You are here


ยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สมัชชาครั้งที่: 
1
มติที่: 
6
ชื่อมติ: 
ยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
รายละเอียดมติ: 
ข้อที่: 
1
ชื่อรายการ: 
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
รายละเอียด: 

1.1 ประกาศให้ควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นวาระแห่งชาติและวาระแห่งท้องถิ่น พร้อมทั้งแจ้งต่อคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดต่อไป

1.2 เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกในการควบคุมปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

     1) ดำเนินการให้มีกระบวนการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ โดยการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี และนำมาเสนอเพื่อการรับรองในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่สอง แผนยุทธศาสตร์นโยบายแห่งชาตินี้ จะต้องตั้งอยู่บนฐานความรู้ทางวิชาการ และสอดคล้องกับวัฒนธรรมและศีลธรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ

    2) สนับสนุนกลไกในการสร้างความร่วมมือของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการกับปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการพัฒนามาตรการและนโยบายใดๆ ที่มีหรืออาจจะมีผลกระทบต่อปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการเจรจาข้อตกลงการค้า จะต้องเป็นไปเพื่อการควบคุมปัญหาหรือไม่เป็นเงื่อนไขหรืออุปสรรคต่อการควบคุมปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตัวอย่างการลงนามใน “บันทึกความเข้าใจ” หรือ “บันทึกข้อความร่วมมือ” ระหว่างหน่วยงานทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

     3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเป็นแกนหลักในการสนับสนุนให้เกิดกลไกความร่วมมือทุกภาคส่วนและพัฒนานโยบายและมาตรการในการจัดการกับปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับท้องถิ่น

ผลการปฏิบัติงาน: 
  • สช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์จัดการปัญหาแอลกอฮอล์ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ) เป็นประธาน มีนักวิชาการจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เป็นเลขานุการ มีหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1
  • คณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการกับปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ประชุมครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ณ ห้องประชุม ๑ กองการประกอบโรคศิลปะ ภายในกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นชอบกรอบร่างยุทธศาสตร์ ซึ่งได้จัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย รวม 7 กลุ่มมาตรการ คือ 1) มาตรการทางภาษีและราคา 2) มาตรการการควบคุมการเข้าถึง 3) มาตรการการดัดแปลงบริบทและเงื่อนไขของการดื่ม 4) มาตรการการควบคุมพฤติกรรมขับขี่ขณะมึนเมา 5) มาตรการการควบคุมการโฆษณา 6) มาตรการการให้ความรู้ และ 7) มาตรการการคัดกรองบำบัดรักษา และ 3 พื้นที่นโยบาย ประกอบด้วย 1) มาตรการระดับชุมชน 2) มาตรการในสถานที่ทำงาน และ 3) มาตรการในการเจรจาตกลงข้อตกลงทางการค้า
  • วันที่ 2 กรกฎาคม 2552 สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ โดยมีนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน โดยรัฐบาลได้กำหนดคำขวัญงดเหล้าเข้าพรรษา เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๒ ไว้ว่า "เลิกเหล้าเข้าพรรษา พาครอบครัวเป็นสุข"
  • วันที่ 4 กรกฎาคม 2552 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒ กำหนดให้มิให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา ๔ วัน คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา
  • วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 สช. มีคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเติม จำนวน ๓ ราย ประกอบด้วย ๑) ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ๒) อิบดีกรมควบคุมโรค และ ๓) อธิบดีกรมสรรพสามิต
  • คณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการกับปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552 ณ ห้องประชุม สช. 1 ภายในกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ และแผนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ รวม 4 เวที คือ 1) เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น วันที่ 17 สิงหาคม 2552  2) เวทีภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 24 สิงหาคม 2552 3) เวทีภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 31 สิงหาคม 2552 และ 4) เวทีภาคกลาง ที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 7 กันยายน 2552
  • วันที่ 31 สิงหาคม 2552 คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (คกถ.) มีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 มติ 1.6 ยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ประกาศการควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นวาระแห่งชาติ และวาระท้องถิ่น โดยให้ อปท. เป็นแกนหลักในการสนับสนุนให้เกิดกลไกความร่วมมือทุกภาคส่วนและพัฒนานโยบายและมาตรการในการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในระดับท้องถิ่น
  • พญ.มาลินี สุขเวชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษา มุ่งลดปริมาณนักดื่มหน้าใหม่ที่นับวันจะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกทม. ซึ่งที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ...
  • เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 เครือข่ายโรงงานสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเรียกร้องให้ผลักดันร่างกฎหมายห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ.... และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ ถนน และทางสาธารณะ โดยขอให้เร่งนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และมีผลบังคับใช้ทันที
  • เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 กรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เตรียมพร้อมนำร่างประกาศควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนท้ายรถกระบะเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการควบคุมในการประชุมวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ซึ่งประกาศที่จะนำเข้าที่ประชุมนี้มี 3 เรื่อง โดยประกาศฉบับแรกคือ ห้ามจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะ ฟุตบาธ ไหล่ทาง ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงบนรถและท้ายรถกระบะด้วย โดยคำว่าทางสาธารณะ ฟุตบาธ ไหล่ทาง จะเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก ซึ่งมีการกำหนดไว้อยู่แล้วว่า อะไรบ้างที่เข้าข่ายเป็นทางสาธารณะตามกฎหมาย หลังประกาศฉบับนี้จะทำให้ร้านหาบเร่ การตั้งโต๊ะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนถนนต่างๆ ไม่สามารถทำได้ ประกาศฉบับที่สอง ห้ามจำหน่ายและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ โดยรัฐวิสาหกิจถือว่ามีรัฐถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง จึงถือเป็นสถานที่ของรัฐเช่นกัน และประกาศฉบับที่สาม การห้ามจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงาน
ข้อที่: 
2
ชื่อรายการ: 
ขอให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรวิชาการ องค์กรวิชาชีพ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนในทุกภาคส่วน ทุกระดับและภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์
ผลการปฏิบัติงาน: 
  • เครือข่ายลดอุบัติเหตุ จัดประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติตุจราจร ครั้งที่ ๙ "พลังเครือข่าย เพื่อถนนปลอดภัย" จัดระหว่างวันที่ 20 - 21 สิงหาคม 2552 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติไบเทค บางนา กรุงเทพฯ การประชุมครั้งนี้ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบาย รวม 9 ข้อ คือ 1) เพื่อให้การขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างการทำงานในทุกระดับ มีการสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ กำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายให้ทุกหน่วยงานและองค์กรหลักได้รับรับผิดชอบดำเนินการ ควบคู่กับการมีระบบติดตามประเมินผล และเสนอผลการดำเนินงานต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง 2) เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบกำกับดูแลกฎหมายต่าง ๆ จำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการบังคับใช้อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ โดยเฉพาในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องเพิ่มความสำคัญของงานจราจร โดยให้มีงบประมาณและการจัดการด้านบุคลากรเช่นเดียวกับงานอาชญากรรม พร้อมทั้งดำเนินการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเกิดความตระหนักอย่างต่อเนื่อง 3) เพื่อบรรลุเป้าหมายการเดินทางด้วย
  • วันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน 2552 ศูนย์วิจัยปัญหาสุราได้มีการประชุมเพื่อร่วมกันกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมปัญหาสุราระดับชาติ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 1 ปี 2552 โดยร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรและเครือข่ายนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ
  • ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลกภายใต้หัวข้อ “จากแผนยุทธศาสตร์ระดับโลกสู่การปฏิบัติระดับชาติและท้องถิ่น” หน่วยงานเจ้าภาพได้แก กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก เครือข่ายนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยมีนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาชน ภาคสาธารณสุข ภาครัฐ นักรณรงค์ และสื่อมวลชน จำนวนกว่า 1,200 คน ที่ประชุมได้ประกาศเจตนารมณ์โดยแบ่งความสำคัญของการดำเนินนโยบายเป็น 2 ระดับคือ ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น โดยมีข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายต่อไปในประเทศต่างๆ ได้แก่

           1) สนับสนุน สร้างความเข้มแข็ง และผสมผสานมาตรการที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในยุทธศาสตร์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่มีประสิทธิผลของความคุ้มค่าและควรผนวกเข้าไปในกระบวนการวางแผนทางด้านสาธารณสุขและนโยบายการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ

           2) สนับสนุนด้านทรัพยากรที่เพียงพอและยั่งยืน ผ่านช่องทางทางการเงิน รวมถึงการขึ้นภาษีหรือการเก็บเงินพิเศษสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และแบ่งรายได้ที่จัดเก็บได้ให้แก่แผนงานรณรงค์เพื่อลดอันตรายที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

           3) ส่งเสริมให้องค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาครัฐ เพื่อก่อให้เกิดนโยบายการควบคุมแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิผล

           4) พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล ทั้งสถานการณ์บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และความเข้มแข็งของนโยบาย

เอกสารหลัก: 
เอกสารมติ: