชาสุขภาพคงต้องร่วมกันหาคำตอบและร่วมกันตอบคำถาม “ทำไมมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงยังไม่สามารถขับเคลื่อนสร้างผลกระทบต่อสังคมได้อย่างชัดเจน?” ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้